AAR การอบรมนวัตกรรมการเรียนการสอน : การสอนเพื่อพัฒนาการคิด โดย รศ.ดร. ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ


AAR รายวิชาการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้

โดย นางสาวอุไรวรรณ ภูจ่าพล นักศึกษาปริญญาโทรุ่นที่ 13 สาขาหลักสูตรและการสอน
รหัส 57D0103124 ระดับปริญญาโท สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน ภาคพิเศษ หมู่ 1 

ครูผู้สอน ผศ.รศ. อดิศร เนาวนนท์ 

วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2557 เรื่อง การอบรมนวัตกรรมการเรียนการสอน : การสอนเพื่อพัฒนาการคิด โดย รศ.ดร. ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ 1. ได้เรียนรู้อะไร 

การอบรมนวัตกรรมการเรียนการสอน : การสอนเพื่อพัฒนาการคิด โดย รศ.ดร. ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ ความรู้ความเข้าใจที่ได้จากการเข้ารับการอบรมในครั้งนี้มีดังต่อไปนี้ วิทยากรเกรินนำโดยการเริ่มจากเรื่องการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน โดยเริ่มจากการอธิบายหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธสักราช 2551 ซึ่งมีมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดเป็นเป้าหมายของหลักสูตร เป็นหลักสูตรแกนกลางที่ต้องใช้เหมือนกันทั่วประเทศ และมีหลักสูตรท้องถิ่นที่กำหนดโดยเขตพื้นที่การศึกษา หรือบางทีอาจเป็นสถานศึกษาจัดทำขึ้นเองก็ได้ หลักสูตร การสอน การสอบ มีความสัมพันธ์กัน การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เนื้อหาที่ทำการสอนจะต้องสอดคล้องกับมาตรฐานและตัวชี้วัด โดยต้องมีการวิเคราะห์มาตรฐาน ตัวชี้วัด และสาระการเรียนรู้ ท่านวิทยากรได้ย้ำว่า ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนนั้นสิ่งที่สำคัญ คือ ต้องดูหลักสูตร และดูศักยภาพของผู้เรียน ต้องเป็นไปตามธรรมชาติของผู้เรียน ไม่มีทางที่เด็กทุกคนจะเรียนรู้ด้วยวิธีเดียวกันได้ ดังนั้นจึงมีหลักการจัดการเรียนรู้ดังนี้ 

1. มีความรู้ ความสามารถตามมาตรฐานการเรียนรู้และสมรรถนะที่สำคัญและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามที่กำหนดในหลักสูตร 

2. ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ 

3. เชื่อว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ 

4. กระบวนการเรียนรู้ส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติ และเต็มตามศักยภาพ

5. คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลและพัฒนาการทางสมอง

6. ให้ความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม 

ต่อมาวิทยากรได้อธิบายเกี่ยวกับการทำงานของสมองทั้ง 2 ซีก โดยสมองซีกขวาจะทำงานในในหน้าที่ตามแนวทางที่สร้างสรรค์ จินตนาการทางด้านศิลปะ เช่น ทัศนศิลป์ ดนตรี นาฏศิลป์ รวมไปถึงการรับรู้สัญชาตญาณและอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งสมองซีกขวาจะสั่งให้กระบวนการต่าง ๆ ภายในร่างกายทำงานพร้อมกันได้ในทันที ความถนัดของคนที่ใช้สมองซีกขวามักสนใจในการทำงาน หรือการรับรู้เป็นพิเศษที่เกี่ยวกับ 

1. ศิลปะแขนงต่าง ๆ

2. งานที่เกี่ยวกับอารมณ์ขัน 

3. การใช้ภาษาง่าย ๆ ที่ไม่สลับซับซ้อน 

4. การศึกษาความคิดในเชิงปรัชญา 

5. การจัดสวนหรือปรับแต่งต้นไม้ให้กลมกลืนกับธรรมชาติ 

6. ความสารถในงานฝีมือ และงานประดิษฐ์ 

7. งานที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์ จิตรกร การออกแบบ งานประเภทครีเอทีฟโฆษณา 

8. รักการอ่าน การเขียนหนังสือ มีความสามารถแต่งแต้มจินตนาการลงในงานเขียนได้เป็นอย่างดี

9. ประเภทศิลปิน ดารา นักแสดง ซึ่งที่มักต้องใช้อารมณ์ความรู้สึกทั้งทางร่างกายและคำพูด 

ส่วนสมองซีกซ้ายจะควบคุมการแสดงออก และทำหน้าที่ในการคิดอย่างมีสามัญสำนึก เป็นเหตุเป็นผล รวมถึงการวิเคราะห์แยกแยะรายละเอียด การจัดลำดับความสำคัญของข้อมูล ตีความสัญลักษณ์ในภาษา อักษรและตัวเลขได้ดี ซึ่งในสมองซีกซ้ายนั้นสามารถสั่งให้กระบวนการต่าง ๆ ภายในร่างกายทำงานได้ทีละอย่าง ความถนัดของคนที่ใช้สมองซีกซ้ายมักสนใจในการทำงาน หรือการรับรู้เป็นพิเศษที่เกี่ยวกับ 

1. การพูดโน้มน้าวจิตใจคน 

2. การตีความหมายของภาษา 

3. การวิเคราะห์เวลาและความเสี่ยง

4. อาชีพที่ต้องใช้การคำนวณ บวก ลบ คูณ หาร ตัวเลข 

5. การจัดหมวดหมู่ การแยกประเภทสินค้าต่าง ๆ 

6. ผู้บริหารที่ต้องจัดการวงแผนอย่างมีเหตุผล ระบบขั้นตอน

7. งานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ 

8. นักกีฬาที่ต้องใช้กล้ามเนื้อแขนและขา

9. อาชีพที่ต้องใช้ความแม่นยำสูง เช่น ศัลยกรรมแพทย์ วิศวกร

วิทยากรได้อธิบายต่อเกี่ยวกับหลักการสอนโดยใช้สมองเป็นฐาน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ 

1. สมองนั้นทำงานพร้อมกันหลายๆ ส่วน ซึ่งสมองจะเกิดการเรียนรู้ได้ดีในสภาพแวดล้อมที่มีสิ่งเร้าอย่างหลากหลาย ควรจัดให้มีการนำสื่อหรือวิธีการต่าง ๆ 

  2. ศักยภาพในการเรียนรู้นั้นมีความเกี่ยวข้องกับพัฒนาการเจริญเติบโต บุคลิกภาพ ลักษณะนิสัย และสภาวะอารมณ์ ผู้สอนต้องคำนึงถึงภาวะที่แตกต่างกันนี้ 

3. ความสงสัยใคร่รู้เป็นสิ่งที่มีมาตามธรรมชาติ และติดตัวมาตั้งแต่เกิด จากข้อนี้ก็ควรจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเกิดคำถามและส่งเสริมให้ผู้เรียนหาคำตอบจากคำถามนั้นด้วยตัวเอง 

4. การค้นหาคำตอบของมนุษย์เป็นกิจกรรมที่เป็นรูปแบบ ดังนั้น การจัดการศึกษาจึงต้องมีการดำเนินการอย่างมีรูปแบบเป็นระบบระเบียบ ซึ่งจะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีขึ้น 

5. อารมณ์ความรู้สึกไม่ได้แยกออกจากการเรียนรู้ ซึ่งมีความสำคัญมากต่อการจดจำข้อมูล 

  6. สมองแต่ละส่วนนั้นทำงานทั้งแบบเฉพาะด้าน และประสานสัมพันธ์กับส่วนอื่นๆ 

  7. การเรียนรู้นั้นจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อผู้เรียนสนใจและใส่ใจในการเรียนรู้ จากข้อนี้ จึงจำเป็นต้องใช้เทคนิคทางจิตวิทยาต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้ดีขึ้น 

8. การเรียนเป็นสิ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับจิตสำนึกและจิตใต้สำนึก 

  9. มนุษย์มีความทรงจำ 2 ประเภท คือ ทั้งความทรงจำที่มาจากประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน และ ความทรงจำที่มาจากการท่องจำ 10. ความเข้าใจที่ดีของสมองจะเกิดจากข้อมูลและทักษะจากความทรงจำที่มาจากประสบการณ์จริง 

  11. แรงเสริมทางบวกมีผลดีต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน แต่ถ้าผู้เรียนได้รับสิ่งไม่พึงพอใจจากการคุกคามทางความรู้สึก ความเครียด และความวิตกกังวล ก็จะทำให้สมองไม่เกิดการเรียนรู้ 

  12. สมองของมนุษย์นั้นมีความแตกต่างกัน แต่โครงสร้างสมองของ แต่ละคนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ สิ่งนี้จึงจำเป็นอย่างมากที่จะต้องใช้กลยุทธ์ และเทคนิคการเรียนการสอนที่หลากหลาย เพื่อจูงใจผู้เรียนให้ ได้มากที่สุด ต่อมาท่านวิทยากรได้อธิบายระบบการสอนแบบ MAT หรือ 4 MAT ว่า เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยมุ่งส่งเสริมความถนัดของผู้เรียนและส่งเสริมการใช้สมอง 2 ซีกอย่างสมดุลกัน อันจะส่งผลให้การเรียนรู้เกิดประสิทธิภาพ และผู้เรียนได้เกิดการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ ขั้นตอนการจัดกิจกรรม 

  ขั้นที่ 1 ขั้นนำเสนอประสบการณ์ที่มีความสัมพันธ์กับผู้เรียน ขั้นตอนนี้เป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจเรื่องที่เรียน ค้นพบเหตุผลของตนเองว่าทำไมต้องเรียนเรื่องนั้น (Why) 

ขั้นที่ 2 ขั้นเสนอเนื้อหาสาระข้อมูลแก่ผู้เรียน ขั้นนี้เป็นการเชื่อมโยงการเรียนรู้ขั้นที่ 1 มาสู่การสร้างความคิดรวบยอด เพื่อตอบคำถามให้ได้ว่าสิ่งที่เรียนนั้นคืออะไร (What)

ขั้นที่ 3 ขั้นฝึกปฏิบัติเพื่อพัฒนาความคิดรวบยอด เป็นการพัฒนาความคิดรวบยอดมาสู่การปฏิบัติจริง เพื่อหาคำตอบว่าจะทำได้อย่างไร (How) 

ขั้นที่ 4 ขั้นนำความคิดรวบยอดไปสู่การประยุกต์ใช้ เป็นกระบวนการเรียนรู้ทีเกิดจากการลงมือกระทำด้วยตนเอง เพื่อชี้ให้เห็นว่าถ้าจะนำไปใช้ในชีวิตจริงแล้วจะเป็นอย่างไร (If) 

2. รู้แล้วคิดอย่างไร คิดอะไรต่อ 

จากการอบรมในครั้งนี้ข้าพเจ้าจะนำความรู้ความเข้าใจ เรื่องการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ไปใช้ในการออกแบบการเรียนการสอนในรายวิชาที่ทำการสอน โดยในการจัดการเรียนการสอนจะต้องมีการกำหนดจุดมุ่งหมายของการสอนว่าต้องการให้ผู้เรียนเรียนรู้อะไร กำหนดจุดประสงค์ของการเรียนรู้ ซึ่งจะประกอบด้วยด้าน K ,P ,A เลือกเนื้อหา จากนั้นค่อยจัดกิจกรรมการเรียนการสอน บุคคลแต่ละคนมีความถนัดไม่เหมือนกัน ไม่มีทางที่ผู้เรียนจะเรียนรู้ด้วยวิธีเดียวกันทุกคนได้ ถึงแม้ว่าบุคคลแต่ละคนจะมีความถนัดในการใช้สมองซีกใดซีกหนึ่งต่างกัน แต่ศักยภาพในการเรียนรู้ของมนุษย์นั้น ขึ้นอยู่กับการทำงานของสมองทั้งสองซีกอย่างสอดประสาน ดังนั้นในการเรียนการสอน ครูต้องเข้าใจถึงการทำงานของสมองส่วนบนทั้งซีกซ้ายและซีกขวาแล้วจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับการทำงานของสมองทั้งสองซีก ทำให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาเต็มตามศักยภาพของผู้เรียนในที่สุด หากผู้สอนละเลยหรือใช้วิธีการซ้ำซาก ผู้เรียนจะเกิดความเบื่อหน่ายกับการเรียนและพยายามแยกตัวออกจากกลุ่ม เพื่อไปแสวงหาสิ่งที่ตื่นเต้นภายนอกมาทดแทนซึ่งวิธีการที่จะทำให้การทำงานของสมองทั้งสองซีกมีความสอดคล้องกัน คือการจัดการเรียนรู้ แบบ 4 MAT

จะเห็นว่ากระบวนการเรียนรู้ แบบ 4 MAT จะเริ่มต้นจากการใช้ความรู้สึกรับรู้ประสบการณ์เกี่ยวกับสิ่งที่จะเรียนและมีจินตนาการเกี่ยวกับสิ่งนั้น ซึ่งเป็นการใช้สมองซีกขวาและในขั้นสุดท้ายก็จบลงด้วยความรู้สึกอันเป็นกิจกรรมของสมองซีกขวาเช่นกัน แต่เป็นความรู้สึกที่แตกต่างกันมากเนื่องจากตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นจนถึงขั้นสุดท้าย ผู้เรียนได้ผ่านกระบวนการแสวงหาความรู้ ทักษะ ความคิดและการลงมือทำเพื่อสร้างผลงานแห่งการเรียนรู้ของตนเองอย่างหลากหลาย วงกลมแห่งการเรียนรู้นี้จึงสามารถเคลื่อนต่อไปได้อย่างไม่รู้จบด้วยตนเองของผู้เรียนเองภายใต้จังหวะ ขวา - ซ้าย - ขวา - ซ้าย - ซ้าย - ขวา - ซ้าย – ขวา หมุนเวียนเป็นวัฎจักร 

3. จะนำไปปรับประยุกต์ใช้อย่างไร

ข้าพเจ้าจะนำไปจักกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ สามารถคิดและสืบเสาะหาความรู้ ศึกษาค้นคว้าอย่างมีระบบ จนทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจ เพื่อนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้และเก็บเป็นข้อมูลไว้ในสมองได้อย่างยาวนาน เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในขณะจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะ การสังเกต การคิด การถามตอบ การสื่อสาร การบันทึก การบูรณาการ การสร้างองค์ความรู้ โดยมีครูเป็นผู้ให้คำแนะนำ โดยครูผู้สอนสามารถบูรณาการวิธีการสอน เทคนิคการสอน กิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายรวมทั้งสื่อ เทคโนโลยีต่างๆ ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดทักษะในการศึกษาค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ เช่น การสังเกต การสำรวจตรวจสอบ การอภิปราย การรวบรวมข้อมูล โดยในการสำรวจตรวจสอบปัญหาหรือประเด็นที่ผู้เรียนสนใจใคร่รู้ ครูมีหน้าที่ส่งเสริม กระตุ้น ให้คำปรึกษาชี้แนะ ช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนดำเนินการสำรวจตรวจสอบเป็นไปด้วยดี และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงมโนมติแต่ละเรื่องที่เรียน และทำให้มองเห็นความสัมพันธ์ของเนื้อหาที่ ต่อเนื่องกันอย่างเป็นลำดับ เกิดการแสวงหาความรู้ ซึ่งทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างเข้าใจ และมีความหมาย สามารถเชื่อมโยงความรู้เดิมกับความรู้ใหม่ได้ ซึ่งเป็นวิธีการจัดการเรียนการสอนที่มีความเหมาะกับรายวิชาวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก

หมายเลขบันทึก: 579516เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2014 13:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 ตุลาคม 2014 13:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท