วงดนตรีกาหลอ


ภาพแรกจากงานวันทักษิณคดีศึกษาที่นักศึกษาทุกคณะต้องเรียนวิชาทักษิณคดีศึกษา กลุ่มนี้เลือกทำรายงานเรื่องวงดนตรีกาหลอ ภาพที่สองวงดนตรีกาหลอที่เหลือวงเดียวในสงขลา บรรเลงเพลงในหอประชุมปาริชาติของมหาวิทยาลัยทักษิณ สงขลา น่าเสียดายที่หาฟังได้ยากมากขึ้นเรื่อยๆเพราะขาดการสืบทอดเนื่องจากทำเป็นอาชีพได้ยากมาก

ดนตรีกาหลอนำโดยปี่พร้อมกลองทุม 2 ตัว โหม่ง 2 ชิ้น ในอดีตบรรเลงในงานบุญ งานบวช และงานศพ ตอนหลังๆ มีแต่ในงานศพทำให้เข้าใจว่าเป็นการบรรเลงส่งวิญญาณ น่าเสียดายที่ไม่มีการสืบต่อมากนักเพราะไม่สามารถเล่นเป็นอาชีพได้

กาหลอ เป็นดนตรีพื้นบ้านของภาคใต้ตอนกลางแถบกระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง เป็นที่นิยมกันมาตั้งครั้งบุร่ำบุราณ เมื่อมีงานศพ 'กาหลอ เป็นมหรสพหนึ่งเดียวที่ขาดไม่ได้ เพิ่ง ๓๐-๔๐ ปีที่ผ่านมานี้ กาหลอค่อยๆ ถูกลดบทบาทลงไปตามเงื่อนไขแวดล้อมของยุคสมัย

วงดนตรีกาหลอประกอบด้วยเครื่องดนตรี ๓ ชนิด คือ

ปี่ง่อ หรือที่พวกชวาเรียก ปี่อ่อ ทำจากไม้หลุมพอ พันด้ายสายสิญจน์ ประดับลูกปัดให้สวยงาม

ทน มี 1 คู่ หน่วยแม่ และ หน่วยลูก คล้ายกับกลองชนะของภาคกลาง ไม้ตีเป็นรูปโค้งทำจากไม้ที่มีน้ำหนักมากอย่างไม้แก้ว

ฆ้อง มี 1 คู่ หน่วยแม่ เป็นฆ้องตีขึ้นจากทองเหลือง หน่วยลูก เป็นฆ้องหล่อธรรมดา

ในวงดนตรีกาหลอ คนเล่นปี่ หรือที่เรียกกันว่า 'หมอปี่' จะเป็นผู้นำทำนอง ทนตีตามจังหวะเพลงปี่ และฆ้องตีตามจังหวะเพลงทน ถ้าเครื่องดนตรีสามสิ่งนี้ไล่ล้อสอดประสานกันอย่างเข้าท่วงทำนอง เพลงกาหลอสุดจะไพเราะเพราะพริ้ง ยิ่งถ้าคนฟังรู้เนื้อในเสียงเพลงนั้นด้วยก็จะยิ่งซาบซึ้งเศร้าสร้อย บางคนถึงน้ำตาไหล

อย่างเพลงชื่อ ทองสี ที่มีเนื้อว่า โอ้ทองสีพี่ทองสีเหอ ตอนค่ำเจ้านอนด้วยใคร เจ้าสุดสายใจ เจ้าคงนอนคนเดียวหลับได้ เจ้าสุดใจเหอ เจ้านอนหลับดี เจ้าทองสุกปลุกเจ้าทองสี ลุกขึ้นสักทีเจ้าทองสี พี่ทองสีเหอ

ความหมายของเพลงนี้ว่า คนตายนั้นเราปลุกด้วยเสียงปี่ เสียงทน เสียงฆ้อง ปลุกสักเท่าใดก็ไม่ลุก ยังคงนอนนิ่งเฉยอยู่ในโลกศพนั่นแหละ

เพลง พรายแก้ว ว่า เจ้าทิ้งแม่ไปแล้ว โอ้เจ้าพรายแก้ว พรายแก้วของแม่เหอ ตกน้ำแม่ได้ตามไปงม เจ้าพรายแก้วตกตม แม่ได้ตามไปหา เจ้าไปเมือง เจ้าไม่รู้มา อนิจจาพรายแก้ว พรายแก้วของแม่เหอ

ความหมายของเพลงพรายแก้วบอกว่า คนที่ตายไปนั้น ถ้าตกน้ำก็ยังไปงมเอามาได้ ถ้าตกในตมก็ยังไปหาเอาได้ แต่คนที่ตายไป จะไปเอามาจากที่ไม่ได้อีกแล้ว

อีกเพลงหนึ่งว่า พี่ทิดเหอ พี่ทิดโสธร ค่ำๆ พาน้องไปนอนที่หนำไร่ เสือหลบมาขบพี่ทิดตาย โอ้เจ้าเสือใจร้าย ใจร้ายแรงเหอ

ความหมายของเพลง พี่ทิดโสธร นี้บอกว่า คนที่เคยเป็นคู่ผัวตัวเมียกัน พากันไปอยู่ที่ขนำไร่ในที่เปลี่ยว บังเอิญมีเหตุต้องตายไปเสียคนหนึ่ง คนที่เหลืออยู่ก็จะต้องบ่นหา

และอีกเพลงหนึ่งที่ชื่อ นกกระจอกเต้น ร้องว่า นกกระจอกเหอ นางนกกระจอกเต้น พาลูกคาบรวงข้าวเล่น เที่ยวเต้นกลางนา กลางนาไหน กลางนาใคร กลางนาสยามเหอ

ความหมายเพลงนี้บอกว่า เมื่อก่อนนั้นผู้ตายเคยพาลูกไปเที่ยวเล่นในนา ทำงานด้วยกัน ไปเที่ยวไปไหนด้วยกัน แต่มาบัดนี้ไม่มีโอกาสอีกแล้ว นอนตายนิ่งอยู่ในโลง

เพลงที่ใช้ในงานส่งศพมี ๒ ประเภท คือเพลงคาถา และเพลงโทน

เพลงคาถาประกอบด้วยเพลง ไหว้พระ, ลาพระ, พ่อบัต, ขันเพชร, ไม้พัน, สุริยน, เมไร, เรื่อยาน, หยิว(เหยี่ยว)เล่นลม, ลาโรง

ส่วน ทองสี, นกกรง, นกเปล้า, พรายแก้ว, พรายทอง, ทอมท่อม, แสงทอง, ขอไฟ, จุดไต้ตามเทียน, พระพาย, นกกระจอกเต้น, กระต่ายติดแร้ว, พี่ทิดโสธร, สร้อยทอง, มอญโลมโลก เหล่านี้เป็นชื่อของ เพลงโทน

หมอผัน เล่าว่า พอเพลงปีกอหลอขับขานขึ้นผีสางดวงวิญญาณจากทั่วสารทิศจะเร่กันเข้ามาฟัง เสร็จแล้วหมอปี่ก็จะใช้บทเพลงขับกล่อม แผ่เมตตา และว่าคาถาส่งไปในเพลงปี่ ให้ดวงวิญญาณเหล่านั้นไปสู่ที่ชอบ

การบันทึกเสียงดนตรีใส่เทปไปเปิดที่อื่นต่อ จึงเป็นข้อห้ามเด็ดขาดสำหรับเพลงกาหลอ เพราะเสียงในเทปไม่มีคาถาส่งดวงวิญญาณ เมื่อปวงผีมารวมกันแล้วไม่ถูกควบคุมและส่งไปสู่ที่ชอบ ก็อาจก่อเหตุเภทภัยร้ายๆ ขึ้นได้ แต่มีข้อยกเว้นถ้าเป็นการเปิดในวัดหรือเพื่อการศึกษา

งานศพที่ตั้งบำเพ็ญกุศลในวัด สามารถตั้งโรงกาหลอตรงไหนก็ได้ แต่ชาวบ้านปักษ์ใต้บางส่วนนิยมตั้งศพที่บ้าน ในกรณีนี้มีข้อกำหนดว่าโรงกาหลอต้องตั้งอยู่นอกบริเวณบ้าน

เมื่อเข้าไปอยู่ในโรงกาหลอแล้ว มีพิธีการปฏิบัติที่เคร่งครัดมาก ระหว่างที่เล่นหมอปี่จะออกกลับไปบ้านไม่ได้ถ้าไม่มีเหตุจำเป็นอย่างที่สุด ต้องนอนเป็นที่ กินอาหารที่เหลือจากคนอื่นกินไม่ได้ ข้าวและกับถ้วยแรกของหม้อต้องตักมาให้หมอปี่ก่อน จะชักชวนให้คนอื่นเข้ามาร่วมวงกินด้วยก็ไม่ได้ ผู้หญิงสามารถเข้ามาในพิธีได้ แต่ห้ามส่งของต่อมือให้หมอปี่ และจะเรียกค่าราต (ค่าครู) จากเจ้าภาพได้ไม่เกิน ๓ ตำลึง (๑๒ บาท) กลับมาถึงบ้านก็ต้องให้ลูกหรือเมียเอาน้ำมาล้างเท้าให้ เพราะเชื่อว่ายังมีผีตามมาด้วย เมื่อมาเห็นลูกเมียปฏิบัติดีผีก็จะเกรงขาม แทนที่จะมาเบียดเบียนทำร้าย กลับชื่นชมให้พร

คำสำคัญ (Tags): #วงดนตรีกาหลอ
หมายเลขบันทึก: 580911เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2014 20:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2014 20:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท