ตะวันตกมองจีน


การนำทางธุรกิจของจีน ควรมีองค์ประกอบ 4 ประการคือ มียุทธศาสตร์ในการพัฒนาผู้นำ ระบบการสร้างผู้นำในอนาคต การพัฒนาผู้นำและผู้ที่มีศักยภาพในปัจจุบัน และ การธำรงรักษาผู้นำ

ตะวันตกมองจีน

(Business Leadership in China)

พันเอก มารวย ส่งทานินทร์

[email protected]

25 ตุลาคม 2557

ประเทศจีนกำลังเป็นที่สนใจของชาติตะวันตก เพราะในเดือนเมษายน ค.ศ. 2011 จากการประเมินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF: International Monetary Fund) ในเรื่องผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP: Gross Domestic Product) ซึ่งได้มาจากความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ (PPP: Purchasing Power Parity) ว่าในปี ค.ศ. 2011 จีนมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 11,174 พันล้านดอลลาร์ เป็นลำดับสามของโลกรองจากสหภาพยุโรป (15,608 พันล้านดอลลาร์) และ สหรัฐอเมริกา (15,227 พันล้านดอลลาร์) และในอีกห้าปีข้างหน้า (ค.ศ. 2016) จีนจะเป็นลำดับหนึ่งในโลกคือ 18,975 พันล้านดอลลาร์ (สหรัฐอเมริกา 18,807 พันล้านดอลลาร์ และสหภาพยุโรป 18.722 พันล้านดอลลาร์)

สิ่งที่ชาวตะวันตกให้ความสนใจเป็นพิเศษโดยเฉพาะในการบริหารจัดการ และสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวกับผู้นำระดับสูงทางธุรกิจของจีน รวมถึงความท้าทายวิธีการของผู้นำทางธุรกิจของจีนที่มุ่งสู่ธุรกิจระดับโลกคือ การนำองค์กรที่มีวัฒนธรรม ค่านิยม ความเชื่อ และวิธีการปฏิบัติตามแผนกลยุทธ์ ซึ่งต่างจากทางโลกตะวันตก

ในหนังสือเรื่อง Business Leadership in China: How to Blend Best Western Practices with Chinese Wisdom ฉบับ Revised Edition ที่ประพันธ์โดย Dr. Frank T. Gallo จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ John Wiley & Sons(Asia) Pte. Ltd. ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2011 ได้กล่าวถึงวิธีการผสมผสานแนวทางการบริหารธุรกิจของโลกตะวันตกและของจีนเข้าด้วยกัน โดยใช้มุมมองของชาวตะวันตกที่ทำธุรกิจในประเทศจีนว่า การนำทางธุรกิจของจีนต้องมีการพัฒนา แต่การนำแนวทางของโลกตะวันตกมาใช้เลยจะไม่ได้ผล ต้องมีการผสมผสานระหว่างแนวทางของตะวันตกและภูมิปัญญาของจีน เพราะมีความแตกต่างทางวัฒนธรรม ค่านิยม และความเชื่อถือ ทำให้แนวทางการปฏิบัติบางอย่างในการบริหารเป็นไปด้วยความยากลำบาก

Dr. Frank T. Gallo ทำงานและพำนักอาศัยที่กรุงปักกิ่งเป็นเวลาหลายปี เขาดำรงตำแหน่งเป็น Chief Leadership Consultant ของบริษัท Hewitt Associates ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับผู้นำองค์กรของจีนและของชาวต่างชาติในจีนหลายองค์กรที่มีความหลากหลาย เขาเขียนบทความทุกเดือนให้กับ CHO Magazine และ Forbeschina.com เขาดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ของ the Human Resources Forum of the American Chamber of Commerce in China และเขาเคยเป็นผู้สอนหลักสูตร MBA ที่ Beijing Capital University of Economics andTrade

ผู้ที่สนใจเอกสารแบบ powerpoint (PDF file) สามารถติดตามได้ที่ http://www.slideshare.net/maruay/chinese-business-leaders

ประเทศจีนเป็นประเทศที่ใหญ่มาก มีภูมิประเทศที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงมีการปฏิวัติทางวัฒนธรรมที่ทำให้จำนวนผู้นำทางธุรกิจขาดหายไป บุคลากรส่วนใหญ่ยังมีอาวุโสไม่พอและขาดประสบการณ์ด้านธุรกิจ ในอนาคตปัญหานี้จะทุเลาขึ้น แต่ยังคงเป็นปัญหาในระยะสั้น

ปัจจัยอีกประการหนึ่งคือ ผู้นำทางธุรกิจของจีนต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมายและขาดระบบการสืบทอดผู้นำที่มีประสิทธิภาพ ขาดการส่งเสริมดาวเด่นขององค์กร และขาดการพัฒนาผู้นำองค์กรอย่างเป็นระบบ เพราะผู้นำรุ่นปัจจุบันยังมีความไม่สะดวกสบายใจนัก การก้าวข้ามปัญหานี้ต้องใช้ที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติที่เข้าใจในวัฒนธรรมของจีนและผู้นำอาวุโสของจีนต้องเปิดใจยอมรับได้

ในโลกตะวันตกมีค่านิยมในเรื่องความเสมอภาค อิสรภาพ ความเป็นปัจเจกชน เสรีภาพ กล้าเสี่ยง ความเชื่อใจผู้อื่น และความซื่อสัตย์ ชาวจีนก็มีเช่นกัน แต่การปฏิบัติตนตามแนวตะวันตกอาจเกิดปัญหาในจีนได้ เช่น ความเสมอภาคนั้นจีนยังคงยึดถือเรื่องลำดับชั้นของผู้คนอยู่ ที่ส่งผลให้ผู้นำมีสถานะภาพสูงส่ง เรื่องเสรีภาพจีนถือว่าเป็นความโอ้อวดเช่นเดียวกับนกยูงรำแพนหาง ความเป็นปัจเจกชนจีนถือว่าเป็นการโอหังที่ถือความสำเร็จเป็นส่วนบุคคล เพราะจีนมองเรื่องความสำเร็จเกิดจากการช่วยเหลือกันและกัน เรื่องอิสรภาพจีนนึกถึงประเทศก่อนส่วนตนและต้องมีขอบเขตในการแสดงออก เช่นการเผาธงชาติตนเองในโลกตะวันตกจะไม่ถูกลงโทษอย่างรุนแรงเหมือนในจีน โลกตะวันตกบอกให้เสี่ยงเพื่อความสำเร็จ แต่ในจีนถือว่าการทำผิดพลาดจะต้องถูกลงโทษ ในสมัยโบราณถึงกับประหารชีวิต ความไว้ใจกันนั้นในประเทศจีนต้องอาศัยเวลา แต่เมื่อมีแล้วจะมั่นคงมากและจะไม่มีการเอาเปรียบกัน ความซื่อสัตย์เป็นสิ่งที่ชาวจีนคาดหวังและยังมีความกลัวว่าอีกฝ่ายจะไม่ซื่อสัตย์และจะถูกเอาเปรียบ

วัฒนธรรมและความเชื่อของชาวจีน มีที่มาจากหลายแหล่ง เช่น คำสอนของลัทธิขงจื้อ ลัทธิเต๋า และพุทธศาสนา ในยุคการปฏิวัติวัฒนธรรม แม้ว่าจะมีการกวาดล้างความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรมต่าง ๆ แต่ก็ยังไม่หมดสิ้นไปจากแผ่นดินจีน ในปัจจุบันมีการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ให้เจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง ลัทธิขงจื้อสอนเรื่องคุณธรรม ความเป็นระเบียบแบบแผน และความสอดคล้อง คำสอนของขงจื้อได้รับการอ้างอิงอยู่เนือง ๆ ลัทธิเต๋าสอนเรื่องความเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ การไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว การบอกถึงวิถีที่ควรดำเนิน ความเชื่อเรื่องหยินและหยางก็มาจากลัทธิเต๋า พุทธศาสนาสอนเรื่องความมีสติ เพื่อให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริง นอกจากนี้แล้วยังมีนักคิดอีกหลายคนที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดของชาวจีน เช่น ซุนวู ซุนยัดเซ็น เหมาเจ๋อตุง เติ้งเสี่ยวผิง ฯลฯ และชาวจีนเน้นเรื่องความมีน้ำใจ การบอกเป็นนัย และการคิดแบบองค์รวม

คุณสมบัติเฉพาะของผู้นำทางธุรกิจของจีน มีเช่นเดียวกับชาติตะวันตกคือ ความซื่อสัตย์ ความน่าเชื่อถือ ความเห็นใจ ความมีอารมณ์ร่วม ความกล้าหาญ การทำงานเป็นทีม และจริยธรรม แต่จีนมีข้อเพิ่มเติมคือ สติปัญญา ทางสายกลาง ความรักชาติ และบูรณาการ จีนใช้หลักการของพุทธศาสนาในเรื่องการแก้ปัญหาที่สาเหตุรากเหง้าที่ญี่ปุ่นเรียกว่า “ซาโตริ" คือรู้จริง การใช้แนวคิดเรื่องทางสายกลางไม่สุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่งตามคำสอนของขงจื้อ ในเรื่องความสมดุลและความสอดคล้องตามลัทธิเต๋า ทำให้ผู้นำจีนมีการแสดงออกน้อยกว่าชาติตะวันตก ชาวจีนมักชอบกล่าวเป็นนัย ๆ ซึ่งแสดงถึงความคิดที่ลึกซึ้งและไม่ผูกมัดตนเอง และที่แตกต่างจากโลกตะวันตกอีกประการหนึ่งคือ “การนำโดยหัวใจ" ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่โดดเด่นของผู้นำทางธุรกิจจีนที่ได้รับการยกย่องชมเชยว่าเป็นผู้นำทางธุรกิจดีเด่น

การบริหารทรัพยากรบุคคลในจีน ในสมัยก่อนมีการประกันว่าทุกคนจะมีงานทำ ต่อมามีการปรับเปลี่ยนเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ขององค์กรเช่นเดียวกับทางตะวันตก เริ่มมีการนำยุทธศาสตร์การให้รางวัลมาใช้ มีการใช้ “จ่ายตามผลงาน" ในการจ้างงานเพิ่มขึ้น และมีการจ่ายผู้บริหารระดับสูงตามผลประกอบการ การบริหารงานบุคคลมีความสำคัญมากขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา มีการจ้างวานผู้เชี่ยวชาญในการบริหารบุคคลมากำกับดูแลบุคลากรเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่เทียบเท่ากับทางตะวันตก เป็นเพราะนักบริหารยังขาดความอาวุโสและประสบการณ์ในการบริหารงาน แต่ไม่นานนักคงจะเทียบเท่ากับตะวันตก

การที่ผู้นำทางธุรกิจชาวตะวันตก จะประกอบกิจการในประเทศจีนให้ประสบความสำเร็จนั้น ควรศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับจีนในแง่มุมต่าง ๆ อย่างรอบคอบ เพื่อทำความคุ้นเคยกับวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีของจีน รวมถึงมุมมองของชาวจีนในเรื่องราวต่าง ๆ ดังนี้

1.เรื่องของมารยาทและการพูดความจริง ในการปฏิบัติของชาวจีนเน้นความสุภาพนอบน้อม แต่ในตะวันตกจะพูดตรง ๆและหวังว่าอีกฝ่ายจะพูดตรง ๆ ขณะที่คนจีนจะพูดด้วยความระมัดระวังและรักษาหน้าของอีกฝ่ายด้วย ชาวตะวันตกจะรู้สึกขัดใจที่ความสุภาพอ่อนน้อมของชาวจีนมีอิทธิพลมากกว่าการพูดตรง ๆ ดังนั้นผู้นำจีนควรเรียนรู้การรักษาสมดุลระหว่างความสุภาพอ่อนน้อมกับการพูดตรง ๆ

2.ความไว้เนื้อเชื่อใจ ผู้นำจีนมีความไว้วางใจต่อชาวต่างชาติน้อยและจะเชื่อมั่นอย่างช้า ๆ เป็นเพราะประเทศจีนเคยถูกต่างชาติเอารัดเอาเปรียบกดขี่ข่มเหงในอดีต รวมถึงการปฏิวัติทางวัฒนธรรมที่มีส่วนให้ชาวจีนไม่ไว้วางใจใครง่าย ๆ ดังนั้นหากต้องการได้รับความไว้วางใจจากชาวจีน ต้องทำให้ชาวจีนเกิดความเชื่อถือคือ การรักษาคำพูด บรรยากาศที่เป็นมิตร การพูดอย่างเปิดเผย มีสังคมหลังการทำงาน จ้างบุคลากรที่มีค่านิยมแบบเดียวกัน และใช้วิธีการนำด้วยใจ

3.การมอบอำนาจและชนชั้น ชาวตะวันตกนำวิธีการมอบอำนาจมาใช้ในจีนโดยไม่ได้ศึกษาคำสอนของขงจื้อเรื่อง พระราชาคือพระราชา ขุนนางคือขุนนาง บิดาคือบิดา บุตรคือบุตร ทำให้การปฏิบัติไม่ได้ผล ในมุมมองของชาวจีนมองว่าการมอบอำนาจเป็นเพราะผู้นำอ่อนแอไม่กล้าทำเอง และผู้นำของจีนไม่นิยมการมอบอำนาจเพราะเกรงว่าจะสูญเสียอำนาจของตนไป ดังนั้นหนทางปฏิบัติคือต้องค่อยทำค่อยไป มีการอธิบายอย่างชัดเจนเรื่องความคาดหวัง ควรมอบหมายงานให้ทำก่อนจึงค่อยมอบอำนาจ และหลีกเลี่ยงการนำไปใช้กับบุคลากรใหม่

4.ความเป็นปัจเจกบุคคลและหมู่คณะ ชาวจีนนิยมบริหารแบบเป็นครอบครัวที่อาศัยความร่วมมือกันในการทำงาน แต่ชาวตะวันตกนิยมบริหารแบบเน้นปัจเจกบุคคล แต่เริ่มมีการปรับเปลี่ยนในจีนเรื่องการบริหารงานให้เป็นแบบตะวันตกมากขึ้น ผู้ที่จะทำธุรกิจในจีนต้องเข้าใจถึงการบริหารแบบทำงานร่วมกันของจีน ที่ใช้ความสัมพันธ์ที่มีต่อกันอย่างยาวนานของบุคลากรกับบริษัท และเรื่องนี้จะค่อย ๆ แปรเปลี่ยนไปตามกระแสโลก

5.การเน้นระหว่างคนกับกฎหมาย โลกตะวันตกมีวุฒิภาวะเรื่องกฎหมายมาอย่างยาวนาน ทำให้บุคคลถือกฎหมายเป็นใหญ่ แต่ในจีนยังมีการพัฒนาไม่เต็มที่ ชาวจีนมองหนังสือสัญญาประหนึ่งการบอกเจตนารมณ์ที่สามารถแก้ไขได้ แต่ชาวตะวันตกถือหนังสือสัญญาเป็นเรื่องคอขาดบาดตายต้องทำตามนั้นอย่างเคร่งครัด กฎหมายตะวันตกจะถือว่าบุคคลบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าผิด แต่กฎหมายของจีนมองเป็นผู้ต้องหาจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าบริสุทธิ์ การทุจริตเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ในจีน แต่การผ่อนหนักผ่อนเบาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเป็นเรื่องที่รับได้ ทั้งนี้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอย่างรอบคอบด้วย

6.นวัตกรรมและความเสี่ยง ชาวจีนถูกมองว่าไม่ชอบเสี่ยงและไม่มีนวัตกรรม เพราะอยู่ในระบบราชการหรือรัฐวิสาหกิจมานาน หรือกลัวเกิดผิดพลาดแล้วถูกลงโทษ แต่ปัจจุบันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับโลกตะวันตกมากขึ้นแล้ว ผู้นำควรกระตุ้นให้บุคลากรกล้าเสี่ยง สนับสนุนการสร้างความสามารถพิเศษ และการว่าจ้างบุคลากรที่กล้าเสี่ยงและมีนวัตกรรม รวมถึงมีการให้ความมั่นใจกับบุคลากรว่าจะไม่ถูกลงโทษ หากความล้มเหลวนั้น เกิดจากความพยายามทดลองพัฒนากระบวนการทำงาน เพื่อลดค่าใช้จ่าย ลดเวลา และลดความสูญเปล่าในการทำงาน

7.การตัดสินใจ ชาวตะวันตกมีค่านิยมเรื่องการตัดสินใจที่รวดเร็วและดำเนินการทันที ดังที่มีคำล้อว่า “เตรียมพร้อม ยิง เล็ง" ซึ่งต่างจากจีนที่ต้องวิเคราะห์อย่างรอบด้านก่อนตัดสินใจโดยใช้ฉันทามติ ชาวจีนมักมองปัญหาแบบองค์รวมและศึกษาความซับซ้อนของปัญหา ทำให้ชาวตะวันตกมองว่าล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพในยุคที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรง แนวคิดทั้งสองวิธีมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ผู้นำทางธุรกิจจีนควรมีการปรับตัวโดยไม่ใช้เวลานานนักในการตัดสินใจ

8.การกระตุ้นบุคลากร เป็นหน้าที่หนึ่งของผู้นำ แต่ชาวจีนมองว่าเป็นกลเม็ดหนึ่งของผู้บริหารที่ใช้เพื่อเพิ่มยอดผลผลิต ผู้นำทางธุรกิจของจีนที่มาจากพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นห่วงสถานภาพของตนเองในพรรคมากกว่าการกระตุ้นบุคลากร ด้วยความเคยชิน จึงใช้ระบบทหารในทางธุรกิจ คือเมื่อผิดพลาดต้องถูกลงโทษ ทำให้การกระตุ้นบุคลากรจึงดูเป็นเรื่องแปลก ดังนั้นวิธีกระตุ้นบุคลากรในจีน จึงควรทำเป็นรายบุคคลมากกว่าทำเป็นนโยบาย

9.การทำงานเป็นทีม ในจีนมีการทำงานเป็นทีมที่เข้มแข็ง แต่การทำงานเป็นสหสาขาวิชาชีพยังเกิดขึ้นน้อย ดังนั้นจึงควรใช้วิธีการปรับย้ายงานให้บุคลากรไปทำงานร่วมกับทีมอื่นบ้าง เพื่อลดช่องว่างนี้

10.ระบบการให้รางวัลผู้บริหาร การชมเชยและการให้รางวัลที่ไม่ใช่เงินเป็นสิ่งสำคัญ แต่การให้ค่าตอบแทนในรูปแบบของเงินเป็นเรื่องที่อ่อนไหวและเกิดความยุ่งยากในจีน ทางตะวันตกใครได้รับค่าตอบแทนเป็นจำนวนเงินเท่าใดเป็นเรื่องปกปิด แต่ในจีนจะเป็นเรื่องที่พูดกันอย่างกว้างขวาง การให้โบนัสในองค์กรในจีนแต่ละแห่งจะแตกต่างกันออกไป สำหรับผู้บริหารระดับสูง การให้รางวัลควรคำนึงถึงเป้าหมายระยะยาวขององค์กร เพื่อให้ผู้บริหารยังคงอยู่ในองค์กรต่อไป ส่วนการให้รางวัลเป็นหุ้นนั้น ต้องศึกษาข้อกฎหมายในจีนด้วย

11.การฝึกสอนผู้บริหาร ในตะวันตกการมีผู้ฝึกสอนให้ถือว่าเป็นการให้รางวัลกับผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จ เพื่อให้มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานอย่างรวดเร็ว แต่ไม่เป็นที่นิยมในจีน การฝึกสอนในจีนควรมีการระบุระยะเวลาการอบรมหรือระยะเวลาการช่วยเหลือ เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายเกิดความสบายใจ การอบรมในจีนเน้นเรื่องของการวางแผนยุทธศาสตร์ การบริหารการเปลี่ยนแปลง การบริหารชีวิต และทักษะการเป็นผู้นำ นอกจากนี้ควรมีความรู้เกี่ยวกับจีน การรู้ตนเอง ทักษะการฟัง ความไว้วางใจ ความมีไหวพริบ สัญชาตญาณ ความอ่อนตัว และการปรับตัว

รูปแบบการนำทางธุรกิจของจีนควรเป็นแบบใดนั้น ผู้ประพันธ์หนังสือได้กล่าวถึงแนวทางของการนำทางธุรกิจของจีนว่า ควรมีองค์ประกอบ 4 ประการคือ มียุทธศาสตร์ในการพัฒนาผู้นำ ระบบการสร้างผู้นำในอนาคต การพัฒนาผู้นำและผู้ที่มีศักยภาพในปัจจุบัน และ การธำรงรักษาผู้นำ

การค้นหาผู้นำควรหาจากในองค์กรเองก่อนและมองบุคคลจากนอกองค์กรด้วย ควรมีการระบุผู้นำในอนาคตจากแผนสืบทอดผู้นำ และการพัฒนาผู้ที่มีศักยภาพ โดยวิธีการต่าง ๆ เช่น การมีพี่เลี้ยง การฝึกสอน การมอบหมายงาน การหมุนเวียนงาน และการมอบหมายให้ทำหน้าที่ในต่างประเทศ เป็นต้น การรักษาผู้นำไว้ต้องลงทุนสูง

การให้รางวัลในจีนต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ การพัฒนาผู้นำต้องแบ่งเป็นระดับต่าง ๆ ผู้นำระดับต้นต้องการผู้เชี่ยวชาญมาช่วยอบรม ผู้นำระดับกลางควรให้บริหารสาขาขององค์กรในภูมิภาคที่ต่างกันออกไป ผู้นำระดับสูงควรให้มีแนวคิดแบบยุทธศาสตร์และส่งเสริมพฤติกรรมของผู้นำโดยการฝึกสอน

การก้าวจากระดับประเทศสู่ระดับโลกผู้จัดการชาวจีนมักมีทัศนคติว่า การก้าวสู่ผู้นำระดับโลกของชาวจีนมีเพดานกั้นไว้ ทำให้ไม่สามารถบรรลุได้ ต้องเป็นชาวต่างชาติเท่านั้น ความจริงเป็นเพราะคุณสมบัติและทักษะผู้จัดการชาวจีนในปัจจุบันยังไม่ได้เป็นไปตามกระแสนิยมของโลกตะวันตก นั่นคือ กล้าแสดงออก มีทักษะในการสื่อสารที่ดี มีความคิดแบบยุทธศาสตร์มีความพร้อมในการท้าทายผู้บริหารระดับสูงขึ้นไป มีประสบการณ์ในการบริหารงานในต่างประเทศ มีความมั่นคงทางอารมณ์ มีความสามารถในการสร้างวิสัยทัศน์และแนวทางในการทำให้วิสัยทัศน์นั้นบรรลุผล

ดังนั้นแนวทางที่ผู้บริหารจีนจะก้าวสู่ระดับโลกได้คือ การได้รับมอบหมายให้บริหารงานในต่างประเทศ ได้รับการฝึกสอนและการมีพี่เลี้ยง มีการพัฒนาในด้านการนำองค์กร และทักษะในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

สรุป ความสลับซับซ้อนในวัฒนธรรมของจีนที่มีมาอย่างยาวนาน ทำให้การนำทางด้านธุรกิจของจีนมีแนวคิดที่ต่างจากชาติตะวันตก แต่ประเทศจีนกำลังเข้าสู่ยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ไปสู่ความทันสมัยที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว จากประเทศกสิกรรมไปสู่ประเทศอุตสาหกรรม คนรุ่นใหม่ของจีนมีแนวโน้มทางความคิดที่เป็นแบบโลกตะวันตกมากขึ้น อย่างไรก็ตามในระยะสิบปีข้างหน้า คาดว่าการนำทางธุรกิจของจีน จะมีการปรับแนวคิดของตะวันตกให้เข้ากับภูมิปัญญาของตะวันออกและวัฒนธรรมของจีนมากขึ้น จากนั้นต่อไปยังไม่มีใครคาดเดาได้ว่า รูปแบบของการนำทางธุรกิจของจีนจะเป็นไปในรูปแบบใด

**********************************************************

หมายเลขบันทึก: 579249เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2014 13:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2014 14:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นบทความที่ให้ความรู้ดีมากค่ะ ซักวันชาวเอเชียจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำโลกเสียที

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท