Child - Centered


นางสาวชุติมาคล้ำภิบาลรหัส 57D0103104

รายวิชา 102611 วิชาการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้

ผู้สอนผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อดิศรเนาวนนท์

After Action Review

วันที่ 7 กันยายน 2557

จากการเข้าร่วมอบรมเรื่อง การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดย

รศ. ดร. ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ เป็นวิทยากรผู้ให้ความรู้ ในยุคสมัยที่ผู้สอนต้องจัดการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญนั้น เราได้ยินบ่อยมาก และพยายามจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะใช่หรือไม่ แต่จากการที่อาจารย์ได้มาให้ความรู้กับพวกเราในวันนี้เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ทำให้เราเข้าใจในเรื่องนี้กระจ่างชัดยิ่งขึ้น ซึ่งความรู้ที่เราได้รับเรื่องแรก คือ การวิเคราะห์ผู้เรียนจากการทำงานของสมอง อาจารย์ได้ให้ความรู้เรื่องนี้กับเราว่า การทำงานของสมองนั้นแบ่งเป็น 2 ซีก คือ ซีกซ้ายและซีกขวา ลักษณะของผู้เรียนที่ถนัดสมองซีกซ้ายจะมองรายละเอียด ชอบครุ่นคิด ชอบอยู่คนเดียว ใช้เหตุผล คิดวิเคราะห์เรียงลำดับ จำรายละเอียดปลีกย่อย จำชื่อคน ชื่อสถานที่ได้แม่น ชอบคณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ ใช้ภาษาได้ดี เข้าใจในสิ่งที่เป็นนามธรรมได้ดี ชอบความเป็นระบบ ระเบียบ ส่วนผู้เรียนถนัดสมองซีกขวาจะมองภาพรวม คิดจินตนาการ สร้างสรรค์ พูดเป็นคำ ๆ พูดไม่เต็มประโยค โต๊ะรก ๆ ชอบขีดเขียนขยุกขยิก ใช้อารมณ์ หุนหัน ชอบคนหมู่มาก ไม่ชอบอยู่นิ่ง ๆ ชอบเอามือ เท้าไปแหย่เพื่อน จำหน้าคน สถานที่ได้แม่น จำชื่อไม่ได้ ขี้ลืม มักพูดนอกเรื่อง ชอบต่อเติมคำพูดให้สนุกสนาน สื่อสารด้วยสีหน้า ออกท่าทาง ถนัดดนตรี กีฬา ศิลปะ การที่ผู้สอนทราบถึงการทำงานของสมองทั้งซีกซ้ายและซีกขวาจะทำให้วิเคราะห์และเข้าใจธรรมชาติของผู้เรียนได้ง่ายขึ้น นำมาซึ่งการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับความแตกต่างเฉพาะบุคคลของผู้เรียน ซึ่งการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางมีลักษณะเด่นอยู่ 3 ข้อ ตามที่วิทยากรได้กล่าวไว้ คือ 1. สอนตามความแตกต่างของบุคคล ผู้เรียนสมองซีกซ้ายและผู้เรียนสมองซีกขวา แบ่งแยกการเรียนรู้ของผู้เรียน/2. จัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพราะเราไม่สามารถทราบได้ว่าผู้เรียนใช้สมองซีกใดบ้าง/3. ผู้เรียนมีส่วนร่วม ถ้ามีครบทั้ง 3 ข้อที่กล่าวมาแสดงว่าเป็นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และหลักการสอนโดยใช้สมองเป็นฐาน (Brain Based Learning: BBL) มีดังนี้ สมองมีกระบวนการทำงานไปพร้อม ๆ กัน จึงสามารถจัดกิจกรรมหลากหลายได้ในขณะเดียวกัน/สมองสามารถรับรู้ทั้งในภาพรวมและรายละเอียดปลีกย่อย/ข้อมูลความรู้ถูกเก็บไว้ในหลาย ๆ ส่วนของสมองและถูกดึงมาใช้จากความจำที่หลากหลายรูปแบบโดยทางเส้นประสาท/ความหมายของความรู้มีความสำคัญมากกว่าข้อมูลความรู้/การเรียนรู้เกิดจากความสนใจและการรัยรู้/ความจำมี 2 แบบ คือ การท่องจำกับจำแบบสามัญสำนึก Spatial/สมองเป็นกระบวนการทางสังคม มันจะมีการพัฒนาการได้ร่วมกับสมองส่วนอื่น/สมองแต่ละส่วนมีการประสานงานเฉพาะ/สมองมีการพัฒนา ครูต้องพัฒนาการเรียนการสอนในชั้นเรียนเพื่อพัฒนาสมอง/การเรียนรู้เกิดได้จากทุกส่วนของร่างกาย ตั้งแต่การเคลื่อนไหวร่างกาย ความสนใจ และการปรับเปลี่ยนทางเคมี และข้อสุดท้ายควรค้นหาและพัฒนาความสามรถที่ติดตัวมาโดยกำเนิด ดังนั้น BBL = การเรียนรู้ที่ประยุกต์ใช้ความรู้แนวคิดและทฤษฎีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสมอง โครงสร้างและหน้าที่การทำงานของสมอง มาช่วยเด็กให้เกิดการเรียนรู้ที่ถาวรมากที่สุด โดยนำความรู้ แนวคิด หรือ ทฤษฎีที่หลากหลายเหล่านั้นไปใช้ เพื่อฝึกหรือส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กได้ ทฤษฎีนี้เป็นการบูรณาการการเรียนรู้เพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีที่สุด รูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่ใช้สมองเป็นฐานและเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญรูปแบหนึ่งที่วิทยากรให้ความรู้ไว้ก็คือ 4MAT ระบบการสอนแบบทฤษฎี 4 แบบ จะให้ความสำคัญต่อความแตกต่างระหว่างบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้กระบวนการสอนที่สอดคล้องกับความสามารถและความถนัดของผู้เรียนที่มีความแตกต่างกัน ตลอดจนคำนึงถึงกระบวนการสอนที่มุ่งพัฒนาสมองของมนุษย์ทั้ง 2 ซีก คือซีกซ้ายและซีกขวาไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีพหุปัญญา ที่อธิบายความสามารถของเด็กที่แตกต่างกัน 10 ด้าน และเด็กแต่ละคนจะสามารถเรียนรู้ได้ดีที่สุดจากการใช้ความสามารถที่มีอยู่นั้นเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้เช่นกัน แบบฉบับการเรียนรู้ของผู้เรียนดังกล่าวนั้นมี 4 แบบ และการเรียนรู้ทั้ง 4 แบบนี้มีคุณค่าเท่าเทียมกัน บทบาทหรือลีลาการสอนของครูมี 4 แบบ

บทบาทที่ 1 (WHY) ผู้เรียนแบบที่ 1 เป็นคนช่างคิดช่างสงสัย อยากรู้อยากเห็น ชอบการเรียนรู้ด้วยการสังเกต และสัมผัส เพื่อตอบคำถามว่า ทำไม ครูคือผู้กระตุ้น สร้างแรงจูงใจ

บทบาทที่ 2 (WHAT) ผู้เรียนแบบที่ 2 เป็นผู้สนใจข้อเท็จจริง ชอบเรียนรู้จากการรับข้อมูลและสิ่งต่าง ๆ จากครู หรือจากคนอื่น ๆ เป็นคนช่างวิเคราะห์ ชอบเรียนรู้ด้วยวิธีการคิดไตร่ตรอง ครูคือ ผู้สอน ผู้บอกความรู้

บทบาทที่ 3 (HOW) ผู้เรียนแบบที่ 3 เป็นผู้สนใจในวิธีการต่าง ๆ อยากรู้ว่าสิ่งต่าง ๆ นั้นทำงานอย่างไร ชอบที่จะได้ลงมือปฏิบัติจริง เป็นการเรียนรู้จากสามัญสำนึกที่สัมผัสได้ เช่น ทำ จับ ลูบ คลำ ทดลอง ฝึกปฏิบัติ ครูคือ โค้ชหรือผู้ฝึกสอน

บทบาทที่ 4 (IF) ผู้เรียนแบบที่ 4 ชอบค้นหาว่าเป็นไปได้หรือไม่ จึงสนใจค้นคว้าสิ่งใหม่ด้วยตนเอง ครูคือผู้ประเมินผล ผู้ร่วมเรียน ผู้แก้ไข

ขั้นตอนการสอนแบบ 4 MAT กระตุ้นให้สงสัยและสังเกต/หาเหตุวิเคราะห์ดู/พรั่งพรูประสบการณ์เดิม/เพิ่มเติมประสบการณ์ใหม่/ทำความเข้าใจด้วยการลงมือทำ/นำไปสร้างสรรค์ผลงานใหม่/ใส่ใจทบทวนตรวจสอบ/เห็นชอบและเผยแพร่ วิทยากรได้ให้ความรู้กับพวกเราในการนำการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative Learning) มาใช้ร่วมกับการสอนแบบ 4 MAT ซึ่งนำมาเป็นกิจกรรมหนึ่งในขั้นตอนที่ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติ (HOW) ขั้นตอนการเรียนรู้แบบร่วมมือ เริ่มจาก แบ่งกลุ่มผู้เรียน 2-6 คน/กำหนดบทบาทหน้าที่รับผิดชอบงานที่ไม่เหมือนกัน/เรียนรู้เนื้อหา/ครูสรุป/ทำแบบทดสอบวัดความรู้ใช้คะแนนเฉลี่ยของกลุ่ม การจัดการเรียนการสอนแบบร่วมมือทำให้ผู้เรียนรู้จักการทำงานเป็นทีม ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นแนวทางให้ผู้สอนได้พัฒนาผู้เรียนตามความสามารถ โดยใช้แบบเพื่อนช่วยเพื่อน เด็กเก่งช่วยเด็กอ่อน ฝึกให้นักเรียนมีคุณธรรม จริยธรรมในคราวเดียวกัน คือ มุ่งมั่นในการทำงาน ซื่อสัตย์ มีน้ำใจ ใฝ่เรียนรู้ เป็นคนดี เก่ง และมีความสุข

ความรู้ที่ได้ในวันนี้สะท้อนความคิดที่ว่าการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญนั้น ไม่ใช่การจัดกิจกรรมที่ต้องให้ผู้เรียนทำกิจกรรมทุกอย่างด้วยตนเองทั้งหมด ครูยังคงสอนด้วยวิธีการอธิบาย หรือบรรยายได้ และผู้เรียนยังคงต้องมีการท่องจำเพื่อให้เกิดความรู้อยู่เสมอ เพราะทั้งสองวิธีเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่ดีที่สุด และการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญไม่มีรูปแบบที่ตายตัว ผู้สอนต้องค้นคว้าหารูปแบบวิธีการสอนที่หลากหลายให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคน ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถของครูให้พัฒนารูปแบบการสอนอยู่เสมอ

การนำความรู้ที่ได้ในวันนี้ไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน คือ การนำรูปแบบการแบบ 4MAT ไปใช้ในการสอนวิชาภาษาอังกฤษพื้นฐาน ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เรื่อง Noun ขั้นตอนการสอน มีดังนี้

  • -WHY?นักเรียนดูรูปภาพอาหารที่ครูนำเสนอ แล้วตอบคำถามที่ครูถาม เช่น Have you ever seen this food before?/Have you ever eaten it?/Can you tell me the ingredients of this food?/Hoe to make it?
  • -WHAT? ครูอธิบายเกี่ยวกับคำนามพร้อมยกตัวอย่างประกอบ Countable Nouns & Uncountable Nouns ใช้ของจริงหรือรูปภาพให้นักเรียนเข้าใจง่ายยิ่งขึ้น
  • -HOW?นักเรียนทำแบบฝึกหัด เรื่อง นามนับได้ และนามนับไม่ได้ การแยกกลุ่มคำนาม
  • -IF...ครูให้นักเรียนค้นคว้าสูตรอาหารที่ตนสนใจ บอกส่วนประกอบ และให้จัดกลุ่มเป็นนามนับได้กับนามนับไม่ได้ นำเสนอหน้าชั้นเรียน แลกเปลี่ยนกับเพื่อน ๆ ในห้อง

บรรยากาศในการอบรมเรียบง่าย สบาย ๆ เป็นกันเอง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทำกิจกรรมร่วมกันด้วยความสนุกสนาน ขั้นตอนการบรรยายไม่ยุ่งยากซับซ้อน มีเอกสารประกอบการบรรยายทำให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น

ความรู้สึกที่มีต่อเพื่อน เพื่อน ๆ ยังคงเหมือนเดิม ตั้งใจฟังการบรรยาย ให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นอย่างดี รวมถึงการทำงานกลุ่มที่วิทยากรมอบหมายและการนำเสนอรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ 4MAT กับวิชาที่ตนเองสอน ทำให้เกิดมุมมองที่แตกต่างกันไป ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

ความรู้สึกที่มีต่อวิทยากร รศ. ดร. ประพันธ์ศิริสุเสารัจ ท่านเป็นผู้ที่ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยเน้นให้ผู้สอนต้องวิเคราะห์และทำความรู้จักกับผู้เรียนให้ดีก่อนทำการสอน เพราะผู้เรียนมีความสามารถที่ติดตัวมาแต่กำเนิดทุกคน เพียงแต่ผู้สอนจะค้นพบ แล้วทำการส่งเสริมให้ตรงกับความสามารถนั้นอย่างไร อาจารย์ได้กล่าวให้ฟังว่า "อย่าสอนช้างให้บินได้ และอย่าสอนนกกระจิบให้บินได้อย่างนกอินทรีย์ เพราะมันเป็นไปไม่ได้" ก็เหมือนกับความสามารถของผู้เรียนแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน ควรพัฒนาผู้เรียนให้เต็มตามศักยภาพ และอีกถ้อยคำหนึ่งที่อาจารย์ได้กล่าวไว้ "สามสิบลิขิตฟ้า เจ็ดสิบต้องฝ่าฟัน" อาจารย์ได้อธิบายไว้ว่า ผู้เรียนทุกคนเกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์หรือความสามารถที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด 30 เปอร์เซ็นต์ และอีก 70 เปอร์เซ็นต์ คือการแสวงหาและฝึกฝนด้วยตนเอง ผู้เรียนจึงจะเก่ง หรือเกิดความชำนาญในด้านนั้น ๆ ซึ่งถึงตรงนี้คนที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ผู้เรียนค้นพบและพัฒนาความสามารถให้ถึงขีดสุดได้ ก็คือ ครู นั่นเอง สุดท้ายนี้ต้องขอขอบพระคุณอาจารย์ทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดอบรมครั้งนี้ค่ะ

หมายเลขบันทึก: 580043เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2014 11:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2014 11:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท