Knowledge for Deep South
โครงการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้จังหวัดชายแดนภาคใต้ K4DS

K4DS Post ฉบับเดือน พฤศจิกายน 2557


วันประถมศึกษาแห่งชาติกับการพัฒนาพื้นที่ชายแดนใต้

เพราะ

...เยาวชน คือ อนาคตของชาติ

...การศึกษา คือ การสร้างฐานรากทางปัญญา และการพัฒนาทรัพยากร “คน”

...การสร้างการเรียนรู้เพื่อรู้จัก เข้าใจ และรักษ์ท้องถิ่น คือ ส่วนสำคัญของการศึกษาเพื่อพัฒนาชีวิต

...“บริบทของจังหวัดชายแดนใต้” คือ รากเหง้า ทุนสังคม และ หัวใจ ของปัญหาและการพัฒนาพื้นที่

ช่วงวัยเด็ก อาจเป็นช่วงวัยและวันเวลาแห่งความสุขที่ใครหลายคนไม่เคยปล่อยให้รางเลือนไปจากความทรงจำ เพียงเสี้ยวนาทีของชีวิตที่คิดถึงก็เผลอนั่งอมยิ้มอิ่มสุข ยิ่งนึกถึงช่วงเวลาที่ได้วิ่งเล่น ทำกิจกรรม และเรียนรู้ ร่วมกับเพื่อนๆ ในวัยเดียวกัน ความสุขยิ่งล้นปรี่...แต่แปลก!!! ที่เราแทบไม่เคยมีภาพความประทับใจในห้องเรียนโผล่ผุดขึ้นมาในนาทีความสุขของความทรงจำ...ทั้งที่เป็นช่วงวัยและเวลาเดียวกัน

ผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งคนที่ก้าวผ่านช่วงวัยเด็กมาเนิ่นนาน แต่ความทรงจำยังชัดเจนและกรุ่นสุขเสมอ เช่นเดียวกัน ไม่บ่อยครั้งนักที่นั่งระลึกถึงวันเวลาเหล่านั้นแล้วจะคิดถึงความสุขในห้องเรียน นอกจากวาระที่เกิดการพูดคุยในประเด็นเฉพาะเจาะจงที่เกี่ยวข้อง โดยส่วนตัวผู้เขียนเป็นนักเรียนชั้นดีที่ตั้งใจเรียนและมีผลการศึกษาในเกณฑ์ดีเยี่ยมเสมอมา ด้วยเพราะถูกปลูกฝังให้เชื่อมั่นเสมอมาว่าการศึกษาจะเป็นรากฐานสำคัญในการดำรงชีวิตของเราทุกคน เพราะการศึกษาสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในเจริญงอกงามและก้าวหน้า อีกทั้งสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ในสังคม ตลอดจนช่วยวางรากฐานพัฒนาการของชีวิตให้เกิดศักยภาพในด้านต่างๆ อย่างสมบูรณ์ รวมถึงการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้นั้นจำเป็นต้องอาศัยการศึกษาเป็นองค์ประกอบสำคัญเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศ และคาดหวังจะเห็นประชากรของประเทศได้รับการศึกษาที่ดีและมีประสิทธิภาพเพื่อให้เขาเหล่านั้นสามารถร่วมพัฒนาประเทศให้เจริญมั่นคงได้ แต่เมื่อเวลาล่วงเลยผ่านไป ประสบการณ์และการเรียนรู้เริ่มบั่นทอนความเชื่อมั่น ขณะที่ภาพความทรงจำในวัยเรียนที่ระลึกได้ยิ่งตอกย้ำและสั่นคลอนต่อความรู้สึก แต่ส่วนลึกในใจยังคงฝากความหวังในการพัฒนาสังคมและพัฒนาลูกหลาน ด้วยการศึกษาที่ดี มีประสิทธิภาพ และเหมาะกับบริบทของสังคมที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

เนิ่นนานมาแล้วที่ระบบการจัดการศึกษาเกิดขึ้นในสังคมไทย เปลี่ยนแปลงและพัฒนามาเรื่อยๆ ทุกยุคทุกสมัยต่างมีวาทกรรมที่ให้ความสำคัญกับการศึกษา ยุคหนึ่งรัฐเคยกำหนดให้วันที่ 1 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันประถมศึกษาแห่งชาติ และได้จัดงานวันประถมศึกษาแห่งชาติเป็นประจำ ยุคต่อมายังคงให้ความสำคัญต่อเนื่องแต่ขยับปรับเปลี่ยนเป็นวันที่ 25 พฤศจิกายน แทนและยึดถือกันมาตั้งแต่นั้นจนปัจจุบัน แม้มีการกำหนด “วันประถมศึกษาแห่งชาติ” เป็นวันสำคัญชัดเจน แต่คุณภาพและมาตรฐานการจัดการศึกษาของไทยอาจยังไม่ได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้าอย่างแท้จริง กระทั่งการจัดการศึกษาเรียนรู้ในแต่ละพื้นที่ยังมีความแตกต่างกัน ประเทศเราอาจเดินหลงทิศผิดทางไปตามกระแสสิ่งเร้าที่เกิดขึ้นรอบด้าน จนละเลยเป้าหมายเบื้องต้นของการจัดการศึกษาที่มุ่งพัฒนาให้คนมีทักษะความรู้ ทักษะชีวิต เพื่อการพัฒนาตนเองและสังคม ถึงวันนี้อาจยังไม่สายเกินไปที่จะผ่าตัดการศึกษาของไทยให้ดีขึ้น แต่คำถามหลัก คือ ประเทศไทยจะวางยุทธศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงหรือการปฏิรูปการศึกษาอย่างไรที่ทำให้เกิดผลดีที่สุด และกระทบกระเทือนทางลบน้อยที่สุด? คงต้องค้นหาคำตอบร่วมกัน

จังหวัดชายแดนใต้เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ความแตกต่างกลายเป็นที่มาของปัญหาการศึกษาและปัญหาอื่นๆ ที่สั่งสมและกัดกินเกราะภูมิคุ้มกันที่ดีของท้องถิ่นให้ค่อยๆ ลบเลือนและจางหายไปกับสถานการณ์ที่ถูกประดิษฐ์สร้างและให้ความสำคัญจากบางคนบางกลุ่ม สำหรับพื้นที่นี้ “การศึกษาแบบพหุวัฒนธรรม” ที่อยู่บนพื้นฐานการทำความรู้จัก เรียนรู้ เข้าใจ และยอมรับในความต่าง อาจเป็นแนวทางหนึ่งของการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาพื้นที่และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เกิด “พหุปัญญา” เพราะ“บริบทของจังหวัดชายแดนใต้” คือ รากเหง้า ทุนสังคม และหัวใจสำคัญของปัญหาและการพัฒนาพื้นที่ การศึกษาที่ดีจึงควรสร้างการเรียนรู้เพื่อรู้จัก เข้าใจ และรักษ์ท้องถิ่น ตอบสนองต่อการสร้างฐานรากทางปัญญา พัฒนาชีวิต พัฒนาคน เพื่อรักษาอัตลักษณ์และเอกภาพของประเทศต่อไป

“ถอดบทเรียนตากใบ สู่อนาคตปาตานี” เวทีถอดบทเรียนรำลึก 10 ปี ตากใบ

เมื่อวันเสาร์ที่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมา เครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพปาตานีจัดเสวนาหัวข้อ “ถอดบทเรียนตากใบ สู่อนาคตปาตานี” เนื่องในงาน “รำลึก 10 ปี ตากใบ” ณ หอประชุม สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี เพื่อร่วมรำลึกถึงวันเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ที่นำไปสู่การเสียชีวิตของประชาชนจำนวนหนึ่ง

เวทีเสวนา “ถอดบทเรียนตากใบ สู่อนาคตปาตานี” เป็นหนึ่งในเวทีที่เปิดโอกาสให้มีการแสวงหาทางออกในทางการเมือง และให้โอกาสกับกระบวนการสันติภาพในการเปิดพื้นที่ทางความคิดที่สามารถถกเถียงอภิปราย เพื่อจะได้เข้าถึงกระบวนการสันติภาพ โดยมีนายสุไฮมิง ดุละสะ ประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PERMAS) เป็นผู้ดำเนินรายการ และมีผู้ร่วมเสวนาซึ่งเป็นตัวแทนจากแวดวงคนทำงานในพื้นที่และผู้สูญเสีย ได้แก่นายตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) นายรอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน นายอัซฮัร ลูเละ หนึ่งในเหยื่อจากเหตุการณ์ตากใบ และนางสาวรุซดา สะเด็ง อุปนายกสมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PERWANI)

ผู้ร่วมเสวนาต่างย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์และถอดบทเรียนโดยเทียบเคียงกับเหตุการณ์ใหญ่ๆ ในอดีตที่เคยเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม คือ เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 ซึ่งมีบริบทและผลที่เกิดตามมาทั้งแตกต่างหรือใกล้เคียงกัน แต่สามารถเชื่อมโยงภาพให้เห็นระบบคิดและพัฒนาการทางการเมืองผ่านการเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียม กันโดยใช้การชุมนุมเป็นเครื่องมือสร้างพื้นที่ปลอดภัย และใช้รูปแบบสันติวิธีในการเคลื่อนไหวทางการเมือง การไล่เรียงลำดับเหตุการณ์และความเชื่อมโยงของวันวิปโยคในตากใบที่กลายเป็นบทเรียนราคาแพงของทั้งภาครัฐ ประชาชน และผู้สูญเสียนี้ ชี้ให้เห็นถึงบทเรียนจากความรุนแรงในปี 2547 ที่เชื่อมโยงสู่สถานการณ์บนความขัดแย้ง และความไม่เข้าใจกัน และผลประโยนช์ทับซ้อนมหาศาลในพื้นที่แห่งนี้ พร้อมทั้งสะท้อนบทเรียนจากการทำงานของภาครัฐ ที่ไม่สามารถบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดสันติภาพและความสงบสุข หากแต่ในขณะเดียวกันอาจยิ่งผลักดันให้มีศัตรู(เงียบ) เพิ่มมากขึ้น

บทสรุปของเหตุการณ์และคดีความต่างๆ ในพื้นที่จะเป็นอย่างไร เราอาจไม่ต้องคาดเดา แต่บทเรียนสำหรับเราคือต้องมองเชื่อมโยงทุกสถานการณ์อย่างเป็นระบบ และตระหนักว่ากระบวนการสันติภาพจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราทุกคนเปิดใจ เข้าใจ เรียนรู้ และร่วมมือกันอย่างแท้จริง ...อย่าให้ทุกเหตุการณ์และความสูญเสีย กลายเป็นเพียงซากความทรงจำ เพราะคงไม่มีใครอยากให้เกิดความสูญเสียขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า (ขอบคุณภาพข่าวและข้อมูลดีๆ จาก http://www.deepsouthwatch.org/dsj/6324)

K4DS เปิดประตูความรู้ชายแดนใต้

 

เพื่อร่วมย้อนรำลึกถึงช่วงวัยเด็ก และให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ในช่วงชั้นประถมศึกษา K4DS Post ฉบับนี้เรามีหนังสือแนะนำ ที่จะทำให้ใครหลายคนอมยิ้มไปกับเรื่องราวความซุกซนที่อาจเคยเกิดขึ้นจริงในกาลครั้งหนึ่งของชีวิต หนังสืออ่านประกอบการเรียนชุด ความสุขของฉันในวันสุขภาพดี หน่วยที่ 3 สุขภาพจิตดีได้ด้วยตนเอง เรื่อง ทุกข์เขา...ทุกข์เรา, ชุลีพร อรุณแสงสุรีย์ และคณะ, 2553 หนึ่งในจำนวน 11 เล่ม ของหนังสืออ่านประกอบการเรียนชุด “ความสุขของฉันในวันสุขภาพดี” ภายใต้โครงการพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตร์ท้องถิ่นเพื่อการอยู่ดีมีสุข สำหรับโรงเรียนในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นอีกความพยายามในการคัดสรรเรื่องราวใกล้ตัวมาบูรณาการเนื้อหาด้านวิทยาศาสตร์เป็นสื่อการเรียนรู้ที่ใช้สอนเด็กๆ ตามช่วงวัย ให้รู้จักรักและดูแลสุขภาพของตนเองและคนรอบข้าง “ทุกข์เขา...ทุกเรา” สะท้อนเรื่องราวความคึกคะนองด้วยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในวัยเด็กของเด็กชายคู่หนึ่ง ที่ความซุกซนนำมาซึ่งความสูญเสียของผู้ถูกกระทำ และกระทบต่อความรู้สึกของตนเองอย่างไม่คาดคิด โชคยังดีที่เหตุการณ์นี้ได้กลายเป็นบทเรียนให้เด็กน้อยคู่นี้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเติบโต วิกฤตการณ์ได้เปลี่ยนสู่โอกาสแห่งการเรียนรู้ที่จะรักและมีความรับผิดชอบกับการกระทำของตนเอง การนำเสนอโดยใช้หนังสือภาพประกอบเรื่องเล่า แล้วเชื่อมโยงปิดท้ายด้วยสาระความรู้ ทำให้เด็กเพลิดเพลิน จดจำ และเรียนรู้โดยไม่เบื่อหน่าย ท่านสามารถติดตามอ่านหนังสือเรื่องนี้ได้ที่ http://k4ds.psu.ac.th/k4ds_search/showDetail.php?i... รวมทั้งติดตามอ่านหนังสือในชุดเดียวกันได้ครบทุกเล่ม ที่ฐานข้อมูล K4DS Search 

เล่มต่อมา รายงานผลการดำเนินงานฉบับสมบูรณ์ ชุดโครงการวิจัยสุขภาวะและพหุวัฒนธรรมศึกษา, วัฒนะ พรหมเพชร, 2556 ชุดโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของกลุ่มนักวิจัยในพื้นที่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ ให้ดำเนินการสร้างนักวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ นวัตกรรม และเผยแพร่งานวิจัยทางพหุวัฒนธรรมศึกษาและการสร้างเสริมสุขภาวะในสถานศึกษา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้และตอบสนองต่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างเหมาะสม ภายใต้บริบทของความหลากหลายทางวัฒนธรรมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเสริมสร้างสังคมให้มีความเข้มแข็งและอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้อย่างสันติสุข ซึ่งดำเนินงานระหว่างปี 2552-2555 และได้งานวิจัยที่สร้างองค์ความรู้จำนวนทั้งสิ้น 14 โครงการวิจัย แต่ละโครงการล้วนน่าสนใจ และควรค่าแก่การพัฒนาต่อเนื่องรวมทั้งประยุกต์ใช้ในการจัดการศึกษาแนวพหุวัฒนธรรมศึกษาให้เกิดขึ้นจริง อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://k4ds.psu.ac.th/k4ds_search/showDetailProjec...

หมายเลขบันทึก: 579761เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2014 11:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2014 11:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท