การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต วิชากฎหมายอาญา (ข้อที่1) สมัยที่ 56-60



คำถาม 10 ข้อ ให้เวลาตอบ 4 ชั่วโมง (14.00 น. - 18.00 น.) ให้ยกเหตุผลประกอบคำตอบ

สมัยที่ 56 ปีการศึกษา 2546

ข้อ 1. นางดาวทำร้ายร่างกายนายเดือนจนได้รับอันตรายแก่กาย (1) พันตำรวจโทเอกชัย พนักงานสอบสวน จึงจับกุมนางดาวเป็นผู้ต้องหาในข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย (2) นางดาวกลัวจะติดคุกจึงขอให้พันตำรวจโทเอกชัย พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเจ้าของคดีช่วยเหลือตนโดยเสนอเงินให้ห้าแสนบาท เพื่อเป็นค่าทำพยานหลักฐานให้อ่อนช่วยนางดาวให้พ้นผิด (3) ทำให้พันตำรวจโทเอกชัยโกรธจึงแกล้งเปลี่ยนข้อหาเป็นพยายามฆ่าผู้อื่นแล้วทำสำนวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องเสนอพนักงานอัยการ (4) ต่อมาพนักงานอัยการได้พิจารณาสำนวนแล้วเห็นว่าพยานหลักฐานไม่พอฟ้องให้ศาลลงโทษ จึงมีคำสั่งไม่ฟ้องนางดาว

ให้วินิจฉัยว่า นางดาวและพันตำรวจโทเอกชัย มีความผิดฐานใดหรือไม่

จากโจทย์ วินิจฉัยกรณี (1) ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม (2) ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม

ประเด็นที่ต้องตอบ (1) นางดาว มีความผิดฐานใดหรือไม่ (2) พันตำรวจโทเอกชัย มีความผิดฐานใดหรือไม่

หลักกฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 167 และ มาตรา 200 วรรคสอง

มาตรา 167 ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์ อื่นใด แก่เจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการ พนักงานอัยการผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน เพื่อจูงใจให้กระทำการไม่กระทำการหรือ ประวิงการกระทำใดอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน เจ็ดปีและปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท

มาตรา 200 วรรคสอง ถ้าการกระทำหรือไม่กระทำนั้น เป็นการ “เพื่อจะแกล้ง" ให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องรับโทษ รับโทษหนักขึ้น หรือต้องถูกบังคับตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท

คำตอบ ข้อเท็จจริงตามปัญหา แยกพิจารณาได้ดังนี้ การที่นางดาว เสนอให้เงินจำนวนห้าแสนบาทแก่พันตำรวจโทเอกชัย พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีเพื่อเป็นค่าทำพยานหลักฐานให้อ่อนเป็นการขอให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานสอบสวน เพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ นางดาวจึงมีความผิดฐานให้สินบนเจ้าพนักงานในการยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 167

ส่วนที่พันตำรวจโทเอกชัยเปลี่ยนข้อหาการกระทำความผิดของนางดาวเป็นข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น ซึ่งเป็นข้อหาที่นางดาวจะต้องรับโทษหนักขึ้น เป็นกรณีเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานสอบสวนกระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบเพื่อจะแกล้งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องรับโทษหนักขึ้น พันตำรวจโทเอกชัย จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานในการยุติธรรมกระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 วรรคสอง

ด้วยเหตุผลดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น นางดาวจึงมีความผิดฐานให้สินบนเจ้าพนักงานในการยุติธรรม
พันตำรวจโทเอกชัย จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานในการยุติธรรมกระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ

สมัยที่ 57 ปีการศึกษา 2547

ข้อ 1. นายต้นถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญา (1) นายต้นกลัวว่าศาลจะพิพากษาลงโทษจำคุก จึงไปปรึกษานายส่งซึ่งเป็นลูกจ้างชั่วคราว ทำหน้าที่เก็บสำนวนคดีอยู่ที่ศาลนั้นซึ่งรู้จักกันมาก่อน (2) นายส่งได้พูดว่ารู้จักผู้พิพากษาในคดีที่นายต้นถูกฟ้อง เคยเสนอสำนวนให้ท่านพิจารณา หากนายต้นให้เงินตน 100,000 บาท ก็จะขอให้ศาลพิพากษารอการลงโทษแก่นายต้น (3) แต่นายส่งมิได้ระบุชื่อผู้พิพากษา (4) นายต้นจึงมอบเงินจำนวน 100,000 บาท แก่นายส่ง (5) ต่อมาศาลพิพากษาลงโทษจำคุกนายต้น นายต้นจึงทราบว่านายส่งมิได้วิ่งเต้นให้ตนเลย เพราะนายส่งไม่เคยรู้จักผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน (6) เหตุที่นายส่งแอบอ้างเพราะเข้าใจว่าคดีประเภทนี้ศาลมักจะรอการลงโทษอยู่แล้ว (7) นายต้นจึงไปต่อว่านายส่งว่าทำให้ตนเสียหายต้องโทษจำคุกและขอเงินคืน (8) นายส่งอ้างว่ามิได้กระทำความผิดแต่อย่างใดและไม่ยอมคืนเงิน 100,000 บาทให้

ให้วินิจฉัยว่า นายส่งจะมีความผิดฐานใดหรือไม่ และเงินจำนวน 100,000 บาท จะริบได้หรือไม่

จากโจทย์ วินิจฉัยกรณี (1) การจูงใจให้กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ซึ่งเป็นความผิด (2) การริบทรัพย์

ประเด็นที่ต้องตอบ(1) นายส่งจะมีความผิดฐานใดหรือไม่ (2) เงินจำนวน 100,000 บาท ที่นายต้นส่งมอบให้นายส่งจะริบได้หรือไม่

หลักกฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 และ มาตรา 34 (1)

มาตรา 143 ผู้ใดเรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นเป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจหรือ ได้จูงใจพนักงานสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐสมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล โดยวิธีอันทุจริตหรือผิดกฎหมาย หรือโดย อิทธิพลของตนให้กระทำการ หรือไม่กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณ หรือเป็นโทษแก่บุคคลใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 34 บรรดาทรัพย์สิน

(1) ซึ่งได้ให้ตามความใน มาตรา 143 มาตรา 144 มาตรา 149 มาตรา 150 มาตรา 167

มาตรา 201 หรือ มาตรา 202 หรือ

(2) ซึ่งได้ให้เพื่อจูง ใจบุคคลให้กระทำความผิด หรือเพื่อเป็นรางวัล ในการที่บุคคลได้กระทำความผิดให้ริบเสียทั้งสิ้น เว้นแต่ทรัพย์สินนั้นเป็นของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็น ใจด้วยในการกระทำความผิด

คำตอบ ข้อเท็จจริงตามปัญหา แยกพิจารณาได้ดังนี้

การที่นายส่งเรียกและรับเงินไปจากนายต้นเป็นเงินจำนวน 100,000 บาท เพื่อเป็นการตอบแทนโดยอ้างว่าจะนำไปใช้จูงใจเจ้าพนักงานในตำแหน่งผู้พิพากษาโดยวิธีการอันทุจริตให้กระทำการในหน้าที่พิพากษาคดีโดยรอการลงโทษแก่นายต้น ในคดีอาญาที่นายต้นถูกฟ้อง แม้จะมิได้ระบุชื่อผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาพิพากษาคดีของนายต้นและไม่ได้ไปจูงใจผู้พิพากษาในการกระทำการในหน้าที่ให้เป็นคุณแก่นายต้นก็ตาม การกระทำของนายส่งก็ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7695/2543) ส่วนเงินจำนวน 100,000 บาท เป็นทรัพย์ที่ได้ให้ตามความในมาตรา 143 จึงต้องริบเสียทั้งสิ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 34 (1)

ด้วยเหตุผลดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น นายส่งจะมีความผิดฐานเป็นคนกลางเรียกรับเงินเพื่อใช้ในการจูงใจให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นเจ้าพนักงานกระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณหรือเป็นโทษ นายส่งจึงมีความผิดฐานเป็นคนกลางเรียกรับเงิน และต้องริบเงินเสียทั้งสิ้นจำนวน 100,000 บาท ที่ได้จากการทุจริต

สมัยที่ 58 ปีการศึกษา 2548

ข้อ 1. นายเด่น นายกเทศมนตรี มีหน้าที่ควบคุมและรับผิดชอบการบริหารราชการทั้งปวงภายในเขตเทศบาล ได้ประกาศเรียกประกวดราคาจ้างถมดินอ่างเก็บน้ำ (1) ปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ชำนาญถมชนะการประกวดราคาในราคาต่ำสุดและเป็นราคาต่ำกว่าราคากลางที่ทางราชการกำหนดไว้ (2) นายเด่นจึงลงนามในสัญญาจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดชำนาญถมเป็นผู้รับจ้างและได้ออกคำสั่งแต่งตั้งนายดวงซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายพัสดุมีหน้าที่ดูแลรักษาและสั่งอนุญาตใช้รถยนต์ของเทศบาล เป็นกรรมการตรวจรับงานจ้างถมดินอ่างเก็บน้ำ (3) นายดวงได้โอกาสจึงเข้าเป็นผู้รับเหมางานช่วงจากห้างหุ้นส่วนจำกัดชำนาญถม (4) โดยนำรถยนต์บรรทุกของทางราชการไปใช้ขนดินให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดชำนาญถมจนเสร็จตามสัญญา (5) ข้อเท็จจริงปรากฏว่านายเด่นและนายดวงเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัด ชำนาญถม ให้วินิจฉัยว่า นายเด่นและนายดวงมีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการฐานใดหรือไม่

จากโจทย์ วินิจฉัยกรณี (1) เจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตจัดการทรัพย์อันเป็นการเสียหายแก่ส่วนราชการ (2) เจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูกิจการใดเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น

ประเด็นที่ต้องตอบ (1) นายเด่นมีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการฐานใดหรือไม่ (2) นายดวงมีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการฐานใดหรือไม่

หลักกฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และ มาตรา 152

มาตรา 151 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือ รักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท มาตรา 152 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท

คำตอบ ข้อเท็จจริงตามปัญหา แยกพิจารณาได้ดังนี้

นายเด่นเป็นนายกเทศมนตรีและเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดได้เข้าทำสัญญาจ้างถมดินกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ชำนาญถมในราคาต่ำกว่าราคาที่ทางราชการกำหนดไว้ นายเด่นจึงไม่ได้เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองและผู้อื่น จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่1706/2535) นายดวง เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ดูแลรักษาและอนุญาตใช้รถยนต์ของทางราชการและเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัด ชำนาญถม ได้ใช้รถบรรทุกของทางราชการในกิจการส่วนตัวของนายดวง จึงเป็นการที่นายดวงใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่เทศบาล เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4828/2533) นายดวงเป็นเจ้าพนักงานได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจรับงานจ้างถมดิน จึงมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการการถมดินตามสัญญาจ้างถมดิน การที่นายดวงเข้าเป็นผู้รับเหมาช่วง เป็นการเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7776/2540) ด้วยเหตุผลดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น การกระทำของนายเด่นไม่เป็นความผิด นายดวงมีความผิดฐานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่เทศบาล เและนายดวงเข้าเป็นผู้รับเหมาช่วง เป็นการเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น เ

สมัยที่ 59 ปีการศึกษา 2549

ข้อ 1. ร้อยตำรวจเอกสมยศ รองสารวัตรสอบสวนออกตรวจท้องที่ โดยมีนายสา ราษฎรซึ่งเป็นสายลับของร้อยตำรวจเอกสมยศแต่งกายคล้ายตำรวจพกอาวุธปืนและกุญแจมือติดตามไปด้วย (1) นายสาพบนายทับคู่อริซึ่งเคยขายยาบ้า จึงเข้าทำการจับกุมตรวจค้นตัว และใส่กุญแจมืออย่างตำรวจ (2) นายทับวิ่งหนี นายสาจึงใช้อาวุธปืนที่นำติดตัวมายิงนายทับตาย (3) ร้อยตำรวจเอกสมยศจะจับนายสา นายสากลัวความผิดจึงขอร้องให้ร้อยตำรวจเอกสมยศช่วยตนโดยทวงบุญคุณที่นายสาเคยช่วยเหลือไว้ (4) ร้อยตำรวจเอกสมยศจึงช่วยนายสาโกยเลือดนายทับที่อยู่ในที่เกิดเหตุและนำศพนายทับบรรทุกรถยนต์ไปทิ้งที่อื่นเพื่ออำพรางคดี

ให้วินิจฉัยว่า นายสาและร้อยตำรวจเอกสมยศจะมีความผิดต่อเจ้าพนักงานและความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ฐานใด หรือไม่

จากโจทย์ วินิจฉัยกรณี (1) แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานโดยไม่มีอำนาจ (2) เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบ (3) ปิดบัง ซ่อนเร้นศพ เพื่ออำพรางคดี

ประเด็นที่ต้องตอบ (1) นายสาจะมีความผิดต่อเจ้าพนักงานและความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ฐานใด หรือไม่ (2) ร้อยตำรวจเอกสมยศจะมีความผิดต่อเจ้าพนักงานและความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ฐานใด หรือไม่

หลักกฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145,157, 184, 199 และ 200

มาตรา 145 ผู้ใดแสดงตนเป็นเจ้าพนักงาน และกระทำการเป็น เจ้าพนักงาน โดยตนเองมิได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำการนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

เจ้าพนักงานผู้ใดได้รับคำสั่งมิให้ปฏิบัติการ ตามตำแหน่งหน้าที่ ต่อไปแล้วยังฝ่าฝืนกระทำ

การใด ๆ ในตำแหน่งหน้าที่นั้น ต้องระวาง โทษตามที่กำหนดไว้ในวรรคแรกดุจกัน

มาตรา 157ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือ ทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา184ผู้ใดเพื่อจะช่วยผู้อื่นมิให้ต้องรับโทษ หรือให้รับโทษน้อยลงทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ ซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 199ผู้ใดลอบฝัง ซ่อนเร้น ย้ายหรือทำลายศพหรือส่วน ของศพเพื่อปิดบังการเกิด การตายหรือเหตุแห่งการตาย ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 200 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวน

หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาหรือจัดการให้เป็นไปตามหมายอาญา กระทำการ

หรือไม่กระทำการอย่างใด ๆ ในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ “เพื่อจะช่วย" บุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้

ต้องโทษ หรือให้รับโทษน้อยลงต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพัน

บาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท

ถ้าการกระทำหรือไม่กระทำนั้น เป็นการ “เพื่อจะแกล้ง" ให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้อรับโทษ รับโทษหนักขึ้น หรือต้องถูกบังคับตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท

คำตอบ ข้อเท็จจริงตามปัญหา แยกพิจารณาได้ดังนี้

การที่นายสาซึ่งเป็นราษฎรจับกุม ตรวจค้นตัว และเอากุญแจมือใส่นายทับอย่างตำรวจ ถือว่าเป็นการแสดงตนและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน มีความผิดฐานแสดงตนและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145 และการที่นายสานำศพนายทับบรรทุกรถยนต์ไปทิ้งที่อื่นเพื่ออำพรางคดี เป็นความผิดฐานย้ายศพเพื่อปิดบังการตายตามมาตรา 199

ร้อยตำรวจเอกสมยศ เป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานสอบสวน มีอำนาจสืบสวนและจับกุมผู้กระทำความผิด รู้ว่านายสากระทำความผิด แต่ไม่จับกุม กลับช่วยโกยเลือดและนำศพไปทิ้งเพื่อช่วยผู้กระทำความผิดเป็นความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 ฐานกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด ๆ ในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบเพื่อจะช่วยบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องรับโทษหรือได้รับโทษน้อยลงตามมาตรา 200 ฐานทำลายพยานหลักฐานในการกระทำความผิด เพื่อช่วยผู้อื่นมิให้ต้องรับโทษหรือได้รับโทษน้อยลงตามมาตรา 184 และฐานย้ายศพเพื่อปิดบังการตายตามมาตรา 199 (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 1202/2520)

ด้วยเหตุผลดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น นายสา จึงมีความผิดฐานแสดงตนและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน และการนำศพนายทับทิ้งเพื่ออำพรางคดี เป็นความผิดฐานย้ายศพเพื่อปิดบังการตาย

ร้อยตำรวจเอกสมยศมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 ฐานกระทำการหรือไม่กระทำการในตำแหน่งอันมิชอบเพื่อจะช่วยบุคคลใดมิให้ต้องรับโทษหรือได้รับโทษน้อยลงตามมาตรา 200 ฐานทำลายพยานหลักฐานในการกระทำความผิด เพื่อช่วยผู้อื่นมิให้ต้องรับโทษหรือได้รับโทษน้อยลงตามมาตรา 184 และฐานย้ายศพเพื่อปิดบังการตายตามมาตรา 199

สมัยที่ 60 ปีการศึกษา 2550

ข้อ1. นายเอกกับนายต้นเป็นคนไทยได้รับทุนรัฐบาลไทยไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอินเดียด้วยกัน (1) ขณะที่อยู่บริเวณห้องผู้โดยสารขาออก ที่สนามบินประเทศอินเดีย เพื่อจะเดินทางกลับมาเยี่ยมญาติที่ประเทศไทย (2) นายเอกซื้อของที่สนามบินจนเงินหมดจึงขอยืมเงินนายต้นเพื่อเสียภาษีสนามบิน (3) นายต้นไม่ให้ จึงเป็นปากเป็นเสียงกัน (4) ในขณะนั้นเองนายเอกถือโอกาสล้วงเอาเงินจากกระเป๋าเสื้อนายต้นไปห้าพันบาท (5) นายต้นโกรธนายเอกมาก (6) ครั้นนายเอก นายต้นเดินทางกลับถึงประเทศไทย นายต้นยังไม่หายโกรธจึงไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กองปราบปรามว่านายเอกใช้กำลังทำร้ายชกต่อยตนจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายแล้วในทันทีทันใดนั้นได้ลักเอาเงินของตนไปห้าพันบาทที่สนามบินประเทศอินเดีย อันเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์

ให้วินิจฉัยว่า นายเอกและนายต้นมีความผิดฐานใด และรับโทษในราชอาณาจักรได้หรือไม่

จากโจทย์ วินิจฉัยกรณี (1) การกระทำความผิดนอกราชอาณาจักรของคนไทย

ประเด็นที่ต้องตอบ (1) นายเอกมีความผิดฐานใด และรับโทษในราชอาณาจักรได้หรือไม่ (2) นายต้นมีความผิดฐานใด และรับโทษในราชอาณาจักรได้หรือไม่

หลักกฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 4 ว.แรก, 8 (ก) (8), 172,174 ว.2 และ 181 (1)

มาตรา 4 ผู้ใดกระทำความผิดในราชอาณาจักร ต้องรับโทษตาม กฎหมาย

การกระทำความผิดในเรือไทยหรืออากาศยานไทย ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด ให้ถือว่ากระทำความผิดในราชอาณาจักร

มาตรา 8 ผู้ใดกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร และ

(ก) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดได้เกิดขึ้น หรือผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ หรือ

(8) ความผิดฐานลักทรัพย์ และวิ่งราวทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 334ถึงมาตรา 336

มาตรา 172 ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่ พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวน คดีอาญา ซึ่งอาจทำให้ผู้ อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน สองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 174 ถ้าการแจ้งข้อความตามมาตรา 172 หรือมาตรา 173 เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องถูกบังคับตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท

ถ้าการแจ้งตามความในวรรคแรก เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใด ต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และ ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

มาตรา 181 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 174 มาตรา 175 มาตรา 177 มาตรา 178 หรือมาตรา 180

(1) เป็นการกระทำในกรณีแห่งข้อหาว่า ผู้ใดกระทำความผิดที่มี ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือน ถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท

คำตอบ ข้อเท็จจริงตามปัญหา แยกพิจารณาได้ดังนี้

นายเอก คนไทยล้วงเอาเงินจากกระเป๋าเสื้อของนายต้น คนไทยที่ไปด้วยกันที่ประเทศอินเดีย เป็นการที่นายเอกกระทำความผิดฐานลักทรัพย์นอกราชอาณาจักร เมื่อนายเอกซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดเป็นคนไทย และนายต้นผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน นายเอกจึงต้องรับโทษภายในราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 8 (ก) (8)

ส่วนการที่ นายต้นไปแจ้งความร้องทุกข์ดังกล่าว เป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาเพื่อจะแกล้งให้นายเอกต้องรับโทษในความผิดฐานชิงทรัพย์ซึ่งหนักขึ้นกว่าความผิดฐานลักทรัพย์ นายต้นจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172, มาตรา 174 วรรคสอง และเมื่อความผิดฐานชิงทรัพย์ที่นายต้นกล่าวหาว่านายเอกกระทำมีอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำตั้งแต่สามปีขึ้นไป นายต้นจึงมีความผิดตามมาตรา 181 (1) ด้วยซึ่งความผิดเหล่านี้นายต้นต้องรับโทษในราชอาณาจักรตามมาตรา 4 วรรคแรก

ด้วยเหตุผลดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น นายเอกกระทำความผิดฐานลักทรัพย์นอกราชอาณาจักรต้องรับโทษภายในราชอาณาจักร

นายต้นไปแจ้งความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาเพื่อจะแกล้งให้นายเอกต้องรับโทษในความผิดฐานชิงทรัพย์ซึ่งหนักขึ้นกว่าความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องรับโทษในราชอาณาจักร



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท