คณะเกษตรฯ มข. เปิดงานอาหารพื้นบ้านและวัฒนธรรม ปีที่ 3 มี 14 ชาติร่วม


คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดงานเทศกาลอาหารพื้นบ้านและวัฒนธรรม ครั้งที่ 3 มีทั้งอาหารไทยและต่างชาติ 14 ประเทศร่วมงาน พร้อมดนตรีและรำวงย้อนยุค ผู้ร่วมงานรับรางวัลแต่งตัวย้อนยุค

                 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดงานเทศกาลอาหารพื้นบ้านและวัฒนธรรมอาหารนานาชาติ ครั้งที่ 3 (3rd International Indigenous Food and Cultural Festival) ให้ผู้สนใจชิมและซื้ออาหารพื้นบ้านนานาชาติ เมื่อวันจันทร์ที่ 15 กันยายน 2557 ระหว่างเวลา 10.00 -15.00 นาฬิกา โดยรองศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ ภัทรจินดา รองคณบดีฝ่ายวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี คณะเกษตรศาสตร์ เป็นประธานเปิดงาน และ รองศาสตราจารย์ ดร.ยุพา หาญบุญทรง หัวหน้าโครงการฝึกอบรมนานาชาติ กล่าวรายงาน มี 14 ประเทศและกลุ่มเครือข่ายอาหารพื้นบ้านและวัฒนธรรมร่วมออกร้านแสดงและสาธิตอาหารพื้นบ้าน นำอาหารพื้นบ้านที่สะอาด ปลอดภัย หารับประทานยากมาให้ได้ชิมและซื้อ พร้อมวงดนตรีและการละเล่นพื้นบ้านรำวงย้อนยุคให้ได้ชม และผู้ร่วมงานที่แต่งตัวย้อนยุคได้รับรางวัล ณ หน้าโรงอาหารคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
                รองศาสตราจารย์ ดร.ยุพา หาญบุญทรง หัวหน้าโครงการฝึกอบรมนานาชาติ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ในปี 2557 นับเป็นปีที่ 3 ที่ทางสำนักงานพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ (สพร.) ได้สนับสนุนงบประมาณในการอบรมนานาชาติ เรื่อง Utilizing Indigenous Food Sources for Food Security มีวัตถุประสงค์ให้ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการใช้อาหารพื้นบ้านสำหรับความมั่นคงอาหารของมนุษย์ รวมถึงการสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศไทยกับประเทศต่างๆ ซึ่งในการจัดอบรมครั้งนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อาหารพื้นบ้านและวัฒนธรรม ด้วยการเข้าร่วมงาน เทศกาลอาหารพื้นบ้านและวัฒนธรรมนานาชาติ โดยในปีนี้มี 14 ประเทศ เข้าร่วมออกร้านแสดงอาหารพื้นบ้าน และมีกลุ่มเครือข่ายอาหารพื้นบ้านและวัฒนธรรมที่จะเข้ารวมงานอีก 42 ร้าน โดยมีประเทศต่างๆ เข้าร่วมดังต่อไปนี้ คือ มอริเชียส(Mauritius) เนปาล(Nepal) ปากีสถาน(Pakistan) มัลดีฟ(Maldives) เอควาดอร์(Ecuador) ศรีลังกา(Sri Lanka) เอลซาลวาดอล(El Salvador) ฟิจิ(Fiji) ชิลี(Chile) บังกลาเทศ(Bangladesh) ปากีสถาน(Pakistan) จอร์แดน(Jordan) อิตาลี(Italy) และประเทศไทย(Thailand)
                ผู้ช่วยศาสตราจารย์ไกรเลิศ ทวีกุล ผู้ประสานงานโครงการ กล่าวว่า งานเทศกาลอาหารพื้นบ้านและวัฒนธรรม ครั้งที่ 3 มีร้านต่าง ๆ ของเครือข่ายชุมชนของภาคอิสานได้นำอาหารพื้นบ้านที่สะอาด ปลอดภัย หารับประทานยากมาให้ได้ชิมและซื้อ เช่น หมกฮวก หมกหน่อไม้นางดิน ตำลูกจันทร์ แกงอ่อมกบ น้ำพริกกบนา แกงหน่อไม้ดอกขจร ส้มปลาชะโด แจ่วบองไร้พยาธิ์ ข้าวเกรียบหูช้าง ข้าวหลามป้อก ไอติมข้าวลืมผัว ข้าวแต๋นพันหน้า ข้าวเกรียบบักอึ บาบีคิว ไก่ย่าง ส้มตำพันเครื่อง และหน่อไม้หวานพร้อมทั้งเครื่องสำอางพื้นบ้าน อาทิ ผงพอกหน้าข้าวฮางงอก เป็นต้น ส่วนอาหารพื้นบ้านจากนานาชาตินั้น เป็นอาหารพื้นบ้านที่มีเครื่องปรุงและส่วนผสมเป็นของแต่ละชาติ ที่ได้เชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมงานได้ชิมที่ร้านของแต่ละชาติที่มาร่วมออกร้านในงาน
             ผู้ช่วยศาสตราจารย์ไกรเลิศ กล่าวอีกว่า นอกจากมีการแสดงและสาธิตอาหารพื้นบ้านของแต่ละประเทศแล้ว ยังมีการละเล่นพื้นบ้านควบคู่กันไปด้วย ได้แก่ รำวงย้อนยุค โดยคณะเยาวชนและแม่บ้าน บ้านหนองฮี ตำบลดอนช้าง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น และวงดนตรีคณะท่าตูมวารีศิลป์ จังหวัดมหาสารคาม สำหรับผู้ร่วมงานที่แต่งตัวแบบย้อนยุคเข้ากับลักษณะของงานที่เป็นแบบพื้นบ้านและรำวงย้อนยุค หรือแบบสมัยชนบท ยุคมนต์รักลูกทุ่ง หรือแหยมยโสธร ยังได้รับรางวัลในงานนี้ด้วย

             กิตติศักดิ์ สิงหา วิเคราะห์ สังเคราะห์และเผยแพร่

หมายเลขบันทึก: 576261เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2014 15:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2014 15:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท