อาจารย์และนักศึกษาคณะเกษตรฯ มข.เผยแพร่ผลงานระดับนานาชาติ ณ อินโดนีเซีย


ศ.ญาณวิทย์ ดร.เมธา วรรณพัฒน์ บรรยายพิเศษเรื่อง การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสัตว์เคี้ยวเอื้องและการลดการผลิตแก๊สมีเทน และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา 3 คน นำเสนอผลงานวิจัยแบบปากเปล่า

ระหว่างวันที่ 10-14 พฤศจิกายน พ.ศ.2557 ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ ดร.เมธา วรรณพัฒน์ อาจารย์และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรอาหารสัตว์เขตร้อน (Tropical Feed Resources Research and Development Center: TROFREC) พร้อมด้วยคณาจารย์และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เข้าร่วมประชุมและนำเสนอผลงานวิจัยในงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ: The 16th Asian-Australasian Association of Animal Production Science Congress, 2014 (The 16th AAAP Congress) ภายใต้หัวข้อ "Sustainable Livestock Production in the Perspective of Food Security, Policy, Genetic Resources and Climate Change" ณ Universitas Gadjah Mada, Yogyakarta, ประเทศอินโดนีเซีย (Indonesia)
The 16th AAAP Congress, 2014 จัดโดยสมาคมการผลิตสัตว์แห่งภาคพื้นเอเชีย-ออสตราเลเซีย มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัย นักศึกษา ผู้ที่ให้ความสนใจ รวมทั้งภาคส่วนเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ได้เผยแพร่ผลงานทางวิชาการ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาและปรับปรุงรูปแบบการผลิตปศุสัตว์ทั้งในภาคเกษตรกรและภาคอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยด้านอาหาร และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์เชื่อมโยงหน่วยงานและนักวิจัยในการดำเนินงานด้านวิชาการต่างๆ เพื่อร่วมเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพงานวิจัยและนักวิจัยให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยมีนักวิจัยจาก 42 ประเทศทั่วโลก จำนวนกว่า 1,200 คน เข้าร่วมประชุม มีการนำเสนอผลงานวิจัยทั้งแบบบรรยาย และแบบโปสเตอร์ จำนวนกว่า 800 เรื่อง
ในการประชุมวิชาการครั้งนี้ ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ ดร.เมธา วรรณพัฒน์ ได้รับเกียรติให้บรรยายพิเศษ (Invited Paper Speaker)ในหัวข้อเรื่อง "การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสัตว์เคี้ยวเอื้องและการลดการผลิตแก๊สมีเทน" (Increasing ruminant production efficiency and reducing methane production) ซึ่งเป็นเรื่องที่นักวิจัยให้ความสนใจเข้าร่วมฟังเป็นจำนวนมาก และพร้อมกันนี้ นักศึกษาภายใต้ศูนย์วิจัยฯ TROFREC จำนวน 3 คน ได้แก่ Mr. Sungchhang Kang, Mr. Kampanat Phesatcha และ Mr. Thiwakorn Ampapon ได้ร่วมนำเสนอผลงานวิจัยแบบปากเปล่า (Oral Presentation) ด้วย ขณะที่ในงาน Cultural night ซึ่งเป็นงานที่ตัวแทนจากประเทศที่มาเข้าร่วมประชุมได้ร่วมแสดงถึงศิลปวัฒนธรรมของแต่ละประเทศนั้นๆ โดยศาสตราจารย์ญาณวิทย์ ดร.เมธา วรรณพัฒน์ ได้ทำหน้าที่เป็นผู้นำในการแสดงรำวงที่แสดงถึงศิลปวัฒนธรรมของประเทศไทย ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุมเป็นอย่างยิ่ง
ที่สำคัญและเป็นที่ภาคภูมิใจอย่างยิ่งก็คือ ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ ดร.เมธา วรรณพัฒน์ ได้รับเกียรติจากเจ้าภาพจัดงานประชุม ในฐานะเป็นตัวแทนของนักวิจัยทั้งหมดจาก 42 ประเทศทั่วโลก และนักวิจัยที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมดกว่า 1,200 คนในการกล่าวบทสรุปวิเคราะห์ (Synopsis) และแสดงความรู้สึกขอบคุณของผลการประชุมครั้งนี้ ซึ่งได้รับความชื่นชมจากเจ้าภาพที่จัดงานและผู้เข้าร่วมประชุมเป็นอย่างสูงยิ่ง นอกจากนี้แล้ว ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ ดร.เมธา วรรณพัฒน์ เป็นนักวิจัยที่มีชื่อเสียงระดับโลก จึงมีนักวิจัยรุ่นใหม่ให้ความสนใจในการเข้ามาทักทาย ขอคำแนะนำและขอถ่ายภาพเป็นที่ระลึกจำนวนมาก
ตลอดระยะเวลาการประชุมทั้ง 5 วัน คณาจารย์และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาจากภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เข้าร่วมประชุม รับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักวิจัยจากหลายประเทศทั่วโลก ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อแนวทางการวิจัยในอนาคตต่อไป

กัมปนาจ เภสัชชา ข้อมูลข่าว/ภาพ
กิตติศักดิ์ สิงหา วิเคราะห์ สังเคราะห์และเผยแพร่

หมายเลขบันทึก: 580857เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2014 23:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2014 23:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท