ลุงเหมย
ข้าราชการครูบำนาญ นายชุมพล บุญเหมย

อริยทรัพย์ ๗ ประการ


ขอน้อมกราบคารวะแด่บุญบารมีของกัลยาณธรรมและรัตนมิตรทุกท่านของอีตาลุงเหมย  ระยะนี้ทุกหน่วยงานต่างก็มีการจัดงานแสดงมุทิตาจิต หรือานคารวะแด่ท่านผู้บังคับบัญชา หรือบรรดาผองเพื่อน ญาติมิตรที่ได้ร่วมรับราชการด้วยกันมาเพราะต่อจากนี้ไปท่านก็จะต้องพักผ่อนใฝ่หาทางสงบให้สมกับที่ได้ตรากตรำเหนื่อยมาจนมีอายุได้ ๖๐ ปี อีตาลุงจึงได้คัดลอกเอาบทสนทนาธรรมที่บันทึกเอาไว้  ของพระคุณเจ้าที่ท่านได้แสดงคราวทำบุญมุทิจาจิตบรรดาผู้ที่เกษียณอายุราชการ นำมากราบคารวะเพื่อเป็นข้อคิดเตือนสติ เตือนใจท่าน ขอน้อมกราบพิจารณาได้ตามลำดับครับ.....

           อริยทรัพย์ ๗ ประการ

           ท่านผู้เกษียณราชการทั้งหลาย การที่เราทั้งหลายมีความอุตสาหะพยายาม อดทนกัดฟันต่อสู้ ประพฤติปฏิบัติธรรมะอยู่ทุกวันนี้ ก็เพื่อว่าต้องการที่จะสร้างสมอบรมคุณงามความดีไว้ ทำของโลกีย์ให้เป็นโลกุตตระ ทำทรัพย์สมบัติภายนอกให้เป็นทรัพย์สมบัติภายใน ดังนั้น วันนี้ จึงได้นำเรื่อง ทรัพย์ ๒ ประการมาบรรยาย คือสามัญทรัพย์ ๑   อริยทรัพย์ ๑

          ๑. สามัญทรัพย์ คือทรัพย์สามัญทั่วไป แบ่งเป็น ๒ คือ

                    (๑) ทรัพย์ ได้แก่ วัตถุเครื่องปลื้มใจ

                    (๒) สมบัติ ได้แก่ วัตถุอันถึงพร้อม

    ทรัพย์สมบัตินี้มีอยู่ในบุคคลผู้ใด ก็ย่อมทำให้บุคคลผู้นั้นมีความปีติเอิบอิ่มยินดี ปลื้มใจดีใจว่า ทรัพย์สมบัติของเรามีอยู่

     สามัญทรัพย์นี้ เมื่อแยกออกไปแล้วจะมีอยู่ ๒ ประการ

๑. สวิญญาณกทรัพย์ ได้แก่ทรัพย์ที่มีวิญญาณครอง เช่น สามี ภรรยา ลูกๆ หลานๆ                                                ตลอด ถึงช้างม้าโคกระบือ แพะแกะเป็ดไก่สุกร เป็นต้น

๒. อวิญญาณกทรัพย์ ได้แก่ทรัพย์ที่ไม่มีวิญญาณครองมีผ้าผ่อนแพรพรรณ แก้วแหวนเงิน
                                  ทองรัตนะ ๗ ประการเป็นต้น

ทรัพย์ทั้ง ๒ ประการนี้ จัดออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ

๑. สังหาริมทรัพย์ ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้ ได้แก่ทรัพย์สมบัติทั้งหลายทั้งปวง ที่เราสามารถนำ
                            เคลื่อนที่ไปได้

๒. อสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ไปไม่ได้ มีที่นาที่สวน เป็นต้น

         ทรัพย์ดังกล่าวมาแล้วนี้ องค์พระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของพวกเราทั้งหลายได้ตรัสว่า เป็นของที่ไม่เป็นแก่นสาร เพราะเหตุว่าจะต้องอันตรธานไป ด้วยภัยทั้ง ๔ คือ ราชภัย ถูกพระราชาหรือรัฐบาลยึดเอาไปบ้าง โจรภัย ถูกโจรฉกชิงวิ่งราวปล้นสะดมภ์เอาไปบ้าง อัคคีภัย ถูกไฟไหม้บ้าง อุทกภัย ถูกน้ำท่วมให้ฉิบหายย่อยยับไปบ้าง หากว่าเราจะเอาทรัพย์สมบัติทั้งหลายเหล่านี้ ไปฝังไว้ในดินหรือจมไว้ในน้ำ คิดว่าจะไม่ให้อันตรธานก็ไม่พ้น ถ้าเราเอาไปฝังลึกนัก อมนุษย์อาจทำให้เคลื่อนที่ได้ ถ้าเราฝังตื้นเกินไป โจรผู้ร้ายอาจจะขโมยไปก็ได้ ถ้าเราจะเอาทรัพย์เหล่านี้ไปจมไว้ในน้ำ อาจจะมีพรานข่ายพรานแหเอาไป หากว่าเราคิดจะเอาทรัพย์เหล่านี้ไปฝากไว้ในคลัง หรือธนาคาร ปรารถนาจะไม่ให้อันตรธาน ก็ย่อมไม่เป็นอันฟัง ย่อมผุพังไปเป็นธรรมดา เหตุนั้นองค์สมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสว่าทรัพย์นี้ไม่เป็นแก่นสาร พระองค์ตรัสให้พวกเราทั้งหลายทำทรัพย์สมบัติทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ให้เป็นแก่นสาร คือให้รู้จักใช้ทรัพย์สมบัติทั้งหลายทั้งปวงที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ พระพุทธองค์ทรงได้ตรัสหลักการใช้ทรัพย์ คือเมื่อเราทั้งหลายแสวงหาทรัพย์สมบัติมาได้โดยชอบธรรมแล้ว ท่านได้แยกหลักการใช้โภคทรัพย์ไว้ ๕ ประการคือ

          ๑. เลี้ยงตัวของตัวเอง ตลอดถึงบิดามารดา บุตร ภริยา บ่าวไพร่ให้เป็นสุข

          ๒. เลี้ยงเพื่อนฝูงให้เป็นสุข

          ๓. บำบัดอันตรายที่เกิดแต่เหตุต่างๆ เช่นการเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นต้น

          ๔. ทำพลี ๕ อย่าง คือ

                    ก. ญาติพลี สงเคราะห์ญาติ

                    ข. อติถิพลี ต้อนรับแขก

                    ค. ปุพพเปตพลี ทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย

                    ง. ราชพลี ถวายเป็นของหลวง เสียภาษีอากร เป็นต้น

                    จ. เทวตาพลี ทำบุญอุทิศให้เทวดา

           ๕. บริจาคให้สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ

          นอกจากนี้เราควรใช้ทรัพย์ ให้เป็นประโยชน์แก่สังคม เป็นต้นว่า สร้างกุฏิ สร้างโบสถ์ สร้างวิหาร สร้างศาลาการเปรียญ สร้างถนน สร้างบ่อน้ำ สร้างโรงเรียน สร้างสถานพยาบาล เหล่านี้เป็นต้น ก็ชื่อว่า เราใช้ทรัพย์สมบัติเป็นทรัพย์สมบัติทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ เมื่อเราใช้ให้เป็น ก็เป็นประโยชน์แก่เรา ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ถ้าหากว่าเราใช้ไม่เป็น ในปัจจุบันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการมีทรัพย์ อนาคตก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการมีทรัพย์ เพราะทรัพย์สมบัติทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ เป็นของส่วนกลางสำหรับโลก เมื่อเราไม่เกิดมา ทรัพย์สมบัติทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ก็มีอยู่ เมื่อเราเกิดมา เราก็ใช้ทรัพย์สมบัติทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ เท่าที่เราแสวงหามาได้ เมื่อเราตายไป ทรัพย์สมบัติทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ เราก็ทิ้งไว้ในโลกนี้ ให้เป็นสมบัติของผู้อื่นต่อไป เราจะมาหวงห้ามว่า ไม่ให้ผู้นั้นใช้ ไม่ให้ผู้นี้ใช้ ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นไปตามกฎธรรมชาติ ตกไปตามกฎของธรรมชาติ เหตุนั้นผู้มีปัญญาฉลาดรอบคอบเท่านั้น จึงสามารถที่จะใช้ทรัพย์เหล่านี้ ให้เป็นประโยชน์แก่ตนและสังคมได้ โดยไม่ยึดมั่นถือมั่นในอุปาทาน ว่าเราจะรักษาทรัพย์สมบัติอยู่ตลอดไป เราทั้งหลายลองนึกดูซิว่า เมื่อเราเกิดมานั้น ก็มีแต่ตัวล่อนจ้อน ทรัพย์สมบัติชิ้นหนึ่ง ก็หาติดตัวเรามาไม่ เราอาศัยบุญกรรมที่เราสร้างสมอบรมไว้พามาเกิด เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว เราจะแสวงหาทรัพย์ได้มากน้อย ก็อาศัยบุญกรรมที่เราสั่งสมอบรมไว้ ถ้าชาติก่อนเราได้สั่งสมอบรมทานบารมีถวายทานไว้มาก เกิดขึ้นมาแล้ว เราก็จะเป็นผู้ที่มั่งคั่งสมบูรณ์เพียบพูนไปด้วยทรัพย์สมบัติศฤงคารบริวาร ไม่อดไม่อยากหากว่าเราเป็นคนตระหนี่ เกิดมาแล้วย่อมเป็นคนยากจน ข้นแค้นอนาถา ถือกระเบื้องขอทาน ถือกะลาขอข้าว หากินฝืดเคือง เหตุนั้น การที่เราทั้งหลายมาประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ทุกวันนี้ ก็คือเรามาทำทรัพย์สมบัติภายนอกให้เป็นทรัพย์ภายใน ทำทรัพย์ที่เป็นโลกีย์ให้เป็นโลกุตตระ    ฝากฝังไว้ในพระพุทธศาสนา เพื่อให้เป็นอนุคามินีทรัพย์ติดตามเราไป สู่สัมปรายิกภพภายภาคหน้า ที่กล่าวมานี้เป็นสามัญทรัพย์โดยย่อ

          ๒. อริยทรัพย์ แปลว่าทรัพย์อันประเสริฐ หรือแปลว่าทรัพย์ของท่านผู้ประเสริฐ หรือแปลว่าทรัพย์ที่ไกลจากข้าศึกคือกิเลส องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงส่งเสริมการแสวงหาทรัพย์ทั้งทางโลกและทางธรรม ทางโลกเราจะเห็นได้ในหลักทิฎฐธัมมิกัตถธรรม ที่พระองค์ตรัสไว้ คือผู้ที่จะตั้งตนได้ในปัจจุบัน จะต้องประกอบไปด้วยธรรม ๔ ประการ คือ            
         (๑) อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่นความขยันในการงานอันเป็นหน้าที่ของตน

          (๒) อารักขสัมปทา พยายามรักษาการงานที่ตนประกอบนั้นไว้ให้ดี ตลอดถึงพยายามรักษาทรัพย์สมบัติ ที่เป็นผลซึ่งเกิดขึ้นจากการทำงานของเราไว้ให้ดี

          (๓) สมชีวิตา เลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่ตนหามาได้

          (๔) กัลยาณมิตตตา คบเพื่อนที่เป็นคนดี ไม่คบคนชั่ว

          ธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นเครื่องยืนยันว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงส่งเสริมการแสวงหาทรัพย์ ไม่ใช่ว่าการแสวงหาทรัพย์นั้นจะเป็นกิเลสตัณหาดังคนทั้งหลายเข้าใจกัน การที่จะจัดเป็นกิเลสตัณหาได้ ก็หมายความว่า การที่อยากได้ทรัพย์สมบัติในทางทุจริต แล้วก็แสวงหาเอาในทางที่ทุจริต จึงจะเป็นโลภะเป็นตัณหา แต่นี่เราอยากได้แล้วก็แสวงหาเอาในทางที่สุจริต ไม่จัดเป็นโลภะ นอกจากนี้พระองค์ยังส่งเสริมการแสวงหาทรัพย์ ที่เราจะนำไปใช้ในวันข้างหน้าภพหน้าชาติหน้าต่อไป ดังหลักธรรมที่พระองค์ได้ทรงตรัสไว้ คือ สัมปรายิกัตถธรรม  ธรรมอันเป็นเหตุให้สมหวัง หรือเป็นเหตุให้สำเร็จสิ่งที่ประสงค์ ในภพหน้าชาติหน้า ๔ ประการคือ

          (๑) สัทธาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศรัทธา

          (๒) สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล

          (๓) จาคสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการบริจาคทาน

          (๔) ปัญญาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยปัญญา

          นอกจากนี้พระองค์ยังตรัสให้แสวงหาทรัพย์อันประเสริฐ อันจะเป็นบ่อเกิดซึ่งอริยมรรคอริยผล ได้แก่พระองค์ทรงสอนให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย ประกอบไปด้วยอริยมรรคธรรมทั้ง ๘ ประการ เพราะว่าอริยมรรคธรรมทั้ง ๘ ประการนี้ เป็นธรรมะที่จะให้สำเร็จซึ่งโลกุตตระสมบัติ
เมื่อกล่าวมาถึงตรงนี้ เราก็รู้ได้ทันทีว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของพวกเราทั้งหลายนั้น พระองค์ไม่ทรงส่งเสริมคนเกียจคร้าน แต่พระองค์ทรงส่งเสริมคนขยันหมั่นเพียรหาทรัพย์ทั้งทางโลกและทางธรรม หาทรัพย์ทั้งที่เป็นประโยชน์โลกนี้ประโยชน์โลกหน้า และประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน
               เพราะเหตุไร ธรรมะจึงจัดเป็นทรัพย์ เมื่อมีปัญหาอย่างนี้เราควรสาวหาเอาทรัพย์ที่เป็นวัตถุมาเป็นตัวตั้ง เช่นธนบัตรใบละ ๑๐ บาทบ้าง ๒๐ บาทบ้าง ใบละ ๑๐๐ บาท ๕๐๐ บาทบ้าง แผ่นกระดาษแท้ๆ ทำไมจึงเรียกว่าทรัพย์ ก็เพราะว่าเป็นของที่แลกเปลี่ยนได้สมประสงค์ เป็นของที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายข้อนี้ฉันใด ธรรม ๗ ประการมีศรัทธาเป็นต้น ก็เป็นของที่ให้สำเร็จสมประสงค์ได้เหมือนกัน เหตุนั้นท่านจึงเรียกว่าอริยทรัพย์
                ปัญหาเศรษฐศาสตร์ทางโลก เขาตีราคาค่าของต่างๆ เป็นมูลค่าบ้าง คุณค่าบ้าง เมื่อแยกประเภทออกไปแล้วมีอยู่ ๒ ประการบ้าง
          ๑. อัคฆะ คือสิ่งที่ตีราคาได้ เช่น สมุด กระดาษ ดินสอ ปากกา นาฬิกา แว่นตา เครื่องขยายเสียง ไมโครโฟน เหล่านี้เป็นต้น เขาตีราคาได้ว่า มีราคาเท่านั้นบาท เท่านั้นร้อย เท่านั้นพัน เท่านั้นหมื่น เท่านั้นแสน แม้แต่ค่าแรงงาน เขาก็ตีเป็นราคาได้ สมมติว่าคนนี้มีความสามารถขนาดนี้ ควรจะได้วันหนึ่ง ๔๕ บาท ๕๐ บาท หรือ ๑๐๐ บาท ๕๐๐ บาท ๑,๐๐๐ บาท เขาตีราคาได้ ทรัพย์ประเภทนี้เรียกว่า อัคฆะ ตีราคาได้
          ๒. อนัคฆะ คือสิ่งที่ตีราคาไม่ได้ ประเมินราคาไม่ได้ว่ามีราคาเท่าไร หรือไม่สามารถที่จะกำหนดราคาหรือตีค่าตีราคาขึ้นได้ เช่น ความซื่อสัตย์สุจริต ความฉลาด ความสุภาพเรียบร้อย ศีล สมาธิ ปัญญา มรรคผล พระนิพพานเหล่านี้เป็นต้น เราไม่สามารถที่จะตีราคาขึ้นมาได้ว่า ความสัตย์นี้จะตีราคาเท่าไร ความฉลาด ความสุภาพเรียบร้อยนี้ จะตีราคาเท่าไร เราตีราคาไม่ได้ ศีล สมาธิ ปัญญาหรือมรรคผล พระนิพพานนี้ มีราคาเท่าไร เราตีราคาไม่ได้ ประเมินราคาไม่ได้ เหตุนั้นทรัพย์ประเภทนี้จึงเรียกว่า อนัคฆะ หาค่าไม่ได้

           เพราะเหตุไร ธรรมะท่านจึงเรียกว่าเป็นทรัพย์ ก็เพราะว่าเป็นทรัพย์ประเภทอนัคฆะ คือตีราคาไม่ถูก เป็นธรรมที่พระอริยเจ้าแสดงไว้ ทรัพย์ทั้ง ๒ ประเภท คือ สามัญทรัพย์และอริยทรัพย์นี้ มีคุณลักษณะต่างกัน คือสามัญทรัพย์นั้น สามารถที่จะใช้ให้หมดไป สมมติว่าเรามีเงินเป็นร้อยๆ ล้าน ก็สามารถที่จะใช้ให้หมดไป ดังที่เราได้ทราบข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ ข่าวในวิทยุเป็นต้น ธนาคารที่มีเงินเป็นหลายๆ ร้อยล้านก็ยังล้มละลายได้ หรือเศรษฐีเงินเป็นสิบๆ ล้านก็ยังล้มละลาย เป็นอันว่าสามัญทรัพย์นั้น เป็นทรัพย์ที่สามารถจะใช้ให้หมดไปได้ ส่วนอริยทรัพย์นั้นใช้ไม่หมด ยิ่งใช้เท่าไรก็ยิ่งมาก ยิ่งได้กำไรมากไปตามลำดับๆ เท่านั้น เหมือนกันกับท่านทั้งหลายที่พากันมาสู่สำนัก มาประพฤติปฏิบัติพระกรรมฐาน หลวงพ่อก็ให้อริยทรัพย์แก่ทุกๆ ท่านไป ยิ่งให้ไปมากเท่าไรก็ยิ่งมีมาก ได้กำไรมากขึ้นเท่านั้น เหตุนั้นอริยทรัพย์ จึงเป็นของใช้ไม่หมด
             อีกอย่างหนึ่ง สามัญทรัพย์นั้น เป็นสาธารณะทั่วไปแก่คนทั้งหลายทั้งปวง คือหมายความว่า สามัญทรัพย์นั้นเมื่อเรายังไม่เกิดมาก็มีอยู่อย่างนี้ เมื่อเราใช้สอยทรัพย์สมบัติเหล่านี้ ที่เราได้มา เราจะถือเป็นกรรมสิทธิ์ตลอดไปก็ไม่ได้ อาจมีคนอื่นมาแย่งเอาไปบ้าง มาโกหกต้มตุ๋นเอาไปบ้าง หรือเราตายไปแล้ว ทรัพย์สมบัติเหล่านี้ก็ตกเป็นของคนอื่น ไป เราจะหอบหิ้วหาบหาม ไปฝากเทวดา หรือฝากพระอินทร์พระพรหม ในเทวโลกในพรหมโลกไม่ได้ เราอาศัยแต่บุญกรรมที่สั่งสมอบรมมาเท่านั้นพาไป ส่วนอริยทรัพย์นั้น เป็นของตนแท้ๆ สามารถติดตามตนไปทุกฝีก้าว ฉายา อิว ดุจเงาติดตามตัว ตายแล้วเกิดชาติใหม่ ยังสามารถนำไปใช้ในภพที่ตนเกิดอีกต่อไป

                อย่างหนึ่ง สามัญทรัพย์นั้นใช้ในวงจำกัด เช่นว่าธนบัตรใบละ ๑๐ บาท ใบละ ๒๐ บาท ใบละ ๕๐ บาท ใบละ ๑๐๐ บาท ใบละ ๕๐๐ บาท ก็ใช้ได้ภายในประเทศไทยของเราเท่านั้น จะเอาไปใช้ในประเทศอื่น ก็ต้องเอาไปแลกไปเปลี่ยนเสียก่อน จึงจะใช้ได้ แต่สำหรับอริยทรัพย์นี้ใช้ได้ทั่วโลก ไม่ต้องแลกไม่ต้องเปลี่ยน ใช้ในประเทศไหนได้ทั้งนั้น  อีกอย่างหนึ่ง
สามัญทรัพย์นั้น เป็นของที่ไม่แน่ว่าจะนำไปสู่สุคติโลกมนุษย์สวรรค์ หรือให้สำเร็จพระนิพพาน ตัวอย่าง คนมีเงินมีทองแล้ว อาจใช้เงินทองนั้นทำบาปก็ได้ เช่น เอาเงินไปซื้อวัวมาฆ่าบ้าง ซื้อควายมาฆ่าบ้าง ซื้อเป็ดซื้อไก่มาฆ่าบ้าง หรือเอาเงินไปจ้างให้เขาฆ่ากันบ้าง เหล่านี้เป็นต้น ถ้าเราทำอย่างนี้ ผลที่เกิดขึ้นจากการมีทรัพย์นั้น เราจุติจากชาตินี้แล้ว ก็ไปสู่อบายภูมิ คือนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน สามัญทรัพย์นั้นจึงเป็นของที่ไม่แน่นอน ว่าจะพาผู้เป็นเจ้าของไปสู่สุคติโลกมนุษย์สวรรค์ได้ อาจจะพาไปสู่อบายภูมิก็ได้ แต่อริยทรัพย์นี้ เป็นของแน่นอนที่สุด ที่จะนำเจ้าของให้ตรงไปสู่มนุษย์ สวรรค์ และพระนิพพาน คืออริยทรัพย์นี้ ถ้าผู้ใดสั่งสมให้มากเท่าใดๆ ก็ให้บรรลุสมบัติยิ่งๆ ขึ้น ไป ถ้าทำพอประมาณ ก็ให้ได้มนุษย์สมบัติ สูงขึ้นไปก็ให้สำเร็จสวรรค์สมบัติ ตลอดถึงพรหมสมบัติและพระนิพพานสมบัติ เหตุนั้นอริยทรัพย์นี้จึงจัดเป็นทรัพย์อันประเสริฐ อริยทรัพย์นั้นมีอยู่ ๗ ประการคือ

          ๑. ทรัพย์ คือ ศรัทธา
          ๒. ทรัพย์ คือ ศีล
          ๓. ทรัพย์ คือ หิริ
          ๔. ทรัพย์ คือ โอตตัปปะ
          ๕. ทรัพย์ คือ สุตะ
          ๖. ทรัพย์ คือ จาคะ
          ๗. ทรัพย์ คือ ปัญญา
               ๑. คำว่า ศรัทธา แปลว่า ความเชื่อ มีอยู่หลายอย่างหลายประการ แต่ในที่นี้จะนำมาบรรยายเพียง ๒ ประการคือ
          ๑) ปกติศรัทธา เชื่อตามปกติของสามัญชน คือเชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทำบาปได้บาป ทำบุญได้บุญ เชื่อต่อคุณของพระรัตนตรัย ดังประชาชนชาวไทยของเราพากันเชื่ออยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ ปกติศรัทธานี้ อาจเปลี่ยนแปลงได้ เช่นมีผู้มาว่า ศาสนานั้นดีอย่างนั้นอย่างนี้ ลัทธิโน้นดีอย่างนั้น ลัทธินี้ดีอย่างนี้ เราอาจจะเลิกละจากศาสนาพุทธ ไปถือศาสนาอื่น หรือลัทธิอื่นก็ได้ เพราะยังเป็นปกติศรัทธา ศรัทธาธรรมดาอยู่ อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ ดังที่พวกเราเห็นอยู่ทุกวันนี้แหละ บางทีเรานับถือศาสนาพุทธอยู่ดีๆ พอเขามา โฆษณาเขามาว่าอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็ไปถือศาสนานั้นหรือลัทธินั้น
          ๒) ภาวนาศรัทธา ได้แก่ ความเชื่อของบุคคลที่ได้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน เห็นรูปนาม เห็นพระไตรลักษณ์ ได้บรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว เชื่ออย่างหนักแน่นมั่นคง ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนไม่หวั่นไหว เรียกว่า อจลศรัทธา หมายเอาความเชื่ออันเกิดจากภาวนาซึ่งตนได้ลงมือประพฤติปฏิบัติ พิสูจน์เห็นแจ้งประจักษ์มาแล้ว ดังหลักฐานปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ หน้า ๕ ว่า.......
อิธ ภิกฺขเว อริยสาวโก สทฺโธ โหติ สทฺทหติ ตถาคตสฺส โพธึ อิติปิโส ภควา… พุทฺโธ ภควาติ อิทํ วุจฺจติ ภิกฺขเว สทฺธาธนํ.

          "......ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระอริยสาวกในพระศาสนานี้ เป็นผู้มีศรัทธาเชื่อต่อปัญญาเครื่องตรัสรู้ของพระตถาคตเจ้าว่าเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว รู้แจ้งโลก เป็นสารถีผู้ฝึกบุคคลอย่างยอดเยี่ยม เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ เป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบาน เป็นผู้มีโชค ดังนี้.......
                    ความเชื่อดังที่กล่าวมานี้ เรียกว่า สทฺธาธนํ ทรัพย์คือ ศรัทธา
๒. คำว่า ศีล แปลว่า ความรักษากายวาจาให้เรียบร้อย ได้แก่ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล                         ๒๒๗ ในที่นี้จะได้นำเรื่องศีลมาบรรยายเพียง ๒ ประการ
             ๑) ปกติศีล ได้แก่ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีลอุโบสถ ศีล ๒๒๗ ที่บุคคลรักษากันอยู่ทุกวันนี้ เป็นศีลขั้นสามัญ ศีลสังคม
            ๒) ภาวนาศีล ได้แก่ศีล ๕ ศีล ๘ ศีลอุโบสถ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ของผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน เป็นศีลในองค์มรรค เกิดแก่ผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ผ่านญาณที่ ๔ คือ อุทยัพพยญาณ ไปจนถึงมรรคญาณ ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ เรียกว่าภาวนาศีล เป็นศีลที่เกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนาภาวนา ที่ว่า สีลธนํ ทรัพย์คือศีลในที่นี้หมายเอาภาวนาศีลอย่างนี้
            ๓) คำว่า หิริ แปลว่า ความละอายต่อบาป ต่อทุจริต ทางกาย ทางวาจา และทางใจ
           ๔) คำว่า โอตตัปปะ แปลว่า ความสะดุ้งกลัวต่อบาป ทุจริตทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจหิริกับโอตตัปปะนี้ จะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยเหตุ ๒ ประการ คือ
                   ๑) เหตุภายนอก มีอยู่ ๔ อย่าง คือ
                                 (๑) กลัวต่อการถูกติเตียนตนด้วยตนเอง

                                 (๒) กลัวต่อการถูกติเตียนจากผู้อื่น
                                 (๓) กลัวต่อราชทัณฑ์ คือกฎหมายบ้านเมือง
                                 (๔) กลัวต่อภัยในอบายภูมิ

                  ๒) เหตุภายใน มีอยู่ ๘ ประการคือ

                                  (๑) กุละ มีความละอายบาปกลัวบาป โดยคำนึงถึงตระกูลของตน
                                  (๒) วยะ มีความละอายบาปกลัวบาป โดยคำนึงถึงวัยของตน
                                  (๓) พาหุสัจจะ มีความละอายบาปกลัวบาป โดยคำนึงถึงการศึกษาของตน
                                  (๔) ชาติมหัตตะ มีความละอายบาปกลัวบาป โดยคำนึงถึงชาติอันประเสริฐของตน
                                 (๕) สัตถุมหัตตะ มีความละอายบาปกลัวบาป โดยคำนึงถึงพระพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ บิดามารดา
                                  (๖) ทายัชชมหัตตะ มีความละอายบาปกลัวบาป โดยคำนึงถึงมรดก ว่าเราทั้งหลายนี้ จะต้องได้รับมรดกธรรมจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และจากครูบาอาจารย์ จะต้องได้รับมรดกจากพ่อแม่ ตนเองผู้รับมรดกนั้น จะต้องรักษามรดกนั้นไว้ให้ดีตลอดไป เมื่อคิดขึ้นมาได้อย่างนี้ ก็มีความละอายบาปกลัวบาปขึ้นมา
                                  (๗) สพรหมจารีมหัตตะ มีความละอายบาปกลัวบาป โดยคำนึงถึงเพื่อนฝูงที่ดี ซึ่งเคยพบเห็นกันมา
                                  (๘) สุรภาวะ มีความละอายบาปกลัวบาป โดยคำนึงถึงความกล้าหาญ และความสงบเสงี่ยมเจียมตนของตน

               เมื่อบุคคลระลึกถึงเหตุภายนอกภายในเหล่านี้แล้ว จะเกิดความละอายต่อบาป กลัวต่อผลของบาป ไม่กล้าทำชั่วทางไตรทวาร ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ย่อมจะได้รับความสุขกายสบายใจทั้งในภพนี้และภพหน้า  หิริและโอตตัปปะทั้ง ๒ นี้ ที่จัดเป็นอริยทรัพย์นั้น หมายเอาเฉพาะหิริโอตตัปปะ ที่เกิดขึ้นแก่ท่านผู้เจริญวิปัสสนาผ่านญาณ ๑๖ ไปดีแล้ว ย่อมงดเว้นจากปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจจฉาจาร มุสาวาท และเว้นจากดื่มสุราเมรัยเป็นต้น
               ๕. คำว่า สุตะ แปลว่า การสดับตรับฟังพระสัทธรรมเทศนา เพื่อให้เกิดความรู้หรือเกิดปัญญา เกิดพหุสูต   พหุสูตนั้น มีอยู่ ๓ ประการคือ
                     ๑) ปริยัติพหุสูต เป็นผู้ศึกษาเล่าเรียนมาก ได้สดับตรับฟังมามาก
                    
๒) ปฏิปัตติพหุสุต เป็นพหูสูต เพราะลงมือปฏิบัติธรรมมามาก ย่อมฉลาด ย่อมสามารถ ย่อมเข้าใจในการปฏิบัติธรรมในการแก้อารมณ์ของตนและคนอื่น เช่น เวลาเกิดนิมิต มีซากศพ เป็นต้น เกิดขึ้นมา จะต้องกำหนดให้นิมิตนั้นหายไปถ้าเรากำหนด ๓-๔ ครั้งไม่หาย ให้เข้าใจเถิดว่า สติ สมาธิ ปัญญา ของเรายังหย่อน ต้องลุกไปเดินจงกรมเพิ่มสัก ๕ นาที ๑๐ นาที หรือ ๒๐ นาที ๓๐ นาที จึงมานั่งสมาธิต่อไป สติ สมาธิ ปัญญา และญาณจะได้ดีขึ้น เป็นต้น

                                ๓) ปฏิเวธพหุสุต เป็นพหุสูต เพราะรู้แจ้งแทงตลอดสภาวธรรมนั้นๆ ตามขั้นแห่งการปฏิบัติของตน เช่นรู้แจ้งปัจจุบันธรรม รู้แจ้งรูปนาม รู้แจ้งพระไตรลักษณ์ รู้แจ้งมรรคผล พระนิพพาน หรือรู้แจ้งแทงตลอดวิสุทธิ ๗ รู้แจ้งแทงตลอดญาณ ๑๖ สุตะ ที่จัดเป็นอริยทรัพย์ในที่นี้ หมายเอาปฏิเวธพหุสูตนี้
                  ๖. คำว่า จาคะ แปลว่า การบริจาค แบ่งเป็น ๓ คือ
                                      ๑) บริจาคตามปกติ เช่น บริจาคไทยธรรมต่างๆ มีบริจาคผ้าทอดกฐิน ทอดผ้าป่า บริจาคปัจจัยถวายทาน เป็นต้น
                          ๒) 
บริจาคอย่างกลาง เรียกว่า ปริจาคโวสสัคคะ คือ ผู้นั้นมาเจริญวิปัสสนา ละกิเลสเพียง ตทังคปหาน คือละได้ชั่วครู่ชั่วขณะบ้าง ละด้วยอำนาจของวิขัมภนปหานบ้าง คือข่มกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้ด้วยกำลังของฌาน ในขณะที่กำลังของฌานมีอยู่ กิเลสทั้งหลายทั้งปวงนั้น เกิดขึ้นไม่ได้ ดุจเอาหินทับหญ้าไว้ ฉะนั้น

                         ๓) บริจาคอย่างสูง เรียกว่า ปักขันทนโวสสัคคะ คือ การสละกิเลส โดยเป็นสมุจเฉทปหาน แล่นไปสู่พระนิพพาน มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ท่านหมายเอามรรคญาณ
รวมความว่าบริจาคนั้นมี ๓ อย่าง คือบริจาคทานตามปกติ เช่นบริจาคปัจจัย ๔ มีจีวร บิณฑบาต เป็นต้น อย่างหนึ่ง บริจาคโดยการละกิเลส ด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ชั่วครู่ชั่วคราว แต่ยังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพานอย่างหนึ่ง และการละกิเลสโดยเด็ดขาดด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐานจนได้บรรลุมรรคผลนิพาน นั้นอย่างหนึ่ง
               ย่อให้สั้นจำได้ง่าย ก็ได้แก่ การบริจาคของภายนอก มีจตุปัจจัยไทยธรรมเป็นต้น                   ๑ บริจาคภายใน กล่าวคือการละความโลภ ความโกรธ ความหลงเป็นต้น ๑
จาคะที่จัดเป็นอริยทรัพย์ในที่นี้ ได้แก่การละกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานเท่านั้น
๗. คำว่า ปัญญา แปลว่า ความรอบรู้ แบ่งเป็น ๔ คือ

             ๑) สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการสดับตรับฟัง เกิดจากการศึกษาเล่าเรียนใครเรียนมากก็รู้มาก ใครเรียนน้อยก็รู้น้อยเช่น เรียนนักธรรมชั้นตรี นักธรรมชั้นโท นักธรรมชั้นเอก หรือ เปรียญ ๓ เปรียญ ๔ เปรียญ ๕ เป็นต้น เราก็ได้ความรู้ขั้นนั้น ถ้าใครเรียนได้มาก ผู้นั้นก็ได้ความรู้มาก ทางโลกก็เหมือนกัน เราเรียนน้อยก็ได้ความรู้น้อย เรียนมากก็ได้ความรู้มาก จนสำเร็จถึงขั้นปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก
            ๒) ววัตถปัญญา ได้แก่ ปัญญาของบุคคล ที่ได้เริ่มลงมือเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เริ่มกำหนดรูปนามเป็นอารมณ์

           ๓) สัมมสนปัญญา ได้แก่ ปัญญาของผู้ที่ลงมือเจริญวิปัสสนากรรมฐานกำหนดรูปนาม รู้รูปนาม รู้เหตุปัจจัยของรูปนาม รู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รู้ความเกิดและความดับของรูปนาม รู้เฉพาะความดับไปของรูปนาม เห็นรูปนามเป็นของน่ากลัว เห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม เกิดความเบื่อหน่ายในรูปนาม อยากออกอยากหนี อยากหลุดพ้นไปจากรูปนาม มีความเพียรเข้มแข็ง มีใจเฉยๆ เตรียมตัวเข้าสู่มรรคผล พระนิพพาน โดยอาการ ๓ อย่าง คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างใดอย่างหนึ่ง หน่วงเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ ญาณที่ ๑ จนถึงญาณที่ ๑๓ คือโคตรภูญาณนั่นเอง เรียกว่า สัมมสนปัญญา
           ๔) อภิสมยปัญญา ได้แก่ ปัญญาที่รู้แจ้งแทงตลอดซึ่ง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ได้แก่ญาณที่ ๑๔ คือมรรคญาณนั่นเอง ญาณนี้เป็นโลกุตตระ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์

         ปัญญาที่จัดเป็นอริยทรัพย์ในที่นี้ ได้แก่ ปัญญาข้อที่ ๔ คือ อภิสมยปัญญาเท่านั้น

ปัญญาทางโลกจะเกิดขึ้นได้ ก็เพราะอาศัยบุคคลศึกษาเล่าเรียนค้นคว้า ถ้าคนฉลาดสามารถมีปัญญาดีแล้ว ย่อมหาเงินได้ง่ายๆ คือ หาเอาจากมนุษย์ก็ได้ เช่น ทำหวีหวีผมมาขายบ้าง ทำสบู่ฟอกตัวบ้าง ทำแปรงสีฟันบ้าง ทำยาสีฟันบ้าง ทำนำ้มันทาผมบ้าง ทำเครื่องวิทยุโทรทัศน์ โทรภาพบ้าง เป็นต้น ในทางโลกถ้าคนฉลาดสามารถมีปัญญาดี ก็หาเอาเงินทองได้จากภายในตัวเรานี้เอง ข้อนี้ฉันใด ในทางธรรมก็เหมือนกันฉันนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงค้นคว้า หาเอามรรคผลนิพพานจากร่างกายอันยาววาหนาคืบนี้ ดังบาลีรับสมอ้างที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๑ หน้าที่ ๖๔ บรรทัดที่ ๑๐ ว่า

อิมสฺมึเยว พฺยามมตฺเต กเฬวเร สสญฺญมฺหิ สมนเก โลกญฺจ ปญฺญาเปมิ โลกสมุทยญฺจ โลกนิโรธญฺจ โลกนิโรธคามินิญฺจ ปฏิปทนฺติฯ

แปลว่า ในอัตภาพอันยาววาหนาคืบ อันเป็นกเฬวรากซากศพ ซึ่งเป็นไปกับด้วยเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้ เราย่อมประกาศให้ทราบว่า อริยสัจธรรมทั้ง ๔ คือ ๑. โลกัญจะ โลกคือทุกข์ ๒. โลกสมุทยัญจะ เหตุเกิดของโลก คือ สมุทัย ๓. โลกนิโรธัญจะ ความดับของโลก คือนิโรธ ได้แก่พระนิพพาน ๔. โลกนิโรธคามินิญจะปฏิปทัง ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับโลก ได้แก่มรรค ดังนี้
            ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นหลักของอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการ พอจะกล่าวได้ใจความว่า ในทางโลกนั้น คนฉลาดย่อมหาเอาทรัพย์สมบัติจากร่างกายของเรานี้เอง เราลองไปดูตามร้านขายของทุกประเภท จะเป็นเครื่องอะไรก็ตาม ถ้านึกมาใส่ตัวเราแล้ว เขาขายเพื่อให้เรานี้มาปรนเปรอร่างกายอันยาววาหนาคืบของเรานี้ ขายเครื่องดื่มก็ดี ขายผ้าผ่อนแพรพรรณก็ดี ขายเครื่องเพชรเครื่องทองก็ดี ขายกะปิน้ำปลา ขายเกลืออะไรต่างๆ ก็ขายเพื่อให้เราได้บำรุงบำเรอร่างกายอันยาววาหนาคืบนี้ เพราะเหตุนั้นคนที่มีปัญญา มีความฉลาด เขาสามารถหาเอาเงินจากร่างกายอันยาววาหนาคืบนี้ ไม่จำเป็นต้องไปหาที่ประเทศนอก ประเทศอื่น ข้อนี้ฉันใด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหล่าสาวกอรหันต์ เหล่าอริยบุคคลทั้งหลายทั้งปวง ที่ท่านได้บรรลุมรรคผล พระนิพพานนั้น ท่านก็หาเอาจากอัตภาพอันยาววาหนาคืบนี้ฉันนั้น หรือผู้ที่ได้มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ พรหมสมบัติก็ดี ได้วิชชา ปฏิสัมภิทา อภิญญาก็ดี สมบัติและคุณวิเศษเหล่านี้ เมื่อจะเกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นจากร่างกายอันยาววาหนาคืบนี้ ร่ายกายอันยาววาหนาคืบนี้ เป็นก้อนสัจธรรม ธรรมะทั้งแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์คาถา ก็รวมอยู่ที่นี้ เหตุนั้นท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เวลาประพฤติปฏิบัติ เราอย่าไปเหม่อมองหรือใฝ่ฝัน หรือนึกถึงแต่เรื่องนอกตัวของเรา ทุกสิ่งทุกอย่างขอให้ระลึกถึงตัวของเราเป็นหลักไว้ว่า ธรรมะอยู่ที่นี้ เราบรรลุสมาธิ สมาบัติ มรรคผล พระนิพพานอะไรนั้น ก็อยู่ที่ร่างกายอันยาววาหนาคืบของเรานี้ ครูบาอาจารย์ท่านจึงได้สอนว่า ให้มีสติสัมปชัญญะดูร่างกายอันยาววาหนาคืบนี้ ผลสุดท้ายก็จะได้มาซึ่งสมาธิ สมาบัติมรรคผล พระนิพพานเอง
                อริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ มีแก่บุคคลใด เป็นหญิงก็ตาม เป็นชายก็ตาม ย่อมเป็นผู้มีความเชื่อมีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยหนักแน่นมั่นคงไม่หวั่นไหวเลย มีความเชื่ออยู่ตลอดไป จนกว่าจะถึงนิพพาน ดังมีเรื่องสาธกเป็นตัวอย่าง.......................

               ในครั้งพุทธกาล มีบุรุษคนหนึ่งเป็นโรคเรื้อน ชื่อว่านายสุปปพุทธกุฏฐิ วันหนึ่งไปฟังเทศน์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่งอยู่ที่ไกลๆ โน้น ไม่กล้าเขามาใกล้ เกรงคนอื่นจะรังเกียจ เมื่อฟังไปๆ ก็ส่งจิตส่งใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนาที่พระองค์ทรงแสดงส่งจิตตามไปพิจารณาตามไปๆ ผลสุดท้ายได้บรรลุเป็นพระโสดาบันเมื่อบรรลุพระโสดาบันแล้ว ก็คิดอยากจะเข้าไปกราบทูลคุณสมบัติที่ได้นั้น ในสำนักขององค์สมเด็จพระบรมศาสดา ขณะนั้น ท้าวสักกะทรงทราบแล้ว จึงปรากฏกายให้เขาเห็นแล้วพูดว่า ดูก่อน.....สุปปพุทธกุฏฐิ เธอเป็นมนุษย์ขัดสน เป็นมนุษย์ยากไร้ ถ้าเธอกล่าวว่า พระพุทธไม่ใช่พระพุทธ พระธรรมไม่ใช่พระธรรม พระสงฆ์ไม่ใช่พระสงฆ์ อย่าเลยพระพุทธเจ้าไม่ใช่ของเรา พระธรรมไม่ใช่ของเรา พระสงฆ์ไม่ใช่ของเรา เพียงเท่านี้ ฉันจะให้เงิน ฉันจะให้ทรัพย์สมบัติมากมายหาที่สุดมิได้ จนๆ อย่างเธอนี้ว่าซิ เธอจะเอาเท่าไร ฉันจะให้........เมื่อสุปปพุทธกุฏฐิได้ยินคำนั้น จึงถามว่า ท่านนี้เป็นใคร มาจากไหน ?   ฉันเป็นเทวดา เป็นพระอินทร์ มาจากเทวโลก   เมื่อท้าวสักกะกล่าวดังนั้น สุปปพุทธกุฏฐิจึงกล่าวขึ้นว่า อปฺเปหิ เทวเต ไป ๆ ๆ เทวดาอันธพาล เทวดาขี้ชั่ว อย่ามาพูดกับข้าพเจ้าว่าเป็นคนจน ข้าพเจ้าไม่จน ส่วนท่านนั้นแหละเป็นคนจน
                  พระอินทร์หายวับ ไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า วิสัยของคนถึงธรรมนี้ แม้จะจนแสนจน เราจะให้เงินให้ทองสักเท่าใดๆ ก็ไม่เอา เพียงแต่ให้พูดว่า พระพุทธเจ้าไม่ใช่พระพุทธ พระธรรมไม่ใช่พระธรรม พระสงฆ์ไม่ใช่พระสงฆ์ อย่าเลยพระพุทธเจ้าไม่ใช่ของเรา พระธรรมไม่ใช่ของเรา พระสงฆ์ไม่ใช่ของเราเพียงแค่นี้ก็ไม่เอา วิสัยของคนถึงธรรมนี้ มีความเชื่อมั่นในพระรัตนตรัยจริงๆ ไม่หวั่นไหว แม้ตนจะจนแสนจน ก็ไม่ยอมละพระรัตนตรัยพระพุทธเจ้าข้า...............องค์สมเด็จพระบรมศาสดา ทรงทราบเช่นนั้นจึงตรัสว่า....... ดูก่อนมหาบพิตร ลูกของอาตมาภาพไม่จน เป็นคนร่ำรวยที่สุด คือร่ำรวยทรัพย์ภายใน ถึงจนก็จนแต่ทรัพย์ภายนอกเท่านั้น ส่วนทรัพย์ภายในไม่จน มีบริบูรณ์พร้อมมูลแล้วทุกอย่าง แล้วพระองค์จึงทรงยกอริยทรัพย์ที่ ๗ ประการ มาตรัสเทศนาว่า

        สทฺธาธนํ สีลธนํ หิรี โอตฺตปฺปิยํ ธนํ สุตธนญฺจ จาโค จ ปญฺญา เว สตฺตมํ ธนํ

อริยทรัพย์ ๗ ประการ ทรัพย์คือศรัทธา ทรัพย์คือศีล ทรัพย์คือหิริ ทรัพย์คือโอตตัปปะ ทรัพย์คือสุตะ ทรัพย์คือจาคะ ทรัพย์คือปัญญา
       ยสฺส เอตา ธนา อตฺถิ อิตฺถิยา ปุริสสฺส วาอริยทรัพย์ ๗ ประการนี้ มีแก่บุคคลใด เป็นหญิงก็ตามชายก็ตาม  ,    อทลิทฺโทติ ตํ อาหุ อโมฆํ ตสฺส ชีวิตํ   
ชีวิตของบุคคลนั้น ไม่เปล่าจากประโยชน์เลย นักปราชญ์กล่าวบุคคลนั้นว่าไม่จน เป็นคนร่ำรวยที่สุด

       ดังนั้น ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ขอจงได้ภาคภูมิใจ ปลื้มใจ ปีติปราโมทย์ รื่นเริงบันเทิงใจ ดีใจได้แล้ว ที่เราได้มีโอกาสประพฤติปฏิบัติธรรม สร้างสมอบรมอริยทรัพย์อันประเสริฐให้เกิดให้มีขึ้นในตน อันโจรหรือใครก็ลักไปไม่ได้ ไฟก็ไม่ไหม้ น้ำก็ไม่ท่วม เป็นอนุคามินีติดตามตนไปทุกฝีก้าว เราจะไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา จะได้อาศัยอริยทรัพย์ เป็นเสบียงเดินทางไปสู่สุคติภพจนได้บรรลุมรรคผลนิพพาน อันเป็นเอกันตบรมสุข เป็นอวสาน….เราลุ่มหลง วัตถุ เพราะมองไม่ทะลุ สัจจะ เราจะอยู่เหนือ วัตถุ เมื่อมองทะลุ สัจจะ

                          ท่านกัลยาณธรรมและรัตนมิตรทุกท่าน โปรดได้อ่านให้ละเอียดแล้วพืจารณา  คิด  วิเคราะห์ แล้วหาช่องทางที่จะประพฤติ ปฏิบัติ เพื่อให้เกิดชีวิตที่เป็นสุข....ขอศีลธรรมจงตั้งมั้นในดวงจิตของทุกท่าน มีความสุขความเจริญจงทุกประการ....เทอญ

                                             

หมายเลขบันทึก: 578063เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2014 09:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2014 09:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การให้ธรรมะย่อมชนะการให้ทั้งปวง...สาธุ ๆ ๆ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท