เลาะเลียบเรียนรู้...กระบวนการขับเคลื่อนระบบสุขภาพแบบมีส่วนร่วม อ.สารภี จ.เชียงใหม่ (ตอนที่ ๖)


         ตอนที่ ๕

          คุณเจริญ นาวงศ์ แกนนำชุมชนจากตำบลสันทรายมหาวงศ์ เป็นอีกหนึ่งท่านที่ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และบทบาทของชุมชนตำบลสันทรายมหาวงศ์ในกระบวนการขับเคลื่อนระบบสุขภาพชุมชนไว้ว่า “ในพื้นที่ตำบลสันทรายมหาวงศ์ มีระบบภาคการเกษตรที่หลากหลายและครบวงจร โดยเน้นเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดสาร เกษตรปลอดภัย มีการหนุนเสริมชุมชน ในการสร้างจิตสำนึกใหม่ ให้ผลิตผลผลิตปลอดภัย ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิต รวมทั้งยังมีการหนุนเสริมท้องถิ่นท้องที่ มีเวทีพื้นที่กลาง ให้ชุมชนได้พูดจากัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และหาทางออกร่วมกัน โดยมีสภาชุมชนเป็นตัวผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหา และพัฒนาชุมชนในทุกๆ เรื่อง ทุกๆ ด้าน”

          แม่ทองดี โพธิยอง ประธานเครือข่ายภูมิปัญญาไทย ได้ให้ภาพการทำงานอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนกับหน่วยงาน/องค์กรอื่นๆ ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้ “การทำงานกับภาคชุมชน เรามีการทำงานร่วมกัน และประสานงานกับหน่วยงานราชการต่างๆ ในพื้นที่เป็นอย่างดี มีการแบ่งบทบาทหน้าที่กัน ใครทำอะไรก็ช่วยกัน โดยการขับเคลื่อนสุขภาพของชุมชนของเรา เริ่มมาจากงานวิจัย ซึ่งเป็นงานวิจัยที่กินได้และไม่ได้อยู่บนหิ้ง ผลจากงานวิจัยทำให้เรารู้ว่า คนสารภีเป็นโรคทางเดินหายใจสูงมาก ทั้งๆ ที่อำเภอสารภีอุดมสมบูรณ์มาก ดินดีน้ำดี ผู้คนก็มีน้ำใจไมตรี ไปไหนก็มีแต่รอยยิ้ม แต่เมื่อถึงหน้าแล้งควันหมอกจากอำเภออื่นๆ จะมาปกคลุมพื้นที่อำเภอสารภีเต็มไปหมด จึงเกิดความร่วมมือกันระหว่างชุมชนกับโรงพยาบาลสารภี คณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิทยาลัยบรมราชชนนี หน่วยงานอื่นๆ เช่น สปสช. สสส. และตระกูล ส. ทั้งหลาย เป็นต้น มาช่วยกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยมีการจัดเก็บขยะ งานศพปลอดเหล้า ช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม เฝ้าระวังป้องกันหมอกควัน รวมไปถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ สุขภาวะของคนสารภี ซึ่งการทำงานร่วมกันเหล่านี้ ทำให้พี่น้องชาวบ้านรักและดูแลเอาใจใส่ช่วยเหลือกันมากขึ้น และตอนนี้ที่กำลังดำเนินการอยู่ คือ การรวบรวมปราชญ์ชาวบ้านที่เป็นผู้รู้มาช่วยกันทำงาน ช่วยกันขับเคลื่อนศูนย์เรียนรู้ ซึ่งควรจะมี ๑ ตำบล ๑ ศูนย์เรียนรู้

          นอกจากนั้น ยังมีการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพตำบล การผลักดันให้ชาวบ้านปลูกลำไยอินทรีย์ เพราะลำไยเป็นพืชที่มีประโยชน์มาก เป็นทั้งอาหาร ยา ไม้ใช้สอย รักษาระบบนิเวศน์ สร้างรายได้ โดยได้มีการจัดตั้งกองทุนลำไยอินทรีย์ เก็บเงินเข้ากองทุน ต้นละ ๑ บาท เพื่อมาไว้เป็นกองทุนในการช่วยเหลือเกษตรกร ตอนนี้ในกองทุนนี้มีเงินอยู่แสนกว่าบาท โดยในอนาคตหน่วยงานภาครัฐอาจจะเข้ามาร่วมหุ้นกับชาวบ้านด้วยก็ได้ ภาพฝันเราต้องการให้มีบำเหน็จบำนาญให้กับเกษตรกร ให้พวกเราพ้นจากความเป็นหนี้ ความยากจน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดจากแนวคิดของชาวบ้านเอง เป็นการคิดร่วมกันของชาวบ้าน เป็นการระเบิดจากข้างใน จากความต้องการของชาวบ้านเอง และต่อไป เราจะต้องมีเครือข่ายสภาเกษตรอินทรีย์

          รวมทั้ง มีแนวคิดที่จะสร้างผู้ช่วยหมอ เช่น หากในอำเภอสารภีมีคนป่วย ๕๐๐ คน ก็ต้องมีผู้ช่วยหมอ ๕๐๐ คนเช่นเดียวกัน เป็นต้น เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของหมอ พยาบาล โรงพยาบาล และลดค่าใช้จ่ายของแผ่นดิน ในการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง และโรคติดต่อ เรียกได้ว่าเป็นชีวินอภิบาลจริงๆ”

          จากการสะท้อนแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ของแกนนำชุมชนทั้ง ๔ ท่าน ทำให้เราเห็นภาพกระบวนการขับเคลื่อนระบบสุขภาพที่อยู่ในมือของประชาชนและชุมชนในฐานะเจ้าของสุขภาพ เป็นความร่วมไม้ร่วมมือในการจัดการสุขภาพตนเองของชุมชน หน่วยงานและองค์กรอื่นๆ เป็นเพียงผู้หนุนเสริมให้ชุมชนได้จัดการสุขภาพของชุมชนของตนเองอย่างชัดเจน 

          (ติดตามตอนต่อไป)

                                                                                                                                                                 นภินทร

หมายเลขบันทึก: 577544เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2014 14:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2014 14:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท