บทที่ 1


บทที่ 1

บทนำ

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

        จากสภาพสังคมปัจจุบันในยุคโลกาภิวัตน์ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งมาจากความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้วัฒนธรรมต่างประเทศได้เข้ามามีอิทธิพลต่อสังคมไทย เยาวชนหรือวัยรุ่นไทยจึงได้ซึมซับแนวคิดและกระแสนิยมบางอย่างเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิต ซึ่งบางอย่างเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ขึ้นมาที่ส่งผลกระทบต่อตัวเยาวชนทำให้มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมตามวัยและต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เป็นอันตรายต่อชีวิต เช่น ปัญหาการดื่มสุรา บุหรี่ ยาเสพติด การพนัน การติดเกม การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นการตกเป็นเหยื่อการบริโภควัตถุนิยม การใช้ความรุนแรง การทะเลาะวิวาท เป็นต้น นอกจากนี้ สถาบันครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุด แต่มีความสำคัญมากที่สุดก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมและเศรษฐกิจ พ่อแม่ต้องไปทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ไม่มีเวลาอบรมสั่งสอนดูแลใกล้ชิดลูก ทำให้เด็กๆ เรียนรู้ชีวิตด้วยตนเองจากสังคมนอกบ้าน และอาจถูกชักจูงไปในทางที่เสื่อมเสีย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบทั้งต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ถึงแม้ว่ารัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะกำหนดกฎหมายหรือระเบียบต่าง ๆ เป็นเครื่องมือในการพัฒนาและส่งเสริมเยาวชนในด้านต่างๆ รวมทั้งมีนโยบายหรือโครงการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาเยาวชนแล้วก็ตาม แต่เยาวชนของไทยจำนวนไม่น้อยยังคงเผชิญกับปัญหาดังกล่าวและยังหาทางออกไม่ได้

        จากสถิติของคดีที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสุพรรณบุรี ปี 2555 พบว่า จำนวนคดีทั้งหมด 290 คดี มีการกระทำความผิดในฐานความผิดที่เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ มีจานวน 135 คดี คิดเป็นร้อยละ 46.55 รองลงมาเป็นฐานความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ คิดเป็นจำนวน 49 คดี คิดเป็นร้อยละ 16.9 ของฐานความผิดทั้งหมด เด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของการค้ายาเสพติด จากข้อมูลในระบบติดตามและเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด โดยสำนักพัฒนาระบบบริการสุขภาพ พบว่า ในปี 2555 มีผู้เข้ารับการบำบัดรักษา ฟื้นฟูผู้เสพยาเสพติด ผู้ติดสารเสพติดให้โทษ 297,191 ราย ช่วงอายุ 18-24 ปี มากสุดร้อยละ 35.5 รองลงมาคือ ช่วงอายุ 25-29 ปี ร้อยละ 18.2 และปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการกระทำความผิด การใช้ความรุนแรง พฤติกรรม การแสดงออกด้านลบของเด็กและเยาวชน ประการหนึ่งคือการบริโภคสื่อ เนื่องจากสื่อมีบทบาทในชีวิต ประจำวันหรือวิถีชีวิตของเด็กและวัยรุ่น เป็นแรงกระตุ้นต่อกระบวนการเรียนรู้ ความคิดเห็น ทัศนคติ การพัฒนาทางบุคลิกภาพและคำนิยมทางวัฒนธรรมของเด็กและเยาวชน การเข้าถึงได้สะดวกและรวดเร็ว เสรีและเปิดกว้าง ดังจะเห็นได้จากภาพความรุนแรง การแสดงพฤติกรรมในด้านลบทางสื่อแขนงต่างๆ ตลอดเวลา(สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี, 2556)

        พื้นที่ตำบลทุ่งคอกตั้งอยู่ในอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี มีประชากรทั้งสิ้น 12,519คน เป็นประชากรที่อยู่ในวัยที่เรียกว่าวัยรุ่น คือ อายุ 14 – 19 ปี ประมาณ 1,119 คน (ระบบสถิติทางการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, 2556)ปัญหาวัยรุ่นที่พบในปัจจุบัน จากข้อมูลรายงานของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี พบว่าพื้นที่ตำบลทุ่งคอก มีการคลอดบุตรของวัยรุ่นหญิงอายุไม่เกิน 20 ปี ในปี 2554 มีจำนวน 12 คน ปี 2555 มีจำนวน 10 คน และในปี 2556 มีจำนวน 31 คน(สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี, 2556) ซึ่งจากข้อมูลนี้ทำให้แนวโน้มในอนาคต ตำบลทุ่งคอกอาจต้องเผชิญกับปัญหาเกี่ยวกับวัยรุ่นซึ่งควบคุมได้ยากในภายหน้า หากไม่มีการป้องกันและแก้ไขปัญหาตั้งแต่วันนี้เนื่องจากยังมีเด็กที่กำลังเติบโตขึ้นเป็นวัยรุ่นทุกปี จากที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นถือเป็นมูลเหตุจูงใจในการทำให้เกิดความสนใจในการศึกษาสภาพปัญหาและปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมวัยรุ่นในชุมชน ตำบลทุ่งคอก อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี และเพื่อเป็นการสอดคล้องกับแผนพัฒนาตำบล 3 ปี พ.ศ. 2557 - 2559ขององค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งคอก ด้านยุทธศาสตร์พัฒนาสังคม ที่จะเสริมสร้างและพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง ด้วยโครงการที่เกี่ยวกับวัยรุ่นหรือเยาวชนในชุมชน เช่น รณรงค์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดและสนับสนุนการจัดระเบียบสังคมโครงการจัดการแข่งขันกีฬาเยาวชนตำบลทุ่งคอก เพื่อให้เยาวชนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ มีสุขภาพแข็งแรงและห่างไกลยาเสพติด โครงการ/กิจกรรมป้องกันโรคเอดส์และสตรีตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรเพื่อรณรงค์ให้ความรู้เรื่องโรคเอดส์และสตรีตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรแก่นักเรียน เป็นต้น(องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งคอก อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี, 2557) และเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าหากปล่อยปละละเลยให้ปัญหาวัยรุ่นเกิดขึ้นต่อไป โดยไม่มีการแก้ไขดำเนินการพัฒนาที่เหมาะสม อาจทำให้ประชากรขาดคุณภาพเกิดปัญหาสังคมในด้านต่างๆ ตามมาได้ ทำให้หน่วยงานภาครัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องแก้ไขปัญหาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

        1) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาวัยรุ่นในชุมชน ตำบลทุ่งคอก อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

        2) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมวัยรุ่นในชุมชน ตำบลทุ่งคอก อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

        3) เพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรมวัยรุ่นในชุมชน ตำบลทุ่งคอก อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

กรอบแนวคิดในการวิจัย

        จากการทบทวนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ทำให้ผู้วิจัยได้กำหนดกรอบแนวคิดในการวิจัย ได้ดังนี้

               ตัวแปรต้น

ข้อมูลทั่วไปของวัยรุ่นในชุมชน
1. เพศ
 2. อายุ
 3. สถานภาพ

4. สถานภาพการศึกษา

5. สถานภาพบิดา มารดา

6. จำนวนพี่น้องในครอบครัว

7. รายได้ของครอบครัวต่อเดือน

                       ตัวแปรต้น

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมวัยรุ่น
1. ด้านปัจจัยทางพันธุกรรม
 2. ด้านปัจจัยทางจิตวิทยา
 3. ด้านปัจจัยทางสังคม

4. ด้านปัจจัยทางกายภาพ

                                                    ตัวแปรตาม

สภาพปัญหาของวัยรุ่น
1. ปัญหาการบริโภคอาหาร 2. ปัญหาการใช้สารเสพติด 3. ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์

4. ปัญหาการทะเลาะวิวาท

5. ปัญหาการฆ่าตัวตายและความเครียด

6. ปัญหาเด็กติดเกมส์

7. ปัญหาการเกิดอุบัติเหตุ

                            ตัวแปรตาม

แนวทางการแก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรมวัยรุ่น
1. ด้านปัจจัยทางพันธุกรรม
2. ด้านปัจจัยทางจิตวิทยา
3. ด้านปัจจัยทางสังคม

4. ด้านปัจจัยทางกายภาพ

แผนภูมิที่ 1 กรอบแนวคิดในการวิจัย

ขอบเขตของการวิจัย

1. ขอบเขตด้านเนื้อหา

          การวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ศึกษาเรื่อง สภาพปัญหาและปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมวัยรุ่นในชุมชน ตำบลทุ่งคอก อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีขอบเขตการศึกษาค้นคว้า ดังนี้

          1.1 สภาพปัญหาวัยรุ่นในชุมชน ผู้วิจัยต้องการศึกษาสภาพปัญหาวัยรุ่นในชุมชน 7 ด้าน (สถาบันราชานุกูล, 2549) ดังต่อไปนี้

                1.1.1 ปัญหาการบริโภคอาหาร

                1.1.2 ปัญหาการใช้สารเสพติด

                1.1.3 ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์

                1.1.4 ปัญหาการทะเลาะวิวาท

                1.1.5 ปัญหาการฆ่าตัวตายและความเครียด

                1.1.6 ปัญหาปัญหาเด็กติดเกมส์

                1.1.7 ปัญหาการเกิดอุบัติเหตุ

          1.2 ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมวัยรุ่น ผู้วิจัยต้องการศึกษาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมวัยรุ่น 4 ด้าน ตามปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2543: 45-74) ดังต่อไปนี้

                1.2.1 ด้านปัจจัยทางพันธุกรรม

                1.2.2 ด้านปัจจัยทางจิตวิทยา

                1.2.3 ด้านปัจจัยทางสังคม

                1.2.4 ด้านปัจจัยทางกายภาพ

           1.3 แนวทางการแก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรมวัยรุ่นในชุมชน ผู้วิจัยต้องการศึกษาแนวทางการแก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรมวัยรุ่น 4 ด้าน ตามปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2543: 45-74) ดังต่อไปนี้

                 1.3.1 ด้านปัจจัยทางพันธุกรรม

                 1.3.2 ด้านปัจจัยทางจิตวิทยา

                 1.3.3 ด้านปัจจัยทางสังคม

                 1.3.4 ด้านปัจจัยทางกายภาพ

       2. ขอบเขตด้านประชากร และกลุ่มตัวอย่าง

            ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ วัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 14-19 ปี ในตำบลทุ่งคอก อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 1,119 คน (ระบบสถิติทางการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, ธันวาคม 2556)

            กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ วัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 14-19 ปี ในตำบลทุ่งคอก อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 295 คน โดยใช้วิธีการสุ่มแบบง่าย (Simple Random Sampling)

       3. ขอบเขตด้านตัวแปร

            3.1 ตัวแปรต้น ได้แก่

                   3.1.1 ข้อมูลทั่วไปของวัยรุ่นในชุมชนได้แก่ เพศ อายุ สถานภาพ สถานภาพการศึกษา สถานภาพบิดา มารดา จำนวนคนในครอบครัว รายได้ของครอบครัวต่อเดือน

                   3.1.2 ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมวัยรุ่น ตามปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2543: 45-74) ประกอบด้วย 4 ด้าน ดังต่อไปนี้

                            3.1.2.1) ด้านปัจจัยทางพันธุกรรม

                            3.1.2.2) ด้านปัจจัยทางจิตวิทยา

                            3.1.2.3) ด้านปัจจัยทางสังคม

                            3.1.2.4) ด้านปัจจัยทางกายภาพ

            3.2 ตัวแปรตาม ได้แก่

                   3.2.1 สภาพปัญหาวัยรุ่นในชุมชน ประกอบด้วย 7 ด้าน (สถาบันราชานุกูล, 2549) ดังต่อไปนี้

                            3.2.1.1) ปัญหาการบริโภคอาหาร

                            3.2.1.2) ปัญหาการใช้สารเสพติด

                            3.2.1.3) ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์

                            3.2.1.4) ปัญหาการทะเลาะวิวาท

                            3.2.1.5) ปัญหาการฆ่าตัวตายและความเครียด

                            3.2.1.6) ปัญหาเด็กติดเกมส์

                            3.2.1.7) ปัญหาการเกิดอุบัติเหตุ

                   3.2.2 แนวทางการแก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรมวัยรุ่นในชุมชน ผู้วิจัยต้องการศึกษาแนวทางการแก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรมวัยรุ่น 4 ด้าน ตามปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2543: 45-74) ดังต่อไปนี้

                             3.2.2.1) ด้านปัจจัยทางพันธุกรรม

                             3.2.2.2) ด้านปัจจัยทางจิตวิทยา

                             3.2.2.3) ด้านปัจจัยทางสังคม

                             3.2.2.4) ด้านปัจจัยทางกายภาพ

        4. ขอบเขตด้านระยะเวลา

             เดือนสิงหาคม 2557 – เดือนกรกฎาคม 2558

นิยามศัพท์เฉพาะ

        1. วัยรุ่น หมายถึง บุคคลที่มีอายุระหว่าง 14-19 ปี

        2. ปัญหาวัยรุ่น หมายถึง พฤติกรรมที่เป็นปัญหาของวัยรุ่นในชุมชน ตำบลทุ่งคอก อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ได้แก่ ปัญหาการบริโภคอาหาร ปัญหาการใช้สารเสพติดปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ ปัญหาการทะเลาะวิวาท ปัญหาการฆ่าตัวตายและความเครียด และปัญหาเด็กติดเกมส์ ปัญหาการเกิดอุบัติเหตุ

        3. ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรม หมายถึง ปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของวัยรุ่น ได้แก่ ปัจจัยทางพันธุกรรม ปัจจัยทางจิตวิทยา ปัจจัยทางสังคม และปัจจัยทางกายภาพ

        4. แนวทางการแก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หมายถึง แนวทางการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น ได้แก่ แนวทางการแก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางปัจจัยทางพันธุกรรม ปัจจัยทางจิตวิทยา ปัจจัยทางสังคม และปัจจัยทางกายภาพ

        5. ชุมชน หมายถึง พื้นที่ที่วัยรุ่นอาศัยอยู่ในตำบลทุ่งคอก อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

        1. ได้ทราบถึงสภาพปัญหาวัยรุ่นในชุมชน ตำบลทุ่งคอก อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

        2. ได้ทราบถึงปัจจัยที่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมวัยรุ่นในชุมชน ตำบลทุ่งคอก อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

        3. ได้ทราบถึงแนวทางการแก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรมวัยรุ่นในชุมชน ตำบลทุ่งคอก อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

คำสำคัญ (Tags): #ปัญหาวัยรุ่น
หมายเลขบันทึก: 575321เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2014 10:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 สิงหาคม 2014 10:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท