วิธีสอนอ่านที่ถูกต้องแก่เยาวชน


การอ่านช่วยสร้างจินตนาการเกิดความคิดสร้างสรรค์ การอ่านช่วยให้เด็กมีระบบความคิดที่ดี ฝึกสมาธิ ฝึกทักษะการเรียนรู้ในระดับสูงขึ้น ฉะนั้น ครู และผู้ปกครองจึงมีความสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนการอ่านที่ถูกต้องสำหรับเยาวชน โดยการที่ครูและผู้ปกครองต้องเป็นต้นแบบการอ่านหนังสือให้เด็กได้เห็นทุกวัน เด็กๆก็จะทำตาม ทั้งยังส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กได้อ่านหนังสือที่โรงเรียนและที่บ้าน

........การอ่าน เป็นพื้นฐานการเรียนรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา เด็กๆควรได้รับการส่งเสริมสนับสนุนในเรื่องการอ่าน สร้างนิสัยรักการอ่านให้เกิดกับเด็กๆ เพื่อเตรียมพร้อมที่จะเป็นกำลังของชาติต่อไป การสร้างพื้นฐานการอ่านที่ถูกต้องนั้นจะต้องประกอบไปด้วยหลายๆองค์ประกอบ เช่น การได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากครอบครอบ ชุมชน องค์กร การจัดการศึกษา รวมถึงวิธีการสอนภาษาไทยที่ถูกต้อง ฯลฯ ในบันทึกนี้ผู้เขียนขอแนะนำวิธีสอนอ่านที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งที่ประทับใจมาตลอด แม้ว่าจะเก่าไปบ้างแต่ยังคงประสิทธิภาพที่จะสร้างนักอ่าน

........การสอนภาษาไทยมีหลากหลายวิธีด้วยกันที่ส่งเสริมการอ่าน ซึ่งการสอนภาษาไทยแบบประสมประสานเป็นวิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพมากวิธีหนึ่ง ที่มีความเหมาะสมกับการสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑-๒ ช่วยพัฒนาการอ่านได้เป็นอย่างดีอีกทั้งยังพัฒนาการด้านการฟัง การพูด และการเขียนไปพร้อมๆกัน จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ผู้เขียนเคยเป็นครูชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ เคยได้ใช้วิธีสอนนี้กับนักเรียนโดยทำการสอนตามขั้นตอนในคู่มือครู(ของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ) ผลที่ได้รับเด็กอ่านออกเขียนหนังสือได้ เพราะการสอนภาษาไทยแบบประสมประสานได้นำการสอนภาษาไทย ๔ วิธี มารวมกัน ได้แก่ ๑) การสอนภาษาไทยโดยใช้ประสบการณ์ทางภาษา ๒)การสอนภาษาไทยโดยใช้หนังสือเรียน ๓) การสอนภาษาไทยโดยใช้วิธีการทางหลักภาษา และ ๔) การสอนภาษาไทยโดยอ่านหนังสือเป็นรายบุคคล ซึ่งได้เสนอแนวทางการสอนเป็น ๗ ขั้นตอนดังนี้

ขั้นที่ ๑ การสอนโดยใช้ประสบการณ์ทางภาษาจากหนังสือเรียน แบ่งเป็น ๒ ขั้นตอน คือ

ขั้นตอนที่ ๑ สร้างประสบการณ์ทางเนื้อหา สร้างประสบการณ์ร่วมกัน ครูให้นักเรียนดูภาพในบทเรียนแล้วสนทนาเกี่ยวกับภาพ จากนั้นครูเล่าเรื่องหรืออ่านบทเรียนให้นักเรียนฟังอย่างช้าๆ พร้อมกับให้นักเรียนดูภาพประกอบการเล่าเรื่อง ครูควรเน้นมารยาทในการฟังหรือการพูด กระตุ้นให้นักเรียนคิดโดยใช้คำถามเกี่ยวกับบทเรียนที่ฟัง อภิปรายร่วมกัน หรือให้นักเรียนแสดงบทบาทสมมติตามเรื่องที่ฟัง จากนั้นให้นักเรียนช่วยกันเล่าเรื่องในบทเรียนด้วยภาษาของตนเอง และครูเขียนข้อความที่นักเรียนเล่าบนกระดาน นักเรียนอ่านข้อความที่ครูเขียนบนกระดานจนคล่องอาจให้นักเรียนอ่านเป็นกลุ่มหรือรายบุคคล ครูเขียนแผนภูมิให้นักเรียนอ่านและติดไว้ในชั้นเรียน

ขั้นตอนที่ ๒ สร้างประสบการณ์การสะกดคำปากเปล่า ในขั้นตอนนี้ เป็นการฝึกนักเรียนสะกดคำปากเปล่าเพื่อให้เข้าใจระบบเสียงสะกดคำ ดูรูปคำและการวางสระ พยัญชนะ และวรรณยุกต์ และฝึกการเขียนคำที่สะกด การสอนอ่านโดยใช้ประสบการณ์ทางภาษาจะสัมพันธ์กับการพูด ฟังและเขียน การสอนในขั้นนี้ยังเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างครูกับนักเรียน นักเรียนได้ฝึกคิด กล้าแสดงออก

ขั้นที่ ๒ การสอนอ่านในใจจากหนังสือเรียน

ก่อนอ่านในใจควรให้นักเรียนได้อ่านออกเสียงคำใหม่ในบทเรียนและทบทวนคำเก่าให้คล่องก่อน ครูต้องบอกจุดหมายของการอ่านเพื่ออะไร นักเรียนอ่านในใจแล้วทำกิจกรรมตามจุดมุ่งหมายการอ่าน เสร็จแล้วเขียนตามจุดมุ่งหมายการอ่าน

ขั้นที่ ๓ การสอนสะกดคำจากแบบฝึกในหนังสือเรียน

เริ่มจากการสะกดคำและแจกลูกปากเปล่าจนคล่องก่อนแล้วจึงให้สังเกตรูปคำและเขียนคำพร้อมกับสะกดคำไปด้วย จะช่วยให้เด็กอ่านและเขียนได้ถูกต้อง

ขั้นที่ ๔ การสอนอ่านออกเสียงจากหนังสือเรียน

การอ่านออกเสียงให้อ่านจากเนื้อหาในบทเรียน เพื่อให้อ่านได้ถูกต้อง คล่องแคล่ว ชัดเจน ครูอ่านให้นักเรียนฟังเป็นตัวอย่าง นักเรียนอ่านตามครู อ่านรายบุคลและเป็นกลุ่มกับครู ให้นักเรียนได้ฝึกอ่านตามลำพังหรืออ่านกับเพื่อน ในขณะที่นักเรียนอ่านออกเสียงนั้นควรให้นักเรียนได้ชี้นิ้วตามตัวหนังสือที่อ่านจะช่วยให้เด็กมีสมาธิ จำเรื่องที่อ่านได้ดี และในขั้นตอนนี้เราสามารถปลูกฝังคุณธรรมในเรื่อง ความสามัคคี ความพร้อมเพรียง การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เด็กเก่งช่วยเด็กอ่อนฝึกอ่าน เพื่อนช่วยเพื่อน

ขั้นที่ ๕ การฝึกการใช้ภาษา

จัดกิจกรรมให้นักเรียนฝึกฝนการใช้ภาษาทั้งการปัง พูด อ่าน และเขียน เช่น การเขียนคำให้ถูกต้อง การแต่งประโยคโดยนำคำในบทเรียนมาแต่งประโยคปากเปล่าและเขียนนักเรียนวาดภาพประกอบประโยคที่แต่ง การฝึกพูดอภิปราย ฯลฯ

ขั้นที่ ๖ การจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะทางภาษาและการอ่านรายบุคคล

จัดกิจกรรมการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียนด้วยเกมทางภาษา กิจกรรมการสะกดคำ คัดลายมือ เขียนตามคำบอก การอ่านบทร้อยกรอง ฯลฯ

การอ่านเป็นรายบุคล ส่งเสริมให้นักเรียนอ่านหนังสืออื่นเพิ่มเติม ครูพาไปอ่านหนังสือในห้องสมุด แนะนำให้อ่านหนังสือที่บ้าน

ขั้นที่ ๗ การสอนซ่อมเสริม

นักเรียนที่บกพร่องในการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน ครูจะต้องสอนซ่อมเสริมในเวลาเรียนและนอกเวลาเรียน

.........การสอนภาษาไทยที่ถูกต้องช่วยพัฒนาทักษะเด็กทั้งในด้านการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียนไปพร้อมกัน ทำให้เด็กอ่านออกเขียนได้คล่อง เมื่อเด็กในระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้นอ่านได้ และมีนิสัยรักการอ่าน การพัฒนาส่งเสริมการอ่านในระดับชั้นสูงขึ้นก็จะก้าวหน้ายิ่งขึ้น โรงเรียนควรจัดกิจกรรมการส่งเสริมการอ่านที่หลากหลาย การจัดบรรยากาศที่ส่งเสริมการอ่าน และเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการสนับสนุนส่งเสริมการอ่าน

........การอ่านช่วยสร้างจินตนาการเกิดความคิดสร้างสรรค์ การอ่านช่วยให้เด็กมีระบบความคิดที่ดี ฝึกสมาธิ ฝึกทักษะการเรียนรู้ในระดับสูงขึ้น ฉะนั้น ครู และผู้ปกครองจึงมีความสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนการอ่านที่ถูกต้องสำหรับเยาวชน โดยการที่ครูและผู้ปกครองต้องเป็นต้นแบบการอ่านหนังสือให้เด็กได้เห็นทุกวัน เด็กๆก็จะทำตาม ทั้งยังส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กได้อ่านหนังสือที่โรงเรียนและที่บ้าน

"จากหนังสือ คู่มือครูสำหรับใช้ควบคู่หนังสือเรียนภาษาไทย ชุดพื้นฐานภาษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ เล่ม ๑,๒ ตามหลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช ๒๕๒๑ (ฉบับปรับปรุงพุทธศักราช ๒๕๓๓) กระทรวงศึกษาธิการ

หมายเลขบันทึก: 580526เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2014 13:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2014 14:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณนะคะ อาจารย์ ดร.จันทวรรณ ที่มอบดอกไม้ให้กำลังใจค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท