การเรียนด้านศิลปะและการออกแบบที่ญี่ปุ่น


หัวข้อต้องชัดเจน อาจารย์ต้องตอบรับ ไม่เช่นนั้นการเข้าเป็นนักศึกษาห่างไกลประมาณทางช้างเผือก บางคนเริ่มด้วยการเป็นเด็กรีเสริชก่อน รอสอบเข้า เรียนไม่นับหน่วยกิต ให้อาจารย์ได้คุ้นเคย ได้ศึกษาแนวคิด ตอนสอบเข้าอาจจะเข้าง่ายขึ้น ในแต่ละปีบางสถาบันเปิดรับรอบเดียว บางที่เปิดสองรอบ เช็คให้ดีไม่งั้นจะเจ็บปวดกับการรอคอยแน่ ๆ ส่วนใหญ่เปิดรับสมัครช่วง เดือน 12-1 เพื่อเข้าเดือน 4 และช่วง เดือน7-8 เพื่อเข้าเดือน 10 เล็งให้ดี ยิงให้ตรง เรื่องภาษาฉันถือว่าพอถูพอไถเลยยื่นโทเฟิลแทน บางสถาบันเลือกยื่นได้ระหว่างอังกฤษกับญี่ปุ่น แต่ต้องควรมีพื้นฐานญี่ปุ่นอยู่ดี ไม่ขำเลยถ้าเนียนญี่ปุ่นไม่ได้ โหดร้ายชีวิตแน่นอน แถมหน่อยเรื่อง Portfolio ควรทำเป็นไซส์ A3ที่นี่เค้าปลื้มไซส์นี้ เตรียมไปพรีเซนต์ตอนสอบสัมภาษณ์ ซัดให้เต็มเหนี่ยวไปเลย

ฉากสาม “พกความมั่นใจ”

อาจารย์ทั้งภาควิชาจะนั่งรออยู่ในห้องสัมภาษณ์ ล้อมฉันราวกับล้อมอโยธยาศรีรามเทพนคร ยิงคำถามสารพัด โดยเฉพาะเรื่องหัวข้อวิจัยที่อยากจะทำ ฉันพอคาดสถานการณ์ได้ว่าจะเกิดคำถามอะไรขึ้นในขั้นตอนนี้แต่ไม่นึกว่าจะเจอแบบลุมล้อมอบอุ่นเช่นนี้มาก่อน แต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดีหากเราตกลงกับอาจารย์ที่ปรึกษาก่อน เค้าจะช่วยเราตอบช่วยทุกอย่างที่จะสามารถทำให้เราเข้าเป็นนักศึกษาของเค้าให้ได้ เกมส์นี้จะเห็นชัดเลยว่าเราจะต้องเลิฟๆกับอาจารย์ให้ได้ก่อน ที่เหลือปล่อยให้อาจารย์เค้าจัดการ และส่วนใหญ่หลายสถาบันก็เป็นแบบนี้ อย่าลืมจัดให้เต็ม ทำให้เนียนของฝากจากเมืองไทยเอาช้างขนไปฝากเลย เค้าจะเป็นเหมือนพ่อคนที่สองของเรา แม้กระทั้งเรื่องขอทุนหลังจากเป็นนักศึกษาแล้ว ส่วนเรื่องการสอบข้อเขียนจะมีแบบ ทดสอบความสามารถด้านดรออิ้ง ใครเป็นสถาปัตย์ก็แนวนั้น กราฟฟิกดีไซน์ก็แนวนึง โปรดักซ์ดีไซน์ก็อีกแบบนึง ข้อสอบไม่มีกากบาทให้มานั่งเดานะ มีไม่กี่ข้อปรนัยล้วนๆ แต่จะตอบเป็นตัวหนังสือหรือวาดรูป อันนี้แล้วแต่ละที่จะกำหนด พยายามเช็คว่ามีคนไทยเรียนอยู่หรือไม่ เผื่อมีตัวอย่างข้อสอบปีก่อนๆ เอามาดูเป็นตัวอย่าง

โฆษณาคั่น “ผู้ให้การสนับสนุน”

โดยทั่วไปทุกสถาบันมีทุนการศึกษาให้สำหรับนักเรียนต่างชาติแต่สายออกแบบได้ยาก ฉันยื่นขอไปไม่ต่ำกว่า 5-6แห่งแหล่งทุน ปรากฎว่าอดสนิทแต่น้องๆที่นี่บางคนก็มีได้รับเหมือนกัน โชคดีที่สถาบันฉันเป็นของรัฐค่าเล่าเรียนจึงถูกกว่าเอกชน และในบางเทอมสามารถทำเรื่องยื่นขอลดค่าเล่าเรียนได้ในอัตราจ่าย 50% 25% หรือฟรี แล้วแต่การพิจารณา ฉันร่ายมนต์กล่อมจิตคณะกรรมการอยู่เทอมนึงเค้าเมตตาลดค่าเทอมนั้นคือจ่ายแค่ครึ่งเดียว นั้นก็พอจะทำให้ฉันโล่งหัวใจนิ่มน้อยๆไปได้พักใหญ่ อีกทั้งปกติทุกสถาบันจะมีหอพักนักเรียนไว้ให้อาศัยในราคาแสนถูก ช่วยได้เยอะจริงอย่างที่พักฉันค่าใช้จ่ายตกราวๆ 4,000 บาท จัดว่าราคานี้ถูกกว่าในกรุงเทพด้วยซ้ำ แต่ว่าของดีและถูกใครก็ชอบฉะนั้นคิวจองยาว ต้องมีแก่งแย่งชิงกันหน่อย ใครดี ใครไว คว้าไป แต่ก็ใช่ว่าไม่ได้อยู่หอนักเรียนแล้วจะแพงเกินไป เพราะก็มีหอพักข้างนอกราคาย่อมเยาว์ไว้บริการเช่นกัน

ฉากสี่ “ตัวพระออกโรง”

แล้วฉันก็ได้เป็นนักเรียนสมใจ นี่แหละคือจุดเริ่มต้นที่แท้จริง หลายคนใช้เวลา งงชีวิตหลายเดือนกับการไม่รู้ว่าจะเริ่มทำอะไรเกี่ยวกับหัวข้อแม้ว่าเราจะวางแผนมาระดับนึง แต่สิ่งแรกที่ช่วยให้เราไม่เหงาไปนัก ก็ต้องลงเรียนวิชาบังคับให้ครบซะก่อน บอกตามตรงนอกจากเรียนวิชาบังคับแล้ว ฉันไม่ได้ดำเนินการทำวิจัยอะไรเลย เหนื่อย ขี้เกียจ เอาไว้ก่อน ล่วงไปเกือบ 6เดือน ถึงมารู้ตัวว่าต้องเริ่มมีผลงานบ้างแล้วล่ะ สิ่งนึงที่ฉันกำหนดคือ พยายามมีงานไปเสนออาจารย์ให้ได้ทุกๆเดือน ไปให้เค้าเห็นหน้า และ เห็นใจ ที่สำคัญงานออกแบบมันแก้ไขไม่จบสิ้น ให้เวลา 100ปี มันก็แก้ได้ 100ปี “งานออกแบบญี่ปุ่นไม่มีผิดไม่มีถูก คำว่าเหมาะสม (กับสถานการณ์, เวลา , การนำไปใช้ ) นั้นคือจุดลงตัว” สไตล์การออกแบบที่คำนึงถึงส่วนละเอียดอ่อน ทั้งในตัวผลงานและความรู้สึกของคน ที่นี่ประเสริฐเลิศเลอที่สุดแล้วในการจะมาเรียนรู้

ศาสตร์แจ่มๆที่ญี่ปุ่นเป็นตัวแม่คือ ศาสตร์ที่ชื่อว่า Kansei design การศึกษาปฎิกิริยาความรู้สึกของคนกับสิ่งที่สัมผัส ญี่ปุ่นเลยมีงานออกแบบแปลกประหลาด หลุดวงโคจรเพื่อมาสนองตัญหาของคนมากมาย ในศาสตร์ประเภทนี้มันครอบคลุมคืบคลานเข้าไปแทะโลมหัวใจฉันทีละน้อยๆ แถมคนที่นี่ก็เปิดกว้างยอมรับทุกไอเดีย แม้ฉันจะคิดว่าบางอย่างมันช่างแสนสยิวกิ้วเกินหัวใจอันบริสุทธิ์ของฉันจะทานทนไหว สังคมนักออกแบบที่นี่คล้ายตะวันตกแต่เจือด้วยลีลาชั้นเชิง กล่าวคือ ตอนเถียงงาน เถียงกันโรมรัน ใส่ไม่หยุด ฉุดไม่ไหว แต่ท่าทีการแสดงออกแสนจะละมุนละม่อม ไม่เหมือนแนวตะวันตก อย่าเงียบใบ้ เดี๋ยวเค้าจะหาว่า “อ่อน” ฉันก็เลยแสดงความคิดเห็นสุดฤทธิ์ (แต่ต้องมีข้อมูลนะอย่ามามั่ว) ญี่ปุ่นชอบการโต้แย้ง แต่ต้องมีลีลา มีทางออกให้ปัญหานั้นด้วย และจะขอบอกกระซิบข้างหลังหูคือที่นี่มีงานออกแบบชื่อดังมาจัดโชว์บ่อยมากศิลปินนักออกแบบชื่อดังบางที ฉันก็แอบเห็นนั่งกินราเมนอยู่ข้างทางโดยเฉพาะแถวโตเกียว มาเรียนอย่าเสียเที่ยว ไปดูให้เยอะสิทธิพิเศษของนักเรียนมากพอๆกับนายกรัฐมนตรี

เรียนที่นี่อย่าอยู่เป็นที่ๆเดียว พยายามทำตัวเป็นเซเลปไฮโซไปนู้นมานี่ มีงานไหนไปแจม จะเห็นของแปลกและดี ของบางอย่างไม่ต้องใช้ตังค์ ใช้ความเป็นนักเรียนนี่แหละ เค้าต้อนรับราวกับเรดคาเป็ตเชียว สังคมเค้าสนับสนุนการเรียนรู้ศึกษา เทคโนโลยีล้ำหน้าวิชาล้ำลึก เสาะแซะเข้าไปทุกมุม งัดออกมาดูมาชม มันก่อให้เกิดแรงบันดาลใจเยอะมาก ฉันนี่ก็ไปแซะมาใช้ในงานตัวเองหลายอันเหมือนกัน อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ตรงต่อเวลา แม้นักออกแบบหลายคนจะติ๊ดแตกแต่เรื่องเวลาเป๊ะมาก อย่าพลาดเชียว เพราะหลายอย่างเราต้องนัดเพื่อใช้งานเช่น เครื่องมือบางอย่างต้องจอง ต้องมีพนักงานคุม ทำเป็นเดินเนียนเข้าไปใช้ หรือ มาสายผิดนัด เดี๋ยวจะโดนไม่ใช่น้อย ต้องเคารพกฎที่เค้ามีอย่างเคร่งครัด (บางอย่างก็เว่อร์ไป..ทำใจเถอะ) เป็นอันว่าทุกอย่างได้ผ่านกระบวนการคิดมาแล้ว ปรับตัวให้ได้ล่ะกัน จะว่าไปแล้วทุกสาขาการออกแบบในการเรียนที่นี่มันมีจุดเด่นสิ่งนึงที่คล้ายกันคือ สนใจในรายละเอียด หยิบเอาธรรมชาติและความรู้สึกมาประกอบในงาน วิทยาศาสตร์กับศิลปะมันก้าวไปพร้อมกัน มาลองดูก่อนก็ได้ อย่างน้อยก็ถือว่ามาเที่ยวกินซูชิอร่อยๆ มาดูของแปลกตา ไม่แน่อาจตกหลุมรักเหมือนกับฉันก็ได้

นิดนึงต้องขอมาบอกคือ เมื่อรู้ตัวว่าจะมาญี่ปุ่นแล้วควรเข้าไปเป็นสมาชิกสมาคมนักเรียนไทยในญี่ปุ่น ซึ่งเค้ามีมา 70ปีได้แล้ว ตอนนี้มีเวปไซส์ www.tsaj.org ถือเป็นอีกแหล่งฐานข้อมูลที่จะช่วยเหลือนักเรียนไทยในญี่ปุ่น หลายด้านๆ เช่น การศึกษา การทำงาน การเป็นอยู่ ปัญหาทั่วไป มีเวปบอร์ดแบ่งเป็นเขต และเมืองต่างๆ ครอบคลุมทุกพื้นที่ของญี่ปุ่น ที่วิเศษเห็นจะมีกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละปีมีให้เลือกสรรเพียบ ฉันก็ถือเป็นสมาชิกหนึ่งในสมาคมฯเช่นกัน หลายครั้งก็แอบไปตั้งคำถามปัญหามากมาย กลุ่มนักเรียนที่นี่ก็แสนใจดี ตามมาตอบให้หายข้องใจหลายๆประเด็น

จะว่าไปแล้วญี่ปุ่นไม่ได้เป็นประเทศที่มาแล้วจะอ้างว้างเลย สังคมที่นี่อบอุ่น วัฒนธรรมน่าศึกษาเรียนรู้ การให้ความสนับสนุนในหลายๆด้านถือเป็นที่ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ความเข็มแข็งของกลุ่มนักเรียนไทยจัดว่าไม่เป็นสองรองใคร มาสัมผัสด้วยตัวเองจึงจะซาบซึ้งตรึงใจ ยากที่จะอธิบายเป็นภาษาเขียนได้หมด สิ่งเดียวที่ต้องนำมาจากเมืองไทยคือ “ทรรศนะคติในการปรับตัว” ต้องมีให้มาก พกมาให้เยอะ เพราะถ้ามีแล้วไปอยู่มุมไหนของญี่ปุ่น ก็แสนมหาสุขไม่ต่างกัน

หมายเลขบันทึก: 577566เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2014 15:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2014 15:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท