บันทึกอนุทินครั้งที่ 6 (การศึกษาดูงาน โรงเรียนเทศบาล 4 เพาะชำ) เรื่องการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ในสถานศึกษา โดยนางสาวผกาวรรณ สุวรรณภูมานนท์


                                                                บันทึกอนุทินครั้งที่ 6

                                                                 (การศึกษาดูงาน)

วิชา                      การศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้

รหัสวิชา               102611

เรื่อง                     การสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ในสถานศึกษา

สถานที่                 โรงเรียนเทศบาล 4 (เพาะชำ)

วิทยากร                นายศักดิ์เดช   กองสูงเนิน (ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 4  เพาะชำ)

ผู้บันทึก                 นางสาวผกาวรรณ   สุวรรณภูมานนท์    รหัสนักศึกษา 57D0103110

                             นักศึกษาปริญญาโท  สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน  (ภาคพิเศษ   หมู่ 1 รุ่นที่ 13)


การเตรียมตัวล่วงหน้าในการศึกษาดูงานครั้งนี้

            ดิฉันได้เตรียมตัวในการไปศึกษาดูงาน ณ โรงเรียนเทศบาล 4 (เพาะชำ)  ในครั้งนี้  คือ  ทบทวนเนื้อหาเกี่ยวกับ Knowledge Management Process (KM) เกี่ยวกับการนำขั้นตอนของ KM ไปประยุกต์ใช้ในสถานศึกษาอย่างไร  โดยสรุปเนื้อหาเพื่อนำไปประกอบการศึกษาดูงานดังนี้  การจัดการความรู้  คือ การรวบรวมความรู้สู่การปฏิบัติ  ซึ่งเป็นความรู้ที่เกิดจากการเรียนรู้  เจตคติ ประสบการณ์ทำงาน  และพฤติกรรมการทำงานของแต่ละบุคคลซึ่งปฏิบัติงานเรื่องเดียวกันหรือคนละเรื่อง  และประชุมหรือสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  แลกเปลี่ยนประสบการณ์  จากนั้นก็นำความรู้ที่ได้มาสังเคราะห์ วิเคราะห์ หรือจัดระบบใหม่ เพื่อสร้างเป็นองค์ความรู้ใหม่  แล้วนำมาเผยแพร่ความรู้เพื่อให้เกิดการต่อยอดความรู้หรือสร้างประโยชน์จากความรู้  และนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและองค์กร

          เมื่อครูเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ  และมีความจำเป็นจะต้องเป็นผู้จัดการความรู้ในระดับต่าง ๆ ครูจะต้องพัฒนาตนเองให้มีความสามารถ และทักษะการจัดการความรู้


สิ่งที่คาดหวังจากการศึกษาดูงาน

          จากเนื้อหาที่ดิฉันได้ศึกษาก่อนการศึกษาดูงาน  ดิฉันมีความคาดหวังว่า  เนื้อหาที่ดิฉันได้ศึกษามานี้ น่าจะตรงกับข้อมูลที่ท่านวิทยากรจะบรรยาย และการศึกษาดูงานจะทำให้ดิฉันมีความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการความรู้หรือการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ในสถานศึกษามากขึ้น และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน


ความรู้ความเข้าใจที่ได้รับ

         จากการฟังบรรยาย  เรื่องการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ในสถานศึกษา (Learning Organization : LO)  โดยนายศักดิ์เดช  กองสูงเนิน ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 4 (เพาะชำ)  ได้รับความรู้และความเข้าใจดังนี้เริ่มต้นที่สาระที่น่าสนใจ  ในการสร้างองค์แห่งการเรียนรู้ คือ

          - องค์กรแห่งการเรียนรู้

          - การจัดการความรู้

          - การบริหารสถานศึกษาด้านการจัดการความรู้ (KM) เพาะชำโมเดล

          - ตอบปัญหา

          - กติกา

          - แลกเปลี่ยนเรียนรู้

          - ร่วมแสดงความคิดเห็น

          - ถาม

           จะเห็นได้ว่าโรงเรียนเทศบาล 4 (เพาะชำ) คณะผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษาได้จัดทำองค์กรแห่งการเรียนรู้ในสถานศึกษาเพื่อพัฒนาและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียน  โดยเริ่มต้นที่การวิเคราะห์ปัญหาหรือสถานการณ์ที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ขึ้นเรียกว่า “เพาะชำโมเดล” มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากบุคลากรภายในโรงเรียน  ร่วมกันตอบปัญหา  แสดงความคิดเห็น  มีการซักถาม  สร้างกติกา  หาวิธีแก้ไข  และนำผลที่ได้ออกสู่สาธารณะ

ลักษณะขององค์กรแห่งการเรียนรู้ Learning Organization : LO

          แนวคิดที่ทางโรงเรียนได้ยึดปฏิบัติคือ 1+1 = 3 หมายถึง การทำอะไรให้ได้ผลมากกว่าเดิม  คุ้มค่า  เปลี่ยนวิธีการให้ดีขึ้น  ไม่ยึดติดกับการทำงานที่ล้าสมัย คำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในองค์กร  ให้มีรูปแบบที่แปลกใหม่  ทุกคนจะต้องมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน  เรียนรู้จากกันและกัน

          การทำ Knowledge Management : KM โรงเรียนได้ยึดหลักตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคือ “ต้องระเบิดจากข้างใน” ความรู้ต้องนำออกมาจากภายในนั้นหมายความว่า ต้องมุ่งพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสถานศึกษาให้มีสภาพพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน  แล้วจึงค่อยออกมาสู่สังคมภายนอก มิใช่การนำเอาความเจริญจากสังคมภายนอกเข้าไปหาสถานศึกษา

       การทำ KM ต้องเห็นความแตกต่างระหว่างความรู้ 2 ประเภท ดังนี้

      Explicit Knowledge        vs           Tacit Knowledge

     1.  Explicit  Knowledge  ความรู้ภายนอก  ได้แก่

           - วิชาการ หลักวิชา

           - ทฤษฎี Theory

           - ปริยัติ

           - มาจากการสังเคราะห์วิจัย ใช้สมอง (Intellectual) เป็นกฎเกณฑ์ วิธีการ ขั้นตอนที่ผ่านการพิสูจน์

     2. Tacit  Knowledge  ความรู้ภายใน  ได้แก่

          - ภูมิปัญญา เคล็ดวิชา

          - ปฏิบัติ (Practice) ประสบการณ์

          - มาจากวิจารณญาณ (Intelligent)

          - เป็นเทคนิค เฉพาะตัว เป็นลูกเล่นของแต่ละคน 

      ในกระบวนการการจัดการความรู้ในแต่ละองค์กร  ควรประกอบด้วยบุคคลดังต่อไปนี้

     1. "คุณเอื้อ" คือผู้ที่ทำให้เกิดผลงาน KM มีหน้าที่คัดเลือกหาทีมงานจากหลายสังกัดมาเป็นแกนนำ สนับสนุนทรัพยากรแก่ทีมงานอย่างเต็มที่ ส่งเสริมให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ที่เกิดจากความสำเร็จหลากหลายรูปแบบ

     2. "คุณอำนวย" ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการจัดการความรู้ ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และอำนวยความสะดวกต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งในเชิงกิจกรรม เชิงระบบ และเชิงวัฒนธรรม

     3. "คุณกิจ" ผู้ดำเนินกิจกรรมจัดการความรู้  อาจสรุปได้ว่าคุณกิจคือผู้จัดการความรู้ตัวจริง เป็นผู้มีความรู้ (Explicit Knowledge) และเป็นผู้ต้องมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ใช้ หา สร้าง แปลง ความรู้เพื่อการปฏิบัติให้บรรลุถึง “เป้าหมาย/หัวปลา” ที่ตั้งไว้

     4. "คุณลิขิต" ทำหน้าที่จดบันทึก  ขุมความรู้จากกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้  บันทึกการประชุม  และบันทึกอื่น ๆ

     5. "คุณวิศาสตร์" คือ นัก IT ที่เข้ามาช่วยเป็นทีมงาน KM คำว่า "วิศาสตร์" มาจากคำว่า "IT wizard" หรือพ่อมดไอที จะเข้ามาช่วยคิดเรื่องการวางระบบ IT ที่เหมาะกับการดำเนินการ KM

     6. "คุณประสาน" ในการทำ KM แบบเครือข่าย มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามองค์กร "คุณประสาน" จะทำหน้าที่ประสานงานให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกันภายในเครือข่าย

                                                  

      

       การสร้างองค์ความรู้ของสถานศึกษาแห่งนี้  ใช้หลักการจัดการความรู้ของ สคส  (สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม)  ดังนี้

                                                                                 โมเดลปลาทู

  

                                                       

             ส่วน  “หัวปลา” (Knowledge Vision- KV) หมายถึง  ส่วนที่เป็นเป้าหมาย วิสัยทัศน์ หรือทิศทางของการจัดการความรู้ โดยก่อนที่จะทำจัดการความรู้ ต้องตอบให้ได้ว่า “เราจะทำ KM ไปเพื่ออะไร” โดย “หัวปลา” นี้จะต้องเป็นของ “คณกิจ” หรือ ผู้ดำเนินกิจกรรม KM ทั้งหมด โดยมี “คุณเอื้อ” และ “คุณอำนวย” คอยช่วยเหลือ

            ส่วน “ตัวปลา” (Knowledge Sharing-KS) เป็นส่วนของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญ ซึ่ง “คุณอำนวย” จะมีบทบาทมากในการช่วยกระตุ้นให้ “คุณกิจ” มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความรู้ โดยเฉพาะความรู้ซ่อนเร้นที่มีอยู่ในตัว “คุณกิจ” พร้อมอำนวยให้เกิดบรรยากาศในการเรียนรู้แบบเป็นทีม ให้เกิดการหมุนเวียนความรู้ ยกระดับความรู้ และเกิดนวัตกรรม

            ส่วน “หางปลา” (Knowledge Assets-KA) เป็นส่วนของ “คลังความรู้” หรือ “ขุมความรู้” ที่ได้จากการเก็บสะสม “เกร็ดความรู้” ที่ได้จากกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “ตัวปลา” ซึ่งเราอาจเก็บส่วนของ “หางปลา” นี้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ICT ซึ่งเป็นการสกัดความรู้ที่ซ่อนเร้นให้เป็นความรู้ที่เด่นชัด นำไปเผยแพร่และแลกเปลี่ยนหมุนเวียนใช้ พร้อมยกระดับต่อไป

             การจัดการความรู้ของโรงเรียนเทศบาล 4 (เพราะชำ) หรือที่เรียกว่า“เพาะชำโมเดล” คณะผู้บริหารและบุคลากรในโรงเรียนร่วมกันจัดทำโมเดลโดยใช้ตัวอักษรประกอบการทำโมเดลดังนี้

           KV   =   Knowledge Vision  วิสัยทัศน์

           M     =   Mind

           3 S   =   Share  (แลกเปลี่ยนเรียนรู้)   Show  (นำเสนอ)   Support  (สนับสนุน)

           KA   =    Knowledge Asset=คลังความรู้ (หางปลา)

                        - บันทึกเรื่องเล่า

                        - งานวิจัย

                        - Blog.Tor.4.net    (go to know)   มีการแสดงความคิดเห็น

          L       =    Learn - การแลกเปลี่ยนเรียนรู้

                         - ฟังเรื่องเล่า (เชิงบวก) ชื่นชม

                         - การนำเสนอ

                         - Blog (go to know)

                         - บันทึกการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หน้าเดียว

                         - งานวิจัย

                         - นิทรรศการ (แลกเปลี่ยน) + ต่างโรงเรียน

          ความร่วมมือของบุคลากรในโรงเรียน  ซึ่งจะทำให้การทำองค์กรแห่งการเรียนรู้สำเร็จนั้น  ประกอบไปด้วย

          -  4  กลุ่มงานบริหาร     ได้แก่    บริหารงานทั่วไป  บริหารงานบุคคล   บริหารงานงบประมาณ  และบริหารงานวิชาการ

          -  8  กลุ่มสาระการเรียนรู้  ได้แก่  1. กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์  2. กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์  3. กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ  4. กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  5. กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ  6. กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม  7. กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี  และ 8. กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา

          - 4  ช่วงชั้น  คือ  ช่วงชั้นที่ 1 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3  ช่วงชั้นที่ 2 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6  ช่วงชั้นที่ 3 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3  และช่วงชั้นที่ 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6

          เครื่องมือที่ใช้ในการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้มีดังนี้

        1) เรื่องเล่าเร้าพลัง  2) กัดขุมความรู้ (หน้าที่ของคุณลิขิตคือผู้สรุปสาระสำคัญ)  3) ก่นความรู้ (สังเคราะห์) เช่น หาการเสริมแรงในการสอน เช่น ดาวขนม(เทคนิคนำมาเล่า)  4) ตารางอิสรภาพ (ไม่มีข้อจำกัดนำข้อที่ 2, 3 ทำเป็นตาราง)  5) บันไดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ - ใครรู้ - ไม่รู้อะไร ปรึกษากัน   6) การแลกเปลี่ยน (บันทึกหน้าเดียว)  7) การทบทวนหลังปฏิบัติการ (AAR)  รู้อะไร  รู้แล้วทำอะไรต่อ

ผลเป็นอย่างไร   นำไปใช้อย่างไร (ปรับปรุง)

             ตัวอย่างการทำ KM (ต้องทำต่อเนื่องเพื่อประสิทธิภาพ)

            1. ตั้งทีมงาน

            2. ให้ความรู้

           3. กำหนด (KV) Knowledge Vision = ทำบ่อย ๆ หาเทคนิคเพื่อนำมาพัฒนา

           4. ฝึกปฏิบัติ

           5. ติดตาม

           6. เผยแพร่

           7. Blog (นำความรู้สู่สารสนเทศ)

           8. งานวิจัย

           9. รูปแบบการสอนที่ใช้ได้ผลในการแก้ปัญหา

      ผลที่ได้รับจากความร่วมมือในการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้  คือ

     - บุคลากรทุกฝ่ายเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้

     - การเรียนรู้เป็นทีม

     - องค์กรแห่งการเรียนรู้

     - คิดเป็นระบบ

     

      ตัวอย่างการทำ KM ในสถานศึกษา

      - ร่วมกันคิดหัวปลา

      - กำหนดให้สมาชิกเตรียมเรื่องเล่า

      - จัดกลุ่มให้เล่าเรื่อง

     - ได้ขุมความรู้

     - สังเคราะห์เป็นแก่นความรู้

     - ประเมินตนเอง

     - จับคู่แลกเปลี่ยนเรียนรู้

     - นำไปปฏิบัติ

     - จัดเวที AAR   

    การจัดการความรู้ลักษณะนี้ถือได้ว่าเป็นสังคมอุดมปัญญา


ความคิดเห็นประเด็นที่ได้รับฟังการบรรยาย

       การสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ในสถานศึกษา ต้องได้รับความร่วมมือจากบุคลากรในองค์กร เรียนรู้เป็นทีม ต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  และมีการเผยแพร่ผลงานที่ได้รับการยอมรับ เพื่อเป็นการต่อยอดความรู้ และเป็นประโยชน์ต่อองค์กรนั้น ๆ ทั้งนี้ต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหาร และมีการให้กำลังใจต่อผู้ร่วมงานทุกคนซึ่งจะทำให้เกิดความสำเร็จในองค์กร

การนำความรู้ไปใช้

       จากการฟังบรรยายเรื่ององค์กรแห่งการเรียนรู้ในสถานศึกษา ดิฉันจะนำปัญหาที่พบกับผู้เรียนในเรื่องการอ่านไปพัฒนาให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้นโดยจัดการความรู้ในรูปแบบของโมเดลปลาทู ดังนี้

       กำหนดหัวปลา (ทำอะไร)  :  การสอนอ่าน

       ลำตัวปลา (อย่างไร )        :   กำหนดวิธีการสอนเช่นใช้บัตรคำเป็นสื่อฝึกให้นักเรียนได้อ่านบ่อย ๆ จากคำง่ายไปยากอาจจะใช้วิธีการจับกลุ่มอ่านกับเพื่อนฝีกอ่านกับครูหรือผู้ปกครองเมื่ออ่านคำได้แล้วเริ่มหาหนังสือที่นักเรียนสนใจให้นักเรียนได้ฝึกอ่าน

       หางปลา (สร้างเครือข่าย)  :   การเสริมแรงผู้เรียนคำพูดชมเชยคะแนนขนมแจ้งผู้ปกครองแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการสอนผ่านระบบสารสนเทศ

       จากนั้นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคนในสถานศึกษาเกี่ยวกับปัญหา และวิธีแก้ไข แล้วเผยแพร่ข้อมูลลงสารสนเทศ หรือทำ After Action Review (AAR) ดังหัวข้อต่อไปนี้

       1. รู้อะไร

       2. รู้แล้วคิดอะไรต่อ คิดอย่างไร

       3. การนำไปประยุกต์ใช้

       4. ผลเป็นอย่างไร

       5. พัฒนาให้ดีขึ้น

บรรยากาศของการศึกษาดูงาน

      ท่านผู้อำนวยการโรงเรียน  และเจ้าหน้าที่โรงเรียนเทศบาล 4 (เพาะชำ) ให้การต้อนรับคณะนักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน รุ่นที่ 13 เป็นอย่างดี ในการศึกษาดูงานครั้งนี้ ห้องประชุมสะอาด สื่อที่ใช้มีความทันสมัย อากาศถ่ายเทสะดวก แสงสว่างเพียงพอ โต๊ะ เก้าอี้ เหมาะสมในการรับฟังการบรรยาย

      เรื่องที่ฟังการบรรยายในวันนี้  ถือได้ว่าเป็นหัวข้อที่มีประโยชน์อย่างมาก  เพราะสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการเรียนการสอนได้จริง

ความรู้สึกที่มีต่อวิทยากร

       นายศักดิ์เดช  กองสูงเนิน (ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 4 เพาะชำ) เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้  มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ในสถานศึกษา (Learning Organization : LO) เป็นอย่างดี  สามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับนักศึกษาได้อย่างเข้าใจ เปิดโอกาสให้ผู้ฟังได้ซักถาม ให้ความเป็นกันเอง การศึกษาดูงานครั้งนี้ ถือว่าประสบผลสำเร็จในเรื่องของการนำเนื้อหาไปใช้ต่อยอดได้จริง

ความรู้สึกที่มีต่อเพื่อน

        เพื่อนนักศึกษาทุกคนให้ความร่วมมือในการศึกษาดูงาน  มีความกระตือรือร้น  แต่งกายสุภาพให้เกียรติวิทยากรและสถานที่  มีความสนใจในการฟังการบรรยายครั้งนี้เป็นอย่างดี  สังเกตได้จากการฟังแล้วจดบันทึก  มีการถามคำถามกับวิทยากร  และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

                         



หมายเลขบันทึก: 579102เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2014 22:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ตุลาคม 2014 11:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท