AAR วิชา อ 20205 ภาษาอังกฤษสำหรับวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์


นับว่าเป็นความโชคดีที่ได้รับผิดชอบสอนวิชา อ 20205 ภาษาอังกฤษสำหรับวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เพียงคนเดียว แต่นับเป็นความโชคร้ายที่ไม่มีคู่คิดคู่หูในรายวิชาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม PLC ก็สามารถเกิดขึ้นได้จากความร่วมมือจากครูในกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ๆ ดังนั้น ความก้าวหน้าในรายวิชานี้ย่อมสามารถบังเกิดขึ้นได้

วิชาดังกล่าวข้างต้น จัดไว้สำหรับนักเรียน SSP – Special Science Program ที่มุ่งเน้นการเรียนการสอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์มากเป็นพิเศษ โดยในปีการศึกษา 2557 นี้นับเป็นรุ่นที่ 2 ของทางโรงเรียน ขอเท้าความถึงที่มาที่ไปที่ตัวเองได้พอรับทราบ ดังนี้

- ตัวเองเป็นครูผู้ช่วยสด ๆ ใหม่ ๆ รายวิชาดังกล่าวก็สด ๆ ใหม่ ๆ เช่นกัน (จากการสอบถามนักเรียน SSP นักเรียนบ่นอุบว่า “วิชาใหม่อีกแล้วเหรอครู”)

- รายวิชาดังกล่าว มีเพียงแค่ “ชื่อรายวิชา” คือ อ 20205 ภาษาอังกฤษสำหรับวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ มาให้ตัวเองเท่านั้น และจากการสอบถามข้อมูลผ่านทางครูในโรงเรียนที่เดินทางไปอบรมที่กรุงเทพฯ ซึ่งได้ข้อมูลจากทาง สสวท. มาว่า “ให้ครูผู้สอนคิดคำอธิบายรายวิชา ผลการเรียนรู้ และเนื้อหาเอง” ดังนั้น แล้วจึงเป็นอุปสรรคอยู่เล็กน้อยสำหรับตัวเองที่จะสามารถจัดการเรียนรู้ได้ถูกต้องตามหลักสูตรของทาง สสวท. ถูกใจผู้เรียน โดยทั้งนี้ รายวิชาดังกล่าวได้ปรากฏอยู่ในหลักสูตรห้องเรียนพิเศษ ที่นี่ (แต่ดู ๆ แล้วเหมือนจะเป็นโครงการ SMP)

- สภาพนักเรียน SSP ก็เหมือนลูกนกลูกกาที่รอให้แม่นกบินไปคาบเหยื่อเอามาป้อนให้ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังมานานมาก จนเป็นความเคยชินและเหมือนจะบังคับตัวครูเองเป็นนัย ๆ ว่า “ครูต้องสอนและ test เป็นแบบข้อสอบเท่านั้น”

กระบวนการจัดการเรียนรู้ของตัวเองในแบบที่คิด ๆ ไว้ก็คือว่า สิ่งที่เป็นสากล (world class standard) แนวทาง หลักการต่าง ๆ ที่กำลังสนับสนุนกันในระบบการศึกษาปัจจุบันเข้ามา และแนวทางจากง่าย ปานกลาง และยาก ผสมรวมกันไว้ โดยคำนึงถึงความแตกต่างของผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อที่ครูจะได้ชี้แนะ แก้ไข และเพิ่มแนวทางการเรียนรู้ให้นักเรียนเป็นรายบุคคลได้อย่างถูกต้อง

สรุปเป็น teaching concept ได้ 3 อย่างคือ หนึ่ง IPA หรือระบบการอ่านออกเสียงตามหลักสัทศาสตร์สากล ที่ตัวเองคิดว่า นักเรียนเหล่านี้จะสามารถค้นคว้าวิธีอ่านคำศัพท์ด้วยตัวเองได้ สอง grammar ด้วยความที่นักเรียนกลุ่มนี้คือนักเรียนกลุ่มที่ได้รับการสอบคัดเลือกเข้ามา (ค่อนข้าง) เป็นอย่างดี และแน่นอนว่าการต่อยอดความรู้นั้นยากและท้าทายสำหรับตัวเองเป็นอย่างมาก แต่ก็สามารทำได้โดยมีกระบวนการชี้นำที่เหมาะสม และจะดีกว่าการเรียน grammar แบบ review จากครูให้ฟังซึ่งเป็น passive learning เสียอีก โดยตัวเองตั้งใจว่าจะให้นักเรียน self-study เองเป็นส่วนใหญ่ (ถือเป็นการต่อยอดในระดับหนึ่ง) โดยสามารถเข้าไปค้นคว้าในห้องสมุดได้ แล้วทำแบบฝึกหัดด้วยตนเองแล้วครูเฉลยคำตอบให้และร่วมกันอภิปรายเพิ่มความเข้าใจ และสาม PBL – Project Based Learning โดยเน้นกระบวนการให้เหตุผล (rationalization) ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันมากอยู่แล้วว่าช่วยพัฒนาความคิดได้เป็นอย่างดี (และตัวครูเองก็ยอมรับมากด้วยว่าได้ผลเช่นนั้นจริง ๆ) อาจจะดูว่าครูขี้เกียจมากถึงมากที่สุด แต่! การกำหนดรูปแบบดังกล่าวนั้นไว้หลวม ๆ ก่อนในตอนแรกก็เพื่อที่จะสามารถขยับปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมได้ในภาคเรียนต่อ ๆ ไป

จากสภาพการณ์ตลอด 20 สัปดาห์ที่ผ่านมาก สะท้อนให้เห็นว่า “เนื้อหาวิชาจากหลักสูตรฯ นั้นแน่นเกินไป” จนนักเรียนไม่มีเวลาที่จะค้นคว้าข้อมูลเพื่อให้เกิด mastery learning เลย หรือมีก็เพียงน้อยถึงน้อยมาก นอกจากนั้นแล้ว สภาพการบีบบังคับที่จะให้ครูดำเนินรอยตามระบบสอนแล้ว test นั้นก็เข้ามา แต่ครูยืนกรานเลยว่าจะลดวิธีการนั้นลง เพราะวิธีการดังกล่าวนั้นมีแต่จะเพิ่มความเห็นแก่ตัวขึ้นในตัวนักเรียน เพราะเรียนเอาแต่ตนเอง ไม่เคยที่จะช่วยเหลือผู้อื่น หรือฝึกทำงานร่วมกับผู้อื่น (คิด ๆ ดูว่า นักเรียนโครงการพิเศษแบบนี้หรือที่จะเติบโตเป็นหัวจักรในการพัฒนาประเทศต่อไป ก็คงไม่พ้นปัญหา corruption อย่างแน่นอน)

ในรายวิชาดังกล่าวนี้ ตัวครูเองจะเน้นไปที่การปฏิบัติ (performance) เป็นส่วนใหญ่ กล่าวคือ นักเรียนต้องสอบอ่านคำศัพท์ (ไม่ใช่สอบท่องศัพท์) ทำชิ้นงานหรือ project เป็นกลุ่ม และค้นคว้าด้วยตนเอง ซึ่งตัวครูเองหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นการปูพื้นฐานในการเรียนระดับสูงขึ้นไป

นอกจากนั้น จากการ review ข้อสอบ ONET (เอาในประเทศตัวเองก่อน) หรือข้อสอบอะไรก็ตามแต่ (ยิ่ง TOEFL/IELT ยิ่งคิดแปดตลบ) ที่ให้นักเรียนไปสอบนั้นเน้น thinking ability เป็นอันมากซึ่งนักเรียนจะต้องอ่าน ทำความเข้าใจ วิเคราะห์ ตีความโดยผ่านกระบวนการเรียนการสอนที่เอื้อต่อการสอบแบบนั้นเป็นอันมาก ซึ่งในความหมายก็คือ การจัดการเรียนรู้ของครูนั้นต้องเน้นกระบวนการคิดเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นระดับที่สูงขึ้นมาอีกระดับหนึ่งจาก remembering/knowledge และ comprehension

ในช่วงสอบ midterm ครูเองได้แนบ feedback ไปให้นักเรียนเขียนถึงกระบวนการจัดการเรียนรู้ ซึ่งพอสรุปได้คร่าว ๆ ว่า นักเรียนยังเคยชินกับการเรียนแบบ passive learning เป็นอันมาก และคอยจะให้ครูป้อนวิชาความรู้อยู่เช่นเคย นอกจากนั้น การเอาเกรดมาค้ำคอตัวเองก็เป็นสิ่งที่น่ากลัวอีกเช่นกัน จนทำให้ลดประสิทธิภาพการเรียนรู้ลงไปมาก นักเรียนบอกอีกว่า “ครูเรื่องมาก” การที่ครูเรื่องมากนั้น หมายถึง กระบวนการเรียนนั้นต้องมีการ reflect อยู่เสมอ ไม่ใช่สอน ๆ ไปแล้วก็ test เป็น multiple choice เป็นคะแนน ซึ่งครู (ตัวเอง) ไม่สามารถรู้ได้เลยว่านักเรียนทำได้จริงหรือไม่ และกระบวนการได้มาซึ่งคำตอบนั้นมาจากอะไร (อาจจะมาจากวิทยายุทธ์คอยีราฟก็เป็นได้) เช่นเดียวกับช่วงสอบ final ครูก็แนบ feedback ไปอีกเช่นเคย โดยใช้ SWOT Analysis มาเป็นตัวจับ นักเรียน (ส่วนใหญ่) ก็ยังเน้นความคิดของตัวเองเช่นเคยที่จะบีบบังคับให้ครู review grammar ให้ฟังแล้ว test เป็นคะแนนเก็บ ซึ่งในอนาคตครูก็จะนำมาปรับปรุงให้มีปรากฏ (บ้าง) ในภาคเรียนต่อ ๆ ไป

ครูผู้สอนเองมีความตั้งใจที่จะใช้การจัดการเรียนรู้ในรายวิชานี้เพื่อขอวิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ (ครูเชี่ยวชาญ/ครูเชี่ยวชาญพิเศษ...อันนี้มโนเอง) ในอนาคต และขอใช้เวลาประมาณ 3 ปี (3 ภาคเรียน) ในการกำหนดแนวทางการจัดการเรียนรู้ให้ (ค่อนข้าง) ลงตัวด้วยมือของตัวเอง โดยในเรื่องดังกล่าวนี้ ได้สอบถามไปยังครูในกลุ่มสาระการเรียนรู้เดียวกันถึง (ขอขอบคุณ ครูกิรณา ยุตตานนท์ และครูนงลักษณ์ หลิมสมบูรณ์ ไว้ ณ ที่นี่ด้วย) แนวทางในการทำผลงานทางวิชาการเพื่อให้ได้วิทยฐานะดังกล่าวนั้นว่าควรไปในทิศทางใด คำตอบที่ได้คือ วิทยฐานะชำนาญการพิเศษของครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษนี้ได้ยากมากพอสมควร เพราะ ต้อง/ควรจะทำให้ได้ครบทั้ง 4 ทักษะคือ ฟัง พูด อ่าน เขียน หรืออาจจะไม่ครบ แต่ถ้าครบ...ก็ยิ่งดี ดังนั้น ตัวเองจึงปิ๊งไอเดียขึ้นมาทันทีถึงการกำหนดแนวทางการจัดการเรียนรู้เพื่อประโยชน์ของผู้เรียน โรงเรียน ความก้าวหน้าทางวิชาการของตัวเอง และความเจริญของประเทศ เป็นผลการเรียนรู้ที่คิดว่าครอบคลุมทั้ง 4 ทักษะ ดังนี้

  • 1.Grasp the main idea and give the details from the reading passages in mathematics and science(reading skill ใช้แนวทาง ONET based Test และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง)
  • 2.Understand a variety of listening tasks in mathematics and science which employ the vocabulary and grammar in realistic contexts (listening skill ใช้ video ของ TED Talks)
  • 3.Rationalize / Classify / Distinguish components of something based on prescribed principles and rules. (writing skill ใช้แนวทาง PBL)
  • 4.(Speaking skill) ยังไม่ได้กำหนดแน่ชัดในตอนนี้ (5 ตุลาคม 2557)

สำหรับเนื้อหาและเอกสารประกอบการเรียน คิดว่าจะใช้สื่อระดับ Pre-Intermediate จัดทำโดยอาจารย์อุสมาน บีรูวาเหตุ ที่มีอยู่ในศูนย์ ERIC ที่มีอยู่ในโรงเรียนไปก่อน

ขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากทุกท่านครับ

รัชพล มาลาศิลป์

5 ตุลาคม 2557

หมายเลขบันทึก: 578195เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2014 11:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ตุลาคม 2014 22:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท