บันทึก After Action Review (AAR) ครั้งที่ 2 เรื่อง Flipped Classroom (ห้องเรียนกลับทาง) วันที่บันทึก วันเสาร์ ที่ 9 สิงหาคม 2557


After Action Review (AAR)

วันที่บันทึก วันเสาร์ที่ 9 สิงหาคม 2557

เรื่อง Flipped Classroom (ห้องเรียนกลับทาง)

วิชา การศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ รหัสวิชา 102611 ผู้สอน ผศ.ดร. อดิศร เนาวนนท์

ผู้บันทึก นางสาวรดาการ ปรางสุข รหัสประจำตัว 57D0103204 ป.โท หลักสูตรและการสอน รุ่นที่ 13 หมู่ที่ 1

..............................................................................................................................................................................................

  • 1. ความคาดหวังในการทำกิจกรรม
  • ในการเข้ารับการอบรมเรื่อง Flipped Classroom ข้าพเจ้ามีความคาดหวังว่ารูปแบบการเรียนการสอนแบบห้องเรียนกลับทาง น่าจะเป็นรูปแบบการสอนที่ดี มีประโยชน์ต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนเป็นอย่างมาก และเป็นเรื่องที่น่าสนใจในการศึกษาเรียนรู้ เพื่อนำกลับไปประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในรายวิชาที่สอนอยู่ คือวิชาสังคมศึกษา ระดับชั้น ม. 3 และได้ทราบจากอาจารย์ผู้จัดกิจกรรมการอบรมในครั้งนี้ คือ ดร. สิรินาถ จงกลกลาง ท่านได้เล่าให้นักศึกษาฟังว่าวิทยากรที่จะมาให้ความรู้ในการอบรมครั้งนี้ท่านเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถมาก แล้วแนะนำให้นักศึกษาทุกคนเข้าร่วมกิจกรรมโดยพร้อมเพรียงกัน เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเรียนการสอน
  • 2. สิ่งที่ได้เรียนรู้ในการเข้ารับการอบรม เรื่อง Flipped Classroom

จากการอบรมเกี่ยวกับนวัตกรรมการสอนเรื่อง Flipped Classroom โดย ดร. ปกรณ์ สุปินานนท์ ทำให้ได้ทราบว่า Flipped Classroom คือห้องเรียนกลับทาง นั่นหมายความว่า การที่ให้ผู้เรียนได้ไปศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องที่ต้องการเรียนรู้หรือประเด็นที่ต้องการเรียนรู้ที่บ้าน ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างผู้เรียนกับครูผู้สอน แล้วให้นำ(การบ้าน) กลับมาทำที่โรงเรียน(ห้องเรียน) ผู้เรียนสามารถถามครูได้ (การพูดคุยสื่อสารกับลูกศิษย์) ห้องเรียนต้องมีชีวิตชีวา ครูจะทำอย่างไรจึงจะทำห้องเรียนให้น่าเรียน นักเรียนอยากมาเรียน ครูต้องทำตัวเป็นผู้เรียนด้วย สร้างความเป็นกันเอง นำกระบวนการและเทคนิคต่าง ๆ ไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ จัดประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบห้องเรียนกลับทาง (Flipped Classroom) ผู้ที่มีบทบาทสำคัญ คือ

1. ครู ครูต้องเปลี่ยนบทบาทตนเอง เป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) ให้กับผู้เรียน สนับสนุนการเรียนการสอนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ครูจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในพฤติกรรม และความสนใจในแต่ละช่วงวัยของผู้เรียน (Type Generation) และวิเคราะห์ถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individuality) จัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามความสนใจ ความถนัด และความต้องการของผู้เรียน รวมถึงการจัดสถานที่ สภาพแวดล้อม จัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนด้วยครูต้องค้นหาความชอบ ความสนใจของผู้เรียน แล้วจึงนำมาจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ครูต้องเปลี่ยนเป้าหมายจากความรู้ไปสู่ทักษะ คือครูเป็นผู้ฝึก ฝึกทั้งด้านทักษะ ด้านอารมณ์ และด้านกำลังใจ สร้างแรงจูงใจให้ผู้เรียนอยากเรียนรู้ในสิ่งนั้น ๆ มีการวัดผลประเมินความก้าวหน้าของการจัดการเรียนรู้เพื่อนำผลการประเมินไปพัฒนา และควรเน้นให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนรู้ (Professional Learning Community)

2. ผู้เรียน บทบาทของผู้เรียน ผู้เรียนจะต้องมีความกระตือรือร้นในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง สามารถสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยตนเอง สรุปความรู้ที่ได้เรียนมาได้ด้วยตนเองจากความรู้เดิมที่มีอยู่กับความรู้ใหม่ได้ (สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง) กล่าวคือ การสร้างความรู้เดิมที่มีติดตัวกับความรู้ใหม่ได้ และต้องเป็นคนช่างสังเกต มีการตั้งข้อสงสัย รู้จักแสดงความคิดเห็นในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอนอยู่ตลอดเวลา (Active Learner)

วิถีการสร้างการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 การเรียนรู้ภายในห้องเรียนอย่างเดียวไม่ได้ผล เพราะเดี๋ยวนี้เป็นยุค IT (Information Technology : ข้อมูลสารสนเทศ) จำนวนความรู้จะเพิ่มขึ้นทุกวัน ต้องให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามความสนใจ ความถนัด และความต้องการ ห้องเรียนที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21 มีดังนี้

  • 1. เป็นห้องเรียนแบบให้ข้อมูล
  • 2. เป็นห้องเรียนแบบถกเถียงเพื่อให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
  • 3. เป็นห้องเรียนแบบแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่น
  • การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 จะเน้นให้ผู้เรียนเกิดทักษะชีวิต และทักษะในการทำงาน มีทักษะการเรียนรู้ และนวัตกรรม การมีวิจารณญาณ มีความคิดสร้างสรรค์ และทักษะด้านสารสนเทศ ใช้สื่อ เทคโนโลยี ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่จะก่อให้เกิดทักษะชีวิตเหล่านี้ ต้องมีวิธีการที่หลากหลาย คำนึงถึงความเหมาะสมและเนื้อหาที่จะเรียนว่าจะใช้วิธีการที่เหมาะสมอย่างไร และครูมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับความสนใจ ความชอบความถนัด และความต้องการของผู้เรียน ผสมผสานหลาย ๆ สาระการเรียนรู้เป็นแบบบูรณาการ (IntergratedLearning) ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการคิดแบบเชื่อมโยง หรือการจัดการเรียนรู้แบบProject Based Learning ช่วยให้ผู้เรียนสามรถฝึกทักษะในด้านต่าง ๆ ได้ดี
  • กระบวนการเรียนรู้ต้องนำเทคโนโลยีมาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนเพื่อช่วยให้เกิดการกระตุ้นความสนใจของผู้เรียนให้อยากเรียนรู้ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนควรสอนในสิ่งที่จำเป็น โดย “สอนน้อยเรียนรู้ให้มาก" (Teach Less Learn More : TLLM) ซึ่งเป็นแนวคิดการจัดการศึกษาของประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ โดยมีทฤษฎีการเรียนรู้ที่สนับสนุนแนวคิดนี้ ได้แก่ทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ (Constructivist) เป็นทฤษฎีที่ให้ความสำคัญกับตัวผู้เรียน เชื่อว่าผู้เรียนสามารถสร้างความรู้ได้ด้วยตนเองจากการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นและสิ่งแวดล้อมอย่างกระตือรือร้น
  • การเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติ (Learningby doing) ควรคำนึงถึงสิ่งดังต่อไปนี้

1. บอกรายละเอียดให้ชัดเจน

2. ปฏิบัติที่ละขั้นตอน พร้อมกับมีการตรวจสอบด้วย มิใช่ตรวจสอบผลงานเพียงอย่างเดียว

ควรมีการตรวจสอบทีละขั้นตอน อธิบายขั้นตอน เพราะผู้เรียนรับรู้ไม่เท่ากัน

3. สาธิต (ผลลัพธ์ไม่สำคัญ สนใจในกระบวนการหาคำตอบ)

4. มีเป้าหมายที่ชัดเจน (มีตัวชี้วัด/มีวัตถุประสงค์)

5. มีสื่อประกอบ

6. ต้องการให้ผู้เรียนมีพฤติกรรมเช่นไร

  • 3.การสะท้อนแง่คิดที่ได้จากการเรียนรู้
  • ห้องเรียนกลับทาง (Flipped Classroom) การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบนี้จะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด ในการจัดการเรียนรู้ครูผู้สอนต้องเตรียมความพร้อมก่อน ครูต้องมีความรู้ที่ดีและถูกต้อง ถ้าหากเราจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผิดจะทำให้ผู้เรียนได้รับข้อมูลที่ผิดไปด้วย ครูต้องมีการศึกษาค้นคว้าหาความรู้พัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา และควรเลือกรูปแบบวิธีการสอนที่หลากหลายให้เหมาะสมกับเนื้อหา/ธรรมชาติวิชา และวัตถุประสงค์ การเรียนรู้มิใช่เรียนได้เฉพาะในห้องเรียนเท่านั้น ดังนั้นในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ครูสามารถจัดสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่น ห้องเรียน และสิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตลอดเวลา เรียนรู้นอกห้องเรียนก็ได้ ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดให้กับผู้อื่นได้อย่างสร้างสรรค์
  • 4.การนำไปประยุกต์ใช้ในอนาคต
  • การนำ Flipped Classroom (ห้องเรียนกลับทาง) ไปประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนนั้น ครูผู้สอนจะต้องเปลี่ยนบทบาทตนเองให้มีความพร้อม มีความรู้ที่ดีและถูกต้องในเรื่องที่จะสอน มีการวางแผนออกแบบการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเนื้อหาวิชาที่สอน ค้นหาความชอบ ความสนใจ ความถนัดของผู้เรียน จัดสื่อการเรียนรู้ และจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย เนื่องจากวิชาที่สอน คือวิชาสังคมศึกษา จะเน้นให้ผู้เรียนเกิดทักษะในการทำงานจริง เกิดกระบวนการกลุ่ม มีเหตุผลยอมรับซึ่งกันและกัน และนำการใช้สื่อเทคโนโลยีมาช่วยในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนเกิดทักษะในการสืบค้นข้อมูล รวมถึงการสอนแบบบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เรียนตระหนักและกระตือรือร้นในการเรียน “ครูควรสร้างห้องเรียนให้มีชีวิต" (สื่อสารพูดคุยกับลูกศิษย์) มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างผู้เรียนและครูผู้สอน
    • รวมถึงการนำ PLC (Professional Learning Community)ชุมชนแห่งการเรียนรู้ (ชุมชนแห่งการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์) ไปใช้ในองค์กร ประชุมวางแผนการออกแบบการจัดการเรียนรู้ร่วมกัน มีการวัดประเมินผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อนำผลการประเมินไปพัฒนาการเรียนการสอนให้ดียิ่งขึ้น
หมายเลขบันทึก: 578507เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2014 14:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ตุลาคม 2014 23:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท