​ศิลปะการประพันธ์กับชีวิตข้าพเจ้า


ศิลปะการประพันธ์กับชีวิตข้าพเจ้า 

                        ภาสกร บาลไธสง ผู้เรียบเรียง

                                อีกถ้อยทำนองใจ      ที่ฝากไว้ในบทกวี

                         เพลงกานท์ผ่านวลี            เรียงร้อยรสร่วมสมัย

                         กลั่นถ้อยน้ำคำทิพย์          แต่งแต้มขลิบคุ้งหทัย

                         ส่องมืดสว่างใส                 แด่ผู้ใฝ่จรุงศิลป์

                         ต่างฟ้าห่มฟ้ากว้าง            หลากเส้นทางศิลปิน

                         เจนจบในจิตจินต์              สู่กวินวิญญูชน

                         จรรโลงสังคมรุ่ง                ฤาจักมุ่งเพียงแต่ตน

                         ปลุกจิตปุถุชน                  ให้กระจ่างบนทางทอง

                         ด้วยคำอันล้ำค่า               ด้วยลีลาภาษาสมอง

                         ทุกถ้อยที่ร้อยกรอง           ล้วนกลั่นเกลาให้เข้าใจ

                          นี่คือสุนทรียะ                  ศิลปะละมุนละไม

                          เทิดค่าภาษาไว้               อยู่คู่ไทยให้นิรันดร์

                                                                          ( สุกรณ์ บงไทสาร (นามปากกา), ถ้อยวลีมีอารมณ์ : Gotoknow )

              หากจะตั้งคำถามว่า “ ข้าพเจ้ามีความรู้ในเรื่องใดมากที่สุด...? ” ข้าพเจ้าคงระบุเรื่องๆ นั้นแบบฟันธงเลยทีเดียวคงเป็นไปไม่ได้ เพราะความรู้ไม่มีที่สิ้นสุดต้องอาศัยเวลาและความอดทนในการแสวงหา แต่หากเป็นความสามารถหรือความชอบส่วนบุคคลแล้วคงหนีไม่พ้นในเรื่อง “การเขียนคำประพันธ์” ประเภทต่างๆ ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง มันถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของข้าพเจ้าไปเสียแล้ว ตั้งแต่เข้าเรียนระดับชั้นประถมศึกษา

                ข้าพเจ้าชอบผลงานด้านศิลปะทุกแขนงไม่ว่าจะเป็นภาพวาด ภาพถ่าย การฟังเพลง หรือแม้กระทั่งบทกวีก็ตาม เมื่อข้าพเจ้าได้สัมผัสก็รู้สึกถึงความสุขแบบลึกๆ ที่ศิลปินต้องการกลั่นกรองเรียงร้อยเพื่อถ่ายทอด มันคือสุนทรียะแห่งธรรมชาติที่ถูกนำมาเรียบเรียงอย่างเป็นระบบระเบียบในลีลาของศิลปินแต่ละคน ฉะนั้นศิลปะแต่ละแขนงจึงสามารถบอกอัตลักษณ์ของศิลปินผู้ถ่ายทอดได้เป็นอย่างดี

                 บทกวีเป็นงานเขียนที่ข้าพเจ้าชอบตวัดปากกาขีดเขียนในเวลาว่างอยู่เนืองๆ หนึ่งอาจสนองอารมณ์ในห้วงเวลานั้นๆ ที่ว่างจากกิจใดๆ หรือสองเพื่อบันทึกเรื่องราวตามที่ตนประสบพบเห็นขณะเดินทางทัศนาประสบการณ์ และสามอาจเขียนผลึกความคิด คมธรรม ที่เป็นบทเรียนแก่ชีวิตขณะได้รับคำสอนจากญาติผู้ใหญ่ สิ่งเหล่านี้วนเวียนไปมาอยู่ในจิตและถูกกระทำทุกครั้งจนลืมไปว่า “เวลาส่วนหนึ่งของเราที่แท้อยู่ที่ปากกาและสมุดบันทึกเล่มเล็กๆด้วยนี่เอง”

                   เริ่มต้นจาก คุณพ่อเป็นคนชอบฟังเพลง อยู่ที่บ้านนอกตอนเช้าๆ ขณะที่คุณพ่อลุกจากที่นอนไปนึ่งข้าวเหนียว ทำอาหารในครัว ข้าพเจ้ามักจะได้ยินเสียงเพลงเก่าๆ( แม่ไม้เพลงไทย ) ดังมาจากวิทยุในห้องครัวทุกครั้ง ดนตรีของมันช้าๆ เนิบๆ ผสานเสียงร้องที่ฟังแล้วเหมือนจะกล่อมให้เราหลับใหลต่อไป ข้าพเจ้าได้ฟังทุกวัน

                   จากหลายศิลปิน จนชอบในลีลาการใช้ภาษาที่ให้ภาพพจน์ และตั้งคำถามให้กับตนเองว่า “ทำไมเมื่อเราได้ยินบทเพลงถึงทำให้เรามีความสุข และติดตรึงเข้าไปในภาพที่นักร้องกำลังขับขาน รู้สึกสนุก รู้สึกเศร้า รู้สึกวังเวง รู้สึกคิดถึง ตามบทเพลงถ่ายทอด เพราะดนตรีทำนอง ภาษาที่ใช้เขียน หรือ เป็นศิลปะการประพันธ์ของผู้แต่ง ที่โน้มน้าวให้เราคล้อยตาม

                   เมื่อเริ่มเห็นความงาม หรือสุนทรียภาพทางด้านภาษา ข้าพเจ้าก็เริ่มจับปากกาฝึกฝนหาคำคล้องจองเป็นประจำ และในรายวิชาภาษาไทยคุณครูจะให้เขียนกลอน เขียนกาพย์ เขียนโคลงอยู่เนืองๆ เพื่อให้นักเรียนเกิดทักษะ เกิดจินตนาการและสมาธิ คุณครูชื่นชมในผลงานของข้าพเจ้าอยู่บ่อยครั้งจนทำให้ตัวเองมีความมั่นใจในการเขียน คือเขียนแล้วมีคนอ่าน เขียนแล้วมีคนชอบ จนกระทั่งข้าพเจ้าถูกคัดเลือกให้เป็นตัวแทนนักเรียนฝึกซ้อมการแต่งคำประพันธ์เพื่อเตรียมเข้าแข่งขันร้อยกรองชิงโล่พระราชทาน ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม การฝึกซ้อมเป็นไปอย่างเข้มข้นและขยันขันแข็ง ครูผู้ฝึกซ้อมก็ทุ่มเทอย่างเต็มกำลังใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนกับการนั่งขีดเขียนฝึกซ้อมในเวลาว่างพักเที่ยง และหลังเลิกเรียนทุกวัน จนกระทั่งเมื่อยล้าสมองจวนจะคิดคำใดไม่ออก การเขียนเพื่อส่งให้คุณครูอ่านแก้ไขทุกครั้ง ข้าพเจ้ามักจะได้คำว่า “พอใช้”กลับมา จนทำให้เรารู้สึกว่าทำไมเขียนไม่ได้ดีสักที จนบางครั้งรู้สึกท้อ

                    และวันแห่งการรอคอยก็มาถึงเมื่อข้าพเจ้าได้ลงสู่สนามการแข่งขัน นอกจากเราจะไม่ตื่นเต้นกับเพื่อนต่างโรงเรียน เรากับรู้สึกท้าทายร้อนวิชา จริงๆแล้วการฝึกฝนให้มาก เอาใจใส่ทุกรายละเอียดนี้ทำให้เราเกิดทักษะอย่างดีเยี่ยม ที่บอกว่า “ เมื่อยล้าสมองจวนจะคิดคำใดไม่ออก”กลับเป็นแหล่งคลังคำในการค้นหาคำศัพท์เช่นพจนานุกรมเล่มใหญ่ที่ถูกบรรจุในสมองพร้อมเปิดหา และวันนี้ก็เป็นวันแห่งชัยชนะของเรา ข้าพเจ้าได้รับรางวัลชนะเลิศการแต่งกลอนสดชิงโล่พระราชทาน ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นำความปลาบปลื้มยินดีมาสู่โรงเรียน และวันนี้นี่เองข้าพเจ้าจึงได้รู้จัก คำว่า “ พอใช้ ” ที่ครูสอนเป็นอย่างดี หากวันนั้นครูบอกว่าเราทำได้ดีแล้ว เราก็จะไม่กระเตื้องตนให้ฝึกฝนอยากได้ดี ฉะนั้นคำว่า “พอใช้” ที่ครูสอนข้าพเจ้ายังนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตจวบจนทุกวันนี้

                     แรงบันดาลใจและประโยชน์ที่ได้จากการฝึกตน ผนวกความชอบในวันนั้น ทำให้ข้าพเจ้ารักที่จะเรียนรู้ภาษาไทยให้มากยิ่งขึ้น เพราะภาษาไทยเป็นภาษาที่มีความอ่อนช้อยงดงามอยู่ในตัว ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดที่บ่งบอกวัฒนธรรมทางด้านภาษาได้อย่างแยบยล เสมือนภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่ได้จารึกวิถีชีวิตในคมภาษาผ่านอักษร และวันนี้ข้าพเจ้าก็ได้เลือกเส้นทางเดินตามใจชอบตามอุดมการณ์ของตนเอง คือ เป็นครูสอนวิชาภาษาไทย เป็นนักเขียนนิรนาม (เขียนเองอ่านเอง ) และมีความสุขที่ตนได้ทำงานที่ตนรัก ศิลปะการประพันธ์กับชีวิตข้าพเจ้า จึงเป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าได้รู้จักตนเองและเลือกเดินได้อย่างถูกทาง คนเราจะทำสิ่งใดได้ดีนั้น ต้องทำงานที่เรารักและถนัดผลงานจึงจะปรากฏเป็นที่น่าชื่นชม และประโยชน์ที่ได้จากวิชาความรู้ดังกล่าวจะเป็นอื่นไปไม่ได้ในหน้าที่ของความเป็นครู ก็คือ ถ่ายทอดให้กับลูกศิษย์อย่างเต็มภูมิรู้และเต็มกำลังเพื่อขับเคลื่อนกลไกลอนาคตของประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า ง่ายงามสืบไป

หมายเลขบันทึก: 576329เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2014 22:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กันยายน 2014 23:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท