เลขเรียกหนังสือ


เลขเรียกหนังสือ

เลขเรียกหนังสือ (Call Number) คือ สัญลักษณ์ที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้ในการค้นหาหนังสือ บนชั้น เลขเรียกหนังสือจะประกอบด้วย เลขหมู่หนังสือ (Classification Number) และตัวอักษร ตัวแรกของชื่อผู้แต่งชาวไทย ถ้าเป็นหนังสือภาษาต่างประเทศใช้อักษรตัวแรกของนามสกุล ผู้แต่ง โดยอักษรตัวแรกใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ ผสมกับเลขกำกับอักษรผู้แต่งและอักษรตัวแรกของชื่อเรื่องหรือชื่อเรื่องแบบฉบับที่เป็นรายการหลัก

เลขเรียกหนังสือจะเขียนหรือพิมพ์ไว้ที่สันหนังสือ และจะปรากฏที่หน้าจอคอมพิวเตอร์เมื่อเข้าใช้ฐานข้อมูลทรัพยากรห้องสมุด 

เลขเรียกหนังสือประกอบด้วยส่วนสำคัญ ๆ 3 ส่วนคือ

1. เลขหมู่หนังสือ (Classification Number) เป็นสัญลักษณ์ที่กำหนดขึ้นเพื่อแสดงเนื้อหาสาระของหนังสือ และ/หรือประพันธ์วิธีของหนังสือนั้น ๆ การกำหนดสัญลักษณ์เพื่อแสดงเนื้อหา และ/หรือประพันธ์วิธีของหนังสือนั้นอาจแตกต่างกันตามระบบการจัดการหนังสือ

2. เลขผู้แต่ง (Author Number, Book Number) สัญลักษณ์ที่ประกอบด้วยตัวอักษรและตัวเลขตัวอักษร ได้มาจากอักษรตัวแรกของชื่อผู้แต่งที่ใช้ลงรายการหลักในบัตรรายการ ส่วนตัวเลขนั้น บรรณารักษ์เป็นผู้กำหนดขึ้นเพื่อบ่งบอกถึงลำดับสระ พยัญชนะ และตัวสะกดของชื่อนั้น ๆ ในห้องสมุดขนาดเล็กที่มีหนังสือไม่มากนักส่วนที่เป็นเลขผู้แต่งอาจมีเพียงอักษรแรกของชื่อที่ใช้ลงรายการผู้แต่งหรือรายการหลัก สำหรับห้องสมุดขนาดใหญ่ที่มีหนังสือเป็นจำนวนมาก โอกาสที่หนังสือในหมวดเดียวกัน เขียนโดยผู้แต่งชื่อเดียวกัน หรือขึ้นต้นด้วยอักษรเดียวกันย่อมมีได้มาก เพื่อป้องกันการสับสนและเพื่อสะดวกแก่ผู้ใช้ในการที่จะหยิบหาหนังสือเล่มที่ต้องการ ห้องสมุดจึงต้องกำหนดเลขประจำผู้แต่งเพิ่มขึ้น เพื่อแสดงถึงความแตกต่างระหว่างชื่อผู้แต่งที่ขึ้นต้นด้วยอักษรเดียวกันโดยการกำหนดเลขผู้แต่งนี้ บรรณารักษ์จะกำหนดขึ้นโดยใช้ตารางกำหนดเลขผู้แต่งเป็นบรรทัดฐาน

3. อักษรชื่อเรื่อง (Workmark) เป็นสัญลักษณ์ได้มาจากพยัญชนะตัวแรกของชื่อหนังสือ ในห้องสมุดขนาดใหญ่ที่มีหนังสือ เป็นจำนวนมาก โอกาสที่หนังสือจะมีเลขหมู่ซ้ำกัน เลขผู้แต่งซ้ำกันย่อมมีได้มาก ห้องสมุดจึงช่วยให้ผู้ใช้เห็นความแตกต่างของหนังสือแต่ละเล่มโดยใส่อักษรตัวแรกของชื่อเรื่องไว้ในเลขเรียกหนังสือออกด้วย อักษรชื่อเรื่องนี้จะอยู่ถัดจากเลขผู้แต่ง

นอกจากส่วนสำคัญดังกล่าวแล้ว เลขเรียกหนังสือ (Call Number) อาจจะมีสัญลักษณ์อย่างอื่นเพิ่มเติมได้อีกในหลายกรณีด้วยกัน เช่น

1. กรณีหนังสือเรื่องเดียวกันแต่มีหลายฉบับ (Copies) ซ้ำกันจะมีเครื่องหมายบอกให้ทราบที่เลขเรียกหนังสือ มักใช้ “ฉ” ตามด้วยตัวเลขอารบิคตามด้วยจำนวนเล่มที่ซ้ำกันในหนังสือภาษาไทยเช่น หนังสือเรื่องเดียวที่มี 3 ฉบับ จะใช้ ฉ.1 สำหรับฉบับที่ 1 ฉ.2 สำหรับฉบับที่ 2 และ ฉ.3 สำหรับฉบับที่ 3 และ ใช้ “C” หมายถึง Copy ตามด้วยตัวเลขอารบิคตามด้วยจำนวนที่ซ้ำกันในภาษาอังกฤษ เช่น C.2, C.3 เครื่องหมายดังกล่าวจะเติมไว้ใต้เลขผู้แต่ง

2. กรณีหนังสือเรื่องเดียวกันแต่มีหลายเล่ม (Volumes) ต่อกัน จะใช้ “ล” ตามด้วยเลขอารบิคตามลำดับเล่ม ตั้งแต่เล่มที่ 1 เป็นต้นไปในหนังสือภาษาไทย เช่น ล.1 ล.2 ล.3 และใช้ “V” ตามด้วยตัวเลขโรมันหรือเลขอารบิคตามด้วยลำดับเล่มตั้งแต่เล่มที่ 1 เป็นต้นไปในหนังสือภาษาอังกฤษ เช่นV.1, V.2, V.3 สัญลักษณ์เหล่านี้จะเติมไว้ใต้เลขผู้แต่ง

3. กรณีที่ห้องสมุดมีหนังสือชุดหลายเล่มจบ (ดังข้อ 2) หลายชุด จะใช้ “ล” และ “ฉ” ในหนังสือภาษาไทย และใช้ “V.” และ “C.” ในหนังสือภาษาอังกฤษ

4.กรณีของระบบ LC หากเลขผู้แต่งซ้ำซ้อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือหนังสือนั้นเป็นฉบับพิมพ์ใหม่ มีการแก้ไขปรับปรุง ก็จะใส่ปีที่พิมพ์ไว้ด้วย

กรณีที่ห้องสมุดจัดกลุ่มหนังสือ (Collection) พิเศษ ก็จะเพิ่มสัญลักษณ์บอกกลุ่มหนังสือด้วย เช่น หนังสืออ้างอิง ใช้ อ R หรือ Ref แบบเรียนใช้ บ เป็นต้น สำหรับหนังสือที่ห้องสมุดให้สัญลักษณ์แทนเลขหมู่ ได้แก่หนังสือบางประเภทที่ห้องสมุดพิจารณาเห็นว่าเป็นหนังสือเฉพาะมิใช่หนังสือทางวิชาการ หรือหนังสือทั่วไป ทั้งนี้เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการจัดหมวดหมู่หนังสือ โดยสัญลักษณ์นี้จะปรากฏอยู่เหนือเลขเรียกหนังสือของหนังสือแต่ละชื่อเรื่อง  

ตัวอย่าง

หนังสือเล่มนี้มี เป็นหนังสืออ้างอิง ที่มี 2 เล่มจบ และมีจำนวน 2 ฉบับ(Copy) และมีสันหนังสือที่หนาพอจะติดเลขเรียกหนังสือได้ จึงติดเลขเรียกหนังสือไว้ที่สัน โดยใช้ระยะ 2.5 นิ้ว และติดแถบสีระบุหมวดหมู่ไว้ใต้เลขเรียกหนังสือ

 ตัวอย่าง  

หมายเลขบันทึก: 577061เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2014 21:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กันยายน 2014 21:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท