Servant Leadership


ผู้นำแบบ servant leader เป็นเรื่องเกี่ยวกับ การพัฒนาคน (growing people)

ผู้นำแบบผู้รับใช้

Servant Leadership

พันเอก มารวย ส่งทานินทร์

[email protected]

8 พฤศจิกายน 2557

นำมาจาก Servant Leadership ประพันธ์โดย Vic Sassone , ICE Leadership President, U.S. Leadership, Inc. และจาก Wikipedia ในหัวข้อ Robert K. Greenleaf and the modern servant leadership movement.

ผู้ที่สนใจเอกสารแบบ PowerPoint (PDF file) สามารถศึกษา และ download ได้ที่ http://www.slideshare.net/maruay/servant-leadership-31241502

การแบ่งประเภทของผู้นำแบบง่าย ๆ มี 3 ประเภทคือ แบบใช้อำนาจเด็ดขาด (autocratic) แบบมีส่วนร่วม (participative) และแบบไม่ยุ่งเกี่ยว (laissez-faire) ส่วนผู้นำแบบผู้รับใช้ (Servant leadership) มีส่วนคล้ายกับผู้นำแบบมีส่วนร่วม คือเป็นผู้ช่วยเหลือให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้พัฒนาศักยภาพได้อย่างเต็มที่ มีการมอบอำนาจให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ทำให้บุคลากรเกิดความพึงพอใจ และมีผลงานที่ดี

คุณสมบัติของผู้นำแบบผู้รับใช้

  • เป็นนักฟังที่ดี (Listening): เน้นการฟังอย่างมีประสิทธิภาพ
  • เข้าใจความรู้สึกผู้อื่น (Empathy): เข้าใจความรู้สึกและมุมมองของผู้อื่น
  • ให้การดูแลทางจิตใจและวิญญาณ (Healing): ช่วยเหลือผู้อื่นเป็นองค์รวม
  • มีความตระหนักในตนเอง (Awareness): รู้คุณค่าของตน ความรู้สึก จุดแข็ง และจุดอ่อน
  • รู้จักโน้มน้าวใจคน (Persuasion): มีอิทธิพลต่อผู้อื่นโดยวิธีการโน้มน้าว
  • มีกรอบความคิด (Conceptualization): บูรณาการความเป็นจริงในปัจจุบันและความน่าจะเป็นในอนาคต
  • คาดการณ์ล่วงหน้าได้ (Foresight): มีสัญชาตญาณ เชื่อมโยงอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
  • เป็นผู้ให้บริการ (Stewardship): จัดสรรทรัพยากรเพื่อทำในสิ่งที่ดีขึ้น
  • มุ่งมั่นพัฒนาคน (Commitment to the growth of people): รับผิดชอบต่อความต้องการของผู้อื่น
  • สร้างชุมชน (Building community): สร้างความรู้สึกว่าเป็นชุมชนเดียวกัน

ประวัติศาสตร์ของผู้นำแบบผู้รับใช้ ในสมัยโบราณ มีแนวคิดเช่นนี้คือ ในคำภีร์ เต๋า เต้อ จิง (Tao Te Ching) โดยเล่าจื้อ (Lao-Tzu) กล่าวถึงผู้นำว่า ผู้นำที่ดีที่สุด คือประชาชนไม่รู้สึกว่าถูกปกครอง รองลงไปคือผู้ที่ประชาชนรักและยกย่อง ที่แย่คือผู้ที่ประชาชนหวาดกลัว ที่แย่ที่สุดคือผู้ที่ประชาชนเหยียดหยามและไม่เชื่อฟัง

Chanakya แต่งตำราอรรถศาสตร์ (Arthashastra) ไว้ว่า ผู้นำที่ดีดูจากความพอใจของผู้ติดตาม ส่วนในศาสนาคริสต์ กล่าวว่า พระเยซูสอนเหล่าสาวกว่า ใครต้องการเป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่ให้ทำตนเป็นผู้รับใช้ แม้แต่พระองค์เองก็ปฏิบัติตนเช่นนั้นและยอมเสียสละชีวิตเพื่อเป็นค่าไถ่ให้กับบุคคลอีกมากมาย และในศาสนาอิสลาม กล่าวว่า ผู้นำคือผู้ที่ยอมรับใช้ปวงชน (the leader of a people is their servant)

ข้อดีและข้อเสียของผู้นำแบบผู้รับใช้

  • เป็นแนวคิดในการทำงานและความเป็นอยู่ในระยะยาว และมีผลบวกต่อสังคม
  • เป็นการบริหารบุคคล ที่ทำให้บุคลากรปฏิบัติกับลูกค้าในทางที่ดี ทำให้ลูกค้าเกิดความจงรักภักดี
  • สร้างความผูกพันของบุคลากร
  • เป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ดี
  • เน้นความสำคัญของผู้นำที่มีต่อบุคลากร
  • ทำให้ผลตอบแทนการลงทุนด้านบุคลากรดีขึ้น องค์กรมีผลงานที่ดีขึ้น
  • ส่วนข้อเสียมีประการเดียว คือ เป็นการลงทุนระยะยาว ต้องอาศัยเวลา

Servant Leadership ในยุคปัจจุบัน เริ่มต้นในปี ค.ศ. 1970s เมื่อ Robert K. Greenleaf ประพันธ์เรื่อง The Servant as Leader ที่เขาระบุว่า: ผู้นำแบบผู้รับใช้ (servant leader) เป็นผู้ที่ปรารถนาช่วยเหลือผู้อื่นก่อน จากนั้นจึงเลือกที่จะนำ การดูแลความต้องการสูงสุดของผู้อื่นก่อน เป็นสิ่งที่ผู้นำแบบ servant leader ให้ความสนใจเป็นลำดับแรก ตรงกันข้ามกับผู้ที่ต้องการเป็นผู้นำก่อน

การพัฒนาบุคคล ผู้นำแบบ servant leader เป็นเรื่องเกี่ยวกับ การพัฒนาคน (growing people) เป็นการนำโดยใช้แรงจูงใจ ชี้นำ และปรับเปลี่ยนผู้อื่น เพื่อตอบสนองความต้องการของเขาทั้งทางร่างกายและจิตวิญญาณ ความต้องการทางจิตวิญญาณ (spiritual needs) หมายถึงแรงจูงใจ ความท้าทาย และการให้กำลังใจ ความต้องการทางร่างกาย (physical needs) หมายถึงผลรวมของทักษะ ความรู้ และทรัพยากร

ผู้นำแบบจิตวิญญาณ มีคำที่กล่าวถึงผู้นำอีกลักษณะหนึ่ง คือผู้นำแบบจิตวิญญาณ (Spiritual Leadership) ที่เป็นผลงานของ Dr. Louis (Jody) Fry ศาสตราจารย์ ด้านการบริหารและการนำ มหาวิทยาลัย Tarleton State University in Killeen มลรัฐ Texas กล่าวว่า: ผู้นำแบบจิตวิญญาณประกอบด้วย ค่านิยม ทัศนคติ และพฤติกรรม ที่เป็นแรงจูงใจจากภายในตนเองและผู้อื่น ทำให้เกิดผัสสะของจิตวิญญาณร่วมกัน ส่งผลให้เกิดความมุ่งมั่นและมีผลผลิตที่ดีขึ้น

Spiritual Leadership เกี่ยวข้องกับ: การสร้างวิสัยทัศน์ของผู้นำร่วมกับสมาชิก ทำให้รู้สึกถึงเสียงเรียกร้องที่มีความหมายของชีวิต ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เป็นการสร้างวัฒนธรรมที่เห็นประโยชน์ต่อผู้อื่นเป็นหลัก ด้วยความหวังและความศรัทธา ที่บุคคลเกิดความรู้สึกร่วมในเป็นสมาชิก มีความเข้าใจและซึ้งใจ รู้สึกได้ถึงการได้รับการดูแลที่ดี และความห่วงใย จากผู้นำ

พื้นฐานของผู้นำแบบผู้รับใช้

  • ชี้เป้าหมายชัดและมีการสื่อสาร (Clarifying and Communicating) – ผู้นำระบุทิศทางและเป้าประสงค์ขององค์กร ที่ทำให้บุคลากรตื่นเต้นและอยากร่วมทางไปด้วย
  • ฟังและชักชวน (Listening and Persuading) – ฟังปัญหาจากบุคลากรอย่างเข้าใจ และใช้การชักชวนมากกว่าการบังคับ
  • ให้การดูแลเอาใจใส่และมีคุณลักษณะที่ดี (Caring and Character) – มีความจริงใจ เห็นประโยชน์แก่ผู้อื่นก่อน และมีคุณลักษณะผู้นำที่ดี
  • สร้างความสามารถและมีการมอบอำนาจ (Enabling and Empowering) – มุ่งมั่นพัฒนาบุคลากร ให้ความช่วยเหลือ ให้งานที่ท้าทาย ให้อิสระ และมอบหมายความรับผิดชอบ
  • ให้การสนับสนุนและมีการฉลองชัย (Encouraging and Celebrating) – ให้กำลังใจบุคลากร ให้การยกย่องชมเชย และฉลองความสำเร็จ

ปรัชญาของ Greenleaf

  • บุคลากรสามารถเติบโตพร้อมกันไปกับองค์กร โดยมีพื้นฐานของค่านิยมและวิสัยทัศน์ นั่นคือทุกคนมีความเป็นผู้นำ
  • ผู้นำต้องสร้างศรัทธาและความเคารพ
  • ผู้นำต้องเป็นผู้ให้ก่อน เป็นครู เป็นผู้รู้ เป็นมาตรฐาน มากกว่าผู้ออกคำสั่ง
  • ผู้นำต้องมองด้วยสายตาของผู้ติดตาม เพื่อสร้างฝันให้เป็นจริง

ส่วนประกอบเสริมของผู้นำแบบผู้รับใช้

  • ผู้นำกล่าวว่า "'เรามาทำด้วยกัน'" แล้วแสดงให้ดู (Leaders do not say‚ "Get going." Instead‚ they say‚ "Let's go!" and lead the way.) เป็นผู้นำแล้วต้องกล้านำ
  • ผู้นำต้องพึ่งพาผู้ตาม (Leaders assume that their followers are working with them.) ผู้นำไม่สามารถทำได้ตามลำพัง ต้องมีทีมงาน และให้การยกย่องกับทีม
  • ผู้นำสร้างผู้นำรุ่นต่อไป (Leaders are people builders.) มีคนเก่งยิ่งมาก องค์กรยิ่งเข้มแข็ง
  • ผู้นำคือผู้ให้ความช่วยเหลือ (Leaders do not hold people down – they lift them up.) หน้าที่หนึ่งของผู้นำคือ พัฒนาผู้ติดตาม
  • ผู้นำมีความไว้เนื้อเชื่อใจคน (Leaders have faith in people) เมื่อได้รับความไว้วางใจ เขาจะรับผิดชอบต่อผลงานในการทำให้ดีขึ้น
  • เป็นผู้นำต้องมองสูงเข้าไว้ (Leaders keep their eyes on high goals.) ทุกสิ่งเริ่มจากผู้นำที่เป็นผู้ตั้งเป้าหมาย ผู้ติดตามมีทั้งนักคิดและนักปฏิบัติ เลือกให้ถูกคน
  • ผู้นำต้องกล้าตัดสินใจ (Leaders are faced with many hard decisions‚ including balancing fairness to an individual with fairness to the group.) บางครั้งผู้นำต้องกล้าตัดจำหน่ายผู้ที่ไม่เห็นด้วย ให้ออกไปนอกองค์กร
  • เป็นผู้นำต้องมีอารมณ์ขัน (Leaders have a sense of humor.) กล้าที่จะหัวเราะตนเอง แต่หัวใจมีความอ่อนโยน
  • ผู้นำต้องนำให้เป็น (Leaders can be led.) อย่ายึดมั่นจนสุดโต่ง พยายามหาทางออกที่ดีที่สุด รู้จักเปิดใจ

สรุป ผู้นำแบบผู้รับใช้ (Servant Leadership) ตรงกับค่านิยมและแนวทางของการมุ่งสู่ความเป็นเลิศคือ การนำองค์กรอย่างมีวิสัยทัศน์ การเรียนรู้ขององค์กรและบุคคล และการให้คุณค่าต่อบุคลากรและพันธมิตร (Visionary Leadership, Organizational and Personal Learning, and Valuing Workforce Members and Partners) การนำองค์กรสู่ความเป็นเลิศ สามารถใช้แนวทางการนำองค์กร โดยปรัชญาและการปฏิบัติของ Servant Leadership

**********************************************

หมายเลขบันทึก: 579952เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2014 13:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2014 12:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผู้นำดี ผู้ตามเป็นนักเรียนรู้ องค์กร ย่อมพัฒนา ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท