การจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้เรียน


After Action Review

เรื่อง การจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้เรียน

ชื่อนางสาวเสาวลักษณ์ บรรดาศักดิ์รหัส 57D0103120สาขาวิชา หลักสูตรและการสอน

วิชา การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ผู้สอน ผศ.ดร.อดิศรเนาวนนท์ วันที่บันทึก 7 กันยายน พ.ศ. 2557

>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>

ความคาดหวังในการอบรมครั้งนี้คือ หวังว่าจะได้เรียนรู้แนวคิด ทฤษฎีของการสอนให้ผู้เรียนได้พัฒนาด้านการคิด ทั้งการคิดสร้างสรรค์ การคิดมีวิจารณญาณ และการคิดวิเคราะห์ นอกจากนั้นยังคาดหวังว่าจะได้เรียนรู้กิจกรรมที่สอนให้ผู้เรียนมีทักษะการคิดอีกด้วย

ความรู้ที่ได้รับจากการอบรม เรื่องการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้เรียนโดย รศ.ดร. ประพันธ์ศิริสุเสารัจ

ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นในวงการการศึกษาของประเทศไทยคือ นักเรียนสอบ O-NET และ NT ไม่ผ่าน ซึ่งสาเหตุของปัญหานั้นมีมากมาย เช่น ครูสอนไม่ดี ครูสอนไม่ตรงตัวชี้วัด ครูมีหน้าที่รับผิดชอบเยอะ (อบรม ทำเอกสารต่างๆ ทำอาหารกลางวัน) ซึ่งปัญหาที่กล่าวมานั้นส่งผลให้ครูไม่ได้สอนนักเรียนอย่างเต็มที่ จึงทำให้ผลการสอบ O –NET และ NT ของนักเรียนไม่ผ่าน หรือต่ำนั่นเอง สิ่งที่จะทำได้ในตอนนี้คือ ครูต้องศึกษาหลักสูตรสถานศึกษา สาระ และตัวชี้วัด อย่างละเอียด เพราะถ้าครูสอนได้ตรงสาระและตัวชี้วัด จะทำให้ผลการสอบของนักเรียนสูงขึ้น และครูควรจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้คล้องกับหลักสูตรด้วย ครูควรคำนึงถึง หลักการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ มาตราที่ 22 ได้แก่

1.ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้

2.ถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด

3.ส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตนเองตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ

ซึ่งหลักการจัดการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญมีดังนี้

1.จัดการเรียนการสอนตามความสนใจของผู้เรียน

2.จัดการเรียนการสอนที่ทำให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม

3.ใช้เทคนิควิธีการในการจัดการเรียนการสอนที่หลากหลาย

การจัดการเรียนการสอนตามความสนใจของผู้เรียนนั้นจะต้องเริ่มที่ การวิเคราะห์ผู้เรียน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สำคัญและครูควรที่จะวิเคราะห์ผู้เรียนก่อนจัดการเรียนการสอน การวิเคราะห์ผู้เรียนนี้อาจจะทำได้โดยวิธีการทดสอบสมองของผู้เรียนว่าผู้เรียนเป็นผู้ที่ถนัดสมองซีกซ้ายหรือซีกขวา ซีกซ้ายคือผู้เรียนที่มีลักษณะทำงานเป็นระเบียบ ชอบทำงานคนเดียว จำเรื่องราวต่างๆได้ดี พูดเป็นเรื่องเป็นราว จำชื่อคนได้ดี จัดวางสมุดหนังสือเป็นระเบียบ นั่งฟัง ตั้งใจเรียน มักจะเก่งเลข วิทยาศาสตร์ ภาษา และชอบคิดซับซ้อน ส่วนซีกขวา ผู้เรียนจะมีลักษณะ ชอบวาดรูป สื่อสารด้วยสีหน้า ท่าทาง จดจำสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ได้ดี ชอบเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา โต๊ะรกรุงรัง มักพูดนอกเรื่อง จะเก่งด้าน กีฬา ศิลปะ และดนตรี วิเคราะห์ผู้เรียนทำให้ครูผู้สอนเห็นถึงความแตกต่างของนักเรียนแต่ละคน ซึ่งจะทำให้ครูสามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้ตรงตามความแตกต่างของนักเรียนแต่ละคน

การจัดการเรียนการสอนที่ทำให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม คือให้นักเรียนได้เรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติ ทดลอง ด้วยตนเอง ครูเป็นเพียงโค้ช ที่คอยชี้แนะแนวทางเท่านั้น

การใช้เทคนิควิธีการในการจัดการเรียนการสอนที่หลากหลาย เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ใช้เทคนิคการสอนหลายๆอย่างที่สอดคล้องกับลักษณะของผู้เรียน ไม่ควรใช้กิจกรรมที่ซ้ำซาก เพราะจะทำให้ผู้เรียนเบื่อหน่าย และจะเป็นการจัดการเรียนการสอนที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนเฉพาะกลุ่ม ซึ่งครูควรจะเลือกใช้เทคนิคการสอนที่สอดคล้องกับความแตกต่างของผู้เรียน ซึ่งเทคนิคการสอนแบบ 4MAT เป็นเทคนิคที่ตอบสนองกับความแตกต่างของผู้เรียนได้ดี นอกจากนั้นยังเป็นเทคนิคที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญอีกด้วย

การสอนแบบ 4MAT

ขั้น Why ครูจะเป็นกระตุ้นความสนใจของนักเรียน ยั่วยุให้นักเรียนสงสัย นักเรียนจะคอยสังเกต และจะถามว่า ทำไม.....

ขั้น What ครูจะเป็นผู้อธิบาย บอกความรู้ นักเรียนจะคอยไตร่ตรองความรู้

ขั้น How ครูเป็น โค้ช นักเรียนเป็นผู้ลงมือปฏิบัติ ทดลองด้วยตนเอง

ขั้น If ครูจะคอยประเมินหรือเรียนรู้ไปพร้อมกับนักเรียน นักเรียนค้นพบสิ่งใหม่ด้วยตนเอง

ขั้นตอนการทำงานกลุ่มแบบร่วมมือ (Cooperation) มีดังนี้

1) แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 2-6 คน แต่ละกลุ่มจะมีนักเรียน เก่ง กลาง อ่อนคละกัน

2) กำหนดหมายเลขให้สมาชิกแต่ละคนในกลุ่ม

3) ครูมอบหมายงานให้นักเรียนแต่ละคนในกลุ่มไปศึกษาเนื้อหาที่แตกต่างกัน

4) เมื่อสมาชิกแต่ละคนศึกษาเนื้อหาเสร็จแล้ว ให้แต่ละคนอธิบายเรื่องที่ตนศึกษามาให้สมาชิกทุกคนในกลุ่มฟัง

5) เมื่อสมาชิกทุกคนอธิบายให้เพื่อนฟังครบ ครูให้นักเรียนทำแบบทดสอบความรู้พร้อมกัน และให้นักเรียนสลับกันตรวจ

6) ให้สมาชิกในกลุ่มทุกคนเอาคะแนนที่ตนทำได้มารวมกันแล้วหารด้วยจำนวนสมาชิกในกลุ่ม และจะได้คะแนนกลุ่ม

อย่างไรก็ตามการจัดการเรียนการสอนโดยวิธีต่างๆ ต้องมีการสอดแทรกกิจกรรมที่ฝึกให้นักเรียนได้คิดด้วย เพื่อจะทำให้นักเรียนมีการคิดวิเคราะห์ การคิดสร้างสรรค์ และการคิดอย่างวิจารณญาณ

เมื่อได้เรียนรู้ในครั้งนี้แล้วสิ่งที่ได้คิดต่อไปคือ จะนำความรู้เรื่องนี้ไปปรับใช้กับนักเรียนประถมอย่างไร และจะนำความรู้และเทคนิคการสอนนี้ไปปรับใช้กับวิชาใดได้บ้าง ถ้านำเทคนิคไปใช้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาจะได้ผลหรือไม่อย่างไร

การนำไปประยุกต์ใช้ สิ่งแรกคือจะไปทดสอบผู้เรียน และแยกประเภทของผู้เรียนโดยจะให้นักเรียนมองวงกลม หนึ่งวงบนกระดาน ผ่านช่องเล็กๆ ระหว่างมือที่ประสานกัน แล้วแยกนักเรียนเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่มีความถนัดสมองซีกซ้าย และกลุ่มที่มีความถนัดสมองซีกขวา จากนั้นจะพยามยามจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมนักเรียนที่มีความแตกต่างกันโดยจะนำการสอนแบบ 4 MAT ไปใช้ในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ เรื่อง Family ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ขั้น Why ครูจะนำรูปครอบครัว 2-3 ครอบครัว ที่มีสมาชิกในครอบครัวไม่เท่ากัน มีทั้งครอบครัวขนาดใหญ่และครอบครัวขนาดเล็กมาให้นักเรียนดูและให้นักเรียนสังเกตสิ่งที่แตกต่าง นักเรียนก็จะเกิดคำถามว่าทำไมสมาชิกของครอบครัวไม่เท่ากัน ขั้น What ครูจะอธิบายและให้คำศัพท์เกี่ยวกับ Family ขั้น How ครูให้นักเรียนแสดงบทบาทสมมุติ เป็นสมาชิกในครอบครัว ขั้น If ขั้นนี้ นักเรียนจะคิดค้นเกี่ยวสมาชิกในครอบครัว แล้วนำเสนอผลงานของตนเองให้เพื่อนในห้องฟัง ต่อไป


คำสำคัญ (Tags): #4mat
หมายเลขบันทึก: 578852เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2014 16:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ตุลาคม 2014 16:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท