นักเขียนใหม่ กับ ค่าเรื่อง


งานวรรณกรรมมีหลายแขนง เช่น บทความ สารคดี เรื่องสั้น นิยาย เป็นต้น หลายคนชื่นชอบการเขียนและอยากจะมีผลงานออกสู่สายตาของคนอ่าน มันเป็นความภูมิใจส่วนตัวกับความสามารถของตน เมื่องานเขียนมีสำนักพิมพ์สนใจติดต่อขอพิมพ์เป็นเล่ม จึงเป็นความดีใจจนมองข้ามการถูกเอาเปรียบเกินเหตุในสัญญา ทำให้กลายเป็นทาสของสัญญาลิขสิทธิ์ไปหลายปี นักเขียนใหม่หลายคนไม่ทราบเลยว่า มาตรฐานค่าเรื่องและการผูกมัดในสัญญาที่นักเขียนกับสำนักพิมพ์ควรมีลักษณะอย่างใดที่ไม่เป็นการเอาเปรียบกันเกินไปหรือที่เรียกว่า สัญญาเป็นธรรม

หลังจากได้พูดคุยกับนักเขียนใหม่คนหนึ่งที่เสนองานทางบอร์ดในเว็บไซด์หนึ่งและเป็นที่นิยมของคนอ่านอย่างมาก สำนักพิมพ์หนึ่งติดต่อเขาว่าสนใจพิมพ์รวมเล่ม หลังจากได้รับไฟล์ต้นฉบับไปอ่านครบทุกตอนจึงตอบรับในขั้นตอนสุดท้าย จากนั้นก็เป็นข้อเสนอในสัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์เพื่อการพิมพ์เป็นเล่มที่ทุกสำนักพิมพ์ต้องจัดทำขึ้นระหว่างนักเขียนและสำนักพิมพ์ รายละเอียดในสัญญานี้มีความน่าสนใจที่ต้องไตร่ตรองให้รอบคอบก่อน สำนักพิมพ์เสนอว่า จะจ่ายค่าเรื่องแบบเหมาจ่ายครั้งเดียว ระยะเวลาในสัญญา คือ 5 ปีที่เขาจะเป็นผู้จัดพิมพ์ฝ่ายเดียวเท่านั้น โดยจะไม่มีการจ่ายค่าเรื่องตามจำนวนพิมพ์แต่ละครั้งในระหว่าง 5 ปี นั้น หมายความว่า นักเขียนจะได้เงินค่าเรื่องแค่ครั้งแรกโดยไม่คำนึงถึงจำนวนพิมพ์ หากมีการพิมพ์ครั้งต่อไป นักเขียนจะไม่ได้รับค่าเรื่องตามจำนวนพิมพ์อีกถ้าเรื่องนั้นเป็นที่นิยมในกลุ่มนักอ่าน สำนักพิมพ์จะสร้างกำไรมหาศาล ส่วนนักเขียนหมดสิทธิ์รับประโยชน์ใดๆจากการจัดพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก ในทางกลับกันเมื่อเรื่องไม่ได้รับความนิยมเพียงพอ จักถูกกักไว้ด้วยระยะเวลานาน 5 ปี สำนักพิมพ์จ่ายเงินไปแค่ครั้งแรกเท่านั้น มิได้เสียหายใดๆเพราะหนังสือต้องขายได้มากกว่าค่าเรื่องอยู่แล้วหากเป็นนักเขียนใหม่ที่ขาดประสบการณ์และตื่นเต้นกับโอกาสที่หยิบยื่นให้เขา ย่อมมองไม่เห็นผลเสียหายของนักเขียนเลย โดยเฉพาะค่าแรงเขียนเรื่อง สำนักพิมพ์บางแห่งเสนอค่าเรื่องตามมาตรฐานในสังคมวรรณกรรม แต่เน้นที่ระยะเวลาคุ้มครองสำนักพิมพ์นานถึง 10 ปี หมายความว่า เรื่องของนักเขียนใหม่จะต้องอยู่กับเขาถึง 10 ปี ถ้าเรื่องไม่เป็นที่นิยมในตลาดแต่นักเขียนต้องการปรับเปลี่ยนเพื่อให้ดีขึ้นด้วยประสบการณ์ใหม่ของเขา จักกระทำไม่ได้เพราะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักพิมพ์ก่อน ส่วนใหญ่สำนักพิมพ์มักเก็บงานเขียนเหล่านี้ไว้เฉยๆนานถึง 10 ปี ทุกชิ้นงานภายในระยะเวลาสัญญานั้นถือเป็นทรัพย์สินของสำนักพิมพ์อย่างหนึ่ง

ผู้ใหญ่ในสังคมวรรณกรรมรับทราบปัญหาการเสียประโยชน์หรือถูกเอาเปรียบของนักเขียนใหม่มาระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มนักเขียนในเนตซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น ขาดประสบการณ์ ทำให้กลายเป็นเหยื่อ บ้างก็ทำใจว่าเสียรู้ไปแล้ว เขียนใหม่ก็ได้ จึงอยากให้คิดใหม่ว่า การเขียนทุกเรื่องล้วนต้องใช้พลังกายและใจเต็มที่ ไม่ว่านักเขียนใหม่หรือเก่าสมควรได้รับค่าแรงอย่างเป็นธรรมตามมาตรฐานตลาดวรรณกรรม ดังนั้น จึงควรเรียนรู้ว่ามาตรฐานค่าเรื่องเป็นอย่างไร การเอารัดเอาเปรียบนักเขียนใหม่มักเกิดจากสำนักพิมพ์ใหม่เป็นส่วนใหญ่โดยอาศัยความหวัง ความฝัน ของคนขาดประสบการณ์ชีวิตเป็นเหยื่อล่อ สำนักพิมพ์มีชื่อเสียงบางแห่งก็เน้นขยายเวลาให้นาน แต่การคิดค่าเรื่องก็ใช้มาตรฐานทั่วไป นักเขียนใหม่ซึ่งมีความเชื่อใจกับชื่อเสียงของสำนักพิมพ์จึงไม่ตระหนักใจว่ากำลังถูกเอาเปรียบเกินควร ต่อไปก็มาดูว่าสูตรการคิดค่าเรื่องสำหรับนักเขียนทั่วไปหรือมือใหม่ซึ่งผู้ใหญ่ในสังคมวรรณกรรมให้ความรู้ไว้ คือ 10 %คูณ ด้วยราคาหน้าปก คูณด้วยจำนวนพิมพ์ นั่นหมายความว่า ทุกครั้งที่มีการจัดพิมพ์จะต้องใช้สูตรนี้เพื่อเป็นค่าเรื่องสำหรับนักเขียน ส่วนจำนวนเปอร์เซ็นต์นั้น ถ้าเป็นนักเขียนมีชื่อเสียงจักสูงได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ทีเดียว ตลอดเวลาคุ้มครองในสัญญานักเขียนจะได้รับส่วนแบ่งเป็นค่าเรื่องสำหรับการพิมพ์ทุกครั้ง ถ้าไม่มีการพิมพ์ครั้งที่สองหรือครั้งต่อไป ก็ไม่ต้องจ่ายเงินค่าเรื่องแก่นักเขียนอีก จำนวนพิมพ์กับราคาปกนั้นเป็นสิทธิของสำนักพิมพ์กำหนดได้เอง จึงเห็นได้ว่าค่าแรงนักเขียนนั้นสำนักพิมพ์เป็นผู้กำหนดเช่นกัน สำนักพิมพ์จึงไม่มีวันเสียเปรียบกับนักเขียน ค่าเรื่องมาตรฐานเป็นการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมเท่านั้น

สัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์เพื่อการพิมพ์นั้นมักกำหนดเวลาคุ้มครองหรืออนุญาตให้สำนักพิมพ์จัดพิมพ์งานเล่มของนักเขียนไว้ ส่วนใหญ่จักอยู่ที่ 1 ปี 3 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี แล้วแต่สำนักพิมพ์จะพิจารณาใช้กับนักเขียนแต่ละคนโดยคำนึงว่าจะใช้หาประโยชน์ได้คุ้มทุนมากที่สุดภายในระยะใด เราต้องไม่ลืมว่า หนังสือแต่ละเล่มคือ สินค้าหรือทรัพย์สินของสำนักพิมพ์เพื่อหาประโยชน์ทางการค้า การจ่ายเงินแก่นักเขียนจึงต้องนำมาคำนวณเป็นต้นทุนผลิตสินค้าและเวลาใช้งานหาประโยชน์ของมันด้วย ทั้งนี้บางสำนักพิมพ์จะนำเรื่องมโนธรรมและการแบ่งปันโอกาสแก่นักเขียนโดยคืนสิทธิ์ให้นักเขียนไปหาประโยชน์ที่อาจทำได้ดีกว่าตนหรือใช้ปรับปรุงงานใหม่อีกครั้งโดยกำหนดระยะเวลาไม่นานนัก ถ้านักเขียนคนใดมีโอกาสพบกับสำนักพิมพ์ที่มีจิตใจดีงามเช่นนี้ ก็ถือว่ามีโชคดีมหาศาล เนื่องจากบางครั้งงานเขียนชิ้นนี้อาจพบกับการตลาดไม่ดีของสำนักพิมพ์หรือช่วงจังหวะไม่เหมาะสมทำให้ขายยาก แต่เอาไปให้อีกสำนักพิมพ์ที่การตลาดดีและเหมาะสม นักอ่านอาจมองเห็นคุณค่าของงานชิ้นนี้ได้ดีขึ้นก็ได้ การกักขังงานเขียนไว้ยาวนานเกินเหตุถึง 10 ปี ซึ่งเทียบเท่ากับอายุความคดีแพ่งหรือคดีอาญาบางคดี จึงเป็นการลดทอนโอกาสของงานเขียนชั้นดีหลายชิ้นที่ถูกเก็บไว้เป็นทรัพย์สินของสำนักพิมพ์ที่หาประโยชน์ไม่ได้และนักเขียนหมดโอกาสเผยแพร่งานสู่สาธารณชนด้วย

งานวรรณกรรมเป็นงานที่ต้องอาศัยจิตใจทุ่มเท สร้างสรรค์ เพื่อผลิตงานจากประสบการณ์หรือจินตนาการของนักเขียน การนำเผยแพร่เป็นหน้าที่ของสำนักพิมพ์ซึ่งมีมุมมองต่อชิ้นงานแตกต่างกัน ส่วนนักอ่านเป็นคนสุดท้ายที่จะยืนยันการตัดสินใจของสำนักพิมพ์นั้นว่าถูกต้องหรือไม่ เมื่อผลประโยชน์กับงานวรรณศิลป์จำต้องเดินทางคู่กันไป สำนักพิมพ์กับนักเขียนจึงต้องอยู่เคียงคู่ด้วยกัน ผู้ใหญ่ในสังคมวรรณกรรมจึงพยายามแก้ปัญหาการเอาเปรียบและความไม่รู้ของนักเขียนใหม่ด้วยการให้ความรู้ ความเข้าใจ ด้านข้อสัญญาหรือรูปแบบสัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์ที่ช่วยลดทอนการเสียเปรียบลง อีกทั้งเน้นย้ำว่า แม้เป็นนักเขียนใหม่ก็มีเกียรติและศักดิ์ศรีในฐานะนักเขียนเช่นเดียวกับรุ่นพี่ที่มิควรถูกเอาเปรียบจากสำนักพิมพ์ เนื่องจากการผลิตงานแต่ละชิ้นต้องใช้พละกำลังและจิตใจสูงไม่แตกต่างจากนักเขียนมืออาชีพ จึงควรนับถือตนเองและเชื่อมั่นในผลงานให้มาก มิใช่ยินยอมตามใจหรือยอมเสียเปรียบเพียงเพราะกลัวไม่ได้พิมพ์เป็นเล่ม ถ้ามั่นใจว่างานเขียนดีแล้ว ย่อมต้องมีสำนักพิมพ์อื่นเห็นความดีเด่นของมันได้เช่นกันและไม่ต้องถูกเอาเปรียบเกินไป นักเขียนใหม่ควรพอใจกับข้อเสนอหรือสัญญาที่เป็นธรรมเท่านั้น การได้ค่าเรื่องตามมาตรฐานและระยะเวลาเป็นธรรมระหว่างสำนักพิมพ์และนักเขียน เป็นสิ่งที่นักเขียนใหม่พึงได้รับแล้ว อีกทั้งต้องรู้จักปฏิเสธความไม่เป็นธรรมกับงานเขียนของตนเพราะเป็นการดูแคลนฝีมือของนักเขียนเอง ถ้าไม่ดูถูกงานของตน สักวันต้องมีคนเห็นคุณค่างานของท่าน แต่การยอมถูกเอาเปรียบเกินเหตุจักตัดประโยชน์จากน้ำพักน้ำแรงที่พึงได้จากงานของเรา แม้แต่กรรมกรใช้แรงงานยังได้ค่าแรงตามผลงาน นักเขียนใหม่สมควรถูกเอาเปรียบค่าแรงหรือ ? คงต้องไตร่ตรองให้หนักกับสัญญาน่าคิดที่สำนักพิมพ์เสนอแก่คนไร้ประสบการณ์ในวันนี้ระหว่างเงินเหมาเรื่องครั้งเดียวของสำนักพิมพ์กับเงินจ่ายเป็นรายครั้งตามมาตรฐานเบื้องต้นภายในเวลาคุ้มครอง

นักเขียนใหม่ควรพิจารณาว่า ประโยชน์สูงสุดที่ตนควรได้คือแบบไหน หากคิดเพียงว่าต้องการออกเล่มเท่านั้น ยอมเสียเปรียบทุกอย่าง ลองคิดว่าถ้าเป็นงานดีเยี่ยม ติดตลาด นักอ่านนิยมสูง ชื่อเสียงที่ได้รับคุ้มค่ากับค่าแรงที่ได้รับครั้งเดียวหรือไม่เมื่อคนตักตวงประโยชน์ฝ่ายเดียวคือสำนักพิมพ์ภายในระยะเวลาคุ้มครองที่ต้องยาวนานอย่างแน่นอน เช่น ได้รับค่าเรื่องครั้งแรก 20,000 บาท ระยะเวลาคุ้มครอง 5 ปี เงื่อนไขคือ นักเขียนได้รับเงินค่าเรื่องแบบเหมาครั้งเดียวเท่านั้นโดยไม่คำนึงถึงจำนวนพิมพ์ และตลอดเวลา 5 ปี สำนักพิมพ์มีสิทธิ์พิมพ์ซ้ำกี่ครั้ง กี่เล่ม ก็ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าเรื่องแก่นักเขียนอีก ถ้าเรื่องของนักเขียนดังขึ้น นักเขียนทำได้เพียงมองการโกยเงินของสำนักพิมพ์ฝ่ายเดียว ถ้าขายยาก เขาก็จ่ายแค่ 20,000 บาท แล้วทยอยขายเล่มไปเรื่อยๆ แค่ได้เงินกลับคืนช้าเล็กน้อย แต่ได้สิทธิ์ครอบครองลิขสิทธิ์งานไว้อีกยาวซึ่งถือเป็นทรัพย์สินของบริษัทที่มีมูลค่าอย่างหนึ่ง หากเปรียบเทียบกับสัญญาอีกประเภทที่มีระยะเวลาคุ้มครองเท่ากัน คือ 5 ปี แต่จ่ายค่าเรื่องทุกครั้งที่มีการจัดพิมพ์ตามสูตรคำนวณมาตรฐานตลาดวรรณกรรม เมื่อผลงานติดตลาดและเป็นที่นิยมนักเขียนจะมีรายได้ตอบแทนค่าเขียนทุกครั้งที่มีการพิมพ์ เป็นการแบ่งปันประโยชน์ระหว่างนักเขียนและสำนักพิมพ์อย่างเป็นธรรม ทำให้นักเขียนมีกำลังใจผลิตงานดีๆออกมาอีก สำนักพิมพ์ก็ได้กำไรจากงานพิมพ์ ในทางกลับกันหากงานไม่ได้รับความนิยม ชิ้นงานนั้นควรถูกเก็บไว้ยาวนานเพียงนั้นหรือ ? แม้จะเป็นนักเขียนใหม่ก็ไม่ควรถูกเอาเปรียบเกินเหตุจากสำนักพิมพ์ ขอให้นักเขียนใหม่เชื่อมั่นและนับถือตนเองและคุณค่าของงานก่อน แล้วใช้สติปัญญาไตร่ตรองข้อเสนอของสำนักพิมพ์อย่างถี่ถ้วน จักไม่ต้องผิดหวังหรือเสียใจกับการทำสัญญาพิมพ์ผลงานของตน

อ้างอิง:https://sites.google.com/site/dreamytrain/right3

คำสำคัญ (Tags): #katai
หมายเลขบันทึก: 577504เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2014 11:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2014 11:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สมกับ..นิยาม..ว่า.".นักประพันธ์ใส้แห้ง"...แถมด้วย..ต้นไม้กลายเป็นกระดาษ..ธนบัตร..ที่ไม่เคยเข้ากระเป๋านักเขียน..อนิจาอนิจังสงสารต้นไม้กับนักประพันธ์...

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท