อาสาสมัครกิจกรรมบำบัดเพื่อคนสายตาเลือนราง


สวัสดีค่ะ ดิฉัน นักศึกษากิจกรรมบำบัดชั้นปีที่ 4 ที่เพิ่งเปิดเทอมมาเมื่อประมาณ เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ดิฉันและเพื่อนๆอีกสี่คน ได้ถูกรวมกลุ่ม และมอบหมายงานในรายวิชา กิจกรรมบำบัดเพื่อสุขภาพจิต

ให้ไปเป็นอาสาสมัคร อยู่2 ที่ด้วยกัน

ซึ่งที่แรกที่จะมาเล่าในบันทึกนี้ ก็คือ “สมาคมคนสายตาเลือนราง” (Low Vision Association)

ตอนที่ได้ยินชื่อครั้งแรก ดิฉันก็แอบบแปลกใจ ด้วยความที่ไม่เคยชินกับกลุ่มคนเหล่านี้

จึงนึกภาพไม่ค่อยออกว่าเราจะไปทำอะไรกัน

และวันหนึ่งได้ติดต่อไปทางสมาคม และเข้าไปพูดคุยกับทางสมาคม จึงเริ่มจะเข้าใจกลุ่มคนเหล่านี้ขึ้นมา

ซึ่งคนสายตาเลือนราง คือ บุคคลที่มีการมองเห็นหลงเหลือบางส่วน

ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการในชีวิตประจำวัน อาจมีสาเหตุมาจาก

1. อุบัติเหตุ

2. สภาวะสูงอายุ

3. โรคต่างๆ

ชนิดที่วิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ในปัจจุบันไม่สามารถรักษาได้ แต่ยังสามารถใช้ตาในการมองเห็นได้อยู่

บางคนอาจเป็นมาตั้งแต่กำเนิด บางคนเพิ่งเริ่มเป็นภายหลัง บางคนจะสามารถสังเกตได้ชัดเจนว่ามีปัญหาทางสายตา และบางคนที่ดิฉันได้มีโอกาสรู้จัก ตอนแรกดิฉันไม่รู้เลยว่าเขามีปัญหาทางสายตา เขาดูปกติทั่วไปมากๆ นั่นอาจจะเป็นปัญหาหนึ่งที่เวลาเขาออกไปใช้ชีวิตกับคนในสังคม คนอื่นที่ไม่รู้ อาจไม่เข้าใจ หรือกลัว หากบุคคลเหล่านี้ เข้าไป พยายามขอความช่วยเหลือ

มีตอนหนึ่งที่นั่งพูดคุยกัน เขาเล่าให้ดิฉันและเพื่อนๆฟังว่าหลายครั้งที่พยายามจะถามทาง หรือขอความช่วยเหลือ จะมีคนปฏิเสธ พยายามถอยห่าง ซึ่งทำให้เขารู้สึกว่า ถูกถอนออกจากสังคม กลายเป็นบุคคลที่สังคมไม่ยอมรับ จึงเกิดคำถามว่าเพราะอะไร ในเมื่อเขา ก็คือคน คนธรรมดาคนหนึ่ง ที่อยากจะใช้ชีวิตอยู่กับคนอื่นในสังคม

เขายังเล่าต่อไปอีกว่า หลายครั้งที่บุคคลที่มีสายตาเลือนรางจะถูกเหมารวมไปกับบุคคลที่ตาบอด ซึ่งบุคคล 2 ประเภทนี้ต่างกันมาก หลายครั้งที่บุคคลที่มีสายตาเลือนรางถูกปิดกั้นโอกาสในการศึกษาในโรงเรียนปกติ จำต้องเข้าโรงเรียนสอนคนตาบอด และต้องเรียนแบบคนตาบอด ทั้งๆที่เขายังสามารถมองเห็นได้อยู่

ในทางกิจกรรมบำบัด หลักการที่นักกิจกรรมบำบัดทุกคนต้องเน้นอยู่เสมอนั่นก็คือ

การบำบัดฟื้นฟูเพื่อให้บุคคลสามารถทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตต่างๆได้ด้วยตนเอง อย่างเต็มความสามารถของบุคคลนั้น

หากเขามีสายตาที่เลือนรางนั่นไม่ได้แปลว่าเขาตาบอด แต่เขาแค่มองเห็นได้ไม่ชัด แต่ก็ยังถือว่ามองเห็น

ดังนั้นเราควรที่จะทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้และพัฒนาทักษะเหล่านั้น ไม่ควรปล่อยปะละเลยหรือปิดกั้น

ดิฉันและเพื่อนๆ จึงเข้าไปเพื่อนำความรู้ในทางกิจกรรมบำบัด ไปใช้เพื่อเป็นประโยชน์กับสมาคม โดยเราได้ดำเนินการ

1 ประเมินและให้กิจกรรมบำบัดเพื่อพัฒนาเด็กที่มีภาวะสายตาเลือนรางส่งผลให้พัฒนาการล่าช้า

2 ประเมินห้องเพื่อทำตัวอย่างห้องกระตุ้นประสาทสัมผัส เพราะเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็กจำเป็นต้องได้รับสิ่งกระตุ้นการรับสัมผัสในทุกด้าน โดยเฉพาะเด็กที่มีสายตาเลือนราง การที่ประสาทการรับรู้ทางสายตาผิดปกติ จึงควรได้รับการกระตุ้นมากพิเศษ

3 ช่วยออกแบบจัดทำเต้นท์กิจกรรมบำบัด หรือเต้นท์กระตุ้นประสาทสัมผัส คล้ายกับห้องกระตุ้น แต่จะมาในรูปแบบเต้นท์ ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ เพื่อสะดวกต่อการใช้งาน

4 ร่างแบบกระดานทรงตัว เนื่องจากเด็กที่มีปัญหาทางสายตามักมีปัญหาเกี่ยวกับการทรวตัวด้วย จึงควรส่งเสริมในส่วนนี้

5 ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กด้วยธรรมชาติ

และในเด็กที่มีสายตาเลือนรางส่วนมากจะขาดโอกาสในการเล่น และไม่กล้าที่จะสำรวจสิ่งแวดล้อม กลัวการสัมผัส เพราะมองเห็นไม่ชัด ผู้ปกครองและผู้ที่เกี่ยวข้องจึงควรทำความเข้าใจ และพยายามให้โอกาสเด็กให้มาก เพื่อการพัฒนาที่ดี

และโครงการอาสาสมัครนี้ยังได้รับโอกาสดีๆจากคณาจารย์ นำส่งเข้าประกวดโครงงาน "กล้าใหม่...สร้างสรรค์ชุมชน" กับ SCB ด้วยชื่อโครงการ “ก้าวใหม่กิจกรรมบำบัด สู่สายตาเลือนราง”

เวลานี้อยู่ในช่วงลุ้นผลการคักเลือกซึ่งจะประการคัดเลือก 40 โครงการสุดท้าย ในวันที่ 10 ตุลาคม 2557

ดิฉันหวังว่าเราจะได้รับคัดเลือก และได้ทุนมาเพื่อทำประโยชน์ให้กับบุคคลสายตาเลือนรางได้ต่อไปค่ะ

แต่ถึงยังไร สุดท้ายแล้ว ดิฉันก็ดีใจที่ได้ทำประโยชน์ อาจจะมากหรือน้อย ในสายตาคนอื่น แต่มันคือความภาคภูมิใจที่สุดที่ได้นำวิชาชีพกิจกรรมบำบัดไปช่วยเหลือบุคคลผู้มีสายตาเลือนรางค่ะ ((:  

หมายเลขบันทึก: 578472เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2014 21:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 ตุลาคม 2014 21:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท