​มีความสุขในทุกการกระทำ


ในชีวิตเรานั้นมันจะเป็นอย่างไร ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ชาติกำเนิด สิ่งที่ประเสริฐไม่ใช่ชาติกำเนิด แต่เกิดจากการกระทำ เป็นดัชนีชี้วัดบ่งบอกถึงความสามารถ ซึ่งยกระดับจิตใจ และคุณภาพของชีวิตให้ดีขึ้น ความสุข สดชื่นรื่นเย็นเป็นสุขก็เกิดขึ้น โดยสามารถฝึกหัดพัฒนาได้ด้วยตนเอง ๓ ประการดังนี้

๑.ค้นหาแรงบันดาลใจในสิ่งที่ตนรัก คือ ถามใจตนเองว่ารัก หรือ ชอบสิ่งไหนประการใด คลั่งไคล้หลงใหล อยู่ในสิ่งนั้นได้นานไม่รู้สึกเบื่อ ยกตัวอย่าง เช่น ผู้เขียน ชอบการพูด จึงพิสูจน์ด้วยการเป็นนักเทศน์ ชอบเล่านิทานธรรมะให้เด็กๆฟัง ชอบการทำกิจกรรมต่างๆ หากได้กระทำแล้วก็เกิดความภูมิใจ ในสิ่งนั้น มีความสุขกับมันทุกคืนวัน สิ่งสำคัญนั้น ได้รับแรงบันดาลใจมาจากครูบาอาจารย์ท่านเป็น พระนักเทศน์ นักคิด นักเขียน นักพัฒนา มีชื่อเสียงที่ประสบผลสำเร็จในชีวิต นั่นคือ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือ (ว.วชิรเมธี) จึงมาเรียนรู้จากคำสอน และ ปฏิปทา จริยวัตรของท่าน เพื่อนำไปฝึกหัดพัฒนาตนเพราะ “แบบอย่างที่ดี มีค่ามากกว่าคำสอน”

๒.ทำทันทีอย่างมีเป้าหมาย คือ เมื่อเราค้นพบในสิ่งที่ตนเองรักแล้ว จึงนำมาลงมือปฏิบัติทันที อย่ารีรอ ขอให้ทำตามเป้าหมายที่ใจตั้งไว้เช่นผู้เขียนตั้งเป้าหมาย อยากเป็นพระนักเทศน์ จึงเป็นเหตุที่ต้องฝึกหัดพัฒนาตน ต้องฟังบ่อยๆ แล้วมาคิดพิจารณา นำมาวิเคราะห์ ไม่เข้าใจตรงไหนก็ถามไถ่ผู้รู้ ให้หายข้องใจ ฝึกเขียนเรียนรู้จากเทปธรรมะ เรียนรู้ด้วยการอ่านหลายๆ ด้านจนเกิดความชำนาญ“เรียนรู้ทางธรรม จดจำทางโลก กำจัดทุกข์โศก โรคภัยทางใจ ให้หายหมดไป” สามารถพัฒนาไปสู่ขั้นการนำไปประยุกต์ในการเทศน์ เพื่อให้ชาวโลกได้สดับรับฟัง จนเกิดปัญญา รู้แจ้งเห็นจริง “สว่างตาด้วยแสงไฟ สว่างใจด้วยแสงธรรม” นั่นก็เพราะ ความสำเร็จไม่ได้เล็ดหล่นจากบนท้องฟ้า แต่อยู่ที่ว่า กล้าพยายาม ตามแสวงหา มานะอดทน อดทนเป็นคนดี อดทนถึงที่ ได้ดีทุกคน

๓.แบ่งปันอย่างสร้างสรรค์ คือ เมื่อค้นหาในสิ่งที่รักเจอแล้ว นำมาทำให้สำเร็จตามเป้าหมาย ที่วาดไว้ ต้องรู้จักแบ่งปันด้วยการให้ “ยิ่งให้ดีได้ ยิ่งห่วงยิ่งอด ถ้าให้จะไปอด ถึงอดมันก็จะมา” มีความเมตตาต่อมนุษย์โลกร่วมกัน ดั่งคำท่าน ว.วชิรเมธี ว่า “เมตตาที่สากล คือรักคนได้ทั้งโลก” รักกันเหมือนพี่ ดีกันเหมือนน้อง ปรองดองกันเหมือนญาติ อยู่ร่วมชาติอย่างสันติสุข สำหรับการแบ่งปันด้วยการให้อย่าง สร้างสร้างสรรค์ กล่าวคือ ผู้เขียนเป็นนักเทศน์นักสอน จึงสอนใช้ชีวิตให้เป็น เห็นคุณค่าในตนเองด้วยหลักหัวใจเศรษฐี ๔ ประการ คือ ขยันหา รักษาดี มีกัลยาณมิตร ใช้ชีวิตพอเพียง เหมือนสอนให้คนตกปลาเป็น ดีกว่าให้ปลา เพราะให้ปลา กินวันเดียวก็หมด หากสอนตกปลาจะได้กินตลอดไป ดั่งคำว่า “อยู่เพื่อตน อยู่แค่สิ้นลม อยู่เพื่อสังคม อยู่ได้ตลอดไป”

ซึ่งหากค้นหาแรงบันดาลใจเจอในสิ่งที่ตนรัก สิ่งที่ตนรักก็จักอยู่กับตนตลอดไป ภูมิใจในสิ่งที่ตนมี ยินดีในสิ่งที่ตนเป็น เห็นคุณค่าในสิ่งที่ตนเลือก หากเลือกแล้ว จงตั้งใจทำทันทีอย่างมีเป้าหมายให้สำเร็จ สุดท้าย นำมาแบ่งปันอย่างสร้างสรรค์ ด้วยการให้ ด้วยการสอน ถึงแม้จะเหนื่อยหนักสักแค่ไหน ในทุกการกระทำ ความสุขก็จะหล่อเลี้ยง กายและใจไปในตัว ตราบนานเท่านาน

                           

---/// ร.รตนเมธี ///---

หมายเลขบันทึก: 574874เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2014 00:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 สิงหาคม 2014 00:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท