คอนเทมโพรารี่แดนซ์


คอนเทมโพรารี่แดนซ์ (Contemporary Dance) เป็นรูปแบบการเต้นที่เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 20 การเต้นคอนเทมโพรารี่แดนซ์ เป็นการรวมระบบและรูปแบบต่างๆของการเต้นที่พัฒนามาจากการเต้นแบบโมเดอร์นแดนซ์ (Modern Dance) และโพสต์โมเดอร์นแดนซ์ (Post-Modern Dance) มากกว่าที่จะเป็นการหมายถึงเทคนิคการเต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง การเต้นแบบคอนเทมโพรารี่แดนซ์ ได้พัฒนาควบคู่มากับการเต้นแบบใหม่หรือ New Dance ในประเทศอังกฤษ การเต้นคอนเทมโพรารี่แดนซ์ในประเทศทางแถบ อเมริกา ยุโรป และในทวีปเอเชียจะมีลักษณะที่แตกต่างกัน เทคนิคของการเต้นแบบคอนเทมโพรารี่แดนซ์เป็นเรื่องที่ค่อนข้างกว้างเนื่องจากสามารถเป็นได้ทั้งเทคนิคที่ใช้ในการเต้น โมเดอร์นแดนซ์ (Modern Dance) โพสต์โมเดอร์นแดนซ์ (Post-Modern Dance) การแสดงสด (Improvisation) การเต้นแบบคู่หรือเป็นกลุ่ม (Contact Improvisation) การเต้นที่นำการแสดงละครเข้ามาประกอบ (Dance Theatre) และการเต้นที่นำเทคโนโลยีต่างๆเข้ามาประกอบ (Dance Technology) อาทิเช่น การใช้โปรเจคเตอร์เข้ามาฉายประกอบหรือเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอ เป็นต้น การเต้นแบบคอนเทมโพรารี่แดนซ์เป็นการพัฒนาทางด้านความสามารถทั้งทางร่างกายและจิตใจของมนุษย์ อาจเป็นการแสดงออกถึงความแข็งแรงและแข็งแกร่งของร่างกาย ความสามารถในการยืดหยุ่นและความสามารถพิเศษต่างๆของร่างกาย หรือแสดงถึงความสามารถในการออกแบบท่าเต้น เทคนิคการออกแบบการแสดงในรูปแบบต่างๆก็ได้ น่าจะถือได้ว่าการแสดงการเต้นรำที่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นการเต้นบัลเล่ต์ บอลรูมแดนซ์ แจ๊สแดนซ์ ฟลามิงโก หรือสามารถจัดให้อยู่ในการเต้นประเภทใดประเภทหนึ่งได้คือการเต้นแบบคอนเทมโพรารี่แดนซ์ นักเต้นและผู้ออกแบบท่าเต้นแบบคอนเทมโพรารี่แดนซ์ที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ ได้แก่ Martha Graham, Trisha Brown, David Gordon และ Merce Cunningham เป็นต้น การเต้นบัลเล่ต์นั้นเริ่มเข้ามาในประเทศไทยในช่วงปลายรัชการที่ 7 เนื่องจากปรากฎว่ามีการเรียนการสอนบัลเล่ต์ควบคู่กันกับการสอนรำละคอนไทยในโรงเรียนนาฏศิลป (วิทยาลัยนาฏศิลป) ของนักเรียนรุ่นแรกๆ แต่การเต้นแบบคอนเท็มโพรารี่แดนซ์ในประเทศไทยเริ่มขึ้นได้อย่างไรยังไม่มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานที่แน่ชัด แต่กระนั้นก็ยังสามารถกล่าวได้ว่าน่าจะเริ่มมีการเต้นสมัยใหม่ที่เรียกกันว่าโมเดอร์นแดนซ์แสดงขึ้นในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2501-2505 โดยกลุ่มนักเรียนไทยที่ได้ไปศึกษายังประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในช่วงเวลานั้น การเต้นแบบคอนเท็มโพรารี่แดนซ์ได้เริ่มเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นในปัจจุบันโดยผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาได้แก่ นักเต้น ครูสอนเต้น ผู้ออกแบบท่าเต้น และนักเรียนที่ศึกษาวิชาการเต้นรำ ซึ่งได้สร้างผลงานออกมาในลักษณะต่างๆกัน โดยวิธีการและท่าทางที่ใช้ในการนำเสนอจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ การนำเอาศิลปวัฒนธรรมไทยเข้ามาผสมผสานกับศิลปะในรูปแบบอื่นๆ สกุลอื่นๆ ตัวอย่างเช่น การเต้นที่เป็นการเคลื่อนไหวแบบตะวันตกแต่ใช้เนื้อเรื่องหรือแนวความคิดที่เป็นไทย หรือการผสมผสานการเคลื่อนไหวและท่าทางของนาฏศิลป์ไทยและนาฏศิลป์ตะวันตกเข้าด้วยกัน และการใช้ศิลปะและการเคลื่อนไหวแบบตะวันตกล้วนๆ ในสมัยก่อนคนทั่วไปที่ไม่มีความรู้ความสามารถทางด้านการเต้นรำจะไม่กล้าเข้ามาเป็นผู้ออกแบบท่าเต้น ในปัจจุบันการศึกษาได้เปิดกว้าง ผู้คนมีความรู้ความสามารถหลากหลายขึ้น เมื่อมีความคิดแบบใหม่ๆเกิดขึ้นมา และสื่อได้มีการนำเสนออย่างทั่วถึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ดังจะเห็นได้ว่าคนรุ่นใหม่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และกล้าที่จะแสดงออกมากกว่า

หมายเลขบันทึก: 577521เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2014 11:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2014 11:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท