เสริมสร้างประสิทธิภาพในการปฎิบัติงานวิชาชีพ


ชื่อวิทยานิพนธ์: การพัฒนารูปแบบธรรมปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการ

ปฏิบัติงานของพยาบาลวิชาชีพ

ผู้วิจัย : นางอรชร ไกรจักร์

ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต (พระพุทธศาสนา)

คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์

: พระสุธีธรรมานุวัตร, ผศ.ดร. ป.ธ. ๙, M.A., Ph.D.

: พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, รศ.ดร. ป.ธ.๖, พธ.บ., ศศ.ม., พธ.ด.

: ดร. จุฑามาศ วารีแสงทิพย์ อ.บ. (อภิธรรมบัณฑิต), วท.บ. (การพยาบาล

เกียรตินิยม), พธ.ม. (พระพุทธศาสนา), พธ.ด. (พระพุทธศาสนา)

วันเสร็จสมบูรณ์: ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๗

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ โดยมีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ ๑)เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของพยาบาลวิชาชีพ ๒) เพื่อศึกษาหลักธรรมเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของพยาบาลวิชาชีพ ๓) เพื่อนำเสนอรูปแบบธรรมปฏิบัติ เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของพยาบาลวิชาชีพ

ผลการวิจัยพบว่ารูปแบบธรรมปฏิบัติ ใช้แนวคิดทฤษฏีตะวันตกเรื่องประสิทธิภาพ และ มาตรฐานพยาบาลวิชาชีพ หลักธรรมเรื่องสติปัฏฐาน ๔ และ หลักธรรมเรื่องความเมตตา ข้อมูลพื้นที่ภาคสนาม เพื่อนำมาสร้างรูปแบบธรรมปฏิบัติ โดยนำไปทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างพยาบาลวิชาชีพ โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มประชากรตัวอย่างที่ปฏิบัติงานในฝ่ายการพยาบาล คือ โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ และ โรงพยาบาลสมุทรสาคร จากผลการพัฒนาทดลองรูปแบบที่โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ เป็นเวลา ๓๖ ชั่วโมงนั้นกลุ่มตัวอย่างพยาบาลวิชาชีพตอบแบบทดสอบ และ ให้สัมภาษณ์เชิงลึก ว่ารูปแบบธรรมปฏิบัติ มีความเหมาะสม สามารถลดความเครียด และ เพิ่มคุณภาพชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับในเรื่องรูปแบบธรรมปฏิบัติ และ แบบทดสอบประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของพยาบาลวิชาชีพ ได้นำมาพัฒนาให้มีคุณภาพสมบูรณ์ยิ่งขึ้น หลังจากนั้นจึงทำการพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย กล่าวคือได้พัฒนา แบบทดสอบประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของพยาบาลวิชาชีพ ให้เป็นบริบทของสังคมพยาบาลมีความกระชับสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น โดยทดสอบความเชื่อมั่นในกลุ่มพยาบาลวิชาชีพ ๑๐๐ คน พร้อม ตรวจสอบความเที่ยงตรงโดยผู้เชี่ยวชาญ

ต่อจากนั้นนำไปใช้กับผู้เข้าร่วมหลักสูตรที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร โดยใช้เกณฑ์ในการคัดเลือกกลุ่มผู้เข้าร่วมหลักสูตรหลักเกณฑ์เดียวกับโรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ โดยมีเครื่องมือในการวิจัย ได้แก่ แบบทดสอบประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของพยาบาลวิชาชีพ ที่ได้จากการพัฒนาแล้ว และ แบบสัมภาษณ์ความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างพยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลสมุทรสาคร ภายหลังจากเข้าร่วมหลักสูตรของกลุ่มตัวอย่างได้ออกไปทำการปฏิบัติงานในพื้นที่ของตนเป็นเวลา ๓๐ วันทำการ ต่อจากนั้น จึงทำการสัมภาษณ์ความคิดเห็นของกลุ่มผู้เข้าร่วมหลักสูตรจำนวน ๒๑ คน สัมภาษณ์ความคิดเห็นหัวหน้างาน ๒๓ คน และสัมภาษณ์ความคิดเห็นของเพื่อนร่วมงาน ๔๑ คน เพื่อให้มั่นใจว่ารูปแบบธรรมปฏิบัติสามารถนำไปใช้เพื่อการเสริมสร้างประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของพยาบาลวิชาชีพ

รูปแบบธรรมปฏิบัติมี ๔ หมวดวิชาคือหมวดท่องคำปฏิญญา(คาถาหัวใจพยาบาล) หมวดธรรมปฏิบัติ หมวดกิจกรรมห่วงใยและแบ่งบัน(Caring & Sharing) หมวดธรรมบรรยาย สามารถเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาของพยาบาลวิชาชีพ โดยทำให้ความเครียดลดระดับลงและมีความสุขเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.๐๐๙ และ .๐๐๘ ตามลำดับ พบว่า รูปแบบธรรมปฏิบัติยังสามารถส่งเสริมพฤติกรรมของกลุ่มตัวอย่างพยาบาลวิชาชีพ ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งทางด้านพฤติกรรม การสื่อสาร การใช้เหตุผล และความอดทนในการปฏิบัติงาน ส่งผลให้พยาบาลวิชาชีพเกิดภาวะคุณภาพจิต สมรรถภาพจิต และสุขภาพจิตที่ดี ดูแลผู้ป่วยด้วยสติและเมตตา มีจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ดังนั้น รูปแบบธรรมปฏิบัติที่พัฒนามาแล้วจึงสามารถเสริมสร้างประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของพยาบาลวิชาชีพแบบยั่งยืน

คำสำคัญ (Tags): #ธรรมปฎิบัติ
หมายเลขบันทึก: 578924เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2014 11:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ตุลาคม 2014 11:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดีมากค่ะเพราะธรรมะทำให้มีสติในการทำงานและมีประสิทธิภาพมากขึ้นค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท