“เทคนิคการจัดการชั้นเรียนด้วยโมเดล 3 C’s”


"เทคนิคการจัดการชั้นเรียนด้วยโมเดล 3 C's"

การจัดบรรยากาศแห่งการเรียนรู้เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง เพื่อมุ่งประโยชน์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อให้ผู้เรียนเป็นคนดี คนเก่ง และมีความสุข ครู การเรียนการสอนที่ดีนั้นควรมีความเป็นพลวัตร คือ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งในด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ สาระการเรียนรู้ รูปแบบเทคนิค วิธีการ

ดร.สุรภี โสรัจจกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่าโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความสำคัญในการบูรณาการด้านเทคโนโลยีกับการเรียนการสอนในชั้นเรียน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนการสอนหลักของโรงเรียน และเป็นเอกลักษณ์ของโรงเรียน เพราะไม่เพียงก้าวทันเทคโนโลยีเท่านั้น ในความทันสมัยของเทคโนโลยีเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่จะนำพานักเรียนไปสู่ประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้น และน่าสนใจในการเรียนรู้ นอกจากเทคโนโลยีที่นำมาเป็นเครื่องมือในการเรียนการสอนแล้ว สิ่งหนึ่งที่จำเป็นอีกประการคือ การจัดการชั้นเรียนโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต ได้มีการจัดอบรมครูเพื่อวางทิศทางการจัดการเรียนการสอนให้มีความพร้อมมีแนวทางที่เข้าใจตรงกันนั่นคือ การจัดการชั้นเรียน ที่มีแนวคิดหลัก 3 ประการหรือเรียกว่า "3 C's" ซึ่งมั่นใจได้ว่าจะเป็นองค์ประกอบที่คาดว่าไม่มีโรงเรียนใดให้ความสำคัญในระดับนี้

C ตัวแรกคือ Competency นั่นคือความมีประสิทธิภาพในการที่จะสอน หรือช่วยนักเรียนให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างไร ซึ่งครูผู้สอนต้องมีศักยภาพและความรู้เพียงพอที่จะสอนนักเรียน สิ่งนี้ครูผู้สอนจะเป็นตัวสำคัญที่จะต้องทำงานอย่างหนักในการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม รวมถึงการอัพเดทข้อมูลที่เป็นปัจจุบันมาช่วยส่งเสริมเนื้อหาบทเรียนให้มีความทันสมัยมากขึ้น ซึ่งนักเรียนจะได้รับความรู้ไม่เพียงจากบทเรียนตามหนังสือเรียน แต่เป็นสภาพการณ์ปัจจุบันด้วย เป็นการเติมเต็มความรู้ให้สมบูรณ์ และมีประสิทธิภาพในชั้นเรียน ประการนี้จึงเน้นตัวครูผู้สอนเป็นสำคัญ

C ตัวที่สอง คือ Consistency ความเสมอต้นเสมอปลายของการปฏิบัติในการสอนนักเรียน หมายความว่าเมื่อครูเป็นผู้จัดการชั้นเรียน ครูจึงสามารถที่จะวางแนวทางปฏิบัติ กฏระเบียบ หรือข้อตกลงต่างๆ ที่จะทำให้นักเรียนอยู่ร่วมกันในชั้นเรียนได้ ไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติแก่คนใดคนหนึ่ง ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นกรอบที่ครูและนักเรียนจะได้ทำร่วมกันและยอมรับที่จะปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความทัดเทียมกัน ประการนี้เป็นการสร้างวิธีการสำหรับการจัดการในชั้นเรียน

C ตัวที่สาม คือ Caring การเอา "ใจ" ใส่กับนักเรียน ซึ่งนับว่าเป็นประการที่สำคัญมากที่สุด เพราะจะทำให้ครูเข้าใจ และเข้าถึงนักเรียนได้มากขึ้น หากครูผู้สอนใส่ใจกับนักเรียนของเราอย่างเต็มที่ ทั่วถึง สิ่งที่ครูจะสัมผัสได้นั่นคือครูจะรู้ทันทีว่านักเรียนของเรามีศักยภาพมากน้อยเพียงใด ซึ่งครูจะสามารถจัดการชั้นเรียนให้มีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับสภาพการเรียนรู้ของนักเรียนได้มากขึ้นนั่นเอง

ด้วยโมเดลที่กล่าวไปแล้วนั้น จะเป็นสิ่งที่คุณครูของเรายึดเป็นแบบแผน และนำไปใช้ในการจัดการชั้นเรียนของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิตทุกสาขา เพื่อให้เป็นแนวทางเดียวกันในการพัฒนาการเรียนการสอนของโรงเรียน และการที่ครูเข้าใจและรู้รายละเอียดดังกล่าวทั้งหมดอย่างเข้าใจจะส่งผลให้ครูสามารถจัดการเรียนรู้ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่หลักสูตรวางไว้ได้และการจัดการเรียนรู้นั้นจะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมด้วยเช่นกัน

หมายเลขบันทึก: 581117เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2014 11:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2014 11:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท