ลุงเหมย
ข้าราชการครูบำนาญ นายชุมพล บุญเหมย

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐


 บุญมีความหมายได้หลายอย่าง เช่น หมายถึง ความดี กุศล

ความสุข ความประพฤติชอบทางกาย วาจา ใจ และกุศลธรรม บุญกิริยา แปลว่า การทำบุญ คือการทำความดี ทำสิ่งที่ดีงาม ประกอบกรรมดี นั่นเอง..... การทำบุญเป็นสิ่งที่ดีงาม ควรกระทำอย่างไม่จำกัด บุญ เป็นสิ่งที่ควรสะสมไว้เสมอ เพราะจะมีประโยชน์ อำนวยความสุข จนกว่าเราจะเข้าสู่ภาวะนิพพาน ในอนาคตกาลเบื้องหน้า การมีบุญมากเป็นการดีรพระพุทธองค์ทรงสอนไว้ว่าอย่ากลัวบุญ อย่ากลัวว่าบุญจะมากไป อย่ากลัวกากรทำบุญ เพราะการทำบุญนำผลดีอันน่าปรารถนามาให้ ดังพุทธพจน์นี้..... " ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย คำว่าบุญนี้ เป็นชื่อของความสุข ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมรู้ชัดซึ่งผลแห่งบุญอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่เราเสวยแล้วตลอดกาลนาน "
ปุญญวิปากสูตร ๒๓/๕๙

        พระพุทธองค์ยังทรงแนะนำให้สั่งสมบุญไว้ เพราะบุญเป็นที่พึ่งในภพหน้า ดังพุทธพจน์นี้ .... " บุคคลทำกรรมใด ด้วยกาย วาจา ใจ กรรมนั่นแหละเป็นของ ๆ เขา และเขาย่อมพาเอากรรมนั้นไป อนึ่งกรรมนั้นย่อมติดตามเขาไปเหมือนเงาติดตามตนฉะนั้น เพราะฉะนั้น บุคคลควรทำกรรมดี สั่งสมไว้สำหรับภพหน้า บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า ...ทุติยาปุตตกสูตรที่ ๑๐ ๑๕/๓๙๒ ..... พระพุทธองค์ไม่ได้สอนให้สะสมสมบัติ แต่ทรงสอนให้ทำบุญ สะสมบุญโดยตรง ดังพุทธพจน์นี้......." ผู้ที่มาเกิดแล้วจำจะต้องตายในโลกนี้ ย่อมทำกรรมอันใดไว้ คือ เป็นบุญและเป็นบาปทั้งสองประการ บุญและบาปนั้นแลเป็นสมบัติของเขา และเขาจะพาเอาบุญและบาปนั้นไป

( สูปรโลก ) อนึ่ง บุญและบาปนั้นย่อมเป็นของติดตามเขาไปประดุจเงาติดตามตนไป ฉะนั้น ฯ ..... เพราะฉะนั้น บุคคลพึงทำกัลยาณกรรมสะสมไว้เป็นสมบัติในปรโลก(เพราะว่า) บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ในปรโลก ฯ " ปิยสูตร ๑๕ / ๓๓๖  ในอนาคตอันยาวนานภายหน้า เราอาจไปเกิดในยุคที่ไม่มีพระพุทธศาสนาเลย เมื่อถึงเวลานั้น อะไรจะเป็นที่พึ่งแก่เรา คำตอบคือ บุญ บุญที่เราได้กระทำในปัจจุบันนี้ จะเป็นที่พึ่งของเราในตอนนั้น และเป็นที่พึ่งของเราตลอดไป ..... บุญ จึงเป็นเสมือนอะไรที่จับต้องไม่ได้ แต่ควบคุมเราทั้งหมดในอนาคตได้ ทั้งกำหนดตัวเรา ร่างกาย สติปัญญา ทั้งกำหนดสิ่งแวดล้อมที่ดีให้เรา เท่าที่บุญจะเอื้ออำนวยให้ เป็นยิ่งกว่าพลังงาน ที่คุมจักรวาลเอาไว้สำหรับตัวเรา และติดตามเราไปในอนาคตอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ผู้มีบุญมาก ทุกอย่างจะราบรื่นสะดวกสบาย น่าปรารถนาไปตลอดกาล...

   ..... การทำบุญสามารถกระทำได้หลายวิธีด้วยกัน และ                                                         ทุกคนก็สามารถที่จะกระทำได้โดยไม่ลำบากอะไร
หลักของการทำบุญ เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ ซึ่งมี ๑๐ วิธี ดังนี้ คือ

๑. ทานมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน

๒. ศีลมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล

๓. ภาวนามัย คือ บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา

๔. อปจายนมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการประพฤติถ่อมตน

๕. เวยยาวัจจมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการช่วยขวนขวาย

๖. ปัตติทานมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ

๗. ปัตตานุโมทนามัย คือ บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ

๘. ธัมมัสสวนมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม

๙. ธัมมเทสนามัย คือ บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม

๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ คือ การทำความเห็นให้ตรง

   ...... คือ การบริจาคสิ่งของของตนแก่คนที่ควรให้ปัน เช่น ถวายจุปัจจัยแก่              ภิกษุสามเณร เพื่อบูชาคุณ หรือ ให้แก่ มารดาบิดา หรือ ให้แก่ คนตกทุกข์ได้ยาก เพื่อเป็นการอนุเคราะห์วัตถุที่ควรจะให้ทาน ควรเป็นของที่มีประโยชน์แก่ผู้รับอย่างแท้จริง ซึ่งท่านแสดงตัวอย่างไว้ ๑๐ อย่าง คือ ข้าว น้ำ ผ้า พาหนะ มาลัย ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และประทีป แม้สิ่งอื่นอันไม่มีโทษ ก็สงเคราะห์เข้าในทานวัตถุนี้ได้

  .... คือ การรักษากาย วาจา ให้เรียบร้อย คือ เว้นข้อที่ พระพุทธเจ้าห้าม
            ให้ ทำตามที่พระองค์อนุญาต เช่น สำหรับคฤหัสถ์หรือชาวบ้าน ก็ควรรักษาศีล ๕ หรือ อุโบสถศีล แม่ชีรักษา ศีล ๘ สามเณร รักษาศีล ๑๐ และพระสงฆ์ก็รักษาศีล ๒๒๗ เป็นต้น

  .... คือ การอบรมจิต ยังกุศลให้เกิดขึ้นในจิต มีสองอย่าง ได้แก่ การเจริญ               สมถะ แปลว่า ทำใจให้สงบ จากนิวรณ์ (เครื่องกั้นความดี ) และการเจริญวิปัสสนา คือ ใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้เห็นความจริงในอริยสัจสี่

 ..... คือ การประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ หมายถึง ผู้ที่สูงกว่าเรา                จะโดยชาติตระกูล โดยวัย หรือ โดยคุณสมบัติก็ได้

  ..... คือ การช่วยทำกิจที่ชอบแก่ผู้อื่น ด้วยกำลังกาย ด้วย กำลังทรัพย์                 ด้วยกำลังปัญญา เช่น ช่วยทำการงาน ช่วยบอกบุญ เป็นต้น

 ..... คือ การแบ่งส่วนบุญอันเกิดจากการให้ทาน หรือ รักษาศีล เป็นต้น                    เช่น การกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญดังกล่าวแก่ผู้ตาย หรือเทวดา เป็นต้น

  ....... คือ บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ เมื่อผู้อื่น มากล่าว                  ว่าทำดีมาอย่างไร และเราอนุโมทนา ซึ่งแปลว่า พลอยยินดีในการทำบุญนั้น เราก็จะมีส่วนในบุญนั้นด้วย

 ..... คือ การฟังธรรมเทศนา ตามกาลเวลาที่สมคว       ..... คือ การแสดงธรรมกถา การสอนธรรมวินัย การบรรยายธรรม

..... คือ การทำความเห็นให้ตรงต่อคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่ว                   ได้ชั่ว ไม่คดโกง เป็นต้น                 

                   จะเห็นได้ว่าการทำบุญไม่ใช่ของยากอะไรเลย ไม่ได้จำกัดแค่การทำทานเท่านั้น แต่ยังมีได้หลายอย่าง คำว่า บุญ กับคำว่า กุศล เป็นคำที่มีความหมายเดียวกัน คือ ความดี เป็นคำที่ใช้แทนกันได้ บุญหรือกุศลนี้ มีผลสองอย่างเสมอ คือ ผลในปัจจุบัน และผลในอนาคต เราไม่สามารถประมาณกำลัง หรืออานิสงส์แห่งบุญได้ แต่มีหลักอยู่ว่า ถ้าตัวเรามีความดีอยู่แล้ว และกระทำดีต่อบุคคลที่มีความดีเช่นกัน จะมีอานิสงส์แห่งบุญมาก พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนอานิสงส์แห่งบุญไว้ตามลำดับอยู่บ้างในพระสูตร ชื่อ เวลามสูตร ซึ่งได้นำมาไว้ให้แล้วในหมวดพุทธพจน์ ต่อไปจะกล่าวโดยละเอียดในเรื่องของ ทาน ศีล และภาวนา ซึ่งเป็นบุญกิริยาที่ควรรู้จักให้ดีที่สุด    


         ทานคืออะไร ... ทาน แปลว่า การให้ แต่ต้อง                                         เป็นของที่ควรให้แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่ผู้รับ อาจจะแบ่งทานออกได้เป็น

๑. อามิสทาน คือ ให้สิ่งของ

๒. ธรรมทาน คือ  การให้ธรรมะ หรือ  ความรู้ทางธรรม

         ยังแบ่งประเภทของทาน โดยคำสึงถึงผู้รับ คือ       

   คือ ทานที่ให้แก่หมู่สงฆ์ ถึงเป็นส่วนรวมแก่หมู่คณะ พระสงฆ์ใน                                             สำนักนั้น แม้ว่า บางครั้งพระสงฆ์ที่มารับจะมารับเพียงรูปเดียว         แต่ถ้าเราระบุว่าจะถวายเป็นสังฆทาน ท่านก็จะถือเป็นของส่วนรวมของหมู่สงฆ์ และจะไปทำการจัดแบ่งกันเอง            

     คือ ทานที่ให้เจาะจงแก่บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งโดยเฉพาะ ไม่ ว่า                                                    จะเป็นสัตว์ หรือคน แต่จะเป็นคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว    จะเป็นพระสงฆ์หรือไม่ก็ได้ ถ้าผู้รับเป็นพระสงฆ์ และเราตั้งใจว่าจะให้พระรูปนี้รูปนั้น ก็จะถือเป็นปาฏิบุคลิกทานที่น่ารู้เป็นพิเศษ คือ การใส่บาตร ถ้าเราใส่บาตรพระสงฆ์โดยไม่สนใจพระผู้มารับบาตร ว่าจะเป็นพระรูปใด มีศีลบริสุทธิ์หรือไม่ มุ่งแต่เพียงถือว่าท่านเป็นตัวแทนแห่งพระสงฆ์ เป็นหนึ่งในพระรัตนตรัย แม้จะให้พระรูปเดียว ท่านก็ถือเป็นสังฆทาน คือไม่เจาะจงสงฆ์ แต่ถ้าเรารอตั้งใจจะถวายพระรูปนั้นรูปนี้ อย่างนี้ จะเป็นการเจาะจงสงฆ์ ถือเป็น ปาฏิบุคลิกทาน ซึ่งจะมีอานิสงส์น้อยกว่า ดังนั้น การใส่บาตร ให้พยายาม ตั้งใจว่าเป็นสังฆทาน ไม่สนใจพระภิกษุผู้มารับบาตร โดยทำใจถวายแก่หมู่สงฆ์ เสมอ ..... การให้สังฆทานจะมีอานิสงส์มากกว่าการเจาะจงบุคคล คือ ปาฏิบุคลิกทานเสมอ พระพุทธองค์ทรงตรัสถึงเพียงนี้ว่า แม้ถวายสิ่งของใด ๆ แก่พระองค์เอง ก็ไม่สามารถพูดได้ว่า มีอานิสงส์มากกว่าสังฆทาน แม้ว่าพระที่รับสังฆทานหมู่นั้นจะเป็นภิกษุ ทุศีล มีธรรมอันลามกก็ตาม ดังนั้น สังฆทาน จึงมีอานิสงส์มากจนประมาณไม่ได้ .....ทักขิณาวิภังคสูตร ๑๔ / ๗๑๓  

   ...โดยหลักการถือว่า ถ้ามีองค์ประกอบ ๓ ประเภท                                       นั้นจะมีผลมาก ได้บุญมาก องค์ประกอบทั้ง ๓ คือ  

   ๑.    หมายถึง วัตถุสิ่งของที่จะให้เป็นทานนั้น จะต้องเป็นของที่บริสุทธิ์ คือเป็นสิ่งที่เรา...ได้แสวงหา ด้วยความบริสุทธิ์ในการประกอบอาชีพ ไม่ใช่ของที่ได้มาเพราะการเบียดเบียนผู้อื่น เช่นได้มาโดยการยักยอก ทุจริต ลักทรัพย์ ฉ้อโกง ปล้นทรัพย์ ชิงทรัพย์ ฯลฯ ดังนั้น การฆ่าสัตว์เพื่อการทำบุญ ถวายพระ ก็ถือว่าได้มาด้วยการเบียดเบียน เป็นวัตถุทานที่ไม่บริสุทธิ์ ไม่ควรทำ หรือการโกงเงินผู้อื่นมาทำบุญ ก็เช่นกัน รวมทั้งเงินที่ได้มาจาก หวย อบายมุข หรือ จากการค้าสุรายาเมา ยาเสพติด ค้าขายสตรี ค้าประเวณี ก็เช่นเดียวกัน ถ้านำเงินเหล่านี้มาทำทาน จะได้บุญน้อย

   ๒.      ข้อนี้ มีความลึกซึ้งอยู่เป็นอย่างมาก ในเบื้องต้น ถือว่า ให้มีจิตใจร่าเริงเบิกบานในการทำทาน ทั้งสามระยะ คือ

          ๒.๑   ระยะก่อนที่จะให้ทาน ก็ให้ทำจิต ให้โสมนัสร่าเริงเบิกบานยินดีที่จะให้ทาน เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นให้ได้รับความสุขเพราะ ทานของตน

         ๒.๒   ระยะที่กำลังลงมือทำทาน ก็ให้ทำด้วยจิตใจโสมนัสร่าเริงยินดีและเบิกบานในทานที่ตนกำลังให้ผู้อื่น

        ๒.๓   ระยะหลังจากที่ได้ให้ทานไปแล้ว เมื่อหวนนึกคิดถึงทานที่ตนได้กระทำไปแล้วครั้งใด ก็ให้ทำจิตใจให้มีความโสมนัสร่าเริงเบิกบาน ยินดีในทานนั้น ๆ ไม่ใช่มาเสียดาย เสียใจ ในทานนั้น

        เจตนาในการให้ทานนั้น ยังขึ้นกับ จิตใจ และความมุ่งหวัง ในการให้ทานอีกว่า คิดอย่างไร ตั้งใจไว้อย่างไร ความจริงไม่ว่าจะคิดอย่างไรก็ตาม เมื่อให้ทานก็ถือว่าดีทั้งนั้น แต่อานิสงส์ความดีนั้นมากน้อยไม่เท่ากัน ขึ้นกับความคิดในขณะให้ทาน

     ๓.     ผู้รับทาน เปรียบเป็นเนื้อนาบุญ ถ้าให้ทานแก่คนที่ไม่ดี ก็เหมือนเป็นเนื้อนาบุญที่ไม่ดี ทานที่ทำไปนั้นก็มีผลน้อย เปรียบเหมือนกับการหว่านเมล็ดข้าวเปลือกลงในพื้นนาที่ดินไม่ดี เมล็ดข้าวที่หว่านลงไปก็งอกเงยไม่ดี แต่ถ้าผู้รับทานเป็นคนดีมีศีลมีธรรม ก็เหมือนหว่านข้าวลงในนาที่ดี ก็จะได้ผลบุญที่ดี

ถ้าผู้รับทานยิ่งมีศีลธรรมมาก ทานนั้นก็ยิ่งมีผลมาก ดังนั้น การให้ทานแก่คน มีอานิสงส์มากกวาให้แก่สัตว์ เพราะคนมีศีลธรรมสูงกว่าสัตว์ การให้ทานแก่ผู้มีศีล มีอานิสงส์มากกว่าให้ผู้ที่ไม่มีศีล ให้ทานแก่พระสงฆ์มีอานิสงส์มากกว่าคนมีศีลทั่ว ๆ ไป และให้ทานแก่พระพุทธเจ้า มีอานิสงส์มากที่สุด แต่พระพุทธเจ้าก็ยังสอนว่า ให้สังฆทาน (คือให้ทานแก่หมู่สงฆ์ มีอานิสงส์มากกว่าให้ทานแก่พระองค์อีก ดังนั้นการถวายสังฆทาน จะมีอานิสงส์มากที่สุด ในการให้ทานแก่บุคคลทั้งหลาย และ วิหารทาน คือการที่บุคคลสร้าง วิหาร ถวายสงฆ์ผู้มาจากจตุรทิศ มีผลมากที่สุด มากกว่าสังฆทาน และมากกว่าทานใด ๆ ทั้งปวง.....เวลามสูตร ๒๓ / ๒๒๔

 พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า ทานของคนดีนี้มี ๕                        อย่าง คือ

๑. ให้ทานด้วยศรัทธา

๒. ให้ทานด้วยความเคารพ

๓. ให้ทานตามกาล

๔. ให้ทานมีจิตอนุเคราะห์

๕. ให้ทานไม่กระทบตน กระทบผู้อื่น

               พระองค์ทรงสอนว่า บุคคลเมื่อให้ทานตามนี้แล้ว เมื่อผลแห่งานเกิดขึ้น ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก ความล่มจมแห่งโภคะ ย่อมไม่มาจากที่ไหน ๆ คือจากไฟ จากน้ำ จากพระราชา จากโจร หรือจากทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก

 ในเรื่องของการทำจิตใจขณะให้ทาน จะทำให้มี                                                              อานิสงส์ไม่เหมือนกัน จิตใจที่คาดหวังในผลแห่งทาน จะมีอานิสงส์น้อยกว่าการให้ทานเพื่อละกิเลสในใจตน ดังข้อความที่พระพุทะองค์รงสอนพระสารีบุตรโดยย่อ ดังนี้

......." ดูกรสารีบุตร ในการให้ทานนั้น บุคคลมีความหวังให้ทาน มีจิตผูกพันในผลแห่งทานแล้วให้ทานมุ่งการสั่งสมทาน ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อตายไปแล้วเราจักเสวยผลแห่งทานนี้ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้น จาตุมหาราช ( เทวดาชั้นที่ ๑ ส่วนคำว่า ถึงความเป็นสหาย หมายความว่า จะได้ไปเกิดในภพภูมินั้น )

..... แต่ถ้าให้ด้วยความคิดว่า การให้ทานเป็นการกระทำดี เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดาวดึงส์ (เทวดาชั้นที่ ๒ )

..... แต่ถ้าให้ด้วยความคิดว่า บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย เคยให้ เคยทำมาเราก็ไม่ควรทำให้เสียประเพณี เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้น ยามา (เทวดาชั้นที่ ๓ )

..... แต่ถ้าให้ด้วยความคิดว่า เราหุงหากิน แต่สมณะหรือพราหมณ์ไม่ได้หุงหากิน เราหุงหากินได้ จะไมให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ผู้ไม่หุงหากิน ย่อมเป็นการไมสมควร เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้น ดุสิต (เทวดาชั้นที่ ๔ )

..... แต่ถ้าให้ด้วยความคิดว่า เราจะเป็นผู้ให้ทานเช่นเดียวกับฤาษีทั้งหลายแต่กาลก่อน ซึ่งได้พากันบูชามหายัญ เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้น นิมมานรดี (เทวดาชั้นที่ ๕ )

..... แต่ถ้าให้ด้วยความคิดว่า เมื่อเราให้ทานอย่างนี้แล้ว จิตของเราจะเกิดความเลื่อมใส จะเกิดความปลื้มใจและโสมนัส เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้น
ปรนิมมิตวสวัตตี (เทวดาชั้นที่ ๖ ) .......ทานสูตร ๒๓ / ๔๙    

 .... คำตอบ คือ ไม่ พระพุทธ

องค์สรรเสริญการพิจารณาเฟ้นการให้ทานได้ประดุจเลือกที่จะหว่านเมล็ดข้าวในนาดี ทรงแนะนำว่า....การให้ทานแก่สมณพราหมณ์ผู้มีศีลสมบูรณ์ มีผลมาก มีอานิสงส์มาก ดังนั้นเราจะเลือกการให้ทานได้ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ เวลาที่เหมาะสม สถานการณ์ บุคคล และอื่น ๆ ที่เราคิดว่าจะเป็นสิ่งที่ดี     

       ผู้เขียนคิดว่า การตั้งจิตอธิษฐาน โดยทั่วไป แท้จริงแล้ว แบ่งเป็น ๒ อย่าง อย่างแรกคือ ตั้งความปรารถนา ในสิ่งที่ต้องการ อันนี้คือการตั้งความปรารถนา อีกแบบคือ ตั้งอธิษฐานจิต เป็นอธิษฐานบารมีว่า ตั้งใจแน่วแน่จะกระทำความดีต่อไป

          ในเรื่องของการตั้งความปรารถนา พระพุธองค์ทรงสอนว่า การให้ทานแล้วตั้งความปรารถนาว่า เมื่อตายไปขอเป็นเศรษฐี เป็นกษัตริย์ หรือเป็นเทวดาชั้นต่าง ๆ สิ่งที่ขอย่อมเป็นไปได้ ถ้ามีศีลประกอบด้วย แต่การตั้งความปรารถนาแบบนี้ ยังไม่ถือว่าดีพร้อม พระพุทธองค์ยังไม่สรรเสริญ ( ทรงสอนว่า สิ่งปรารถนาสูงสุดที่ควรขอ คือการพ้นทุกข์ หรือพระนิพพาน ) สังคีติสูตร ๑๑ / ๓๖๔

          สำหรับ การอธิษฐานจิต ที่จะทำดีต่อไปนั้น ในอดีตชาติของพระพุทธองค์ ก็ตั้งอธิษฐาน จะเป็นพระพุทธเจ้า เพื่อนำสัตว์โลกให้พ้นทุกข์เป็นจำนวนมาก และพระสาวก ก็ตั้งอธิษฐานเพื่อเป็นพระสาวกที่เป็นเอตัคคะในด้านต่าง ๆ เพื่อตนเองพ้นทุกข์ด้วย และเพื่อจะช่วยผู้อื่น เป็นการตั้งสัจจะอย่างหนึ่งในรูปแบบที่ตนต้องการ การตั้งจิตอธิษฐานแบบนี้เป็นการบอกถึง ความตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำความดีต่อ ๆ ไป ถือเป็น อธิษฐานบารมี ไม่ใช่การหวังผลในทาน แต่เป็นการหวังในเหตุ เพื่อที่จะทำความดี ต่อไป

         ส่วนการตั้งความปรารถนา เช่น ปรารถนาสวรรค์ ก็จะมีโอกาสได้ตามนั้นถ้ามีศีล แต่ก็เป็นการหวังผล ดังนั้นจะมีอานิสงส์น้อยกว่า ผู้ที่ไม่หวังผลใด ๆ ในการให้ทาน ส่วนการตั้งความปรารถนา พระนิพพาน อันนี้เป็นการตั้งความปรารถนาที่จะพ้นทุกข์ พระนิพพาน เป็นภาวะที่ไม่มีอะไรอีกเลยนอกจากความพ้นทุกข์ ทางพระถือว่าไม่เป็นการหวังผล และเป็นสิ่งที่ควรทำ         

    การให้ทาน จะมีอานิสงส์ไปในทางมีโภคทรัพย์

                          และรูปสมบัติ มีบันทึกไว้ในพระไตรปิฎก โดยเบื้องต้น ได้มีเทวดาทูลถามว่า บุคคลให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้กำลัง ให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้วรรณะ ให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้ความสุข ให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้จักษุ และบุคคลเช่นไรชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า...บุคคลให้อาหารชื่อว่าให้กำลัง ให้ผ้าชื่อว่าให้วรรณะ ให้ยานพาหนะชื่อว่าให้ความสุข ให้ประทีปโคมไฟชื่อว่าให้จักษุ และผู้ที่ให้ที่พักอาศัยชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ส่วนผู้ที่พร่ำสอนธรรม ชื่อว่าให้อมฤตธรรม .....กินททสูตร ๑๕ / ๑๓๘

            และพระพุทธองค์ยังทรงสอนอีกว่า....ผู้ที่ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ ผู้ให้ของที่เลิศ ย่อมได้ของที่เลิศ ผู้ให้ของที่ดีย่อมได้ของที่ดี ผู้ให้ของที่ประเสริฐย่อมเข้าถึงที่ประเสริฐ นรชนใดให้ของที่เลิศ ให้ของที่ดี ให้ของที่ประเสริฐ นรชนนั้นจะบังเกิดในที่ใด ๆ ย่อมมีอายุยืน มียศ

            พระพุทธองค์ทรงแสดง อานิสงส์ของทาน ไว้ ๕ อย่าง คือ

       ๑. ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชนหมู่มาก

       ๒. สัปบุรุษผู้สงบย่อมคบหาผู้ให้ทาน

       ๓. กิติศัพท์อันงามของผู้ให้ทานย่อมขจรทั่วไป

       ๔. ผู้ให้ทานย่อมไม่ห่างเหินจากธรรมของคฤหัสถ์

       ๕. ผู้ให้ทานเมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

                    ทานานิสังสสูตร ๒๒ / ๓๕

       พระพุทธองค์ยังทรงสอนว่า ผู้ให้ทานจะเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และยังมีพิเศษอีกว่า ผู้ให้ทานด้วยศรัทธา จะเป็นผู้มีรูสวยงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วย ผิวพรรณที่งดงาม ผู้ให้ทานด้วยความเคารพ จะเป็นผู้มีบุตร ภรรยา ทาส คนใช้ หรือ คนงาน เป็นผู้เคารพและเชื่อฟังตน ผู้ให้ทานตามเวลาที่สมควรจะให้ ย่อมได้รับผลทานเสมอเมื่อตนต้องการ ผู้มีจิตอนุเคราะห์ให้ทาน จะมีจิตใจประณีตขึ้น ได้รับการบริโภคกามคุณ ๕ ที่ประณีตยิ่งขึ้น (กามคุณ๕ อย่างเหล่านี้ คือ รูป ทั้งหลาย อันจะพึงรู้แจ้งได้ด้วยจักษุ.... เสียงทั้งหลายอันจะถึงรู้แจ้งได้ด้วยโสตะ.... กลิ่นทั้งหลาย อันจะพึงรู้แจ้งได้ด้วยฆานะ.... รสทั้งหลาย อันจะพึงรู้แจ้งได้ด้วยชิวหา.... โผฏฐัพพะทั้งหลาย อันจะพึงรู้แจ้งได้ด้วยกาย อันเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะอันน่ารัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยแห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด มีอยู่ อารมณ์ ๕ อย่างเหล่านี้ หาใช่กามไม่; ห้าอย่างเหล่านี้ เรียกกันในอริยวินัย ว่ากามคุณ.) ผู้ให้ทานไม่กระทบตนและผู้อื่น จะเป็นผู้มีโภคทรัพย์ที่มั่นคง ไม่มีภยันตราย ไม่ว่าจะจากไฟ จากน้ำ จากพระราชา จากโจร จากคนไม่เป็นที่รัก หรือจากทายาท มาทำอันตรายได้ ....... สัปปุริสานสูตร ๒๒ / ๑๔๘                                                                                                                                             

          ท่านบัณฑิตชนผู้เป็นที่รัก เคารพ และนับถือของลุงเหมยทุกท่าน คงจะเข้าใจแล้วว่าการทานและอานิสงส์แห่งการทานเป็นเช่นไร ขอกราบในบุญกุศลของ ท่าน น.ท. น.พ. จักรพงศ์  ไพบูลย์  ที่แมตตาให้คัดบทความนี้นามากราบทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย บอบุญกุศลกรรมนี้จงดลบันดาลให้ท่านจงได้พบแต่ความสุข ความเจริญ อยู่ทุกเมื่อ...เทอญ...สาธุ      

                                           


หมายเลขบันทึก: 574809เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2014 13:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2014 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท