เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธว่าด้ายปัจจัยการผลิต-การบริโภค


เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธว่าด้ายปัจจัยการผลิต-การบริโภค

TheBuddhistEconomics in Production and Consumption

พลวัฒน์ชุมสุข[๑]

บทคัดย่อ

คุณลักษณะทั่วไปของเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ เป็นเศรษฐศาสตร์มัชฌิมาปฏิปทาเป็นเศรษฐศาสตร์สายกลาง หรือ ดุลยภาพ เช่น ดุลยภาพระหว่างความต้องการของมนุษย์กับทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลักอหิงสา เอื้ออาทร หรือ เศรษฐศาสตร์อหิงสา คือ ไม่มีการเบียดเบียนตนเองหรือยึดหลักของศีล ๕ มาจับ คือ ไม่มีการเบียดเบียนผู้อื่นด้วยเป็นหลักเอื้ออาทรคือมีแต่ความเอ็นดูเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เมื่อกล่าวแบบสรุปรวม คำว่าเศรษฐศาสตร์ อหิงสา เอื้ออาทรเป็นกระบวนการเศรษฐกิจที่มีพรหมวิหารธรรมเป็นพื้นฐาน คือความเมตตา หวังดีต่อเพื่อนมนุษย์คุณภาพชีวิตของผู้เกี่ยวข้องหรือมีส่วนร่วมทางธุรกิจด้วยกันไม่ว่าจะเป็นหน่วยผลิตหน่วยกระจายรายได้ หรือหน่วยผู้บริโภคก็ตาม กรุณาความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์เห็นผู้อื่นมีทุกข์หรือทำธุรกิจขาดทุนอยากจะช่วยได้กำไร มุทิตาความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี พลอยยินดีกับเขาถึงแม้เขาได้กำไรหรือขาดทุนก็ไม่ซ้ำเติมเขาอุเบกขาการรู้จักวางเฉยเพื่อนทำธุรกิจจะขาดทุนหรือได้กำไรก็ไม่ไปซ้ำเติมเขา

เศรษฐศาสตร์ที่เรารู้จักกันดีอยู่ในปัจจุบันเป็นหลักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักหรือเศรษฐศาสตร์ตะวันตก เพราะมีการผลิต มีการบริโภค และมีการจำหน่ายจ่ายแจกในสังคม เมื่อคิดถึงเรื่องของเศรษฐศาสตร์ เราก็คิดแต่ในเรื่องกรอบความคิดของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักหรือเศรษฐศาสตร์ตะวันตกเท่านั้น เราไม่มองถึงหลักเศรษฐศาสตร์แนวพุทธเพราะเศรษฐศาสตร์กระแสหลักหรือเศรษฐศาสตร์ตะวันตกพูดถึงเรื่องผลประโยชน์ในการผลิต-การบริโภคเท่านั้น

คำสำคัญ: ปัจจัยการผลิต-การบริโภค;เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ; เศรษฐศาสตร์มัชฌิมาปฏิปทา

Abstract

General characteristic of the Buddhistic Economics is regarded as the Middle Path – Economics. On the other hand, it is equilibrium – economics: equilibrium between human's need and natural resources which is the principle of generosity non-violence or Non-violence Economics. The Non-violence Economics becomes to be as the principle of generosity in the society; in which all members sympathize to one another. Here, it may be summarized the Non-violence Economics is the process of economy based on the noble sentiment (Prahmvihara) : Metta (Loving-kindness) stands for good wishes in the life-quality of friends or concerned people in society to share happiness or products and gains to others; Karuna (Compassion) stands for good wishes in helping to gains benefits from business; Mudita (Sympathetic Joy) stands for good wishes in seeing others gain great benefits and congratulating them; and Ubekkha (Equanimity) stands for good wishes in seeing others gain great benefits or lose at all and settling in calmness.

Presently well – known economics is the Western Economics containing of production, consumption and distribution in society. Thinking of economics, it is always the only story of Economic but not the Buddhistic one. Generally speaking, the Western Economics comprises of only benefits in production and consumption.

Key words: Production – Consumption, Buddhistic Economics, Middle Path – Economics.

ความนำ

เศรษฐศาสตร์ที่เรารู้จักกันดีอยู่ในปัจจุบันเป็นวิชาเศรษฐศาสตร์กระแสหลักหรือเศรษฐศาสตร์ตะวันตก เพราะมีการบริโภค มีการผลิต และมีการจำหน่ายจ่ายแจกในสังคม เมื่อคิดถึงเรื่องของเศรษฐศาสตร์ เราก็คิดในกรอบความคิดของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักหรือเศรษฐศาสตร์ตะวันตก เท่านั้น เราไม่มองถึงหลักเศรษฐศาสตร์แนวพุทธถ้าจะมาพูดถึงเรื่องเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธก็ยากที่จะทำตัวเองให้พ้นออกไปจากกรอบความคิดของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักหรือเศรษฐศาสตร์ตะวันตกได้ เพราะฉะนั้น การพูดถึงเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธก็อาจจะเป็นการพูดถึงพระศาสนาด้วยภาษาเศรษฐศาสตร์กระแสหลักหรือเศรษฐศาสตร์ตะวันตกภายในกรอบความคิดของเศรษฐศาสตร์นั้นเอง

ลักษณะทั่วไปของเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ เป็นเศรษฐศาสตร์มัชฌิมาปฏิปทา(สายกลาง) หรือ ดุลยภาพ (Equilibrium) เช่นดุลยภาพระหว่างความต้องการของมนุษย์กับทรัพยากรธรรมชาติเป็นเศรษฐศาสตร์อหิงสา เอื้ออาทร เศรษฐศาสตร์อหิงสา คือ เศรษฐศาสตร์ที่ไม่มีการเบียดเบียนตนเองหรือหลักของศีล ๕ มาจับคือ ไม่มีการเบียดเบียนผู้อื่นเศรษฐศาสตร์ อหิงสา หรือ เอื้ออาทรคือเศรษฐศาสตร์ที่มีแต่ความเอ็นดูเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เมื่อกล่าวแบบสรุปรวม คำว่าเศรษฐศาสตร์ อหิงสาเอื้ออาทรคือกระบวนการเศรษฐกิจที่มีพรหมวิหารธรรมเป็นพื้นฐาน คือเมตตา หวังดีต่อเพื่อนมนุษย์คุณภาพชีวิตของผู้เกี่ยวข้องหรือมีส่วนร่วมทางธุรกิจด้วยกันไม่ว่าจะเป็นหน่วยผลิตหน่วยกระจายรายได้ หรือหน่วยผู้บริโภคก็ตามกรุณาความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์เห็นผู้อื่นมีทุกข์หรือทำธุรกิจขาดทุนอยากจะช่วยได้กำไรมุทิตาความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี พลอยยินดีกับเขาถึงแม้เขาได้กำไรหรือขาดทุนก็ไม่ซ้ำเติมเขา อุเบกขาการรู้จักวางเฉยเพื่อนทำธุรกิจ จะขาดทุนหรือได้กำไรก็ไม่ไปซ้ำเติมเขา

แนวคิดเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ

เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ(Buddhist Economics)คือ การประยุกต์แนวคิดทางพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์มาใช้อธิบายหลักการและแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ เป็นแนวทางใหม่ในการทำความเข้าใจทางด้านเศรษฐศาสตร์ ไม่ได้มีข้อโต้แย้งมากมายอะไรซึ่งเกี่ยวกับกระบวนการวิเคราะห์ที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันใช้อยู่ การนำเอาวิธีการอนุมานเชิงหรือตรรกะเข้ามาใช้ในหลักเศรษฐศาสตร์ เช่น เดียวกับการนำไปใช้ในหลักอื่น ๆ แต่ข้อสมมุติขั้นพื้นฐานบางประการเกี่ยวกับทางธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักหรือเศรษฐศาสตร์ตะวันตกใช้ยังไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างเพียงพอ นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักหรือเศรษฐศาสตร์ตะวันตกส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควรในประเด็นนี้ส่วนใหญ่จะยอมรับไปโดยปริยาย และนักเศรษฐศาสตร์ก็ได้สร้างเครื่องมือการวิเคราะห์ ผลที่ตามมาคือข้อสรุปส่วนใหญ่ที่ได้จากกระบวนการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ไม่สามารถเผชิญกับการท้าทายจากภาวะวิกฤติได้จากนักเศรษฐศาสตร์แบบดั้งเดิมที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติของมนุษย์นั้นไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมของมนุษย์ที่เป็นจริงและบางครั้งก็ขัดแย้งกับกฎธรรมชาติ ซึ่งทำให้พลังในการอธิบายของเศรษฐศาสตร์แบบเดิมอ่อนลงไปมาก

เมื่อนำเอาแนวคิดในทางพุทธศาสนาเข้ามาทดแทนข้อสมมุติฐานที่เป็นปัญหาดังกล่าว ทำให้การมองปัญหาเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์และกฎเกณฑ์ธรรมชาติใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้น และเพิ่มพลังในการอธิบายของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักหรือเศรษฐศาสตร์ตะวันตกให้หนักแน่นมากจริงขึ้น "เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ" แนวคิดนี้ค่อนข้างแตกต่างไปจาก "เศรษฐศาสตร์สำหรับชาวพุทธ" โดยคำหลังไม่เกี่ยวข้องกับแนวคิดของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเพียงพอ และมักจะเป็นเพียงการตรวจสอบแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์จากมุมมองของชาวพุทธที่มีค่านิยมและความเชื่อเป็นของตนเอง ไม่ได้เป็นการพยายามที่จะค้นหาและตรวจสอบแนวคิดทางพุทธและทางเศรษฐศาสตร์ในทางลึกอย่างเพียงพอ

ถ้าปราศจากการท้าทายโดยตรงต่อตัวแบบการคิดของเศรษฐศาสตร์ปัจจุบัน จุดอ่อนในการวิเคราะห์ของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักจะไม่ปรากฏขึ้น เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธได้เตรียมรับมือกับการท้าทายนี้โดยมุ่งไปยังจุดอ่อนพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักและนำเอาแนวคิดเชิงพุทธที่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากกว่าเข้ามาทดแทนจุดอ่อนนี้ซึ่งส่วนหนึ่งคือความพยายามที่จะเยียวยาวิกฤตการณ์ของการวิเคราะห์ที่ซ้ำเติมภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจของเอเชียอยู่ในปัจจุบัน

ความแตกต่างระหว่างเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมกับเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ

เศรษฐศาสตร์(Economics)เป็นเรื่องเกี่ยวกับปากท้อง การกินดีการอยู่ดีของมนุษย์เป็นใหญ่ ซึ่งเน้นถึงการได้รับความสะดวกสบายในด้านการกินดีอยู่ดี และมาตรฐานการครองชีพสูง มนุษย์มีชีวิตอยู่ด้วยความสะดวกสบาย ในทางตรงกันข้าม ถ้าเศรษฐกิจตกต่ำสังคมก็เกิดความเดือดร้อน มนุษย์มีความลำบากเพราะไม่มีการกินดีไม่มีความสะดวกสบายในการดำรงชีวิต

ถ้าเศรษฐกิจดีหรือมีความเจริญก้าวหน้าจำต้องมีการส่งเสริมพัฒนา คือมีการดำเนินกิจการเพื่อเพิ่มรายได้ของคนให้สูงขึ้นต่อเนื่องกันเป็นระยะยาวนานและยั่งยืน ปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจคือ มนุษย์ ทรัพยากรธรรมชาติทุนและความชำนาญในการผลิตจะใช้เทคโนโลยีอย่างไรจึงจะผลิตได้และเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดีก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานดังกล่าวมานี้เป็นสำคัญคือถ้ามนุษย์ของประเทศมีคุณภาพดี มีความสามารถในการประกอบอาชีพ ทั้งด้านการเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรมหรือกิจกรรมอื่น ๆ เป็นต้น ประกอบกับมีทรัพยากรธรรมชาติเพียงพอและอุดมสมบูรณ์มีทุนและมีความชำนาญในการประกอบการในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจก็ย่อมจะบรรลุผลตามเป้าหมาย

ปัจจัยพื้นฐานแห่งความเจริญหรือความตกต่ำของเศรษฐกิจเหล่านี้เมื่อกล่าวโดยสังเขป ได้แก่มนุษย์และวัตถุคือ ประชากรกับความรู้ความชำนาญทางด้านการผลิตทั้งสองประการนี้เป็นเรื่องของมนุษย์ส่วนทรัพยากรธรรมชาติและทุนทั้งสองประการนี้เป็นเรื่องของวัตถุ[๒]

ปัจจัยการผลิตทางเศรษฐศาสตร์กระแสหลักคือ สิ่งต่างๆที่ผู้ผลิตนำมาผ่านกระบวนการผลิตขึ้นเป็นสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในทางเศรษฐศาสตร์เราแบ่งปัจจัยการผลิตออกเป็น ๔ ชนิด คือ

๑. ที่ดิน (land) ซึ่งรวมถึงทรัพยากรธรรมชาติทุกประเภท ได้แก่ ที่ดินป่าไม้ น้ำ แร่ธาตุ เป็นต้น ทั้งที่อยู่บนดินและอยู่ใต้ดินที่ดินมีลักษณะที่ต่างไปจากปัจจัยการผลิตอื่นๆ คือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เคลื่อนย้ายไม่ได้ มีปริมาณจำกัด

๒. แรงงาน (labor) หรือทรัพยากรมนุษย์คือที่ทำงานให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจในการผลิตสินค้าและบริการโดยอาศัยทั้งกำลังแรงกายและกำลังความคิด แต่ไม่รวมในด้านของความสามารถในการประกอบการของแต่ละบุคคล ในทางเศรษฐศาสตร์การใช้แรงงานจะต้องเป็นการใช้แรงงานที่ได้รับค่าตอบแทนเป็นตัวเงินหรือสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้นส่วนแรงงานที่ไม่ได้รับผลตอบแทนจะไม่ถือว่าเป็นแรงงานตามความหมายนี้แรงงานหรือที่นิยมเรียกกันว่า กำลังแรงงาน (labor force) ในอีกความหมายหนึ่งก็คือกลุ่มคนที่อยู่ในวัยทำงานที่มีอายุตั้งแต่ ๑๑ ปีขึ้นไป ซึ่งพร้อม และเต็มใจที่จะทำงานไม่ว่าจะมีงานให้ทำหรือไม่ก็ตามแบ่งออกเป็น๒ ลักษณะ ลักษณะแรก แรงงานที่มีทักษะ (skilled labor) ซึ่งเป็นแรงงานที่ได้รับการฝึกฝนอบรมมาเป็นอย่างดี เช่น แพทย์ วิศวกรสถาปนิก เป็นต้น ลักษณะที่ ๒เป็นแรงงานที่ไม่มีทักษะ (unskilled labor) ซึ่งเป็นแรงงานที่ไม่ได้รับการฝึกฝนอบรมมาก่อน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ใช้กำลังกายเป็นหลัก เช่น กรรมกรแบกหาม คนงานรับจ้างทั่วไป เป็นต้น

๓. ทุน (capital) คือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อใช้อำนวยความสะดวกในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ หรือทุนคือการสะสมสินค้าในรูปของเครื่องจักร เครื่องมืออุปกรณ์การผลิตต่างๆ ทุนในทางเศรษฐศาสตร์จะหมายถึงสินค้าประเภททุนซึ่งจัดเป็นทุนที่แท้จริง (real capital) โดยไม่นับรวมเงินทุนซึ่งเป็นทุนที่เป็นตัวเงิน (money capital) เข้าไว้ในความหมายดังกล่าว โดยทั่วไปทุนแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ

๓.๑ ทุนถาวร (fixed capital) คืออุปกรณ์การผลิตเครื่องจักร เครื่องมือที่มีความคงทน ถาวร มีอายุการใช้งานยาวนาน เช่นโรงงาน ถนน สะพาน ทางรถไฟ เป็นต้น

๓.๒ ทุนดำเนินงาน (working capital) คือทุนประเภทวัตถุดิบต่างๆซึ่งมีอายุการใช้งาน ค่อนข้างสั้นเป็นสิ่งที่ใช้แล้วหมดไป ต้องหามาทดแทนใหม่อยู่ตลอดเวลา เช่น น้ำมัน ไม้ยาง เหล็ก เป็นต้น บางครั้งเรียกทุนประเภทนี้ว่าทุนหมุนเวียน (circulating capital)

๓.๓ ทุนสังคม (social capital) เป็นทุนที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ในการผลิตโดยตรงเป็นตัวช่วยเสริมให้การใช้ทุนทั้งสองประเภทข้างต้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่นสวนสาธารณะ โรงเรียน โรงพยาบาล สนามกีฬา สระว่ายน้ำเหล่านี้ล้วนเป็นทุนของประเทศโดยส่วนรวมมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยอ้อม คือ ช่วยให้ความรู้การรักษาสุขภาพอนามัยการพัฒนาในเรื่องของคุณภาพชีวิตของบุคคลที่อยู่ในสังคม

๔. ผู้ประกอบการ (entrepreneurship) หมายถึงความสามารถในการดำเนินการวางแผนจัดการทางด้านธุรกิจการผลิตภายใต้ความเสี่ยงในระดับต่างๆ ผู้ประกอบการ(entrepreneur) จะเป็นผู้รวบรวมปัจจัยการผลิตต่างๆเพื่อทำการผลิตขึ้นเป็นสินค้าและบริการและเป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจว่าจะผลิตอะไร อย่างไรและเพื่อใคร

ตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการบริโภคจึงเป็นตัวแปรในเชิงมหภาคเป็นสำคัญตัวแปรเหล่านี้ ได้แก่ รายได้สมบูรณ์ (absolute income) รายได้เปรียบเทียบ (relative income) รายได้ถาวร (permanent income) รายได้ตลอดช่วงอายุ (life time income) มูลค่าสินทรัพย์ (asset) อัตราดอกเบี้ย (interest rate) เป็นต้น ตัวแปรเหล่านี้ได้ถูกพยายามนำเข้ามา เพื่อใช้อธิบายความเป็นไปของพฤติกรรมการบริโภคโดยนักเศรษฐศาสตร์มหภาคเรื่อยมาซึ่งในภาพรวมแล้วตัวแปรด้านรายได้จะเป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดระดับการบริโภคของคนในสังคม[๓]เศรษฐศาสตร์กระแสหลักจะมองเรื่องปัจจัยการผลิต-การบริโภคและมองเรื่องความคุ้มทุนของสินค้าและบริการเท่านั้นแต่เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธจะมองเรื่องของสังคมเป็นหลักใหญ่เช่นการผลิตการจำหน่ายจ่ายแจกมีผลกระทบกับสังคมอย่างไรบ้าง เป็นต้น

การส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวพระพุทธศาสนาจะต้องเริ่มด้วยการพัฒนามนุษย์เป็นอันแรกเมื่อพัฒนามนุษย์ให้มีคุณภาพดีแล้วการพัฒนาวัตถุก็เป็นเรื่องง่าย เพราะมนุษย์เป็นผู้หามนุษย์เป็นผู้ใช้ปัจจัยในการดำรงชีวิตถ้ามนุษย์หาเป็น ผลิตเป็น หรือใช้เป็น เศรษฐกิจย่อมจะดีขึ้นไม่ว่ายุคใดสมัยใดก็จะเป็นเช่นนี้ตลอดไปซึ่งได้มีการบันทึกเหตุการณ์ที่พระพุทธองค์ทรงเล่าเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนามนุษย์ให้ดีการกินดีอยู่ดีไว้ ดังสรุปความว่า[๔]

ในครั้งอดีตกาล มีกษัตริย์ผู้มั่งคั่งทรงพระนามว่าพระเจ้ามหาวิชิตราชพระองค์ทรงมีพระราชทรัพย์ โภคทรัพย์ทุนทรัพย์พืชพันธุ์ธัญญาหารเงินทองเป็นจำนวนมากมีท้องพระคลังและยุ้งฉางบริบูรณ์ด้วยสมบัติต่าง ๆ วันหนึ่ง พระองค์ทรงพักผ่อนอยู่ลำพัง ได้ทรงดำริถึงความสมบูรณ์มั่งคั่งส่วนพระองค์แล้ว ทรงมีพระราชประสงค์จะทำการบูชายัญโดยการนำสัตว์จำนวนมากมาฆ่าบูชาตามลัทธิพราหมณ์จึงตรัสเรียกพราหมณ์ปุโรหิตที่ปรึกษาแผ่นดินเข้ามาเฝ้าและทรงแจ้งพระราชประสงค์นั้นให้ทราบ

พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลเล่าความเป็นไปในชนบทและหัวเมืองต่าง ๆ ให้พระเจ้ามหาวิชิตราชทราบว่าสถานการณ์บ้านเมืองของพระองค์ในขณะนี้ยังมีเสี้ยนหนามคือเกิดความไม่สงบ เพราะโจรผู้ร้ายชุกชุม มีการปล้นฆ่าทำร้ายร่างกายแย่งชิงทรัพย์กันอยู่ทุกวัน การปล้นทรัพย์สินปรากฏให้เห็นทั่วไปทั่วทุกหัวระแหงทั้งในหมู่บ้านตำบลอำเภอและจังหวัดตามถนนหนทางต่างๆ ก็ไม่มีความปลอดภัยในเมื่อทั่วทุกถิ่นมีการจี้ปล้นกันอยู่ชุกชุมอย่างนี้การที่จะรื้อฟื้นประกอบพลีกรรมบูชายัญนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำเลยในสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้

พราหมณ์ที่ปรึกษาแผ่นดินได้กราบทูลแนะนำต่อไปว่า พวกโจรผู้ร้ายนั้น หากพระองค์จะทรงดำเนินการปราบปรามโดยใช้มาตรการที่รุนแรงเด็ดขาดด้วยการประหารชีวิตบ้างการฆ่าตัดตอนบ้าง การจับกุมคุมขังมาลงโทษบ้าง การทำให้ต้องตัดญาติขาดมิตรบ้าง การตำหนิบ้าง การเนรเทศบ้าง การใช้มาตรการปราบปรามเช่นนี้ก็จะไม่ได้ผลเด็ดขาดเป็นอันยุติด้วยสันติวิธีเพราะพวกโจรตลอดถึงพวกญาติหรือสัมพันธชนของพวกโจรที่เหลืออยู่ซึ่งยังปราบปรามไม่ได้ก็จะก่อการร้ายขึ้นอีกอย่างไม่มีที่สิ้นสุดดังนั้น พระองค์จึงควรใช้มาตรการที่เป็นไปในแนวทางสันติวิธี

๑. พลเมืองเหล่าใดในบ้านเมืองของพระองค์มีความอุตสาหะในการทำการเกษตรและการเลี้ยงปศุสัตว์ของพระองค์พระราชทานเพิ่มพันธุ์พืชและอาหารให้แก่พลเมืองเหล่านั้น

๒. พลเมืองเหล่าใดในบ้านเมืองของพระองค์มีความอุตสาหะในการค้าขายของ

พระองค์พระราชทานเพิ่มทุนให้แก่พลเมืองเหล่านั้น

๓. ข้าราชการเหล่าใดในบ้านเมืองของพระองค์มีความขยันขันแข็งของพระองค์

พระราชทานเพิ่มเบี้ยเลี้ยงและเงินเดือนแก่ข้าราชการเหล่านั้น

พลเมืองเหล่านั้นนั่นแหละจักเป็นผู้ขวนขวายในหน้าที่การงานของตนๆจักไม่เบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์และพระองค์จักทรงมีพระราชทรัพย์จำนวนมากบ้านเมืองก็จักตั้งมั่นอยู่ในความร่มเย็นเป็นสุขหาเสี้ยนหนามมิได้ไม่มีการเบียดเบียนกันพลเมืองจักชื่นชมยินดีต่อกันยังบุตรธิดาให้ฟ้อนอยู่นอกไม่ต้องปิดประตูเรือนอยู่กัน

พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงเห็นกับด้วยกับข้อเสนอแนะของพราหมณ์ที่ปรึกษาแผ่นดินจึงมีรับสั่งให้ดำเนินการตามนั้นผลปรากฏว่ารัฐในความปกครองของพระเจ้ามหาวิชิตราชต่างมีความสงบสุขร่มเย็นโดยถ้วนหน้าประชาชนมีการกินดีอยู่ดีบ้านเมืองปราศจากโจรผู้ร้ายไม่มีการเบียดเบียนกันพวกราษฎรมีความร่าเริงบันเทิงใจเห็นภาพพ่อแม่ประคองลูก ๆให้ร่าเริงอยู่แนบอกที่อยู่อาศัยของชาวบ้านชาวเมืองก็ปลอดภัยไม่ต้องลงกลอนประตูหน้าต่างเป็นต้น

จากพระพุทธดำรัสตรัสเล่าในพระไตรปิฎกที่สรุปเฉพาะข้อความสำคัญเกี่ยวกับการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดังกล่าวมานี้ก็เพื่อเป็นหลักฐานสนับสนุนว่าในทรรศนะมุมมองทางพระพุทธศาสนานั้นเมื่อมองเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็มองครอบคลุมทั้งเชิงลึกและเชิงกว้างอย่างมีเหตุมีผลซึ่งทำให้มองเห็นปัญหาสาเหตุแห่งปัญหาความสิ้นสุดปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาอันแท้จริงดังเช่นที่มองเรื่องเศรษฐกิจก็มองว่าปัญหาโจรผู้ร้ายชุกชุมหรือปัญหาผู้ก่อการร้ายเป็นต้นนั้นมีสาเหตุมาจากการกดดันฝืดเคืองในเรื่องการประกอบอาชีพหรือเรื่องปากท้องเป็นสำคัญวิธีการแก้ปัญหาเหล่านั้นจะแก้ด้วยการปราบปรามอย่างเดียวย่อมจะไม่สำเร็จแน่นอนหรืออาจจะสำเร็จก็เป็นเพียงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้นหากแต่ต้องแก้ไขที่สาเหตุอันแท้จริงจึงจะเกิดผลอย่างจริงจังและเป็นผลที่ต้องการอันยั่งยืน

หลักเศรษฐกิจคือหลักการสนองความต้องการของมนุษย์หรือวิธีการดับทุกข์อันเกิดจากความต้องการของมนุษย์ทุกคนโดยเน้นการกระทำเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ของบุคคลและสังคมซึ่งเป็นที่ปรากฏชัดว่าประเทศใดมีเศรษฐกิจดีประเทศนั้นก็มั่งคั่งและมั่นคงประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขความต้องการเป็นมูลฐานสำคัญทำให้เกิดวิชาเศรษฐศาสตร์และเป็นปัญหารากฐานทางเศรษฐกิจความต้องการของมนุษย์เรานั้นโดยส่วนมากเป็นความต้องการที่ไร้ขอบเขตจำกัดเช่นความต้องการสิ่งเสพสุขบำรุงบำเรอตนอย่างไม่รู้จักหยุดหย่อน ซึ่งทางพระพุทธศาสนานิยามว่าความต้องการด้วยอำนาจแห่งตัณหาเมื่อความต้องการของมนุษย์เป็นไปอย่างไร้ขอบเขตไม่จำกัดไม่มีที่สิ้นสุดแต่สิ่งของและบริการที่มนุษย์ต้องการมีจำนวนจำกัดปัญหาในเรื่องนี้ย่อมต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดาด้วยเหตุนี้เศรษฐศาสตร์จึงเข้ามามีส่วนจัดการจัดแบ่งให้มีการบริโภคที่เป็นไปเพื่อจะสนองความต้องการของมนุษย์ให้มากที่สุดความต้องการนี้เองเป็นตัวบังคับให้มนุษย์ทำงาน ให้ผลิตคิดค้นจนเกิดความมั่งคั่งและมีสวัสดิการทำให้เกิดการอยู่ดีกินดีมากขึ้นดังนั้นเศรษฐศาสตร์กระแสหลักหรือเศรษฐศาสตร์ตะวันตก จึงครอบคลุมหัวข้อใหญ่ ๆ คือ การผลิต การบริโภคการจำแนกแจกจ่าย

อย่างไรก็ตามปัญหาเศรษฐกิจระดับพื้นฐานยังจะต้องหาทางแก้กันอย่างไม่มีที่จบสิ้นเช่นปัญหาเรื่องการผลิตและการแจกจ่ายปัญหาเรื่องความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับการขยายหรือเพิ่มความสามารถในการผลิตของระบบเศรษฐกิจและปัญหาเกี่ยวกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเป็นต้นดังนั้นหลักเศรษฐศาสตร์ซึ่งแม้จะเป็นที่ยอมรับว่าเป็นวิชาความรู้ที่ดีที่ประเสริฐที่สุดความรู้เพื่อการกินดีอยู่ดีของมนุษย์แต่ในปัจจุบันกลับพบว่าเดินมาถึงทางตันโดยไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาของสังคมมนุษย์ให้อยู่ดีมีสุขอย่างเสมอภาคได้เพราะเป็นระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่มุ่งผลิตเพื่อการสนองตัณหาคือความทะยานอยากอันไม่มีที่สิ้นสุดซึ่งส่งผลให้เกิดการแข่งขันการช่วงชิงโอกาสการเอารัดเอาเปรียบกันความรุนแรงในสังคมที่นำความทุกข์ยากเดือดร้อนมาสู่ชีวิตมนุษย์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่ายังขาดความรู้ความเข้าใจหลักธรรมชาติอันแท้จริงของมนุษย์และความสัมพันธ์กับธรรมชาติแวดล้อมอย่างลุ่มลึกรอบด้านเพียงพอดังเป็นที่ปรากฏว่าการพัฒนาเศรษฐกิจระบบทุนนิยมของบางประเทศนำมาซึ่งหายนะที่ส่งผลกระทบเป็นการเบียดเบียนทำลายล้างสภาพชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติของโลกอย่างใหญ่หลวง

เมื่อหันมามองหลักเศรษฐศาสตร์เชิงพระพุทธกลับพบว่าพระพุทธศาสนามุ่งให้มนุษยชาติมีความสุขอันยั่งยืนโดยเน้นให้คนดับทุกข์ได้และสร้างประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นทั้งแก่ตนเองและสังคมโดยถือว่าเรื่องปากท้องหรือการทำมาหากินในทางสุจริตเป็นหลักประกันชีวิตอย่างหนึ่งซึ่งสามารถจะนำความผาสุกมาให้แก่บุคคลผู้ประกอบการเพราะการทำมาหากินเป็นทางได้มาแห่งปัจจัยต่าง ๆที่จำเป็นต่อชีวิตมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นอาหารเครื่องนุ่งห่มที่อยู่อาศัยและยารักษาโรค และอื่นๆ ที่ มนุษย์จะดำรงชีวิตอยู่อย่างผาสุกและมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆได้ก็ด้วยการทำมาหากินและต้องทำมาหากินเท่านั้น การทำมาหากินจึงเป็นศิลปะอีกอย่างหนึ่งในการประกอบมากมายนับตั้งแต่หลักการทำมาหากินวิธีการทำมาหากินไปจนถึงเมื่อได้ทรัพย์มาแล้วยังต้องมีศิลปะในการใช้สอยและศิลปะในการรักษาทรัพย์สินอีกซึ่งนับเป็นเรื่องลึกซึ้งและน่าศึกษาไม่น้อย

เมื่อมองว่าการทำมาหากินเป็นเรื่องใหญ่ของชีวิตในพระพุทธศาสนาพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราจึงทรงวางหลักหรือกฎเกณฑ์ไว้เป็นแนวปฏิบัติเพื่อให้เกิดสัมมาอาชีวะคือหลักการทำมาหากินที่ถูกที่ชอบเป็นไปในทางสุจริตโดยนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาได้กำหนดเป็นหลักธรรมสำหรับพัฒนาเศรษฐกิจหรือหลักธรรมสำหรับสนับสนุนส่งเสริมหลักเศรษฐกิจซึ่งจะได้นำหลักธรรมดังกล่าวนี้มานำเสนอเป็นแนวทางในการศึกษาพิจารณาของท่านผู้สนใจต่อไป

การมีแผนดำเนินชีวิตในการบริโภคทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อสนองตอบความต้องการเท่าที่จำเป็นตามวัตถุประสงค์แห่งการบริโภคทางพระพุทธศาสนาอันส่งผลทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนส่วนการบริโภคที่นอกเหนือจากวัตถุประสงค์ดังกล่าวถือเป็นการบริโภคด้วยกิเลสตัณหาซึ่งขัดต่อหลักการทางพระพุทธศาสนา

การพิจารณาด้วยปัญญาในการบริโภคปัจจัย๔ก็เพื่อไม่ให้ตัณหาเกิดขึ้น ในการบริโภคนั้นเพื่อให้รู้ตามความเป็นจริงว่าประโยชน์ของการบริโภคปัจจัยทั้ง ๔เป็นไปเพื่อดำรงชีวิตอยู่นอกจากนี้ยังมีคำถามต่อว่าการดำรงชีวิตอยู่ของมนุษย์นั้นมีเป้าหมายอย่างไรและมีวัตถุประสงค์เพื่ออะไรเมื่อใช้ปัญญาพิจารณาแล้วจะพบว่าเป้าหมายของชีวิตก็คือการแก้ปัญหาของชีวิต (ดับทุกข์)ถ้าพูดถึงความทุกข์ (ปัญหา)เราสามารถแยกแยะได้หลายระดับเช่นความทุกข์ในระดับโลกิยะเราจะพบว่าการดำรงชีวิตอยู่ในแต่ละวันแต่ละเดือนหรือแต่ละปีจะถูกห้อมล้อมด้วยปัญหาสารพัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจปัญหาสังคมปัญหาการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องปากเรื่องท้อง (ปัญหาเศรษฐกิจ)หากเรารู้เท่าทันกับปัญหาเหล่านี้แล้วหาวิธีแก้โดยการพิจารณาตามวัตถุประสงค์หลักของการบริโภคปัจจัยให้พอเหมาะพอดีเราสามารถแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจในระดับตัวเราเองได้เป็นอย่างดียิ่ง

เมื่อพูดถึงวัตถุประสงค์ในการดำรงชีวิตอยู่ เพื่อประพฤติดีปฏิบัติชอบตามหลักการทางพระพุทธศาสนาอันเป็นหลักการที่ประเสริฐสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาชีวิตได้ทุกระดับอยู่ที่ว่าใครจะมีความสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้มากน้อยเพียงไรขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละบุคคล

คุณค่าแท้คุณค่าเทียม และการรู้จักประมาณในการบริโภค

"ธรรมเป็นส่วนสุดรอบ คือ โภชเนมตฺตญฺญุตา เป็นไฉนภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ฉันอาหาร ไม่ฉันเพื่อเล่น ไม่ฉันเพื่อมัวเมา ไม่ฉันเพื่อประดับ ไม่ฉันเพื่อตกแต่ง ฉันเพื่อความตั้งอยู่แห่งกายนี้เพื่อจะให้กายนี้เป็นไปได้ เพื่อเว้นความลำบากแห่งกายนี้ เพื่ออนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์ ด้วยมนสิการว่า เราจะบำบัดเวทนาเก่า จักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น และความดำเนินของเรา ความที่เราไม่มีโทษ ความอยู่สบายของเราจักมี ดังนี้อย่างเดียวเท่านั้น พิจารณาอาหารเปรียบด้วยน้ำมันสำหรับหยอดเพลาเกวียน ผ้าสำหรับปิดแผล และเนื้อบุตร (ของคนที่เดินทางกันดาร) ชื่อว่าประพฤติในธรรมเป็นส่วนสุดรอบคือโภชเนมัตตัญญุตา ย่อมไม่ทำลายโภชเนมตฺตญฺญุตาอันเป็นเขตแดนในภายใน นี้ชื่อว่า[๕] ธรรมเป็นส่วนสุดรอบ คือ โภชเนมตฺตญฺญุตา"

เนื้อความจากพระไตรปิฎกท่านกล่าวถึงการรู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร แต่เราสามารถบูรณาการใช้กับการรู้จักประมาณในการบริโภค (บริหารจัดการ) ทรัพยากรที่มีอยู่ได้ทั้งหมดท่านให้เราพิจารณาอาหารเปรียบด้วยน้ำมันสำหรับหยอดเพลาเกวียนก็เพื่อให้เกวียนสามารถบรรทุกสัมภาระไปได้ด้วยความคล่องตัวโดยฟันเฟืองทุกตัวต่างช่วยกันขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบซึ่งเปรียบเสมือนการบริหารจัดการทรัพยากรของชาติก็เพื่อให้รัฐยานนี้สามารถนำพาสัมภาระคือประชากรของชาติไปได้ด้วยความคล่องตัวและปลอดภัยทุกคนได้รับความสุขจากการใช้ทรัพยากรร่วมกัน(มีน้ำมันยอดเพลาที่เท่าเทียมกัน)โดยฟันเฟืองทุกตัว (กระบวนการขับเคลื่อนภาครัฐ) ต่างช่วยกันขับเคลื่อนอย่างมีเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการใช้ทรัพยากรและมีกระบวนการที่เป็นระบบ

วัตถุประสงค์ของการรับประทานอาหาร

"เพื่อให้เข้าใจและรักษาวัตถุประสงค์ของการฉันให้ถูกต้อง ตรงตามคุณค่าที่แท้ของอาหารนี่แหละเป็นศีลเบื้องต้นของพระ ซึ่งท่านให้ฝึกกันตั้งแต่มาอยู่วัด โดยให้ท่องบทพิจารณาไว้ แล้วเวลาฉันก็พิจารณาอย่างนี้

ถ้าเรากินด้วยปัญญาแล้ว ความรู้ความเข้าใจจุดมุ่งหมายในการกินก็จะมา คือ

๑. จำกัดปริมาณอาหารให้พอดีกับความต้องการของร่างกาย

๒. จำกัดประเภทอาหารให้พอดีที่จะได้สิ่งที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์ และได้สัดส่วน

พอถึงตอนนี้ การกินพอดีก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการกินด้วยปัญญาจึงมีชื่อว่าการกินพอดี เรียกเป็นภาษาพระว่าความรู้จักประมาณในการบริโภค ภาษาบาลีว่า "โภชเนมตฺตญฺญุตา"

หลักนี้สำคัญมาก ผู้ที่บวชเข้ามาเบื้องต้นจะต้องฝึกใน เรื่องโภชเนมตฺตญฺญุตา ให้มีความรู้จักประมาณในการบริโภค ซึ่งจะมีผลดีต่อชีวิตของตนเอง เป็นการฝึกในขั้นศีล คือเป็นการฝึกพฤติกรรมในการฉัน ในการรับประทาน หรือในการบริโภค แล้วก็ขยายไปถึงสิ่งอื่นๆ ที่เรากินใช้บริโภคทั้งหมดเช่นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ก็พิจารณาทำนองเดียวกัน"

รวมความว่า โภชเนมตฺตญฺญุตาก็ต่อจากศีลไปหาสมาธิและปัญญาอยู่แล้วเวลาจะรับประทานอาหาร พฤติกรรมในการรับประทานจะพอดีก็ต้องมีปัญญา ที่ฝึกโดยพิจารณาให้รู้เข้าใจความมุ่งหมายของการรับประทาน จากนั้นก็ต้องควบคุมจิตของตัวเองได้ ให้จิตของเราดำเนินไปในทางที่ถูกต้องตามที่ปัญญาชี้แนะนั้น เพื่อให้เกิดความพอดี ตอนนี้ก็เป็นการฝึกด้านจิต ซึ่งอยู่ในฝ่ายสมาธิ แล้วยังเกิดความพอใจที่เรารับประทานแล้วได้คุณภาพชีวิตทำให้เกิดความสุขความอิ่มใจซึ่งเป็นการพัฒนาด้านจิตอีกด้วย

จากหลักการทางพระพุทธศาสนาเน้นการบริโภคทรัพยากรเท่าที่จำเป็นต่อร่างกายและได้คุณภาพชีวิตพร้อมกับได้รับความสุขใจหากเราเข้าใจและเข้าถึงหลักการที่ว่านี้เราจะไม่ต้องเดือดร้อนเพราะการแย่งชิงทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อไปตอบสนองโลภะโทสะโมหะและตัณหาที่ทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจปัญหาสังคมตามมาอีกมากมาย[๖]

หลักความพอเพียงทางพุทธศาสนา คือ สันโดษ ๓

สันโดษ ๓ ความยินดี, ความพอใจ, ความยินดีด้วยของของตนซึ่งได้มาด้วยเรี่ยวแรงความเพียรโดยชอบธรรม, ความยินดีด้วยปัจจัยสี่ตามมีตามได้, ความรู้จักอิ่มรู้จักพอ (contentment; satisfaction with whatever is one's own ได้แด่

๑. ยถาลาภสันโดษ (ยินดีตามที่ได้, ยินดีตามที่พึงได้ คือ ตนได้สิ่งใดมา หรือ เพียรหาสิ่งใดมาได้ เมื่อเป็นสิ่งที่ตนพึงได้ ไม่ว่าจะหยาบหรือประณีตแค่ไหน ก็ยินดีพอใจด้วยสิ่งนั้น ไม่ติดใจอยากได้สิ่งอื่น ไม่เดือดร้อนกระวนกระวายเพราะสิ่งที่ตนไม่ได้ ไม่ปรารถนาสิ่งที่ตนไม่พึงได้หรือเกินไปกว่าที่ตนพึงได้โดยถูกต้อง ชอบธรรม ไม่เพ่งเล็งปรารถนาของที่คนอื่นได้ ไม่ริษยาเขา contentment with what one gets and deserves to get)

๒. ยถาพลสันโดษ (ยินดีตามกำลัง คือ ยินดีแต่พอแก่กำลังร่างกายสุขภาพและวิสัยแห่งการใช้สอยของตน ไม่ยินดีอยากได้เกินกำลังตนมีหรือได้สิ่งใดมาอันไม่ถูกกับกำลังร่างกายหรือสุขภาพ เช่น ภิกษุได้อาหารบิณฑบาตที่แสลงต่อโรคของตน หรือเกินกำลังการบริโภคใช้สอย ก็ไม่หวงแหนเสียดายเก็บไว้ให้เสียเปล่า หรือฝืนใช้ให้เป็นโทษแก่ตน ย่อมสละให้แก่ผู้อื่นที่จะใช้ได้ และรับหรือแลกเอาสิ่งที่ถูกโรคกับตน แต่เพียงที่พอแก่กำลังการบริโภคใช้สอยของตน (contentment with what is within one's strength or capacity)

๓. ยถาสารุปปสันโดษ (ยินดีตามสมควร คือ ยินดีตามที่เหมาะสมกับตน อันสมควรแก่ภาวะ ฐานะ แนวทางชีวิต และจุดหมายแห่งการบำเพ็ญกิจของตน เช่น ภิกษุไม่ปรารถนาสิ่งของอันไม่สมควรแก่สมณภาวะ หรือภิกษุบางรูปได้ปัจจัยสี่ที่มีค่ามาก เห็นว่าเป็นสิ่งสมควรแก่ท่านผู้ทรงคุณสมบัติน่านับถือ ก็นำไปมอบให้แก่ท่านผู้นั้น ตนเองใช้แต่สิ่งอันพอประมาณ หรือภิกษุบางรูปกำลังประพฤติวัตรขัดเกลาตน ได้ของประณีตมา ก็สละให้แก่เพื่อนภิกษุรูปอื่น ๆ ตนเองเลือกหาของปอน ๆ มาใช้หรือตนเองมีโอกาสจะได้ลาภอย่างหนึ่ง แต่รู้ว่าสิ่งนั้นเหมาะสมหรือเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อื่นที่เชี่ยวชาญถนัดสามารถด้านนั้น ก็สละให้ลาภถึงแก่ท่านผู้นั้นตนรับเอาแต่สิ่งที่เหมาะสมกับตน (contentment with what is befitting)

อนึ่ง สันโดษ ๓ นี้ พระอรรถกถาจารย์[๗] มุ่งอธิบายถึงความพอเพียงความพอเหมาะพอดีในการใช้สอยทรัพยากร เพื่อลดการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ลดความฟุ่มเฟือยที่เกินพอดีรวมถึงความพอเพียงแห่งจิตด้วยโดยยึดหลักว่า "พอใจในสิ่งที่ตนมียินดีในสิ่งที่ตนได้ใช้จ่ายตามความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต[๘]"

ทิฎฐธัมมิกัตถประโยชน์หลักการสร้างฐานะในปัจจุบันมี๔ ประการคือ

๑.อุฏฐานสัมปทา ขยันดีเพียงพอ ไม่ท้อแท้

ความหมั่น ขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติหน้าที่การงาน ฝึกฝนให้มีความชำนิชำนาญและรู้จริง รู้จักใช้ปัญญาสอดส่อง ตรวจตรา หาวิธีการที่เหมาะสมที่ดีจัดการและดำเนินการให้ได้ผลดี ทั้งด้านการเรียนแสวงหาความรู้จากแหล่งต่าง ๆ ซึ่งการได้เกิดมาเป็นคนนั้นก็ต้องยังชีพเลี้ยงชีพ ด้วยความขยันหมั่นเพียร ไม่เกียจคร้านกล่าวคือ ผู้ที่ถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติหน้าที่ ที่ตนเองรับผิดชอบ หรือในการทำงานอันเป็นอาชีพของตน พึงทำโดยความสุจริต ไม่คดโกงผู้อื่น ทำด้วยความบากบั่น อดทนต่อความยากลำบาก ไม่ละเลยหรือทอดทิ้งการงานนั้น ๆ คือทำด้วยความเอาใจใส่ดูแลในหน้าที่การงานตลอดเวลา และควรพิจารณาไตร่ตรอง สังเกต หรือพิจารณาผลการทำงานที่ได้ลงมือทำไปแล้วมีผลดี ผลเสียอย่างไร หากเห็นว่าสิ่งที่ตนทำลงไปแล้ว เป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ ก็ทำสิ่งนั้นไปอย่างสม่ำเสมอ แต่หากการงานที่ทำไปเห็นว่า มีผลเสียต่อตนเองและคนอื่น ก็งดทำเสีย ทั้งนี้ก็เพื่อให้การทำงานนั้น ๆ ลุล่วงไปด้วยดี มีประสิทธิภาพสูง สมกับคำที่ว่าขยันดีเพียงพอ ไม่ท้อแท้

ส่วนคนที่มีความเกียจคร้านในการทำงาน ไม่มีความอดทนต่อความยากลำบาก เป็นคนเบื่อหน่ายง่าย ชอบทำงานคั่งค้าง ผลัดวันประกันพรุ่ง ละเลยต่อหน้าที่การงาน หากได้ทำงานที่ดี ๆ ย่อมไม่ประสบผลสำเร็จ ชีวิตจะมีแต่ความล้มเหลว ไม่เจริญรุ่งเรือง และถึงความเสื่อมได้ง่าย เช่นเดียวกับนักเรียนนักศึกษา หากมีความเกียจคร้านในการเล่าเรียน ไม่ขยันอ่านหนังสือ ไม่ค้นคว้าหาความรู้ใส่ตนเอง เขาย่อมไม่สามารถที่จะเรียนต่อไปในชั้นสูง ๆ ได้ โอกาสที่เขาจะได้ทำงานดี ๆ ก็มีน้อย ทั้งนี้ก็เพราะด้วยความไม่ขยันดี ไม่เพียงพอ และมีแต่ความท้อแท้นั่นเอง

๒.อารักขสัมปทา เก็บดีเพียงพอ ไม่ขัดสน

การรักษา รู้จักคุ้มครอง เก็บ รักษา ทรงไว้ ฝึกลับซึ่งความรู้ผลงานที่ตนได้ทำไว้ด้วยความขยันหมั่นเพียรโดยชอบธรรม ด้วยกำลังสติปัญญาของตนไม่ให้เสื่อมเสีย รวมถึงการรักษาทรัพย์ที่หามาได้ด้วยใช้จ่ายอย่างประหยัด การเก็บดีเพียงพอในความหมายอย่างแคบ ก็หมายความถึงการรู้จักรักษาทรัพย์สมบัติที่ตนหามาได้โดยสุจริต ให้คงอยู่ หรือให้ได้ประโยชน์ได้นานที่สุด ไม่ใช้จ่ายแบบสุรุ่ยสุร่าย ให้รู้จักซ่อมแซมสิ่งของที่ชำรุด ให้รู้จักคุณค่าของเงิน ไม่ฟุ่มเฟือยเกินเหตุเกินฐานะของตน เมื่อเรารู้จักรักษาหรือจัดการกับทรัพย์สินให้เพิ่มพูนเจริญงอกงามขึ้นได้ ก็ได้ชื่อว่าเก็บดี เพียงพอ ไม่ขัดสน

๓.กัลยาณมิตตตาเพื่อนดีเพียงพอไม่อับจน

การคบหาคนดีเป็นมิตร รู้จักเสวนาคบหาคน ไม่คบไม่เอาอย่างผู้ที่ชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย เลือกเสวนาศึกษาเยี่ยงอย่างที่ผู้รู้ผู้ทรงคุณ ผู้มีความสามารถ ผู้น่าเคารพนับถือและมีคุณสมบัติเกื้อกูลแก่การเรียนแสวงหาความรู้ รวมถึงมีคุณสมบัติเกื้อกูลแก่อาชีพการงาน

ความเป็นผู้รู้จักเลือกคบหาคนดี หรือมีเพื่อนดี ซึ่งคนดีในที่นี้ก็คือ คนที่มีศีลธรรม มีคุณธรรมและจริยธรรมที่ดีงาม ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีฐานะเช่นไร ก็ชื่อว่าเป็นคนดีทั้งนั้น โดยเราสามารถเอาเยี่ยงอย่างที่ดีได้ คนที่ดีสามารถช่วยให้คำปรึกษาหารือที่ดี ช่วยชี้แนะแนวทางการแก้ไขปัญหาชีวิตให้เป็นไปในทางที่ดี ที่ชอบ หรือชักนำให้ดำเนินชีวิตที่ดีงาม ให้ประสบผลดีให้เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และให้เกิดความสันติสุขได้ กล่าวโดยย่อก็คือบุคคลที่สามารถเอาเป็นเยี่ยงอย่างที่ดี เอาเป็นที่ปรึกษาที่ดี เอาเป็นที่พึ่งที่ดีได้ นั่นเอง การรู้จักคบหาแต่คนดี มีเพื่อนที่ดี การมีแต่คนดีเป็นมิตร ย่อมจะนำชีวิตตนไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและชีวิตจะไม่อับจนแน่นอน

๔.สมชีวิตาครองตนดีเพียงพอไม่อับอาย

การเลี้ยงชีวิตแต่พอดี รู้จักกำหนดรายได้และรายจ่าย เป็นอยู่พอดีสมกับรายได้ไม่ให้ฝืดเคืองหรือฟุ่มเฟือย ให้รายได้เหนือรายจ่าย มีประหยัดเก็บไว้ใช้ในยามจำเป็น

การรู้จักใช้สอยทรัพย์ที่ตนหามาได้ โดยสุจริตนั้น ควรใช้ตามสมควรแก่ฐานะของตน คือไม่ให้ฝืดเคืองนัก และก็ไม่ฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อจนเกินฐานะนัก กล่าวคือ ต้องรู้การจัดระบบการเงิน รายได้รายจ่ายของตนเองให้ลงตัว รู้จักจัดสรรการใช้จ่ายอย่างถูกต้องและเหมาะสม ไม่ใช้จ่ายเกินฐานะของตน ต้องรู้จักประหยัดและเก็บออมทรัพย์ แบ่งไว้ใช้ให้เป็นสัดส่วนแต่พอเหมาะ แล้วก็ใช้จ่ายตามนั้น ก็จะไม่ลำบากในชีวิต แต่ถ้าไม่วางแผนจัดระบบการเงินอันเป็นรายได้-รายจ่ายให้ลงตัวพอเหมาะ และไม่ใช้จ่ายแต่พอเหมาะตามฐานะ เช่นใช้จ่ายเกินตัว หลงฟุ้งเฟ้อไปตามกระแสชาวโลก เห็นคนอื่นทำอย่างไรก็จะทำอย่างนั้น ชีวิตย่อมอยู่ลำบากแน่นอน ฉะนั้นหากเรามีการวางแผนชีวิตที่ดีรู้จักการครองตนดี มีความเพียงพอ ย่อมไม่อับอาย

สรุปแล้วก็คือข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขในชีวิตที่แท้จริง คือให้ถึงความสุขอย่างแท้จริง และไม่กลับเป็นทุกข์อีก เมื่อปฏิบัติตามข้อปฏิบัตินี้แล้วก็จะเห็นผลในปัจจุบันด้วยทันตาเห็นในชาตินี้ ตามหลักธรรมเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สมด้วยคติไทยที่ว่า

มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท

อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์

แม้มีน้อยใช้น้อยค่อยบรรจง

อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน

หลักธรรมเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ นิคมของชาวโกฬิยะ ชื่อว่ากักกรปัตตะ [๙]ในครั้งนั้น มีชายคนหนึ่งชื่อทีฆชาณุ หรืออีกนามหนึ่งว่าพยัคฆปัชชะ ได้เข้าไปเฝ้า แล้วกราบทูลว่า

"ข้าแต่พระองค์เจ้าผู้เจริญ ข้าพระองค์เป็นคฤหัสถ์ ยังบริโภคกาม อยู่ครองเรือน… ยังยินดีทองและเงินอยู่ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงแสดงธรรม ที่เหมาะแก่ข้าพระองค์ อันจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในปัจจุบัน เพื่อประโยชน์และความสุขในภายหน้าเถิด พระเจ้าข้า"

พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า"พยัคฆปัชชะ ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ และเพื่อความสุขในปัจจุบันแก่กุลบุตร คือ ๑. อุฏฐานสัมปทา๒. อารักขสัมปทา ๓. กัลยาณมิตตตา๔. สมชีวิตา…"

การสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่แท้จริงนั้นต้องเริ่มที่ตนเองก่อน ให้รู้จักดำเนินชีวิตอย่างไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น แล้วนำไปสู่ความมั่นคงระดับครอบครัว ระดับชุมชน สังคม ประเทศชาติ ขั้นสุดท้ายคือความมั่นคงระดับโลก แต่การสร้างความมั่นคงดังกล่าวนั้นขึ้นอยู่กับการปรับสภาพจิตใจของตนเองให้มีความมั่นคงเสียก่อน โดยให้เกิดจิตสำนึกในการรู้จักแสวงหา รู้จักใช้จ่ายทรัพย์ เป็นคนที่รู้จักกิน รู้จักใช้ ใช้ทรัพยากรให้เป็นประโยชน์อย่างคุ้มค่า ก็จะสามารถตั้งตัวสร้างหลักสร้างฐานได้ ชื่อว่า "เป็นผู้ปฏิบัติตามหน้าที่ในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างถูกต้องตามหลักพุทธธรรม"[๑๐]

หนทางสู่ความสำเร็จในการสร้างทรัพย์

หลายคนคงเคยได้ยินประโยคที่ว่าWhere there is the will, there is the way.ที่ใดมีความปรารถนาอันแรงกล้า ที่นั่นย่อมมีหนทางเสมอขอเพียงแต่ให้มีความตั้งใจแน่วแน่ ที่จะประสบความสำเร็จในเรื่องนั้น ๆ ให้ได้ ด้วยความมุ่งมั่น ไม่ท้อถอยย่อมมีหนทางนำเราไปสู่ความสำเร็จได้เสมอ

คุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จแห่งผลที่มุ่งหมายที่เรียกว่า อิทธิบาท มี ๔ ประการ[๑๑] ดังนี้

๑. ฉันทะ (will; aspiration)

ความพอใจในสิ่งนั้นปรารถนาที่จะทำสิ่งนั้นอยู่เสมอไม่ว่าสิ่งที่เราพอใจสิ่งที่เราปรารถนานั้น จะเป็นสิ่งที่เรากำลังทำอยู่แล้ว กำลังดำเนินการอยู่แล้วหรือเป็นสิ่งที่เราเพียงแต่คิดอยากจะทำความพอใจชอบในสิ่งนั้นเป็นคุณธรรมข้อแรกที่จะทำสิ่งนั้นให้สำเร็จได้

๒. วิริยะ (energy; effort; exertion)

ความเพียรพยายาม ที่จะทำสิ่งนั้นอย่างไม่ท้อถอยไม่เลิกล้มความตั้งใจเสียก่อนเมื่อเราชอบในสิ่งนั้นแล้วถ้าเป็นสิ่งที่เรากำลังทำอยู่เราต้องทำไปด้วยความขยันหมั่นเพียรใช้ความพยายามทุ่มเททำในสิ่งนั้นให้สำเร็จหรือถ้าเป็นสิ่งที่เราเพียงแต่คิดอยากจะทำเราก็ต้องเพียรพยายามหาหนทางที่จะทำสิ่งที่เราปรารถนาให้ได้เสมอเป็นคุณธรรมข้อที่สองที่จะทำสิ่งนั้นให้สำเร็จได้

๓. จิตตะ (thoughtfulness; active thought)

ความคิดฝักใฝ่เอาใจใส่อยู่กับสิ่งที่ทำ หนักแน่น มั่นคงไม่โลเล - ในขณะที่เรากำลังทำงานนั้นๆอยู่เราต้องดูแลเอาใจใส่จดจ่ออยู่กับงานที่เราทำนั้นไม่วอกแวกทำงานด้วยสมาธิไม่สะเพร่า หรือถ้าเป็นสิ่งที่เราปรารถนาอยากจะทำเราก็ต้องมุ่งมั่น เตรียมตัวเราทุกวิถีทางที่จะได้ไปสู่จุดมุ่งหมายนั้นให้จงได้

๔. วิมังสา (investigation; examination; reasoning; testing)

ความไตร่ตรอง หมั่นใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญตรวจตราหาเหตุผลและตรวจสอบข้อยิ่งหย่อนในสิ่งที่ทำนั้น มีการวางแผน วัดผล คิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุง - ในขณะที่เราทำงานชิ้นนั้นๆ นอกจากจะทำด้วยความชอบทำอย่างต่อเนื่องด้วยความอุตสาหะพยายามมีสมาธิอยู่กับสิ่งที่ทำดูแลเอาใจใส่งานที่เราทำให้ดีแล้วเรายังต้องหมั่นทบทวนดูว่างานที่เราทำอยู่นั้นมีข้อบกพร่องอะไรบ้างมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นกับงานของเราบ้างสาเหตุของปัญหานั้นมาจากอะไรเราจะหาหนทางแก้ไขได้อย่างไรถ้างานของเรา ไม่บกพร่องไม่มีปัญหาเราก็ยังต้องคิดไตร่ตรองให้ดีว่า เราจะมีหนทางปรับปรุงและพัฒนางานของเราให้ดีขึ้นได้ไหมผลผลิตจะเพิ่มขึ้นอีกได้ไหมเท่าไรเมื่อไรมีการวัดผลการทำงานและมีการวางแผนขยายงาน

ถ้าเป็นแต่เพียงสิ่งที่เราใฝ่ฝันอยู่มุ่งมั่นที่จะได้ทำในสิ่งนั้น อยากประสบความสำเร็จในเรื่องนั้นๆให้ได้ เราก็ต้องหมั่นไตร่ตรองดูว่าจะมีวิธีใดบ้าง ที่จะทำให้เราได้ทำงานนั้นสมใจปรารถนาเราต้องวางแผนให้ดีและทำทุกวิถีทาง ที่จะไปสู่สิ่งที่เราปรารถนาสิ่งที่เราต้องการให้จงได้ถ้ายังทำไม่สำเร็จเราก็ต้องหาวิธีใหม่ทบทวนดูว่า วิธีที่เราใช้อยู่นั้นเป็นวิธีที่ถูกต้องหรือไม่ต้องปรับปรุงแก้ไขวิธีการอย่างไร จึงจะได้ทำในสิ่งที่เราใฝ่ฝันไว้

สรุปท้ายบท

ลักษณะทั่วไปของเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธเป็นเศรษฐศาสตร์มัชฌิมาปฏิปทา (สายกลาง) หรือดุลยภาพเช่น ดุลยภาพระหว่างความต้องการของมนุษย์กับทรัพยากรธรรมชาติเป็นเศรษฐศาสตร์อหิงสาเอื้ออาทรเศรษฐศาสตร์อหิงสาหมายถึงเศรษฐศาสตร์ที่ไม่มีการเบียดเบียนตนเองและไม่มีการเบียดเบียนผู้อื่นเศรษฐศาสตร์เอื้ออาทรเมื่อกล่าวแบบสรุปรวมคำว่าเศรษฐศาสตร์ อหิงสาเอื้ออาทรจึงหมายถึงกระบวนการเศรษฐกิจที่มีพรหมวิหารธรรมเป็นพื้นฐาน คือเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา หวังดีเพื่อคุณภาพชีวิตต่อผู้เกี่ยวข้องหรือมีส่วนร่วมทางธุรกิจด้วยกันไม่ว่าจะเป็นหน่วยผลิตหน่วยกระจายรายได้ หรือหน่วยผู้บริโภคก็ตาม

เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ (Buddhist Economics) คือ การประยุกต์แนวความคิดทางพุทธศาสนาเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์มาใช้อธิบายหลักการและแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ เป็นแนวทางใหม่ในการทำความเข้าใจทางด้านเศรษฐศาสตร์ ไม่ได้มีข้อโต้แย้งมากมายอะไรมั่นเกี่ยวกับกระบวนการวิเคราะห์ที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันใช้อยู่

เศรษฐศาสตร์ (Economics)เป็นเรื่องเกี่ยวกับปากท้องการกินการอยู่ของคนเรา ซึ่งเน้นถึงการได้รับความสะดวกสบายในด้านการกินดีอยู่ดี ถ้าบ้านเมืองมี เศรษฐกิจดี คนเราก็มีมาตรฐานการครองชีพสูง มีชีวิตอยู่ด้วยความสะดวกสบาย ในทางตรงกันข้าม ถ้าเศรษฐกิจตกต่ำ สังคมก็เกิดความเดือดร้อน คนเราก็จะมีความลำบากเพราะไม่มีการกินดีไม่มีความสะดวกสบายในการดำรงชีวิต

พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลเล่าความเป็นไปในชนบทและหัวเมืองต่าง ๆ ให้พระเจ้ามหาวิชิตราชทราบว่าสถานการณ์บ้านเมืองของพระองค์ในขณะนี้ยังมีเสี้ยนหนามคือเกิดความไม่สงบเพราะโจรผู้ร้ายชุกชุม มีการปล้นฆ่าทำร้ายร่างกายแย่งชิงทรัพย์กันอยู่ทุกวันการปล้นทรัพย์สินปรากฏให้เห็นทั่วไปทั่วทุกหัวระแหงทั้งในหมู่บ้านตำบลอำเภอและจังหวัดตามถนนหนทางต่าง ๆ ก็ไม่มีความปลอดภัยในเมื่อทั่วทุกถิ่นมีการจี้ปล้นกันอยู่ชุกชุมอย่างนี้การที่จะรื้อฟื้นประกอบพลีกรรมบูชายัญนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำเลยในสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้

หลักเศรษฐกิจคือหลักการสนองความต้องการของมนุษย์หรือวิธีการดับทุกข์อันเกิดจากความต้องการของมนุษย์ทุกคนโดยเน้นการกระทำเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์พูนสุขทั้งแก่บุคคลและสังคมซึ่งเป็นที่ปรากฏชัดว่าประเทศใดมีเศรษฐกิจดีประเทศนั้นก็มั่งคั่งและมั่นคงประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขความต้องการเป็นมูลฐานสำคัญทำให้เกิดวิชาเศรษฐศาสตร์หรือหลักเศรษฐกิจและเป็นปัญหารากฐานทางเศรษฐกิจความต้องการของมนุษย์เรานั้นโดยส่วนมากเป็นความต้องการที่ไร้ขอบเขตจำกัดเช่นความต้องการสิ่งเสพสุขบำรุงบำเรอตนอย่างไม่รู้จักหยุดหย่อน ซึ่งทางพระพุทธศาสนานิยามว่าความต้องการด้วยอำนาจแห่งตัณหาเมื่อความต้องการของมนุษย์เป็นไปอย่างไร้ขอบเขตไม่จำกัดไม่มีที่สิ้นสุดแต่สิ่งของและบริการที่มนุษย์ต้องการมีจำนวนจำกัดปัญหาในเรื่องนี้ย่อมต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดาด้วยเหตุนี้เศรษฐศาสตร์หรือหลักเศรษฐกิจจึงเข้ามามีส่วนจัดการจัดแบ่งให้มีการบริโภคที่เป็นไปเพื่อจะสนองความต้องการของมนุษย์ให้มากที่สุดความต้องการนี้เองเป็นตัวบังคับให้มนุษย์ทำงานให้ผลิตคิดค้นจนเกิดความมั่งคั่งและมีสวัสดิการทำให้เกิดการอยู่ดีกินดีมากขึ้นดังนั้นหลักเศรษฐกิจหรือเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก จึงครอบคลุมหัวข้อใหญ่ ๆ คือการผลิตการบริโภคการแลกเปลี่ยนการคลังการแบ่งสรร

เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธจะไม่คำนึ่งถึงปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมา จะคำนึ่งถึงเรื่องความไม่มีโทษของการสินค้าที่ผลิตออกมาจำหน่าย เป็นการบริโภคเพื่อสนองความต้องการแบบไหน บริโภคเพื่อสนองความต้องการคุณค่าแท้ หรือเพื่อเสพคุณค่าเทียมการบริโภคนี้เป็นจุดยอดของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก กิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์นั้น จุดยอดอยู่ที่การบริโภค เราเข้าใจความหมายของการบริโภคว่าเป็นอย่างไร เศรษฐศาสตร์แบบยุคอุตสาหกรรมหรือเศรษฐศาสตร์กระแสหลักกับเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ

เอกสารอ้างอิงประจำบท

พระไตรปิฎกมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
เล่มที่ ๑, เล่มที่ ๔, เล่มที่ ๑๑, เล่มที่ ๑๒, เล่มที่ ๒๕,เล่มที่ ๒๐,เล่มที่ ๒๙, เล่มที่ ๓๐, เล่มที่ ๓๑, เล่มที่๓๖, กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย , ๒๕๓๙.
อรรถกถาวินยปิฏกสมนฺตปาสาทิกาปาราชิกกณฺฑสํฆาทิเสสาทิมหาวคฺคาทิอฏฺฐกถา (ภาษาบาลี). เล่มที่๑.กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย , ๒๕๓๙.
คณาจารย์ภาควิชาสังคม. สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเบื้องต้น. กรุงเทพ ฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๓๔.
จำนงค์อดิวัฒนสิทธิ์ และคณะ. สังคมวิทยา. พิมพ์ครั้งที่ ๘,กรุงเทพ ฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ๒๕๔๐.
พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์. พิมพ์ครั้งที่ ๘.กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๐,
...................... วาทะธรรมเพื่อการพัฒนาตน. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพมหานคร :
นานมีบุ๊ค, ๒๕๔๔.
...................... การศึกษาทางเลือก : สู่วิวัฒน์หรือวิบัติ ในยุคโลกไร้พรมแดน. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๔๑.
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). พุทธธรรม.พิมพ์ครั้งที่๑๔. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์
สหธรรมิก จำกัด, ๒๕๕๒.
สุพัตราสุภาพ. สังคมวิทยา. กรุงเทพ ฯ: ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๓๔.
สัญญาสัญญาวิวัฒน์. หลักสังคมวิทยา. กรุงเทพ ฯ: ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๒๓.
------------------------. พุทธสังคมวิทยา. กรุงเทพ ฯ: เจ้าพระยาการพิมพ์, ๒๕๓๓.
แสงจันทร์งาม. พุทธศาสนวิทยา. พิมพ์ครั้งที่ ๓, กรุงเทพ ฯ : เจริญกิจ, ๒๕๓๕.

ฝ่ายเผยแผ่พระพุทธศาสนากองพุทธศาสนศึกษาสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, พุทธธรรม เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ, กรุงเทพมหานคร : สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, ๒๕๕๐.

พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม.กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,๒๕๔๖.

พลวัฒน์ ชุมสุข. เศรษฐศาสตร์ชีวิตประจำวัน.(เอกสารประกอบการสอน), มหาจุฬาบรรณาคารกรุงเทพมหานคร : มหาจุฬาบรรณาคาร, ๒๕๕๑.

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, กรุงเทพมหานคร :โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.

รัตนา สายณิตและคณะเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น. (พิมพ์ครั้งที่ ๓), กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๕๔๗.

สุจิตรา กุลประสิทธิ์. เศรษฐศาสตร์จุลภาค. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ออฟเซ็ท จำกัด. ๒๕๕๐.

http://www.oknation.net/blog/print.php?id=246390 สืบค้นวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๓.

http://www.kroobannok.com/blog/10412 สืบค้นวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๓.

http://www.budpage.com/consume.doc สืบค้นวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๓.



[๑]หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์คณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

[๒]ฝ่ายเผยแผ่พระพุทธศาสนากองพุทธศาสนศึกษาสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, พุทธธรรม เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ, (กรุงเทพมหานคร : สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, ๒๕๕๐), หน้าที่ ๑๐๘-๑๐๕

[๓] ที่มา.http://numpu77777.awardspace.com/h.htmlhttp://www.thaieditorial.com/tag/ (สืบค้นวันที่ ๓๐ มิ.ย. ๒๕๕๗)

[๔]ที.สี. (ไทย) ๙/๓๓๒-๓๓๙/๑๒๘-๑๓๒.

[๕]ขุ.มหา.(ไทย)๒๙/๑๙๙/๕๘๕.

[๖]http://www.budpage.com/consume.doc (สืบค้นวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๓).

[๗]ดูรายละเอียดใน ขุ.ข.อ.(บาลี) ๑/-/๑๒๖-๑๒๘.

[๘]พระธรรมปิฎก(ประยุทธ์ปยุตฺโต,พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม,(กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,๒๕๔๖), ข้อ ๑๒๒.

[๙]องฺอฎ.ก.(ไทย) ๒๓/๕๔/๓๔๐-๓๔๔.

[๑๐]www.kroobannok.com/blog/104:12( สืบค้นวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๓).

[๑๑]http://www.oknation.net/blog/print.php?id=246390 (สืบค้นวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๓).

หมายเลขบันทึก: 578620เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2014 13:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ตุลาคม 2014 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท