บทนำ


บทที่ 1

บทนำ

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

      นับตั้งแต่ พ.ศ. 2504 ที่ประเทศไทยได้มีการนำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเข้ามาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ ทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยมีความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เกิดการประกอบอาชีพเป็นธุรกิจเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงที่มีความต้องการสูงหรือเรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการลงทุน ดังนั้นจึงส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ ย่อมมีความต้องการแรงงานเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดความต้องการใช้แรงงานในทุกระดับมีสูงขึ้นตามประกอบกับสถานการณ์แรงงานในปัจจุบัน มีความต้องการปริมาณแรงงานเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆโดยเฉพาะแรงงานในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม ตลอดจนงานในระดับล่าง ซึ่งถือว่าการเพิ่มขึ้นของแรงงานเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจให้มีการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้สาเหตุหนึ่งที่ผู้ประกอบการมีการใช้แรงงานต่างด้าว อาจมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จึงทำให้เกิดการประกอบกิจการหลายอย่าง อาทิเช่น โรงงาน โรงแรม รวมไปถึงร้านอาหาร ที่ล้วนแล้วแต่มีความจำเป็นที่ต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก ทำให้การจ้างแรงงานคนไทยไม่เพียงพอต่อความต้องการอีกทั้งอาจมีสาเหตุในเรื่องของค่าแรงที่สูง ปริมาณของวัยทำงานของไทยลดลง และยังเป็นวัยพึ่งพาเพิ่มมากขึ้น รวมถึงอัตราการเกิดก็ลดลงด้วย หรือแม้กระทั่งในเรื่องของความมั่นคงในการประกอบอาชีพก็มีน้อย ไม่มีระบบสวัสดิการที่ดี เป็นแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ จึงทำให้ผู้ประกอบการเลือกที่จะนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน เพื่อเป็นลดต้นทุนในการประกอบกิจการ พร้อมกันนี้เมื่อมีการเปิดประชาคมอาเซียนขึ้นแล้วนั้น ก็ย่อมหมายความว่าแรงงานต่างชาติก็สามารถที่จะเข้ามาทำงานในประเทศได้อย่างอิสระมากขึ้น (กระทรวงแรงงาน, 2557: 1-2)

     โดยเห็นได้จากสถานการณ์แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ นั่นคือ พม่า ลาว และกัมพูชา ที่เข้ามาทำงานและได้รับอนุญาตทำงานตามมาตรา 9 (พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551: 27) มีจำนวนทั้งสิ้น 1,292,498 คน ซึ่งถือได้ว่ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในช่วงปี 2553 มีแรงงานต่างด้าวจำนวน 379,560 คน ปี 2554 มีจำนวนแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้นจำนวน 678,235 คน และปี 2555 จำนวนแรงงานต่างด้าวก็เพิ่มขึ้นอีกเป็น 940,531 คน ดังนั้นจึงเป็นได้ว่าจำนวนแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานในประเทศไทยที่เข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง (กรมการจัดหางาน, 2557: 8-9)

     สำหรับตัวผู้ประกอบการถือได้ว่าเรื่องจำนวนแรงงานต่างด้าวค่อนข้างมีความสำคัญอย่างยิ่งการประกอบกิจการต่าง ๆ เพื่อให้ทันต่อการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นและจำนวนแรงงานไทยที่ลดลง ผู้ประกอบการจึงมีความจำเป็นที่ต้องสรรหาแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในกิจการ พร้อมกับรองรับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างด้านแรงงานของประเทศ นั่นคือ การเพิ่มขึ้นของแรงงานต่างด้าวที่จะเข้ามาในประเทศไทยในช่วงก่อนการเปิดประชาคมอาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับรายงานสถานการณ์แรงงาน พบว่าความต้องการแรงงานต่างด้าว ในปี พ.ศ. 2556 คิดเป็นอัตราความต้องการแรงงานอยู่ที่ร้อยละ 39.5 ส่วนปี2557 ความต้องการแรงงานเพิ่มสูงขึ้นอีก 0.8 คิดเป็นร้อยละ 40.4 และความคาดการณ์ในอนาคตปี 2558 มีจำนวน 41.3 เพิ่มขึ้นมา 0.9 ซึ่งทำให้เห็นความต้องการณ์แรงงานที่เพิ่มสูงขึ้นมาเรื่อย โดยเฉพาะลักษณะของงานบางอย่างที่คนไทยไม่นิยมทำ เพราะเห็นว่าเป็นงานที่ต้องใช้แรงงานหนัก สกปรก และมีรายได้น้อย ซึ่งจากสาเหตุดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการจ้างงานแรงงานต่างด้าวเพิ่มมากขึ้น จึงมีการนำมาทำงานทดแทนแรงงานท้องถิ่นเดิม โดยจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานและค่าจ้างที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จึงถือได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นายจ้างในประเทศไทยให้ความสนใจต่อการจ้างแรงงานต่างด้าว เพราะแรงงานเหล่านี้ไม่มีอำนาจในการต่อรองและที่สำคัญมีต้นทุนที่ต่ำกว่าในด้านค่าจ้างแรงงาน การจัดหาแรงงานต่างด้าวก็ทำได้ง่ายกว่า อีกทั้งตัวของแรงงานต่างด้าวเองก็มีความขยันอดทนในการทำงานและมีความง่ายในการปกครอง ดังนั้นการจ้างแรงงานต่างด้าวน่าจะเกิดผลดีต่อกิจการตนเองมากกว่า ๆ (สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, 2556: 9)

      เนื่องจากจังหวัดนครปฐม ถือได้ว่าเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีการประกอบธุรกิจอยู่มากมาย จึงทำให้ความต้องการจ้างแรงงานมีสูง จากรายงานผลการดำเนินงานของสำนักงานจัดหางานจังหวัดนครปฐม ณ วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2557 พบว่า ผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ ใน จังหวัดนครปฐมเข้ามาแจ้งความต้องการแรงงานต่างด้าว อันเนื่องมาจากการทดแทนแรงงานไทยที่ขาดแคลน ถึงร้อยละ 38.34 ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมด 10,028 คน ซึ่งเห็นได้ว่าบางช่วงเวลาทำงานของแรงงานพบว่ามีปัญหา เวลาการเข้า – ออกงานของแรงงานบ่อย ไม่สามารถหาแรงงานในพื้นที่ได้ เพราะแรงงานท้องถิ่นหรือแรงงานไทยในพื้นที่ได้เดินทางไปทำงานในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง จึงส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานขึ้น ดังนั้นจังหวัดนครปฐมจึงเป็นแหล่งของการจ้างแรงงานต่างด้าวในผู้ประกอบการที่มีความต้องการสูงมาก แต่ปริมานของแรงงานกลับไม่เพียงพอต่อความต้องการ และเหตุผลดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการมีความจำเป็นที่จะต้องจ้างแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในสถานประกอบการเพื่อทดแทนแรงงานไทยที่ขาดหายไป (สำนักงานจัดหางานจังหวัดนครปฐม, 2557: 5)

จากความสำคัญของปัญหาที่ได้กล่าวมาข้างต้น ผู้วิจัยมีความสนใจที่จะศึกษาระดับการจ้างงานแรงงานต่างด้าวของผู้ประกอบการในจังหวัดนครปฐมและเพื่อศึกษาแนวทางในการพัฒนาระบบการจ้างงานแรงงานต่างด้าวของผู้ประกอบการในจังหวัดนครปฐม

คำถามวิจัย

     1. ผู้ประกอบการในจังหวัดนครปฐม มีระดับความต้องการจ้างงานแรงงานต่างด้าวอยู่ในระดับใด

     2. ผู้ประกอบการในจังหวัดนครปฐมมีแนวทางในการพัฒนาระบบการจ้างงานแรงงาน ต่างด้าวเป็นอย่างไร

­ปัญหาวิจัย

     การขาดแคลนแรงงานในจังหวัดนครปฐม, ความต้องการแรงงาน

วัตถุประสงค์การวิจัย

    1. เพื่อศึกษาระดับความต้องการจ้างงานแรงงานต่างด้าวของผู้ประกอบการใน จังหวัดนครปฐม

    2. เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาระบบการจ้างงานแรงงานต่างด้าวของผู้ประกอบการใน จังหวัดนครปฐม

กรอบแนวคิดในการวิจัย

    การศึกษาการจ้างงานแรงงานต่างด้าวของผู้ประกอบการในจังหวัดนครปฐม ผู้วิจัยได้ศึกษาแนวคิด ทฤษฎี เอกสารและงานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการจ้างงานแรงงานต่างด้าว โดยมีกรอบแนวคิดดังนี้

ตัวแปรต้น                                                         

ปัจจัยส่วนบุคคล
1. เพศ
2. อายุ
3. ระดับการศึกษา

4. ตำแหน่ง

5. รายได้

6. ประเภทของกิจการ

7. ระยะเวลาที่ในการจ้างงาน

8. พื้นที่ของสถานที่ทำงาน

ตัวเเปรตาม

 
ความต้องการจ้างงานแรงงานต่างด้าวของผู้ประกอบการ
มีความต้องการ 6 ด้าน ดังนี้
 1. ด้านค่าจ้าง

2. ด้านลักษณะงาน

3. ด้านการขาดแคลนแรงงาน

4. ด้านคุณลักษณะของแรงงาน

5. ด้านสวัสดิการในการทำงาน

6. ด้านนโยบาย

กรอบแนวคิดในการวิจัย

ขอบเขตของการวิจัย

     การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research Method) เพื่อศึกษาระดับความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวและแนวทางในการพัฒนาระบบการจ้างแรงงานต่างด้าวของผู้ประกอบการ ในจังหวัดนครปฐม มีขอบเขตการวิจัยดังนี้

      1. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

      1.1 ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ ผู้ประกอบการที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าวตั้งแต่ 20 คนขึ้นไปในสถานประกอบการ ในจังหวัดนครปฐม จำนวน 1,220 คน (สำนักงานจัดหางานจังหวัดนครปฐม ประจำเดือน มกราคม ถึง เดือนกรกฎาคม)

        1.2 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ

              1.2.1 การศึกษาระดับความต้องการจ้างงานแรงงานต่างด้าวของผู้ประกอบการ ใน จังหวัดนครปฐม กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ ได้แก่ ผู้ประกอบการที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าว ตั้งแต่ 20 คนขึ้นไปในสถานประกอบการ ในจังหวัดนครปฐม จำนวน 301 คน ได้จากการกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างจากตารางของทาโร่ ยามาเน่ (Taro Yamane) (กาสัก เต๊ะขันหมาก, 2553: 96) โดยวิธีการสุ่มแบบตามชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling)

        1.2.2 การหาแนวทางการพัฒนาระบบการจ้างงานแรงงานต่างด้าวของผู้ประกอบการในอำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ ได้แก่ ผู้ประกอบการที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าว ตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปในสถานประกอบการ ในจังหวัดนครปฐม จำนวน 10 คน

     2. ตัวแปรที่ศึกษา

       2.1 ตัวแปรอิสระ คือ ปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ อายุ ระดับการศึกษา ตำแหน่ง รายได้ ประเภทของกิจการ ระยะเวลาที่ในการจ้างงาน พื้นที่ของสถานที่ทำงาน

       2.2 ตัวแปรตาม คือ ความต้องการจ้างงานแรงงานต่างด้าวของผู้ประกอบการในจังหวัดนครปฐม ประกอบด้วย 6 ด้าน ได้แก่

       2.2.1 ด้านค่าจ้าง

       2.2.2 ด้านลักษณะงานที่ทำ

       2.2.3 ด้านการขาดแคลนแรงงาน

       2.2.4 ด้านคุณลักษณะของแรงงาน

       2.2.5 ด้านสวัสดิการในการทำงาน

       2.2.6 ด้านนโยบาย

    3. ขอบเขตด้านเนื้อหา

      การศึกษาในครั้งนี้ เป็นการศึกษาระดับความต้องการแรงงานต่างด้าวและแนวทางในการพัฒนาระบบการจ้างงานแรงงานต่างด้าวของผู้ประกอบการในจังหวัดนครปฐม

     4. ขอบเขตด้านระยะเวลา

       เดือนกรกฎาคม 2557 – เดือนกรกฎาคม 2558

     5. ขอบเขตด้านพื้นที่

พื้นที่ที่ใช้ในการศึกษาครั้ง คือ จังหวัดนครปฐม แบ่งออกเป็น 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสามพราน อำเภอเมืองนครปฐม อำเภอบางเลน อำเภอกำแพงแสน อำเภอนครชัยศรี อำเภอดอนตูม อำเภอพุทธมณฑล

นิยามศัพท์เฉพาะ

      ผู้ประกอบการ หมายถึง นายจ้างหรือเจ้าของประกอบกิจการที่มีแรงงานต่างด้าว ตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปในสถานประกอบการ ในอำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลในประเภทกิจการต่าง ๆ ที่มีการจดทะเบียนว่าจ้างแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายกับสำนักงานจัดหางานจังหวัดนครปฐม

        แรงงานต่างด้าว หมายถึง คนต่างชาติสัญชาติพม่า ลาวและกัมพูชา ที่เข้ามาทำงานเป็นลูกจ้างในสถานประกอบการ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม และได้รับอนุญาตการขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย

         การจ้างงานของผู้ประกอบการ หมายถึง ความต้องการจ้างงานแรงงานต่างด้าวของผู้ประกอบการ ที่มีแรงงานต่างด้าวตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ในอำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ได้แก่ ด้านค่าจ้าง ด้านลักษณะงานที่ทำ ด้านการขาดแคลนแรงงาน ด้านคุณลักษณะของแรงาน ด้านสวัสดิการในการทำงาน และด้านนโยบาย

    ด้านค่าจ้าง หมายถึง ลักษณะของการจ่ายค่าตอบแทนตามที่นายจ้างได้ทำสัญญาตกลงว่าจ้างลูกจ้างเข้ามาเป็นแรงงานเพื่อทำงานในสถานประกอบการ โดยมีการพิจารณาอัตราค่าจ้างตามระยะเวลาในการทำงานที่กำหนด

      ด้านลักษณะงานที่ทำ หมายถึง การจำแนกลักษณะรายละเอียดของงานที่ผู้ประกอบการต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในกิจการของตน อันมีลักษณะที่ประกอบไปด้วยงานที่ต้องทำในที่โล่งแจ้ง กลางแสงแดดและมีฝุ่นละอองตลอดระยะเวลาในการปฏิบัติงาน โดยที่จะไม่สามารถกำหนดระยะเวลาในการทำงานที่แน่นอน รวมทั้งเป็นงานที่ต้องใช้กำลังกายทีมีความแข็งแรง รวมทั้งเป็นงานที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาด้านสุขภาพและสุขอนามัยของผู้ปฏิบัติงาน

        ด้านการขาดแคลนแรงงาน หมายถึง สถานการณ์ที่นายจ้างมีแรงงานไม่เพียงพอหรือหาคนงานทำงานในกิจการของนายจ้างได้ยาก อันเนื่องมาจากอิทธิพลทางด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง

      ด้านคุณลักษณะของแรงงาน หมายถึง ลักษณะของแรงงานซึ่งประกอบด้วย ความขยัน อดทนในการทำงาน การทำงานอย่างสม่ำเสมอ ความทุ่มเทในการทำงาน ตลอดจนการไม่ย่อท้อต่อความลำบากในการทำงาน

      ด้านสวัสดิการในการทำงาน หมายถึง การดำเนินการใด ๆ ที่นายจ้างจัดให้แก่ลูกจ้างในสถานประกอบการของตนเป็นสิ่งตอบแทนนอกเหนือจากค่าจ้าง ไม่ว่าจะเป็นการ

        ด้านนโยบายการจัดการของผู้ประกอบการ หมายถึง กรอบการกำหนดหลักและวิธีปฏิบัติเพื่อให้เป็นแนวทางในการดำเนินกิจการที่มีทิศทางเดียวกัน โดยผู้ประกอบการมีนโยบายในการขยายกิจการเพิ่มขึ้น โดยจำเป็นต้องมีการจ้างแรงงานต่างด้าวเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการผลิตและเป็นการลดต้นทุนในการผลิต

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

ผลของการวิจัยครั้งนี้จะทำให้ได้รับประโยชน์ดังนี้

      1. ทำให้ทราบระดับความต้องการจ้างงานแรงงานต่างด้าวของผู้ประกอบการในจังหวัดนครปฐม

      2. ทำให้ทราบแนวทางในการพัฒนาระบบการจ้างงานแรงงานต่างด้าวของผู้ประกอบการใน จังหวัดนครปฐม

หมายเลขบันทึก: 575363เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2014 22:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 สิงหาคม 2014 22:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท