การจัดการความรู้


การจัดการความรู้ ทฤษฎีการจัดการความรู้

การจัดการความรู้

การจัดการความรู้ไม่ใช่การเอาความรู้มากองรวมกัน แล้วจัดหมวดหมู่ เพื่อเผยแพร่ให้มีการนำไปใช้ประโยชน์ แต่เป็นการดึงเอามาเฉพาะความรู้ส่วนที่ต้องการใช้งาน

การจัดการความรู้ไม่ใช่กิจกรรมของผู้มีความรู้ เพื่อการจัดบริการความรู้ให้ผู้อื่นนำไปใช้ประโยชน์ แต่เป็นกิจกรรมที่ผู้ปฏิบัติงานทุกคนกระทำร่วมกัน

ความหมายและความสำคัญของการจัดการความรู้

การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือของการพัฒนาคุณภาพงาน หรือสร้างนวัตกรรมในการทำงาน และในขณะเดียว เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน การจัดการความรู้เป็นทักษะ ไม่ทำ-ไม่รู้ โดยที่คนจำนวนไม่น้อย เฝ้าหาเรียนรู้เรื่องการจัดการความรู้ ด้วยการอ่านหนังสือหรือฟัง

การจัดการความรู้ (Knowledge Management : KM) หมายถึง เครื่องมือที่ใช้ในการบรรลุเป้าหมายอย่างน้อย 3 ประการไปพร้อมๆกัน ได้แก่ บรรลุเป้าหมายของงาน บรรลุเป้าหมายการพัฒนาคน และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาองค์กร ไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้

ประเภทของความรู้

1.ความรู้เด่นชัด (Explicit Knowledge) เป็นความรู้ที่อยู่ในรูปแบบที่เป็นเอกสาร หรือ วิชาการ อยู่ในตำรา คู่มือปฏิบัติงาน

2.ความรู้ซ่อนเร้น/ความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) เป็นความรู้ที่แฝงอยู่ในตัวคน เป็นประสบการณ์ที่สั่งสมยาวนาน เป็นภูมิปัญญา

รูปแบบการจัดการความรู้

" โมเดลปลาทู" เป็นโมเดลอย่างง่าย ที่เปรียบการจัดการความรู้ เหมือนกับปลาทูหนึ่งตัวที่มี ๓ ส่วน คือ



ส่วนที่ 1 "หัวปลา" (Knowledge Vision- KV) หมายถึง ส่วนที่เป็นเป้าหมาย วิสัยทัศน์ หรือทิศทางของการจัดการความรู้ โดยก่อนที่จะทำจัดการความรู้ ต้องตอบให้ได้ว่า "เราจะทำ KM ไปเพื่ออะไร ?" โดย "หัวปลา" นี้จะต้องเป็นของ "คณกิจ" หรือ ผู้ดำเนินกิจกรรม KM ทั้งหมด โดยมี "คุณเอื้อ" และ "คุณอำนวย" คอยช่วยเหลือ

ส่วนที่ 2 "ตัวปลา" (Knowledge Sharing-KS) เป็นส่วนของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญ ซึ่ง "คุณอำนวย" จะมีบทบาทมากในการช่วยกระตุ้นให้ "คุณกิจ" มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความรู้ โดยเฉพาะความรู้ซ่อนเร้นที่มีอยู่ในตัว "คุณกิจ" พร้อมอำนวยให้เกิดบรรยากาศในการเรียนรู้แบบเป็นทีม ให้เกิดการหมุนเวียนความรู้ ยกระดับความรู้ และเกิดนวัตกรรม

ส่วนที่ 3 "หางปลา" (Knowledge Assets-KA) เป็นส่วนของ "คลังความรู้" หรือ "ขุมความรู้" ที่ได้จากการเก็บสะสม "เกร็ดความรู้" ที่ได้จากกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ "ตัวปลา" ซึ่งเราอาจเก็บส่วนของ "หางปลา" นี้ด้วยวิธีต่างๆ เช่น ICT ซึ่งเป็นการสกัดความรู้ที่ซ่อนเร้นให้เป็นความรู้ที่เด่นชัด นำไปเผยแพร่และแลกเปลี่ยนหมุนเวียนใช้ พร้อมยกระดับต่อไป

ที่มา http://www.rmuti.ac.th/support/plan/newplan/KM2.php สืบค้นวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557

คนที่สำคัญที่เรียกใน KM

คุณเอื้อ หรือ คุณเอื้อระบบ : ทำหน้าที่จัดการระบบของการจัดการความรู้ขององค์กร

มีบทบาทการดำเนินงาน ดังนี้

1. ร่วมกับคุณอำนวย กำหนดเป้าหมายของการจัดการความรู้ของหน่วยงาน ให้พนักงานทุกระดับเข้ามามีส่วนร่วนร่วม

2. เชื่อมโยงเป้าหมายของการจัดการความรู้ของหน่วยงาน เข้ากับวิสัยทัศน์ พันธกิจและยุทธศาสตร์ขององค์กร

3. จัดการบริหารแบบแนวราบ และการบริหารแบบเอื้ออำนาจ ภายในองค์กร

4. จัดทรัพยากร เช่น เงิน เวลา บุคลากร รวมทั้งระบบเทคโนโลยี สำหรับร่วมทำกิจกรรม รวมทั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารด้วย

5. ดำเนินการให้กิจกรรมการจัดการความรู้ฝังหรือแฝงอยู่ในงานประจำภายนอกองค์กร

6. เชื่อมโยงการจัดการความรู้เข้ากับกิจกรรมด้านการสร้างสรรค์อื่น ๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร

7.คอยติดตามและรับรู้ความเคลื่อนไหวของการดำเนินการจัดการความรู้ แสดงท่าที ชื่นชม ให้คำแนะนำในบางเรื่องเพื่อแสดงความสนใจ รวมทั้งจัดให้มีรางวัลอาจไม่เน้นเป็นสิ่งของ แต่เน้นการสร้างความภาคภูมิใจในความสำเร็จ

8. ร่วมแบ่งปันทักษะในการเรียนรู้ และทักษะในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อประโยชน์ในการ ดำเนินการจัดการความรู้โดยตรง และเพื่อให้ทุกคนเห็นคุณค่าของทักษะดังกล่าว

9. คอยจับประเด็นจากกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ "ขุมความรู้" และ "แก่นความรู้"ที่เกิดขึ้น และตีความหรือสังเคราะห์ความรู้ที่ยกระดับนามธรรม และรูปธรรมที่เชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์ขององค์กร หรือเชื่อมโยงกับวีปฏิบัติหรือการทำงาน หรือคอยตั้งคำถามที่เหมาะสมให้ทีมจัดการความรู้ได้ฉุกคิด

สรุป ถ้าเริ่มมาจากผู้บริหารสูงสุด "คุณเอื้อ" ก็ลดภาระไปเปลาะหนึ่ง ถ้าไม่ได้เริ่มจากผู้บริหารสูงสุด หน้าที่ของ "คุณเอื้อ" คือการนำเป้าหมาย/หัวปลา ไปขายผู้บริหารสูงสุด ให้ผู้บริหารสูงสุดกลายเป็นเจ้าของหัวปลาให้ได้ บทบาทต่อไปของ "คุณเอื้อ" คือ การหา "คุณอำนวย" และร่วมกับ "คุณอำนวย" จัดให้มีการกำหนด "เป้าหมาย/หัวปลา" ในระดับย่อยๆ ของ "คุณกิจ/ผู้ปฏิบัติงาน" คอยเชื่อมโยง "หัวปลา" เข้ากับ วิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมาย และยุทธศาสตร์ขององค์กร จัดบรรยากาศแนวราบ และการบริหารงานแบบเอื้ออำนาจ ร่วม Share ทักษะในการเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการจัดการความรู้โดยตรง และเพื่อแสดงให้ "คุณกิจ" เห็นคุณค่าดังกล่าว จัดสรรทรัพยากรสำหรับใช้ในกิจกรรมจัดการความรู้พร้อมทั้งคอยเชื่อมโยงการจัดการความรู้เข้ากับกิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร

ติดตามความเคลื่อนไหวของการดำเนินการให้คำแนะนำบางเรื่อง และแสดงท่าทีชื่นชมในความสำเร็จ อาจจัดให้มีการยกย่องในผลสำเร็จ โดยเน้นการสร้างความภาคภูมิใจในความสำเร็จ

คุณอำนวย = ผู้อำนวยความสะดวกในการจัดการความรู้ หรือ โนนากะ เรียกว่า Knowledge Activist ยังมีผู้นิยมเรียกอีกชื่อหนึ่งคืKnowledge Broker หน้าที่หลัก คือ ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และอำนวยความสะดวกต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งในเชิงกิจกรรม เชิงระบบ และเชิงวัฒนธรรม

ทักษะที่จำเป็นของ "คุณอำนวย" มีดังนี้

1. จุดประกายความคิด การสร้างความกระตือรือร้น

2. การจัดประชุม

3. การเป็นวิทยากรกระบวนการ ในการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือแบ่งปันความรู้

4. ทักษะในการจับประเด็น และบันทึกขุมความรู้ จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

5. รู้จักและสามารถในการเข้าถึงแหล่งความรู้ภายนอก

6. มีทักษะในการเขียน

7. ทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

8. ทักษะในการสร้างบรรยากาศ มุ่งมั่น ชื่นชม แบ่งปัน มุ่งเป้า

9. ทักษะในการเรียนรู้ และ แลกเปลี่ยนเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ

10. ทักษะในการทำงานเป็นทีมร่วมกับ "คุณอำนวย" คนอื่นๆ และร่วมกับ "คุณเอื้อ"

11. มีท่าทีส่งเสริม สนับสนุน ให้ "คุณกิจ" ทั้งหลายได้ใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ร่วมกัน เพื่อบรรลุ "หัวปลา" หรือเป้าหมายองค์กร

สรุป อำนวย เป็นผู้ที่คอยอำนวยความสะดวกในการจัดการความรู้ ความสำคัญอยู่ที่การเป็นนักจุดประกายความคิดและเป็นนักเชื่อมโยง โดยต้องเชื่อมโยงระหว่างผู้ปฏิบัติ "คุณกิจ" กับผู้บริหาร "คุณเอื้อ" เชื่อมโยงระหว่าง "คุณกิจ" ต่างกลุ่มภายในองค์กร และเชื่อมโยงความรู้ภายในองค์กร กับภายนอกองค์กร

คุณกิจ คือ ผู้ดำเนินกิจกรรมจัดการความรู้ร้อยละ 90-95 อาจสรุปได้ว่าคุณกิจคือผู้จัดการความรู้ตัวจริง เป็นผู้มีความรู้ (Explicit Knowledge) และเป็นผู้ต้องมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ใช้ หา สร้าง แปลง ความรู้เพื่อการปฏิบัติให้บรรลุถึง "เป้าหมาย/หัวปลา" ที่ตั้งไว้

"คุณกิจ" ต้องมีทักษะสำคัญดังนี้

1. ทักษะในการฟัง พร้อมที่จะรับฟังความรู้ใหม่ ๆ หรือเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

2. ทักษะในการพูด มีทักษะในการบอกเล่าความคิด ความรู้สึก ความเข้าใจหรือการตีความของตนเอง

3. ทักษะในการคิดเชิงบวก เป็นทักษะพื้นฐานของทักษะอื่น ๆ ทั้งหมด ต้องฝึกตนเองให้มีนิสัยคิดเชิงบวก เชิงชื่นชมยินดี มองโลกในแง่ดี

4. ทักษะในการนำความรู้ หรือวิธีการใหม่ๆ ไปทดลอง คุณกิจที่เก่ง จะต้องนำความรู้ใหม่ๆที่ได้ ไปทดลองใช้ด้วยวิธีของตนเอง ป้าใจ ปราชญ์ชาวบ้านด้านการปลูกผักปลอดสารพิษ

5. ทักษะในการในการสังเกต วัด นับ เพื่อบันทึกผลการทดลอง การจัดการความรู้มีเป้าหมายเพื่อให้ "คุณกิจ" หรือกลุ่ม "คุณกิจ" สร้างความรู้ขึ้นใช้เองในกิจการของตน

6. ทักษะในการประเมินผลการทดลองด้วยตนเอง หรือร่วมกับเพื่อน "คุณกิจ"ด้วยกัน

7. ทักษะในการจดบันทึก เป็นการสร้างความต่อเนื่องของการจัดการความรู้คุณกิจ แต่ละคนต้องมีทักษะในการจดบันทึกกิจกรรม ข้อมูล และความรู้สึกของตนไว้ใช้งานด้วย

คุณลิขิต คือ ผู้ทำหน้าที่จดบันทึก ในกิจกรรมการจัดการความรู้ อาจทำหน้าที่เป็นการเฉพาะกิจ หรือทำหน้าที่เป็นระยะยาว กึ่งถาวรในกิจกรรมจัดการความรู้ของกลุ่ม หรือ หน่วยงาน หรือองค์กร สิ่งที่ "คุณลิขิต" จดบันทึกได้แก่

1. เรื่องเล่าจากกิจกรรม (Storytelling)

2. "ขุมความรู้" (Knowledge Assets) เพื่อการบรรลุเป้าหมายงานแต่ละชิ้น หรือแต่ละกิจกรรมจากเรื่องเล่า และกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้รูปแบบต่างๆ ในงานประจำ

3. "แก่นความรู้" (Core Competence) เพื่อการบรรลุผลสัมฤทธิ์ของงานแต่ละชิ้น หรือแต่ละกิจกรรม

4. บันทึกการประชุมตามที่ตกลงกัน

5. บันทึกอื่นๆ เพื่อให้การดำเนินการความรู้มีความต่อเนื่อง

ทักษะที่จำเป็นสำหรับ "คุณลิขิต"

1. การจับใจความและการบันทึกเป็นเรื่องเล่า

2. การสกัดประเด็นเป็นขุมความรู้ ต้องฝึกการจับความให้ได้เร็ว จดประเด็นย่อๆ ไว้ แล้วค่อยมาต่อเติมถ้อยคำให้สละสลวยภายหลัง

3. ต้องศึกษาเรื่องราวที่จะประชุมมาล่วงหน้า

4. ทักษะด้านภาษามีภาษาที่สละสลวยเข้าใจง่าย

5. ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และการใช้ซอฟต์แวร์

6. ทักษะในการเข้าไปติดตามแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่าง "คุณกิจ" ทั้งที่เป็นการแลกเปลี่ยนแบบ F2F (Face to Face) หรือ B2B (Blog to Blog)

ที่มา http://kmlibrary.bu.ac.th/index.php?option=com_content&view=article&id=31 สืบค้นวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557

หมายเลขบันทึก: 581053เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2014 23:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2014 14:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท