Management 21st Century


ผู้นำต้องมีทักษะหลายด้าน สามารถกระตุ้นให้พนักงานเกิดแรงจูงใจและมีความเชื่อ ความสำเร็จขององค์กรอยู่ที่การบริหารจัดการคนเก่ง

การบริหารในศตวรรษที่ 21

(Management 21st Century)

พันเอก มารวย ส่งทานินทร์

[email protected]

25 ตุลาคม 2557

มีความพยายามค้นหาคำตอบเรื่องของอนาคตที่เกี่ยวกับ ผู้นำ กระบวนการ และองค์กร โดยบุคลากรต่าง ๆ ที่มีการคาดเดาหรือพยากรณ์เรื่องการบริหารจัดการในอนาคตนานาประการ ในหนังสือเรื่อง “Management 21 C : New Vision for the New Millennium" ซึ่งประพันธ์โดย Subir Chowdhury จัดพิมพ์โดย Pearson Education Limited, London, ตีพิมพ์ในปี 2000 ความหนา 289 หน้า

หนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมแนวคิดของนักคิดอีก 26 คน ที่มีการคาดการณ์หรือพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 ไว้ในช่วงก่อนเปลี่ยนผ่านศตวรรษ มารวบรวมไว้ในที่เดียวกัน มีการแบ่งออกเป็น 3 หมวด หมวดแรกว่าด้วยผู้นำในศตวรรษที่ 21 หมวดที่สองว่าด้วยกระบวนการ และหมวดสุดท้ายว่าด้วยองค์กร โดยมีความท้าทายว่า “ สักวันเราอาจต้องบริหารตามแนวทางนี้"

ผู้ที่สนใจเอกสารเป็น powerpoin (PDF file) สามารถติดตามหรือ download ได้ตาม link ที่ให้ไว้คือ http://www.slideshare.net/maruay/management-21-c

Chowdhury เป็นนักประพันธ์หนุ่มที่มีตำแหน่งเป็น Executive Vice President ของ American Supplier Institute เปิดตัวหนังสือโดยกล่าวว่า ศิลปะการบริหารจัดการมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ผู้นำในศตวรรษที่ 21 ต้องมีคุณสมบัติเป็นนักฝัน ทำนุบำรุง และมีความพยายามอย่างหนักที่จะทำฝันให้เป็นจริง (เขาเปรียบเทียบว่า ที่อเมริกาเจริญเพราะเป็นดินแดนที่จะสามารถทำความฝันให้เป็นความจริงได้ ทำให้มีแรงดึงดูดหนุ่มสาวจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่มีพรสวรรค์ ใฝ่ฝันที่จะมาอเมริกาเพื่อทำความฝันให้เป็นความจริงนั่นเอง)

เขาได้ระบุคุณสมบัติผู้นำไว้ 4 ประการ คือ

1.) เป็นนักสื่อสารที่ดีกับผู้คน (Peoplistic Communication) ผู้นำมีการสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตร และมีการติดต่อสื่อสารกับบุคลากรทุกคนได้อย่างรวดเร็ว

2.) สามารถสร้างอารมณ์และความเชื่อ (Emotion and Belief) ผู้นำทำให้บุคลากรเชื่อมั่นในยุทธศาสตร์ การตัดสินใจของผู้นำ และเชื่อในงานที่เขาทำอยู่

3.) มีทักษะรอบตัว (Multi-skilled) มีความรู้หลายภาษา รู้หลายวัฒนธรรม และรู้เรื่องราวต่าง ๆ ที่เป็นสิ่งสำคัญในการบรรลุความสำเร็จ และ

4.) เป็นนักคิดเรื่องใหม่ ๆ (Next mentality) ผู้นำระดับโลกเมื่อทำเฉลิมฉลองความสำเร็จแล้วจะมีการตั้งเป้าหมายเรื่องใหม่ทันที โดยสรุป ผู้นำยุคใหม่เป็นผู้ที่ทำงานหนัก ไม่พึงพอใจอะไรง่าย ๆ ยึดมั่นในแนวคิด มีความกระตือรือร้น และ ไม่ย่อท้อ

Chowdhury ยังกล่าวถึงด้านกระบวนการว่า การบริหารจัดการต้องมีการเรียนรู้ว่า ความล้มเหลวในวันนี้สอนให้เราประสบความสำเร็จในวันหน้า เขาเน้น 4 เรื่องที่สำคัญคือ

1.) การให้ความรู้ถึงรากหญ้า (Grass-root education) เกี่ยวข้องกับการอบรมพนักงานทุกระดับตั้งแต่ประธานบริษัทจนถึงคนงานอย่างไม่แยกชั้นวรรณะ

2.) มีมาตรการเชิงป้องกัน (Fire Prevention) การป้องกันสินค้าที่ชำรุดทำให้ลูกค้าพึงพอใจและมีความจงรักภักดี

3.) มีการติดต่อโดยตรง (Direct interaction) ทำให้ลูกค้าเกิดความกระตือรือร้นจะมาแทนที่การวัดความพึงพอใจ และ

4.) ปรับตัวตามยุค (Effective globalization) ผู้จัดการต้องเข้าใจตลาดและลูกค้าก่อนแนะนำผลิตภัณฑ์

ในหัวข้อสุดท้ายคือเรื่ององค์กร Chowdhury เน้นเรื่องการบริหารจัดการบุคลากรโดยเฉพาะคนเก่ง (Talent) ตามคำคาดการณ์ว่าองค์กรที่บริหารจัดการบุคคลเรื่องคนเก่ง (Talent Management) ได้ดี มีผลประกอบการดีกว่าร้อยละ 30-40 เมื่อเทียบกับองค์กรทั่วไป

โดยมีสูตรว่า ผลตอบแทนจากคนเก่ง คือ จำนวนความรู้ที่ได้รับหารด้วยการลงทุนในคนเก่ง ( Return on Talent : ROT = Knowledge generated/Investments in talents) ทั้งนี้ความรู้ที่ได้ คือ ความรู้ที่ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในหมู่พนักงาน เกิดนวัตกรรม กระบวนการทำงานที่ดีขึ้น มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมีช่องทางการติดต่อสื่อสารที่เหมาะสม การลงทุนในคนเก่งมีข้อควรระวังไว้คือ ลงทุนให้ถูกคนและตรงตามความต้องการขององค์กรด้วย

การบริหารกลุ่มคนเก่ง (Talent Management) มี 4 ขั้นตอนคือ

1.) การสร้างแรงดึงดูด ( Attracting talents) เป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่องค์กรต้องไม่ย่อท้อในการค้นหาคนเก่ง

2.)การรักษา ( Keeping talents) องค์กรต้องมีการอุปถัมภ์จนทำให้คนเก่งอยากอยู่และทำงานให้กับองค์กร

3.) การบริหารจัดการ ( Managing talents) มีการจัดการให้ลงในตำแหน่งที่ทำให้มีการใช้ศักยภาพได้อย่างสูงสุด และ

4.) การระบุคนเก่ง ( Identifying talents) ผู้บริหารต้องทำการค้นหาคนเก่งที่ซ่อนเร้นในองค์กรให้พบ ก่อนที่จะไปหาจากแหล่งภายนอก

สรุปเรื่ององค์กรคือ มีความเพียรไม่ย่อหย่อนในการสร้างนวัตกรรม องค์กรในศตวรรษที่ 21 จะมีการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นรายวัน

ก.หมวดที่หนึ่ง ผู้นำในศตวรรษที่ 21

Janusian Leader - James M. Kouzes and Barry S. Posner กล่าวว่าผู้นำจะต้องมองไปในอดีตและสามารถมองไปในอนาคต (Janus เป็นชื่อเทพเจ้าของชาวโรมันโบราณที่มีสองหน้า หน้าหนึ่งมองไปอดีต อีกหน้าหนึ่งมองอนาคต จึงได้นำชื่อเทพเจ้าองค์นี้มาตั้งเป็นชื่อเดือนแรกของปีปฏิทิน คือเดือนมกราคม)

หมายถึงผู้นำต้องทบทวนประสบการณ์ในอดีตเพื่อนำไปใช้ในอนาคต มีบทเรียน 7 ข้อที่พวกเขาคาดว่ายังคงใช้ได้ถึงศตวรรษที่ 22 คือ ผู้นำจะต้อง 1. มีความน่าเชื่อถือ 2. ใช้ระบบการนำในทุกระดับ 3. สร้างความท้าทาย 4. มุ่งเน้นอนาคต 5. ทำงานเป็นทีม 6. สร้างตำนานให้คนกล่าวถึง และ 7. ดูแลคนด้วยใจ

Sensational Leadership - Ingalill Holmberg and Jonas Ridderstrale พูดถึงผู้นำในยุคดิจิตอลว่าต้องมีคุณสมบัติดังนี้คือ มีนวัตกรรม มีความใฝ่ฝัน และมีความรู้สึก (ใช้ผัสสะทั้ง 5 คือ การเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส) คือใช้ความฝันที่สามารถทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน

ความฝันที่ว่านี้คือจินตนาการและความรู้สึก ที่สามารถทำให้เกิดการทำลายอย่างสร้างสรรค์ ( creative Destruction) คือ ผู้นำใช้จินตนาการและความรู้สึกในการกระตุ้นก่อเกิดความโกลาหลขึ้น แทนที่จะออกระเบียบ แล้วใช้ประสบการณ์ของสมาชิกในกลุ่มในการจัดระเบียบขึ้นมาใหม่โดยใช้ความรู้สึกมากกว่าเหตุผล โดยที่ผู้นำจะแสดงในบทบาทเป็นผู้ช่วยเหลือเพื่อประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว

Leadership as Collective Genius - Linda A. Hill ให้หลักคิดว่าผู้นำในยุคหน้าประกอบด้วยกลุ่มคนเก่ง มีความใฝ่ฝัน และมีความแตกต่างกัน กลุ่มผู้นำเหล่านี้เป็นกลุ่มที่เรียกว่าอัจฉริยะ การบริหารจัดการกลุ่มคนเก่งเหล่านี้เป็นยุทธศาสตร์ในการแข่งขันที่สำคัญ โดยบริหารกลุ่มคนเหล่านี้ให้ลงตัวกับความต้องการขององค์กรเป็นเรื่องสำคัญ

เปรียบเทียบคือผู้นำเสมือนเป็นคนเลี้ยงแกะที่คุมอยู่หลังฝูงแกะ โดยปล่อยให้แกะตัวที่คล่องแคล่วว่องไวเป็นตัวนำฝูง โดยที่แกะตัวอื่น ๆ ไม่รู้ว่าการควบคุมที่แท้จริงอยู่ด้านหลัง ดังนั้นผู้ที่จะนำกลุ่มบุคคลที่เก่งเหล่านี้ได้ ต้องมองโลกเป็นสีเทาไม่ใช่ขาวหรือดำ แต่มีการตัดสินใจที่ดี และกล้าเสี่ยง

The Dualistic Leader - Paul A.L. Evans กล่าวถึงการบริหารท่ามกลางความขัดแย้งสองขั้ว เช่น คนกับระบบ ลูกค้ากับพนักงาน คุณภาพกับราคา ความแข็งกร้าวกับความอ่อนโยน ระยะสั้นกับระยะยาว การกระจายอำนาจกับการรวบอำนาจ ศิลปะกับวิทยาศาสตร์ ฯลฯ เราไม่สามารถทำให้มันหายไปได้ หรือแก้ปัญหานี้ได้

ถ้าเราเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งอาจนำไปสู่ความเสื่อมสลาย ดังนั้นผู้นำต้องรู้จักปรับตัวเฉกเดียวกับการแล่นเรือใบ การไปสู่เป้าหมายได้ต้องดูทิศทางลมและกระแสน้ำประกอบกันไม่ฝืนเรือ มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวพร้อมปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์อยู่เสมอ นั่นคือการรักษาสมดุลไม่สุดโต่งไปข้างใดข้างหนึ่ง

The Value Based Edu-Leader - Stuart R. Levine เชื่อว่าคุณค่าของผู้นำอยู่ที่ความสามารถในการปรับตัว มีการเรียนรู้ และการตอบสนองเชิงบวก นั่นคือผู้นำที่ทำตนเป็นผู้สอนงาน ให้บุคลากรในองค์กรเพิ่มพูนความสามารถพิเศษ ที่มีหลัก 7 ประการ คือ 1. จากแรงจูงใจในอาชีพแปรเป็นแรงจูงใจจากคุณค่าหลัก 2. จากโกลาหลแปรเป็นกระบวนการ 3. จากเทคโนโลยีแปรเป็นความสัมพันธ์ 4. จากรวบรวมแปรเป็นการกระจายข้อมูลข่าวสาร 5. จากฉันแปรเป็นเรา 6. จากเน้นผลิตผลแปรเป็นเน้นบุคลากร และ 7. จากผู้นำแปรเป็นผู้นำด้านการเรียนรู้

Mastery: The Critical advantage - Caela Farren เชื่อว่าความเชี่ยวชาญของผู้นำที่มีความสำคัญอย่างมาก มี 6 ประเด็นคือ 1. มีจุดมุ่งหมายของบุคคลที่สอดคล้องกับองค์กร 2. ผู้นำที่เชี่ยวชาญในด้านอาชีพ 3.วัฒนธรรมองค์กรที่เน้นการวิจัยและการพัฒนา 4.องค์กรที่ส่งเสริมการเรียนรู้ 5.การเป็นหุ้นส่วนกับองค์กร และ 6. มีแนวคิดแบบนักลงทุน

Mindsets for Managers - Paul Dainty and Moreen Anderson กล่าวว่าผู้จัดการต้องมีการเรียนรู้และปรับตัวในศตวรรษใหม่ที่เทคโนโลยีสารสนเทศมีบทบาทมากขึ้นในการทำงาน ผู้จัดการพึงต้องมีแนวคิดในการนำข้อมูลข่าวสารมาช่วยในการวิเคราะห์ แปลงเป็นองค์ความรู้ในการตัดสินใจแก้ปัญหา มากกว่าพึ่งพาเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว เพราะคนเรามีความรู้สึกนึกคิดที่ต่างกัน รวมถึงการให้คุณค่าและความเชื่อที่แตกต่างกัน

ดังนั้นความฉลาดทางอารมณ์ จึงมีความสำคัญต่อการรับแรงกดดันที่จะมีมากขึ้นในอนาคต การมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงจึงมีความสำคัญมากกว่าการใช้เทคโนโลยี คือเทคโนโลยีไม่สามารถทดแทนได้นั่นเอง ผู้จัดการพึงใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการดูภาพรวมของปัญหาและสามารถเห็นประเด็นสำคัญของปัญหาได้ ทั้งสองคนมีความเห็นว่า ในศตวรรษใหม่การปรับเปลี่ยนวิธีคิดมีความสำคัญกว่าการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

ข.หมวดที่สองกระบวนการในศตวรรษที่ 21

Value Creation : the New Millennium Management Manifesto : Sumanatra Ghoshal, Christopher A. Bartlett and Peter Moran กล่าวว่าให้โยนกระบวนทัศน์เดิม ๆ ทิ้งไป และทดลองกับสิ่งใหม่ ๆ ที่ดีกว่า ประเด็นแรกเกี่ยวกับสังคมคือ บริษัทต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมด้วย มิฉะนั้นช่องว่างระหว่างเศรษฐานะของบริษัทและกฎเกณฑ์ของสังคม จะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นั่นคือการกระทำที่สังคมไม่ยอมรับ ซึ่งจะไม่เกิดผลดีกับผู้ใด

ในโลกธุรกิจมีตัวอย่างบริษัทมากมายที่ยังมีกำไรเป็นกอบเป็นกำ และสามารถสร้างคุณค่าให้กับสังคมมากกว่าที่จะมุ่งหาผลกำไรถ่ายเดียว ประเด็นที่สอง ผู้คนไม่ใช่เครื่องจักร แต่จะเป็นประโยชน์มากถ้าเชี่ยวชาญในสิ่งที่บริษัทต้องการ พนักงานในศตวรรษหน้าจึงมีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาตนเองและเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง มากกว่าที่จะทำงานอย่างเดิมอยู่กับบริษัทเดิมไปตลอดชีวิต

Emerging Work of Management - CK Prahalad มีความเชื่ออย่างมากว่าเราต้องกลับมาทบทวนแนวทางและเครื่องมือการบริหารจัดการ (นั่นคือ อำนาจ โครงสร้าง ลำดับชั้น การควบคุม ความร่วมมือ ความเป็นเจ้าของ และแรงจูงใจ) แนวคิดและเครื่องมือใหม่ ๆ จะเกิดขึ้น

การเปลี่ยนแปลงจะเป็นนวัตกรรมพื้นฐานขององค์กร และองค์ประกอบ 6 อย่างที่สำคัญในศตวรรษใหม่คือ 1.การมีประเด็นร่วม 2. ค่านิยมหลักและพฤติกรรมขององค์กร 3. การทำงานเป็นทีม 4. เสริมสร้างทักษะบุคลากร 5. มีความรวดเร็วในการตอบสนอง และ 6. การใช้ทรัพยากรร่วมกันขององค์กรในการสร้างโอกาสใหม่ ๆ

Ultra Rapid Management Processes - Peter Lorange กล่าวว่าการบริหารจัดการในศตวรรษใหม่จะใช้หลักพฤติกรรมศาสตร์ คือ เน้นที่การบริหารจัดการบุคลากรเป็นหลัก (การเรียนรู้ที่เร็วขึ้น การทำงานเป็นทีมที่สมาชิกมีวัฒนธรรมแตกต่างกัน กระบวนการจัดการทรัพยากรบุคคลที่เน้นแรงจูงใจการเจริญเติบโต งบประมาณแบบองค์รวมเน้นโครงการที่เติบโตเร็ว และการควบคุมเชิงรุก)

การเจริญเติบโตจึงเป็นแบบเร็วสุด ๆซึ่งจะเป็นการบริหารจัดการในอนาคตที่ทำให้บริษัทมีผลประกอบการที่ดี นั่นคือการค้นหาโอกาสใหม่ ๆ และการใช้ประโยชน์จากโอกาสนั้นอย่างรวดเร็ว เพราะวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์จะสั้น ต้องรีบหาทางคืนทุนโดยเร็ว

Knowledge Leadership - J. Wil Foppen ให้ความสำคัญกับการบริหารองค์กร และ การศึกษาเรื่องการบริหารจัดการ ว่าเป็นสองสิ่งที่สำคัญ ที่ทำให้ผู้จัดการบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในโลกแห่งความซับซ้อน เพราะเป็นการพัฒนาศักยภาพโดยการให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการกับบุคลากร ที่สามารถทำให้องค์กรมีความยืดหยุ่น ปรับตัว และมีความสร้างสรรค์ สอดคล้องกับแนวโน้มสภาพของสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงไป

Future Leadership Development - Robert M.Fulmer & Marshall Goldsmith ให้ความเห็นว่าการพัฒนาผู้นำให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ขององค์กรเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่ากฎเกณฑ์ต่าง ๆ จะระบุไว้อย่างไรก็ตาม องค์กรควรมีวิธีคัดเลือกผู้นำให้ถูกคนจากผู้มีศักยภาพในองค์กร และมีการลงทุนในกระบวนการพัฒนาผู้นำในอนาคต โดยมีแผนสืบทอดตำแหน่ง เพราะการลงทุนในการพัฒนาผู้นำเป็นการลงทุนระยะยาวกว่าจะออกดอกออกผล การพัฒนาผู้นำจึงต้องเน้นที่การพัฒนาบุคลากรและประสบการณ์ทางธุรกิจ

Communities of leaders or no leadership at all: Peter M. Senge and Kartin H. Kauffer กล่าวว่าความเข้าใจเรื่องชุมชนผู้นำ(ระดับรองลงมา) ที่จะช่วยกันบริหารองค์กรในศตวรรษใหม่ให้ผู้นำ(ระดับสูง)มีความมั่นใจในการสร้างอนาคตขององค์กรมากยิ่งขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นการรวมเอาความสามารถของแต่ละคนอย่างเป็นระบบ

ตามคำนิยามที่เรียกกลุ่มที่อยู่กันเป็นเครือข่ายภายในว่าเป็นชุมชนผู้นำ ซึ่งผลจากการรวมกลุ่มกันทำให้สามารถกำหนดอนาคตและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้อย่างดี เพราะทุกองค์กรจะต้องเผชิญกับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสามประการคือ ความท้าทายที่จะเริ่มต้นปรับเปลี่ยน ความท้าทายในการรักษาความยั่งยืนของการเปลี่ยนแปลง และความท้าทายในการปรับปรุงใหม่คิดใหม่อีกรอบ

ค.หมวดที่สาม องค์กรในศตวรรษที่ 21

The Customized Workplace - Hamid Bouchikhi & John R. Kimberly กล่าวว่าองค์กรต้องเปลี่ยนแปลงสถานที่ทำงานให้เป็นแบบเฉพาะตัวเพื่อรองรับทั้งลูกค้าและพนักงาน แนวคิดในศตวรรษใหม่แทนที่จะบอกว่าลูกค้าต้องมาก่อน หรือบุคลากรต้องมาก่อน ต้องเปลี่ยนเป็น ผู้ถือหุ้น ลูกค้า และบุคลากรต้องมาก่อน

บุคลากรจะเชื่อผู้บริหารก็ต่อเมื่อผู้บริหารเชื่อในบุคลากรด้วย ดังนั้นองค์กรในศตวรรษที่ 21 ต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับลูกค้าหรือสถานการณ์ของบริษัทให้กับพนักงาน ให้ได้รับรู้และร่วมรับผิดชอบด้วย เพื่อแสดงถึงความไว้วางใจซึ่งกันและกัน

The Creative Web - David Conklin & Lawrence Tapp กล่าวว่าความสำเร็จขององค์กรในศตวรรษใหม่เกิดจากนวัตกรรมในองค์กรและเครือข่ายสมาชิกขององค์กร โครงสร้างองค์กรจะเป็นแบบกระจายอำนาจ ไม่เป็นลำดับชั้น แต่จะให้อิสระแก่หน่วยย่อยที่อยู่ในพื้นที่ตามภูมิศาสตร์ต่าง ๆ ที่มีการตัดสินใจเสมือนเป็นผู้ลงทุนเอง มีการสร้างเครือข่ายที่ทำให้เกิดนวัตกรรมทั่วทั้งเครือข่าย และทำให้องค์กรหรือสาขาที่เป็นสมาชิกประสบความสำเร็จ

ซึ่งเกิดขึ้นโดยแต่ละหน่วยในเครือข่ายมีการทำวิจัย ออกแบบ พัฒนา ทดสอบ ดังนั้นทั่วทั้งเครือข่ายจะเรียนรู้ร่วมกันและช่วยกันสร้างนวัตกรรมที่ทำให้สินค้าราคาถูกลง และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น (ยกตัวอย่างคือเครือข่ายของบริษัทผลิตรถยนต์ที่อยู่ในประเทศต่าง ๆ )

Context Capability and Response - Dave Ulrich ให้ความเห็นว่าแต่ละบุคคลควรมีการเตรียมพร้อมสู่ศตวรรษใหม่โดยการตระเตรียมความรู้ให้พร้อม เพราะความรู้คือสมบัติของแต่ละคน ขององค์กร และของประเทศ องค์กรที่ประสบความสำเร็จคือต้องสร้างความคิดและทำความคิดนั้นให้เป็นจริง นั่นคือองค์กรที่มีนวัตกรรม มีการบริหารจัดการความรู้ และสามารถสร้างยุทธศาสตร์ได้

"Kaleidoscope thinking" - Rosabeth Moss Kanter กล่าวเกี่ยวกับผู้นำต้องคิดให้เป็น นี่คืออาวุธของผู้นำที่สำคัญประกอบด้วย 1. แนวคิด 2. สมรรถนะ และ 3. การสื่อสาร (Kaleidoscope คือกล้องส่องสะท้อนภาพโดยมากเป็นรูปสามเหลี่ยมมีแนวยาวที่ด้านข้างประกอบด้วยกระจกเงา ทำให้เห็นภาพซ้ำซ้อนแปลกออกไปจากปกติ)

ผู้นำจะต้องสร้างวัฒนธรรมในการเจรจาโต้ตอบ แลกเปลี่ยนความคิด ทำให้เกิดแนวคิดที่เป็นประโยชน์ในการใช้มุมมองที่แตกต่างกันออกไป เพื่อหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ หรือสร้างนวัตกรรมจากทรัพยากรมนุษย์ที่องค์กรมีอยู่ แต่ก็ต้องมองออกนอกองค์กรด้วยเช่นเดียวกัน

สรุป

หนังสือเล่มนี้รวบรวมแนวความคิดจากนักคิดหลายคน ที่มีแนวโน้มว่า การบริหารจัดการในศตวรรษที่ 21 จะมีแนวคิดที่เป็นสตรีเพศเพิ่มขึ้น (การบริหารเรื่อง: ความไม่แน่นอน ความกำกวม การเปลี่ยนแปลง ความร่วมมือ การร่วมงานกัน และชัยชนะ) จากการบริหารยุคเดิมที่ออกแนวเพศชาย (การบริหารเรื่อง: ความแน่นอน การประกันคุณภาพ การพยากรณ์ผล การแข่งขัน ความได้เปรียบ และ การประสบชัยชนะ) ในความคิดส่วนตัวของ Chowdury คือ ผู้นำต้องมีทักษะหลายด้าน สามารถกระตุ้นให้พนักงานเกิดแรงจูงใจและมีความเชื่อ ความสำเร็จขององค์กรอยู่ที่การบริหารจัดการคนเก่ง ผลตอบแทนจากคนเก่งจะเป็นตัวชี้วัดหนึ่งเช่นเดียวกับตัวชี้วัดทางการเงิน

*******************************************

หมายเลขบันทึก: 579243เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2014 12:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ธันวาคม 2014 18:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท