หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

ตามรอยถั่ว


เมื่อคอยตามดูต่อ ก็พบว่าเมื่อมีหญ้าอื่นแซม หญ้าเจ้าชู้ก็ลดจำนวนลง หญ้าอื่นเพิ่มจำนวน อะฮ้า ถั่วเขียวสอนวิธีปลูกหญ้าให้จะจะเลย

เขาว่าในเกษตรผสมผสาน มีระบบของต้นไม้แทรกอยู่ ต้นไม้นั้นอาจจะเป็นป่าดั้งเดิม ป่าปลูกใหม่ หรือเกิดขึ้นเองจากธรรมชาติแพร่พันธุ์ให้ จะพบทั้งในนา บนคันนา ที่สูงอย่างจอมปลวก หรือเถียงนา

ไม้ที่พบมักจะเป็นกลุ่มไม้นี้ ยางนา ตะเคียนทอง กะบาก สะแบง ไม้รัง จามจุรี มะขาม มะม่วง เป็นต้น การมีไม้พวกนี้อยู่ช่วยเติมเต็มการรักษาโครงสร้างให้ดิินด้วยการยึดดินไว้ไม่ให้อ่อนแอ เสียรูป

ตาลเป็นต้นไม้อีกชนิดที่พบเห็นอยู่ร่วม แล้วยังมีต้นไม้อีกที่ปลูกใหม่ลงในดิน ไม้กลุ่มหลังนี้เป็นพวกไม้ผล ไม้ตระกูลหญ้า ไม้พุ่มกลุ่มนี้ เช่น หญ้ารูซี่ เนเปียร์ กินี บาเฮีย แฝกหอม ถั่วดำ ถั่วเล็บมือนาง ถั่วแปบ ถั่วนิ้วนางแดง ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ข้าว

บนพื้นที่ลาดชันก็มักจะเป็นกลุ่มนี้ กระถิน แคฝรั่ง แคบ้านถั่วมะแฮะ ครามป่า ต้นเสี้ยว เป็นต้น

พินิจดูสภาพดินที่เห็นหน้ายังเปลือยเปล่า โปรยถั่วเขียวลงไปขึ้นไม่ได้ จึงได้เห็นร่องรอยบางๆว่าดินที่เปลือยไม่มีซากอินทรย์วัตถุเลยแสดงว่ามีบางอย่างมาชะล้างไปหมด

เคยได้ยินมาว่าเมื่อไรที่หน้าดินถูกชะล้าง ควรสนใจความเร็วของการสูญเสียดินให้มากไว้ ฝน สภาพภูมิประเทศ ดิน การจัดการพืช และวิธีอนุรักษ์ดินและน้ำ มีความสัมพันธ์กับอัตราการสูญเสียดินทั้งนั้น

เขาว่าปลูกพืชเชิงเดี่ยวอายุสั้น มักจะเกิดปัญหาทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการชะล้างหน้าดินสูง ความอุดมสมบูรณ์ของดินจะลดลงรวดเร็ว มีผลกระทบในระยะยาว การโปรยถั่วเขียวที่ลองไป ก็เข้าทำนองปลูกพืชเชิงเดี่ยว อย่างนี้ก็ต้องเตือนตัวเองไม่ให้ผลีผลาม รีบทำอย่างใจอยากก่อนที่จะเข้าใจธรรมชาติของดินและพืชมากกว่านี้

ที่เขาว่าการปลูกพืชแซมกันช่วยรักษาหรือชะลอความสูญเสียของดินลงได้ระดับหนึ่ง ที่โปรยถั่วเขียวลงไปในดงหญ้าเจ้าชู้ ก็เป็นทำนองปลูกแซมนี่แหละ ซึ่งก็ประจักษ์กับของจริงว่าการเกื้อกูลจากพืชตระกูลถั่วให้หน้าดินที่มีพืชห่มคลุมเพิ่มมา ช่วงหน้าดินเปลือยเหลือน้อยลง แถมยังให้พันธุ์หญ้าอื่นมาช่วยเลี้ยงหน้าดินเพิ่มด้วย

ที่แกะรอยเกษตรผสมผสานมาใช้ตั้งใจเรียนรู้เรื่อง "การฟื้นดินด้วยพืชคลุมดิน" เมื่อคอยตามดูต่อ ก็พบว่าเมื่อมีหญ้าอื่นแซม หญ้าเจ้าชู้ก็ลดจำนวนลง หญ้าอื่นเพิ่มจำนวน อะฮ้า ถั่วเขียวสอนวิธีปลูกหญ้าให้จะจะเลย

แกะรอยหน้าดินเปลือยที่เหลือ ก็เจอว่าไม่ใช่แค่หน้าดินไม่มีอินทรีย์วัตถุอยู่เลย แต่ยังเป็นหน้าดินของพื้นที่ซึ่งต่ำลงไปกว่าพื้นอื่นๆ เมื่อไรที่ฝนตก พื้นตรงนี้จะมีน้ำไหลผ่านลงมากองพัก ก่อนจะระเหยไปในอากาศ ไม่น่าเชื่อว่าแค่นี้เอง ถั่วเขียวก็หยั่งรากเติบโตไม่ได้แล้ว

ถั่วก็ขึ้นไม่ได้ หญ้าก็ไม่ขึ้น งั้นตัดสินใจอย่างนี้ละกัน หาวัสดุที่ย่อยสลายได้ปูคลุมไว้ แล้วค่อยว่ากัน ว่าแล้วก็ลากกิ่งมะพร้าวที่หล่นๆไปคลุมไว้ หวังไว้ว่าเมื่ออินทรีย์วัตถุมากขึ้นจะมีหญ้าถือกำเนิดขึ้นมา

หมายเลขบันทึก: 580861เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2014 23:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ธันวาคม 2014 23:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท