บ่มเพาะคนดี


“ทำไมต้อง..บ่มเพาะคนดี สหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ จำกัด”[๑]

ดร. อรชร ไกรจักร์[๒]

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดของขบวนการสหกรณ์ในประเทศไทย ก็คือ การควบสหกรณ์ หาทุนเข้าด้วยกันโดยทางราชการได้ออกพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๑๑[๓] เปิดโอกาสให้สหกรณ์หาทุนขนาดเล็กที่ดำเนินธุรกิจเพียงอย่างเดียวควบเข้ากับขนาดใหญ่ สามารถขยายการดำเนินธุรกิจแบบอเนกประสงค์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่สมาชิกได้มากกว่า ประเทศไทยได้กำหนดประเภทสหกรณ์ ไว้ ๗ ประเภท[๔] ซึ่งนับว่ามีประโยชน์ต่อขบวนการสหกรณ์อย่างมาก ผลการดำเนินงานสหกรณ์ในธุรกิจต่าง ๆ ได้สร้างความเชื่อถือเป็นที่ไว้วางใจของสมาชิก จนทำให้จำนวนสหกรณ์ จำนวนสมาชิก ปริมาณเงินทุน และ ผลกำไรของสหกรณ์เพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้น การบ่มเพาะคนดีในมิติพระพุทธศาสนาในขบวนการสหกรณ์ยั่งยืนจะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของสมาชิก(ประชาชน)ให้ดีขึ้น

ทำไมต้อง..บ่มเพาะคนดี ข้อมูลที่น่าสนใจ ราชบัณฑิตสาขาจิตวิทยา สรุปไว้ว่าสภาพความเป็นอยู่และ การดำเนินชีวิตคนไทยมีลักษณะนิสัยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก จากที่เคยเป็นคนมีใจเอื้ออาทร มีความรู้สึกมักน้อย พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ มีชีวิตเรียบง่าย ยึดถือในขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม เชื่อบาปบุญคุณโทษ และมีความกตัญญู แต่ปัจจุบันคนไทยกลายเป็นคนที่ทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ชอบใช้จ่ายฟุ้งเฟ้อ ซึ่งทำ ให้เกิดความเครียดมากขึ้นจนกลายเป็นโรคร้ายแรง เพราะชอบแข่งขันเอาชนะ และ บูชาวัตถุนิยม จะเห็นได้จากการเรียนตั้งแต่อนุบาล จะเน้นพัฒนาการทางสติปัญญา ปราศจากการเรียนรู้ด้านอื่น ๆ เมื่อโตขึ้นก็จะเข้าไปทำงานอย่างเคร่งเครียดในระบบการแข่งขัน ทำให้คนขาดอารมณ์อ่อนโยน ขาดความรู้สึกอยู่ร่วมกันอย่างเป็นมิตร ข้อมูลเชิงประจักษ์ปัจจุบันคนไทยมีบุคลิกภาพแบบเครียด และ แบบต่อต้านสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดความรักความอบอุ่นในครอบครัว ระบบครอบครัวอ่อนแอลง ถือเป็นวิกฤติที่อันตรายมากที่สุดของสังคมไทยเวลานี้ ขณะเดียวกัน คนรุ่นใหม่ในกระแสสังคมมีลักษณะพิเศษ คือ ๑.ใช้บัตรเครดิตโดยไม่สามารถชำระต้นได้ ๒. มีรถยนต์ส่วนบุคคล ๓. ใช้คอมพิวเตอร์ ๔. ใช้การสื่อสารที่รวดเร็ว ๕. นิยมอยู่คอนโดมีเนียม ๖. เป็นสมาชิกสโมสร (Club) สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงค่านิยมและวิถีชีวิตแบบใหม่ของคนยุคนี้

ประเด็นปัญหาที่มีลักษณะพิเศษนี้ จึงเป็นเหตุผลในการบ่มเพาะคนดี สหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ จำกัด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทุกคนในสังคมสหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ จำกัด “มีภูมิคุ้มกัน”โดยนำหลักธรรม ดังกล่าว พัฒนาจิตควบคู่กับการพัฒนาระบบงานให้เป็นไปตามวาระแห่งชาติ ด้านสหกรณ์ในยุทธศาสตร์ที่ ๑ สร้าง และพัฒนาการเรียนรู้และทักษะการสหกรณ์สู่วิถีชีวิตฯ และ ยุทธศาสตร์ที่ ๒ สนับสนุนและพัฒนาการรวมกลุ่มของประชาชนด้วยวิธีการสหกรณ์ให้เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งในแผนการพัฒนานั้นได้นำหลักธรรมกระจายทายาททางความคิด ปลูกฝังค่านิยมอุดมการณ์สหกรณ์กับสมาชิก นิยมใช้คำกล่าวที่ว่า “ทุกคน คือ เจ้าของธุรกิจสหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ จำกัด” มีโครงสร้างและระบบงานตามมาตรฐาน หลักวิชาการ จัดทำแผนพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ๓ -๕ ปี

การบ่มเพาะคนดีกับหลักพุทธธรรมที่เกื้อหนุนปัจจัยเกื้อกูลต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานทุกวิชาชีพ อันประกอบด้วยองค์ธรรม คือ อิทธิบาท ๔ พรหมวิหาร ๔[๕] ด้วยเหตุนี้สหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ จำกัด จึงนำหลักธรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อการบ่มเพาะคนดีในการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพ ในมิติการคัดเลือกบุคลากรในฝ่ายจัดการ ตลอดจน คณะกรรมการดำเนินงาน

การบ่มเพาะคนดีในฝ่ายจัดการ เริ่มต้นที่การค้นหาคัดเลือกบุคลากร ใช้วิธีการวัดทัศนคติ สัมภาษณ์เพื่อตรวจสอบหาอุดมการณ์ และ ความซื่อสัตย์ในการปฏิบัติงาน ในช่วงระยะ ๒ ปีแรก เน้นการสร้างระบบควบคู่กับการสร้างพลังของทีมงานที่เริ่มต้นจากระดับผู้จัดการฝ่าย และ หัวหน้าแผนก ในมิติทายาททางความคิด ซึ่งได้เรียนรู้วิธีคิดจากผู้มีประสบการณ์ตรง คือ รองศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ อยู่ถนอม รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า”สหกรณ์จะเจริญเติบโตได้นั้น ผู้บริหารจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สมาชิก ทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของสมาชิก และ ต้องไม่ลืมหามิตรที่ดีไว้คอยช่วยเหลือเกื้อกูลกันในยามวิกฤติ”[๖] เทคนิคการบริหารจัดการพัฒนาบุคลากร มุ้งเน้นมิติความเชื่อ เรื่องหลักพุทธธรรมที่สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในด้านวิถีชีวิต และ ความเป็นอยู่ในการปฏิบัติงาน ด้วยหลักธรรมอิทธิบาท ๔[๗] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุต.โต) ได้กล่าวไว้ว่า หลักธรรมอิทธิบาท ๔ แปลว่า ธรรมเครื่องให้ถึงอิทธิ(ฤทธิ์ หรือความสำเร็จ) หรือ ธรรมที่เป็นเหตุให้ประสบความสำเร็จ กล่าวโดยสรุปคือ มีใจรัก พากเพียรทำ เอาจิตฝักใฝ่ ใช้ปัญญาสอบสวน[๘] ในขณะที่พุทธทาสภิกขุ ได้อธิบายถึง หลักธรรมอิทธิบาท ๔ กล่าวไว้ว่า อิทธิบาท ๔ คือ รากฐานในการทำงานให้สำเร็จ และ มีสุข[๙]

ฉะนั้น เจ้าหน้าที่ในฝ่ายจัดการของสหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ จำกัด ผ่านกระบวนการบ่มเพาะคนดี ด้วยวิธีการอย่างเป็นธรรมชาติ ผ่าน วิธีการทำงาน เรียนรู้ระบบงานด้วยการนิเทศ พร้อมจัดให้มี “คู่มือการปฏิบัติงาน” ใบบอกลักษณะงาน และจรรยาบรรณ ๑๐ ประการ สำหรับเจ้าหน้าที่สหกรณ์ในฝ่ายจัดการที่ต้องถือปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานและข้อบังคับสหกรณ์ โดยมีผู้จัดการสหกรณ์ กำกับดูแล นำเสนอปัญหาและความต้องการของสมาชิก ต่อ คณะกรรมการอำนวยการ เพื่อวิเคราะห์ปัญหาของสมาชิก นำเสนอต่อ คณะกรรมการดำเนินการ ซึ่งปัญหาของสมาชิกสหกรณ์รุ่นใหม่ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงตามกระแสโลก การบ่มเพาะคนดีในกลุ่ม ของคณะกรรมการเงินกู้ คณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ จำกัด นำหลักธรรมพรหมวิหาร[๑๐] ๔, นำมาประยุกต์ใช้เป็น เครื่องมือ การครองสติ ให้ตั้งมั่นอยู่ในความเมตตารับฟังความทุกข์ เอาใจใส่สมาชิก เพื่อให้สมาชิกพ้นทุกข์จากการเป็นหนี้นอกระบบ ใช่หลักวิชาว่าด้วยความกรุณา ประสานงานช่วยเหลือเจรจาปลดภาระหนี้ ช่วยวางแผนให้สมาชิกได้มีบ้านหลังแรก จัดให้มีสวัสดิการแต่งงาน คลอดบุตร อุปสมบท ด้วยความความยินดี ในระหว่างดำเนินกิจกรรมพบว่า สมาชิกไม่พอใจในการตัดสินพิจารณาอนุมัติเงินกู้ประเภทต่าง ๆ ใช้กลยุทธ์กระจายทายาททางความคิด ฝึกใจให้มีอุเบกขา หลักธรรมที่ใช้ในเวทีพิจารณาของคณะกรรมการเงินกู้ คือ จะมีการให้“สติ” เมื่อมีความขัดแย้งในความคิดเห็นที่แตกต่าง โดยมีประธานคณะกรรมการดำเนินการ หรือ รองประธานดำเนินการ ช่วยสร้างความเป็นกลางในการวางใจนิ่ง ๆ โดยยึด หลักกติกา และ ระเบียบข้อบังคับว่าด้วยระเบียบเงินกู้ประเภทต่างๆ ที่สำคัญจะเชิญสมาชิกมาให้ความรู้ สัมภาษณ์ถึงความจำเป็นในการวางแผนชีวิตทั้งระยะสั้น และ ระยะยาว ให้ข้อคิดถึงสภาพเศรษฐกิจในภาวะเช่นนี้ สมาชิกต้อง “สร้างภูมิคุ้มกัน”ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ ๙) ด้วยการใช้ชีวิตแบบพอประมาณ รู้จักความพอดี ผลลัพธ์ของการบ่มเพาะคนดีของสหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ จำกัด นั้น สามารถเพิ่มความมั่นใจให้สมาชิกออมทรัพย์ และ ขยายปริมาณธุรกิจกับสหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ จำกัด ปัจจุบันมีสินทรัพย์ ๘๓,๑๑๔,๐๖๕.๙๕ บาท[๑๑] สินทรัพย์เพิ่มขึ้น ๔๖.๑๐ % เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา การบ่มเพาะคนดีของสหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ เกื้อหนุนความเจริญเติบโตทั้งเชิงปริมาณ และ เชิงคุณภาพ เช่น ได้รับเกียรติบัตรระดับ “ดีเลิศ” ประจำปี ๒๕๕๓ ประเภท ผ่านการประเมินการกำกับดูแลองค์กรที่ดีตามหลักธรรมาภิบาลในสหกรณ์[๑๒] ซึ่งในปี ๒๕๕๔ ได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานตรวจบัญชีที่ ๒ ระดับภาค [๑๓] ได้รับเกียรติบัตร ๓ รางวัล คือ (๑ ) เป็นสหกรณ์ต้นแบบประจำปี (๒)ประธานคณะกรรมการดำเนินการดีเด่น (๓) ผู้ตรวจสอบกิจการดีเด่น ในปี ๒๕๕๖ ได้รับรางวัลสหกรณ์ออมทรัพย์ดีเด่น อันดับ ๑ ประจำจังหวัดสมุทรปราการ

ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จในการบ่มเพาะคนดี เป็นเครื่องมือในการยึดเหนี่ยวจิตใจของคณะกรรมการดำเนินการทุกสมัย ให้ธำรงไว้ เพื่อการสงเคราะห์สมาชิกของสหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ จำกัด จะเห็นได้ว่าความดีงามมีรางวัลในตัวเอง คือ บุคลากรมีความสุขในการปฏิบัติหน้าที่ ความสุขใจของเจ้าหน้าที่ และ คณะกรรมการดำเนินการ สามารถสงเคราะห์เกื้อกูลให้คุณภาพชีวิตของสมาชิกที่ดีขึ้น สามารถขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุเป้าหมาย ด้วยหลักธรรม จริยธรรม วิชาการ กลยุทธ์ในการบริหารจัดการที่ดีมีความสำคัญยิ่ง กล่าวคือ “ ความสุขเป็น เป็นหนทางสู่ความสำเร็จ “


[๑] สหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ จำกัด ก่อตั้งโดย คณะผู้บริหารโรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ ได้รับมอบเงินทุน ๒๐๐,๐๐๐ บาท จากเจ้าของกิจการ คือ คุณโสรัชย์ วงศ์แพทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอส.เมดิคอล เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด เพื่อนำกระบวนการสหกรณ์ออมทรัพย์ช่วยเหลือเพื่อพนักงานให้พ้นทุกข์ จากภาระหนี้สินนอกระบบซึ่งมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน

[๒]ดุษฎีนิพนธ์ สาขาพระพุทธศาสนามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรราชวิทยาลัย, ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัทเอส.เมดิคอล เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด , กรรมการดำเนินการ ชุดที่ ๙ และ ผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ จำกัด

[๓] กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “วาระแห่งชาติด้านสหกรณ์” (กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด,๒๕๕๕),หน้า ๑๗.

[๔] สหกรณ์ ไว้ ๗ ประเภท คือ (๑) สหกรณ์การเกษตร (๒)สหกรณ์การประมง (๓) สหกรณ์นิคม (๔) สหกรณ์ร้านค้า (๕) สหกรณ์บริการ (๖) สหกรณ์ออมทรัพย์ (๗) สหกรณ์เครดิตยูเนียน

[๕] ที.ม (ไทย) ๑๐/ ๓๒๗/ ๒๔๖ – ๒๕๗.

[๖] รองศาสตราจารย์ ดร.สวัสดิ์ แสงบางปลา “จากทฤษฎีชีวิตสู่วิถีปฏิบัติสหกรณ์ออมทรัพย์หมื่นล้าน” (กรุงเทพมหานคร:สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด, ๒๕๕๒),หน้า ๑๗.

[๗] ปิ่น มุทุกันต์, “บันทึกธรรม ฉบับสมบูรณ์” พิมพ์ครั้งที่ ๖,(กรุงเทพมหานคร:คลังวิทยา, ๒๕๒๖),หน้า ๒๒๘.

[๘] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุต.โต),”พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ”,พิมพ์ครั้งที่ ๑๑, (กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์บริษัทสหธรรมิก จำกัด, ๒๕๔๙),หน้า ๘๔๒.

[๙] พุทธทาสภิกขุ,”การทำงานที่เป็นสุข”(กรุงเทพมหานคร:ธรรสภา, ๒๕๓๗),หน้า ๙๐.

[๑๐] พรหมวิหาร หมายถึง (๑) เมตตา (๒) กรุณา (๓) มุทิตา (๔) อุเบกขา

[๑๑] จดทะเบียน ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ ถึงปัจจุบัน ๒๕๕๗ รวมเวลา ๙ ปี, งบดุล ณ วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗

[๑๒] มอบโดย,นายเชิดศักดิ์ ชูศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ,นางรัชนีพร พึงประสพ สหกรณ์จังหวัดสมุทรปราการ

[๑๓] สำนักงานตรวจบัญชีที่ ๒, รับผิดชอบพื้นที่ ๙ จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว นครนายก และ สมุทรปราการ

คำสำคัญ (Tags): #บ่มเพาะคนดี
หมายเลขบันทึก: 578857เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2014 18:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ตุลาคม 2014 18:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท