​After Action Review 1 โครงการศึกษาดูงานโรงเรียนทางเลือก : โรงเรียนสัตยาไส และโรงเรียนวนิษา เมื่อวันที่ 7-8 ส.ค. 2557


After Action Review 1

โครงการศึกษาดูงานโรงเรียนทางเลือก : โรงเรียนสัตยาไส และโรงเรียนวนิษา เมื่อวันที่ 7-8 ส.ค. 2557

โดย นางสาวศุภรัตน์ ภิรมย์ชม รหัสนักศึกษา 57D0103117 ป.โท สาขาหลักสูตรและการสอน ภาคพิเศษ รุ่นที่13 หมู่1

รายวิชา การศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ 102611

วันที่บันทึก วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2557

อาจารย์ผู้สอน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศร เนาวนนท์

     

       เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา ดิฉันได้ไปศึกษาดูงานที่โรงเรียนสัตยาไส อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี สิ่งที่ดิฉันคาดหวังไว้ในการศึกษาดูงานในครั้งนี้คือ การได้เห็นบรรยากาศการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนสัตยาไส การทำกิจกรรมต่างๆ ภายในโรงเรียน และที่สำคัญคืออยากเห็นเทคนิควิธีการสอนของคุณครูโรงเรียนสัตยาไสว่าคุณครูมีเทคนิคการสอดแทรกคุณธรรมอย่างไรบ้าง

      เมื่อเดินทางไปถึงหน้าโรงเรียนสัตยาไส สิ่งแรกที่คิดขึ้นมาในใจคือ “นี่หรือโรงเรียน ” ซึ่งภาพที่เห็นคือ บรรยากาศโรงเรียนเต็มไปด้วยต้นไม้ ล้อมรอบด้วยภูเขาและลำน้ำ อากาศเย็นสบายพื้นที่ของโรงเรียนกว้างขวางมาก อาคารเรียนไม่ใหญ่โตหรูหราเหมือนโรงเรียนทั่วไป แต่ว่าอบอุ่น น่าอยู่ นักเรียนรู้จักเคารพ ยิ้ม ไหว้ ทักทายดีมาก เมื่อเดินไปถึงห้องพระ ซึ่งเป็นช่วงที่ให้คณะศึกษาดูงานได้ซักถามนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งคำถามแต่ละคำถามล้วนเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ การใช้ชีวิต ความรู้สึก ความรู้ ความภาคภูมิใจ ของนักเรียนต่อโรงเรียนสัตยาไส เมื่อดิฉันได้ร่วมรับฟังก็รู้สึกว่า นักเรียนทุกคนรักโรงเรียน ดีใจที่ได้เข้ามาเรียนที่โรงเรียนสัตยาไส นักเรียนได้รู้จักตัวตนของตนเอง รู้จักแก้ปัญหา กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก กล้าตัดสินใจ หลังจากนั้น ท่าน ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ได้สรุปรายละเอียดเกี่ยวกับโรงเรียนสัตยาไสอีกครั้ง ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้ใช้การเรียนรู้แบบธรรมชาติ ลงมือปฏิบัติจริง โดยการเรียนการสอนจะแทรกคุณธรรม จริยธรรมเข้าไปในเนื้อหาทุกครั้ง โรงเรียนแห่งนี้สอนให้เด็กเป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรมในตนเอง สอนให้เด็กฝึกปฏิบัติ ครูไม่จำเป็นต้องบอกทุกเรื่อง เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตนเอง เกิดความรู้เอง สอนให้เด็กฝึกสมาธิเพื่อให้จิตใจสงบ และสอนให้เด็กได้บรรลุเป้าหมายคุณค่าความเป็นมนุษย์ 5 ประการที่ท่าน ดร.อาจองได้ตั้งไว้ หลังจากนั้นดิฉันได้เข้าชมกิจกรรมฐานต่างๆ ซึ้งล้วนเป็นความรู้ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง เช่น บ้านน้ำ บ้านแพน้ำ การทำแก๊สชีวภาพ การทำไบโอดีเซล และพลังงานทดแทนต่างๆ

        จากการศึกษาดูงานครั้งนี้ทำให้ดิฉันได้ทราบว่า การเรียนรู้นั้นเกิดได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว และการเรียนโดยการสอดแทรกคุณธรรมเข้าไปในเนื้อหานั้น จะฝึกให้เด็กมีคุณธรรมไปในตัว ฝึกให้เด็กสุภาพเรียบร้อย มีอัธยาศัยดี เป็นเด็กน่ารัก กล้าแสดงออก ทำให้เด็กแก้ปัญหาเป็น และชอบที่จะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

ดิฉันจะนำเทคนิคต่างๆ ที่ได้จากการศึกษาดูงานในครั้งนี้ ไปประยุกต์ใช้ในวิชาวิทยาศาสตร์ โดยให้เด็กได้เรียนรู้นอกห้องเรียน เรียนรู้ตามธรรมชาติ ซึ่งจะสามารถทำให้เด็กเข้าใจวิทยาศาสตร์ และรักในการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์มากขึ้น หลังจากนั้นจึงจะแทรกคุณธรรมเข้าไปเนื้อหา ให้เด็กได้เรียนรู้คุณธรรมวันละนิด สอนให้เด็กมีสมาธิในการเรียน

        วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2557 ดิฉันได้ไปศึกษาดูงานที่โรงเรียนวนิษา จังหวัดปทุมธานี โรงเรียนวนิษาจัดตั้งอยู่กลางชุมชนแห่งหนึ่ง บรรยากาศในโรงเรียนจะเป็นลักษณะชุมชนเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยความรู้ที่บูรณาการหลากหลายรูปแบบ โรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนที่พัฒนาเด็กทางด้านสมอง ดังนั้นการจัดทำหลักสูตรของโรงเรียนครูในโรงเรียนจึงต้องมีหน้าที่หาข้อมูลเกี่ยวกับสมองของเด็กแต่ละวัยเพื่อจะได้จัดความรู้ให้เหมาะสมกันวัยนั้นๆ และสิ่งสำคัญในการจัดทำหลักสูตรคือ ต้องดูว่าเด็กอยากเรียนรู้อะไร เพื่อที่จะได้ให้เด็กได้รับความรู้ตามความต้องการ ซึ่งจะทำให้เด็กมีความสุขกับการเรียน ได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองอยากรู้ สนุกในการเรียน การเรียนการสอนส่วนใหญ่จะเรียนตามตารางที่ครูจัดให้ตามปกติ แต่จะมีการบูรณาการทุกวิชาให้เข้ากับโครงการของโรงเรียนที่จัดทำไว้ การเรียนการสอนจะเน้นภาษาอังกฤษ ภาษาไทยบ้างบางเนื้อหา เน้นการลงมือปฏิบัติจริง จะใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการสอน ทำให้เด็กได้ คิด วิเคราะห์ และสร้างความรู้ใหม่ให้กับตนเองอยู่ตลอดเวลา ในแต่ละระดับชั้นจะมีครูประจำวิชาและครูประจำชั้นสอนร่วมกันสองคน

      จากการดูงานที่โรงเรียนวนิษาทำให้ได้ข้อคิดหลายๆ อย่าง คือเทคนิคการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการควรใช้สื่อ อุปกรณ์การสอนที่หลากหลายเพื่อให้เด็กเกิดความรู้ในหลายๆ มุมมอง เพื่อที่จะได้ให้เด็กรู้จักคิด วิเคราะห์ และเรียนรู้ให้ได้มากที่สุด ครูควรเข้าใจเด็ก ไม่ดุร้าย เป็นเพื่อนกับเด็กได้ตลอดเวลาเพื่อให้เกิดความอบอุ่นในการเรียน การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้เฉพาะวิชาที่กำหนด เราสามารถบูรณาการให้เด็กได้เรียนรู้ไปพร้อมๆกับวิชาอื่นๆ ได้ตลอดเวลา

     ดิฉันจะนำความรู้จากการศึกษาดูงานในครั้งนี้ไปประยุกต์ใช้ในรายวิชาวิทยาศาสตร์โดยการบูรณาการเข้ากับรายวิชาต่างๆ โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กมีความสุขในการเรียนมากยิ่งขึ้น เข้าใจในวิชาวิทยาศาสตร์มากขึ้น

      จากความคิดเห็นของดิฉันในมุมกว้างๆ ดิฉันคิดว่า โรงเรียนสัตยาไส เหมาะสำหรับเด็กที่พ่อแม่สอนให้ดูแลตัวเองเป็นตั้งแต่เด็กๆ ไม่เอาแต่ใจ อยู่ร่วมกับคนอื่นได้ รู้จักเอาตัวรอด แต่สำหรับเด็กที่พ่อแม่เลี้ยงดูมาเป็นอย่างดี เป็นเด็กเอาแต่ใจ ไม่รู้จักดูแลตัวเองนั้น ไม่สามารถที่จะไปอยู่ในสังคมนั้นได้ เว้นแต่จะให้ไปอยู่ที่โรงเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล และการจัดการเรียนการสอนโดยการสอดแทรกคุณธรรมนั้น ครูสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับโรงเรียนทั่วไปได้ แต่ผลลัพธ์ หรือผลผลิต อาจไม่ได้ผลดีเหมือนโรงเรียนสัตยาไส เพราะปัจจัยหลายๆอย่างต่างกัน เช่น สังคมความเป็นอยู่ ความคิด สิ่งแวดล้อม และสื่อต่างๆ

      ส่วนโรงเรียนวนิษา จะพัฒนาเด็กทางด้านสมอง ซึ่งจะเหมาะกับเด็กที่พ่อแม่มีความพร้อมที่จะให้ทุนในการเข้าเรียน เนื่องจากค่าเทอม ปีละหนึ่งแสนบาท หลายคนอาจมองว่าคุ้มค่ากับความเก่งของลูกๆ ของเขา แต่สำหรับดิฉัน ดิฉันมองว่าไม่คุ้มค่า เพราะได้ความรู้ก็จริง เก่งจริง แต่เด็กไม่รู้จักไหว้ผู้ใหญ่ เด็กไม่เกรงใจผู้ใหญ่ ไม่อ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่า เด็กในโรงเรียนแห่งนี้ไม่มีความเป็นไทยเลยสักนิด และที่สำคัญ คือ เด็กไม่รู้จักช่วยเหลือตนเอง ไม่รู้จักเอาตัวรอดด้วยตนเอง ปัญหาทุกอย่างครูเป็นผู้แก้ไขให้กับเด็ก หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ลูกคุณหนู” นั่นแหละค่ะ ส่วนการจัดการเรียนการสอนนั้น ยอมรับว่าเป็นเลิศในการพัฒนาสมองของเด็ก แต่เหมาะกับเด็กที่มีความพร้อม สำหรับโรงเรียนทั่วๆไป การพัฒนาสมองไปพร้อมๆ กันนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะเด็กนักเรียนเยอะ พื้นฐานครอบครัวก็แตกต่างกัน พื้นฐานความรู้ก็ต่างกัน ต่างคน ต่างที่มา ต่างที่อยู่อาศัย แต่สิ่งที่นำมาประยุกต์ใช้ได้คือเทคนิคการบูรณาการวิชาต่างๆ เข้าด้วยกัน เป็นเทคนิคหนึ่งที่โรงเรียนทั่วไปสามารถทำได้

คำสำคัญ (Tags): #้hoho
หมายเลขบันทึก: 577244เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2014 12:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กันยายน 2014 12:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท