Story Telling ( ต้นสาย...ปลายเหตุ )


Story Telling รายวิชาการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ 

โดย นางสาวอุไรวรรณ ภูจ่าพล นักศึกษาปริญญาโทรุ่นที่ 13 สาขาหลักสูตรและการสอน
รหัส 57D0103124 ระดับปริญญาโท สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน ภาคพิเศษ หมู่ 1 

ครูผู้สอน ผศ.รศ. อดิศร เนาวนนท์

ข้าพเจ้าสอบบรรจุได้ ตั้งแต่ปี 2553 จึงได้มีโอกาสมาสอนที่โรงเรียนระดมวิทยานุสรณ์ โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนขยายโอกาสขนาดใหญ่ มีนักเรียนทั้งหมด ประมาณ 570 คน เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เมื่อข้าพเจ้าได้เริ่มมาสอนที่โรงเรียนแห่งนี้ ข้าพเจ้ามีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาวิทยาศาสตร์ให้กับนักเรียนในระดับประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แล้ววันหนึ่งข้าพเจ้าก็มีโอกาสได้พบกับนักเรียนชายที่ย้ายมาใหม่คนหนึ่ง นักเรียนชายคนนี้ลักษณะ ตัวเล็ก ๆ ผิวขาว ตาโต ซึ่งดูแล้วก็ไม่ใช่ลักษณะของนักเรียนที่มีปัญหาอะไร นักเรียนคนนี้ย้ายมาเรียนที่โรงเรียนเมื่อปี 2556 ภาคเรียนที่ 2 ซึ่งน่าจะเปิดเรียนไปแล้วประมาณสองสัปดาห์ โดยตอนนั้นนักเรียนคนนี้เรียนอยู่ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ข้าพเจ้าก็จัดการเรียนการสอนไปตามปกติ แต่ข้าพเจ้าสังเกตว่าเด็กนักเรียนคนนี้ไม่เคยให้ความร่วมมือในการเรียนเลย ไม่ว่าจะเป็นการร่วมตอบคำถาม แสดงความคิดเห็น ทำกิจกรรมการทดลองต่าง ๆ แม้แต่การเตรียมอุปกรณ์มาเพื่อใช้ในการทดลองนักเรียนคนนี้ก็ไม่เคยที่จะนำอะไรมาเลย หลายครั้งเข้า ข้าพเจ้าก็ได้ปรึกษากับคุณครูที่ปรึกษาของนักเรียนคนนี้ คุณครูคนนั้นก็บอกว่าไปเยี่ยมบ้านมาแล้ว นักเรียนอาศัยอยู่กับแม่ ส่วนพ่อนั้นแยกไปมีครอบครัวใหม่ และจากการพูดคุยกับคุณครูหลาย ๆท่านที่ได้สอนนักเรียนชายคนนี้ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ในเวลาที่ครูสอนนักเรียนคนนี้จะไม่ให้ความร่วมมือ ไม่เคยทำงานส่งไม่ว่าจะเป็นรายวิชาใดก็ตาม และยังมีพฤติกรรมต่อต้าน และไม่เคารพเชื่อฟังครูอีกด้วย ซึ่งครูหลาย ๆ ท่านที่สอนก็เจอกับปัญหาเดียวกัน ในห้องเรียนครูประจำชั้นยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า นักเรียนชายคนนี้จะทำตัวเป็นหัวโจก พาเพื่อนเกเร ชอบแกล้งเพื่อนเป็นประจำ เมื่อได้ทราบข้อมูลดังนั้นข้าพเจ้าจึงจับตาดูและสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนชายคนนี้เป็นประจำ ในเวลาที่ข้าพเจ้าจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เวลาที่เด็กนักเรียนคนนี้ไม่ทำงานข้าพเจ้าก็จะทำโทษโดยการตี ซึ่งก็ไม่ได้ผล นักเรียนยิ่งมีพฤติกรรมต่อต้านที่รุนแรง ข้าพเจ้าเลยใช้วิธีการเรียกมาพูดคุยสอบถามถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ว่าทำไมถึงไม่ตั้งใจเรียน ทำไมถึงไม่ส่งงานและการบ้าน ทำไมต้องมีพฤติกรรมต่อต้านครู แต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือ นักเรียนไม่ยอมที่จะไว้วางใจ หรือเปิดใจเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ข้าพเจ้าฟัง ข้าพเจ้าก็เลยหยุดการแก้ปัญหาดังกล่าวไว้ เพราะคิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไรดี เพราะนักเรียนชายคนนี้ไม่ให้ความร่วมมือเลย จนวันหนึ่งตอนนั้นเป็นงานกีฬาสีที่ทางโรงเรียนจัดขึ้นนักเรียนชายคนนี้ก็ได้เข้าร่วมในการแข่งขันกีฬาฟุตบอล ซึ่งข้าพเจ้ากับคณะครูประมาณ 2-3 คนได้มีโอกาสนำนักเรียนไปแข่งขัน เพราะเป็นการจัดงานกีฬากลุ่ม ก่อนการแข่งขันข้าพเจ้าได้บอกกับนักเรียนทุกคนว่า พยายามทำให้เต็มที่เต็มความสามารถอย่างที่เราเคยฝึกฝนมา พอแข่งขันเสร็จ นักเรียนชายคนนี้วิ่งมาหาข้าพเจ้าอย่าหน้าตาตื่น และบอกว่า ครูครับ ๆ ทีมของเราชนะครับ ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาข้าพเจ้าก็พอจะรู้วิธีการที่จะทำให้นักเรียนชายคนนี้ จนกระทั่งนักเรียนชายคนนี้ได้เลื่อนชั้นขึ้นมาอยู่ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งมีข้าพเจ้าเป็นครูที่ปรึกษา ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปเยี่ยมบ้านของนักเรียนชายคนนี้ ซึงการเยี่ยมบ้านในครั้งนี้นี่เองที่ทำให้ข้าพเจ้าได้ทราบถึงต้นสายปลายเหตุ ว่าทำไมนักเรียนชายคนนี้ถึงมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ดังกล่าว สาเหตุมาจาก ปัญหาครอบครัว พ่อแม่แยกทางกัน พ่อไปมีครอบครัวใหม่ ทิ้งให้นักเรียนชายคนนี้อาศัยอยู่กับ ตา ยาย และยังมาหลานคนอื่น ๆ ด้วย รวมสามคน แล้วนาน ๆ ที นักเรียนถึงจะมีโอกาสได้เจอกับพ่อ หรือแม่ ที่บ้านขาดความอบอุ่น เพราะตา และยายจะรักและให้การดูแลเอาใจใส่น้องชายมากกว่าเด็กนักเรียนคนนี้มาก เด็กนักเรียนคนนี้ทำอะไรก็ผิด ไม่ดี และถูกลงโทษอยู่บ่อยครั้ง เมื่อข้าพเจ้ารู้เช่นนั้น ข้าพเจ้าพยายามให้นักเรียนชายคนนี้ได้มีบทบาทในห้องเรียนมากขึ้น ให้เป็นที่ยอมรับของเพื่อน ๆ ในห้อง โดยการให้การเสริมแรงในด้านบวก เช่น ในเวลาที่เขาส่งงานข้าเจ้าก็จะเอ่ยคำชม และให้รับผิดชอบในการดูแลการเข้าแถวของเพื่อน ๆ เด็กชายคนนี้ปฏิบัติหน้าที่ได้ดีมาก ไม่เคยที่จะเกิดปัญหาใด ๆและยังเป็นคนที่มีน้ำใจ คอยช่วยเหลืองานของครู และที่ดีไปกว่านั้น นักเรียนชายคนนี้ เริ่มที่จะส่งงาน ให้ความร่วมมือ ในทุกวันนี้นักเรียนชอบที่จะเรียนและชื่นชอบมากหากได้เป็นหัวหน้ากลุ่ม นักเรียนชายคนนี้ที่ผ่านมาแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดีออกไปนั้น ข้าพเจ้าคิดว่านักเรียนคงต้องการที่จะเรียกร้องความสนใจ ถ้าครูให้ความรักความสนใจ และพยายามให้นักเรียนได้เป็นที่ยอมรับในกลุ่มเพื่อน ๆ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักเรียนมีพฤติกรรมที่ดีขึ้นได้ ในตอนนี้นักเรียนชายคนนี้ทำงานส่งครูไม่เฉพาะรายวิชาของข้าพเจ้าเท่านั้น ยังส่งงานในรายวิชาอื่น ๆ ด้วย ครูหลายท่านที่ได้สอนก็ต่างบอกว่านักเรียนชายคนนี้เปลี่ยนไป มีความพร้อมในการเข้าเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษา เพราะมีความรับผิดชอบมากขึ้น ไม่ต้องให้ครูมาคอยทวงถามหาการบ้านที่ยังไม่ส่ง เหมือนกับที่แล้วมา ถึงแม้นักเรียนชายคนนี้จะไม่ใช่คนที่ดีที่สุด และเก่งที่สุด แต่ข้าพเจ้าก็ภูมิใจที่นักเรียนชายคนนี้มีพัฒนาการไปในทางที่ดีขึ้น ตามศักยภาพที่จะสามารถพัฒนาได้

คำสำคัญ (Tags): #story telling
หมายเลขบันทึก: 579518เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2014 13:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 ตุลาคม 2014 13:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท