เค้าว่ากันว่า Hague Academy เป็น “สถาบัน” สอนกฎหมายระหว่างประเทศที่ดีที่สุดในโลก???


ถอดบทเรียนชีวิตจากประสบการณ์อันล้ำค่า “สถาบันกฎหมายระหว่างประเทศแห่งกรุงเฮก” ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ของผู้เขียน ตลอดระยะเวลาเกือบ ๑ เดือน ภายใต้หลักสูตรประกาศนียบัตรกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง ระหว่างวันที่ ๗ – ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๗

โดย นายธนภัทร ชาตินักรบ

เขียนเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ เวลา ๒๒.๓๐ น.

http://www.gotoknow.org/posts/574740

https://www.facebook.com/notes/thanapat-chatinakrob/เค้าว่ากันว่า-hague-academy-เป็น-สถาบัน-สอนกฎหมายระหว่างประเทศที่ดีที่สุดในโลก/951922044833278

----------------------------------------------------------------------

--------------------------------------

๑. เกริ่นนำ

--------------------------------------

          หากจะถามเหตุผลว่าทำไมถึงสมัครไปภายใต้หลักสูตรนี้ หรือไปทราบมาจากไหนว่ามีหลักสูตรแบบนี้อยู่บนโลก ต้องขออนุญาตย้อนเวลากลับไปเมื่อตอนประมาณเรียนอยู่ปี ๔ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเราได้มีโอกาสฝึกงาน ณ กระทรวงแห่งหนึ่งมีสัญลักษณ์ คือ บัวแก้ว ซึ่งกรมที่เราฝึกก็มีบอร์ดประกาศโปสเตอร์ของโครงการนี้แปะไว้อย่างยิ่งใหญ่มาก เดินผ่านทุกวันก็มีดูบ้าง อีกทั้งบังเอิญว่า ไปเจอเพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งได้เดินทางไปอบรมหลักสูตรนี้ในปีที่ผ่านมา เราจึงได้มีโอกาสสอบถามข้อมูล และเก็บรายละเอียดจนทำให้เราสมัครไปในปีนี้ (ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียเพิ่มเติมได้ในลิ้งนี้ ซึ่งจะเปิดรับสมัครประมาณเดือนธันวามคมทุกปีครับ https://www.hagueacademy.nl/summer-programme/)

หน้าอาคาร Peace Palace ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และศาลอนุญาโตตุลาการถาวร

หน้าอาคาร Peace Palace ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และศาลอนุญาโตตุลาการถาวร

--------------------------------------

๒. การสมัครเข้าหลักสูตรและการเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มเรียน

--------------------------------------

          ถ้าจะถามว่า การสมัครยากไหม ยุ่งยากหรือไม่ เราขอบอกว่า ไม่ยากมาก น่าจะเป็นเรื่องของดวงมากกว่า เนื่องจากระบบการสมัครใช้วิธีการคัดเป็นรอบๆ หมายถึงว่า เปิดรับสมัครตั้งแต่ปลายปี บวกไปสัก ๔ เดือน ทางสถาบันก็จะปิดรอบคัดเลือกทุกเดือนๆ ระบบการสมัครมีด้วยกัน ๒ แบบ คือ

          (๑) สมัครเพื่อเข้าไปเรียนปกติ ซึ่งเมื่อจบหลักสูตรและเข้าเรียนครบตามกำหนด ก็จะได้รับประกาศนียบัตรจบหลักสูตร(Certificate)

          (๒) สมัครเพื่อเข้าไปสอบปริญญาเกียรติคุณนิติศาสตร์ (Diploma) ซึ่งจะเป็นการสอบในระดับที่สูงกว่ามาก โดยผู้ประสงค์จะสอบต้องลงทะเบียนเรียนแบบ Directed Studies และต้องมีการสอบทั้งข้อเขียนและปากเปล่า (การสอบสามารถสอบได้ครั้งเดียวในชีวิต ถ้าผ่านคือผ่าน ตกคือตกเลย และไม่มีสิทธิสอบอีก) ซึ่งค่อนข้างหนักมาก ในแต่ละปี จะมีผู้ได้ปริญญาเกียรติคุณนิติศาสตร์ เต็มที่ ๑ คน หรือบางปีอาจไม่มีเลย ซึ่งประเทศไทย เคยมีคนเดียว ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. สมปอง สุจริตกุล

          แน่นอนว่า เราเลือกแบบแรก แบบเรียนปกติ นอกจากนั้น ทางสถาบันยังมีการมอบทุนการศึกษาบางส่วนให้กับผู้เรียนด้วย ซึ่งตอนสมัครเราก็สามารถเลือกได้ว่า จะเลือกแบบจ่ายเองเต็มจำนวนหรือให้ทางสถาบันออกให้บางส่วน ซึ่งก็ลดราคาไปประมาณ ๔๐๐ ยูโร แต่ทั้งนี้ เรามีสิทธิเลือกสมัครได้แบบเดียวว่าจะขอทุนหรือไม่ (ถ้าพลาดก็คือ อดไปเลย) ดังนั้น เราก็เลือกว่า ไม่ขอ เพราะคิดว่า อัตราการแข่งขันน่าจะสูงกว่า

          เมื่อช่วงต้นเดือนมกราคม ๒๕๕๗ เราได้รับการตอบรับจากสถาบันให้เข้าศึกษาแล้ว เราจึงมีเวลาวางแผนทุกอย่าง ทั้งในส่วนของค่าใช้จ่ายและในส่วนของเนื้อหาการเรียนด้วย เริ่มจากค่าใช้จ่าย ค่าเรียนประมาณ ๔๐,๐๐๐ บาท เราก็ได้วางแผนไว้ตั้งแต่ช่วงฝึกงานเลยว่า จะหาเงินให้ได้ก้อนหนึ่งก่อน เพื่อที่จะช่วยเหลือที่บ้านในการประหยัดค่าใช้จ่าย เนื่องจากเรายังไม่ได้ทำงานประจำ จึงใช้วิธีการสอนพิเศษจนได้เงินมาก้อนหนึ่ง ประมาณ ๕๐,๐๐๐ บาท ซึ่งก็ไม่ได้มากอะไร แต่ก็ประหยัดทางบ้านไปได้พอสมควร ส่วนในเรื่องตั๋วเครื่องบิน เราเลือกใช้วิธีการจองช่วงโปรโมชั่นที่คิดว่าถูกที่สุด ซึ่งก็จองได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ (เดินทางกรกฎาคม) ไปกลับกรุงเทพ-อามสเตอร์ดัม ราคา ๒๒,๐๐๐ บาท (สายการบินเอมิเรต) ที่พักก็ใช้วิธีอยู่กับโฮสที่ทางสถาบันจัดให้ เนื่องจากเราสมัครเป็นคนแรกๆของสถาบันจึงได้ที่พักค่อนข้างดีพอสมควร ในราคาวันละ ๒๐ ยูโร (พร้อมอาหารเช้า)

          ในส่วนของการเตรียมเนื้อหาของการเรียนการสอน โดยหลัก theme ในปีนี้ เป็น theme ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ บังเอิญโชคเข้าข้างว่า เมื่อปีที่ผ่านมาของการศึกษาของปริญญาโท นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการเรียนการสอนในประเด็นเรื่องกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศอยู่พอสมควร และช่วงในปีที่แล้วอีกเช่นกัน เราเตรียมตัวสอบนักการทูตของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งก็ตกรอบสุดท้าย (ภาค ค.) ไปอย่างน่าเสียดาย แต่ก็ได้อ่านในประเด็นของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเอาไว้เยอะอยู่พอสมควรในช่วงเตรียมตัวสอบ

บริเวณประชาสัมพันธ์ด้านใน (หน้าห้องเรียน)

บริเวณประชาสัมพันธ์ด้านใน (หน้าห้องเรียน)

--------------------------------------

๓. การใช้ชีวิตในห้องเรียน (ระบบการเรียนการสอน)

--------------------------------------

          ในช่วงสัปดาห์แรก เราค่อนข้างมีปัญหากับระบบการเรียนการสอนมาก เนื่องจากทุกอย่างดำเนินการโดยใช้ภาษาต่างประเทศทั้งหมด ซึ่งไม่ได้มีแต่ภาษาอังกฤษ แต่ยังรวมไปถึงภาษาฝรั่งเศสด้วย (มีระบบล่ามแปลภาษาอัตโนมัติ จากฝรั่งเศสเป็นอังกฤษ และอังกฤษเป็นฝรั่งเศส สด ตลอดเวลา) ซึ่งเราค่อนข้างลำบากมาก เนื่องจากเรียนอยู่เมืองไทยมาตั้งแต่เกิด และไม่เคยเรียนในหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษเลย สัปดาห์แรกจึงเป็นสัปดาห์ของการปรับตัวซึ่งเราต้องใช้ความพยายามค่อนข้างมาก ถึงขนาดอัดเสียงทุกวิชามาฟังซ้ำ ไปอ่านหนังสือที่อาจารย์แต่ละท่านแนะนำล่วงหน้า รวมถึงถามเพื่อนๆในห้อง ทุกทางเท่าที่จะสามารถทำได้

          แต่ในสัปดาห์ต่อๆมา เราพอเริ่มจับทางได้มากขึ้น จึงขออธิบายระบบการเรียนการสอนของที่นี่ ดังนี้ ในเรื่องของการเรียนแต่ละวัน ที่สถาบันแบ่งออกเป็น ๓ ส่วนใหญ่ๆ ซึ่งสถาบันจะแบ่งสัดส่วนให้เท่าๆกัน กล่าวคือ

          (๑) การเรียนในห้องเรียนใหญ่ (เลกเชอร์) มีจำนวนนักเรียนประมาณ ๒๐๐ กว่าคน สำหรับในแต่ละวัน จะมีวิชาเรียนจำนวน ๓ วิชา ซึ่งแบ่งออกเป็นวิชาหลัก ๑ วิชา และวิชาเสริม ๒ วิชา โดยที่ วิชาหลัก จะเรียนต่อเนื่องทุกวันเป็นเวลา ๓ สัปดาห์ แต่ในส่วนของวิชาเสริม จะเปลี่ยนทุกๆสัปดาห์ ซึ่งอาจารย์ที่มาสอนก็จะเป็นอาจารย์ ปรมาจารย์กฎหมายระหว่างประเทศจากทั่วๆทุกมุมโลก อาจารย์บางท่านจะสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษ ในขณะที่อาจารย์บางท่านก็จะใช้ภาษาฝรั่งเศส (แน่นอนมีล่ามแปลให้)

ภายในห้องเรียน ในคาบหลัก (เลกเชอร์)

ภายในห้องเรียน ในคาบหลัก (เลกเชอร์)

          (๒) การเรียนในห้องเรียนย่อย (สัมมนา) ซึ่งเป็นห้องเรียนขนาดเล็กมีประมาณ ๕๐ คนได้เราค่อนข้างชอบการเรียนแบบนี้มาก ระบบสัมมนาของที่นี่ คือ อาจารย์ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้สอน แต่เป็นเหมือนพิธีกรในการนำนักเรียนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ซึ่งเราก็มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนกลางห้องเรียนอยู่ตั้ง “๑” ครั้ง (ส่วนมากจะถามนอกรอบหรือทางอีเมล์อาจารย์มากกว่า) ซึ่งผู้เรียนต้องมีความรู้พื้นฐานมาเยอะพอสมควร สำหรับนักเรียนก็มีตั้งแต่ระดับปริญญาโทเรื่อยไปถึงปริญญาเอก บางคนเป็นอาจารย์ เป็นเจ้าหน้าที่นักการทูต หรือองค์การระหว่างประเทศก็มี

ภายในห้องเรียนย่อย (สัมมนา)

ภายในห้องเรียนย่อย (สัมมนา)

          (๓) การดูงานในองค์การระหว่างประเทศและสถานที่สำคัญต่างๆ (กิจกรรมเสริม) อันนี้ค่อนข้างน่าตื่นตาตื่นใจมาก เพราะเราได้มีโอกาสไปดูงานในองค์การระหว่างประเทศและสถานที่ต่างๆที่สำคัญหลายองค์กร (แต่ต้องลงชื่อสมัครเพราะค่อนข้างเต็มเร็ว) เราก็สมัครมันทุกอันเลย เพราะอยากรู้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง สรุปสุดท้ายเราก็ได้มีโอกาสไปแทบทุกที่ ตั้งแต่การเยี่ยมชมศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (PCA) ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) องค์การห้ามอาวุธเคมี (OPCW) เป็นต้น นอกจากนั้น เราก็มีโอกาสแอบไปเองในหลายที่ เช่น มหาวิทยาลัยไลเดน มหาวิทยาลัยอามสเตอร์ดัม เป็นต้น

ในห้องพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

ในห้องพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

ภายในศาลอาญาระหว่างประเทศ

ภายในศาลอาญาระหว่างประเทศ

องค์การห้ามอาวุธเคมี

องค์การห้ามอาวุธเคมี

--------------------------------------

๔. การใช้ชีวิตนอกห้องเรียน

--------------------------------------

          ในส่วนนี้ บอกได้เลยว่าเป็นส่วนที่ยากที่สุดก็ว่าได้ ถามว่ายากอย่างไรนั้น ขอเริ่มจากสิ่งใกล้ตัวมากที่สุด คือ ภาษา สิ่งต่างๆในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ แม้จะมีภาษาอังกฤษกำกับก็ตาม แต่ก็มีชื่อเฉพาะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ รายการอาหารต่างๆ ล้วนแล้วแต่เขียนเป็นภาษาดัตช์ ซึ่งบอกเลยว่า เราอ่านไม่ออกเลย (พูดทีไรรู้สึกเหมือนมีเสลดอยู่ในลำคอ) นอกจากเรื่องภาษา ก็ยังมีเรื่องของวัฒนธรรมที่ค่อนข้างหลากหลาย เช่น ฝรั่งมักจะไปสังสรรค์กันในช่วงหลังเลิกเรียนทุกเย็น อารมณ์ประมาณว่า “Word hard, play harder” ซึ่งเราก็ไปสังสรรค์กับเพื่อนๆฝรั่งบ้าง แต่ทำได้อาทิตย์เดียวก็ไม่ไหว ร่างจะพังให้ได้ ช่วงหลังๆเราก็มักจะปฏิเสธ แต่ไปหาอะไรที่อยากทำทำแทน เช่น การไปเที่ยวชายหาดในกรุงเฮก (ซึ่งไม่น่าเชื่อว่า แค่นั่งรถรางไปไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็มีชายหาดแล้ว) รวมถึงทริปแบบหลุดโลก อย่างเดินทางไปปารีส (ซึ่งจะเล่าอีกทีด้านล่าง) เป็นต้น

ชายหาด Scheveningen

ชายหาด Scheveningen

          สำหรับกรุงเฮก สังคมที่นี่ค่อนข้างเปิดกว้าง และคนจิตใจดี เป็นต้นว่า บางครั้ง เรายืนดูแผนที่นานๆเหมือนจะหลงทาง ก็จะมีคนแถวนั้น เดินเข้ามาหาเราและพูดกับเราเป็นภาษาอังกฤษ ถามว่า เราต้องการความช่วยเหลืออะไรหรือไม่ เป็นต้น เมืองก็ดูสะอาดสะอ้าน เหมาะแก่การเป็นเมืองที่ตั้งขององค์การระหว่างประเทศทีเดียวสำหรับการเดินทางนั้น มีหลักๆ ๔ วิธี คือ เดิน รถราง รถเมล์ และรถยนต์ ซึ่งรถรางและรถเมล์ที่นี่ตรงเวลามาก และมักจะมีป้ายขึ้นตลอดว่า อีกกี่นาทีสายไหนจะมาบ้าง

กังหัน ณ เมืองไลเดน

กังหัน ณ เมืองไลเดน

          นอกจากนั้น เวลาว่างๆ เราก็มักจะไปหาเรื่องอะไรแปลกๆใหม่ใส่ตัวเสมอ เป็นต้นว่า การเดินทางไปล่องเรือที่เมืองอามสเตอร์ดัม การเดินทางไปเยี่ยมชมเมืองไลเดน รวมถึงการเดินทางไปเยี่ยมชมคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยไลเดน การลองรับประทานอาหารแปลกๆใหม่ หลายๆชาติ การหลงทางในเมือง(ซึ่งมักจะเกิดขึ้นบ่อยๆ) และบางครั้งเข้าห้องสมุดของสถาบันฯ เป็นต้น

ภายในห้องสมุดของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยไลเดน

ภายในห้องสมุดของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยไลเดน

--------------------------------------

๕. การแข่งขันผู้นำเยาวชนสหประชาชาติ (Model United Nations)

--------------------------------------

การแข่งขันเวทีผู้นำเยาวชนสหประชาชาติแห่งกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์

การแข่งขันเวทีผู้นำเยาวชนสหประชาชาติแห่งกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์

          การแข่งขันเวทีการประชุมผู้นำเยาวชนสหประชาชาตินั้น นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญในลำดับต้นๆที่ทำให้เรามาอยู่ในทุกวันนี้ได้เลยก็ว่าได้ (ซึ่งเราเคยมีโอกาสเข้าร่วมมาแล้วถึง ๔ ครั้งหลายๆที่ ทั่วโลกในฐานะของตัวแทนจากชมรม TUMUN) สำหรับคนที่ยังสงสัยว่า “เวทีการประชุมผู้นำเยาวชนสหประชาชาติ” คืออะไรนั้น ขอบอกง่ายๆ คือ เป็นการจำลองการประชุมขององค์การสหประชาชาติ และให้ผู้เข้าร่วมการแข่งขันสวมบทบาทเป็นประเทศหนึ่งๆ เพื่อที่จะพูดสุนทรพจน์หน้าที่ประชุมชน ล๊อบบี้ประเทศต่างๆให้เห็นชอบตามแนวนโยบายของประเทศตน รวมถึงการเจรจาระดับผู้แทนของรัฐ และร่างมติที่ประชุมออกมา

ภายในห้องขณะเริ่มการแข่งขัน Model UN

ภายในห้องขณะเริ่มการแข่งขัน Model UN

          สำหรับการประชุมครั้งที่ผ่านมา เราได้รับบทบาทให้เป็นประเทศอาร์เจนตินา ในคอมมิตตีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC)ภายใต้หัวข้อเรื่อง "Drones and international law" ซึ่งเป็นการยากมากที่ต้องแสดงบทบาทของประเทศอาร์เจนตินาที่ได้รับโจทย์มาว่า เป็นประเทศกลางๆ ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่สุดท้าย ไม่รู้ว่าอะไรเข้าสิงทำให้สามารถผ่านไปได้ด้วยดี จนได้รับรางวัลแปรญัตติดีเด่น (Best Amendment)

ประกาศนียบัตรและเอกสารที่ได้รับจากการแข่งขัน Model UN

ประกาศนียบัตรและเอกสารที่ได้รับจากการแข่งขัน Model UN

          ถามว่า ยากอย่างไรนั้น ณ จุดนี้คงไม่ต้องตอบแล้ว เพราะการที่ต้องต่อสู้ทั้งตัวเองและฝรั่ง ซึ่งฝรั่ง ก็คือ ฝรั่งที่ได้รับคัดเลือกให้มาเข้าเรียนที่สถาบันฯอีกทีหนึ่ง ซึ่งมีทั้งระดับปริญญาโท ปริญญาเอก จากทั่วทุกมุมโลก อีกทั้งการเดินไปพูดบนเวทีต่อหน้าคนที่เราไม่รู้จักและมีความรู้ในระดับที่บอกได้เลยว่า มากกว่าเราเยอะมาก ไม่ใช่เรื่องอะไรที่สามารถทำได้ง่ายๆเลยทีเดียว

เหรียญรางวัล Best Amendment

เหรียญรางวัล Best Amendment

--------------------------------------

๖. ปารีสและอามสเตอร์ดัม

--------------------------------------

๖.๑ ปารีส

          สำหรับอามสเตอร์ดัมอาจไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะมีโอกาสได้ไป เพราะเป็นเมืองหลวงของประเทศเนเธอร์แลนด์ แต่ในส่วนของปารีสนั้น เกิดจากความบ้าส่วนตัวล้วนๆ เนื่องจากว่า ในช่วงของสัปดาห์แรกของการเรียนการสอน เราว่างในวันเสาร์และอาทิตย์ ไม่ได้แพลนอะไรไว้ เนื่องจากเราไม่รู้ว่ามาที่นี่จะเจอกับอะไรบ้าง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เราแพลนทริปทุกอย่างในการเดินทางไปปารีสในวันศุกร์ และคืนวันศุกร์นั้นเอง เราก็เดินทางไปปารีสโดยรถบัส Eurorailway เพื่อไปถึงปารีสในเช้าวันรุ่งขึ้น

รถบัสที่พามาถึงปารีส

รถบัสที่พามาถึงปารีส

          ถามว่า ทำไมต้องปารีส? ปารีสเป็นเมืองในฝันของเราตั้งแต่เด็กๆมากๆว่า ต้องไปเหยียบให้ได้ เพราะเคยเรียนภาษาฝรั่งเศสตอนมัธยมปลาย และซึมซับไปกับวัฒนธรรม ภาษา แต่ในความเป็นจริงเมื่อเรามาถึง ฝันทุกอย่างมันไม่ใช่ความจริง ซึ่งเป็นทริปที่ต้องใช้ทักษะเอาตัวรอดมากพอสมควร (ไม่เหมาะกับการเดินทางคนเดียวเท่าไหร่นัก)

ฉันและหอไอเฟล

ฉันและหอไอเฟล

          ภาพแรกที่เห็นคือ เราวางแผนคร่าวๆว่าจะซื้อตั๋วรถใต้ดินแบบไม่จำกัดจำนวนเที่ยวในสองวัน จะได้คล่องตัว และประหยัดค่าใช้จ่ายกว่า เราจึงใช้มารยาในการติดต่อขอลดราคากับเจ้าหน้าที่ ทั้งยื่นบัตรว่าเราเป็นนักเรียน (บัตรนักศึกษาของเฮก) จนเค้าลดราคาให้เราเหลือแค่ 7 ยูโร (สำหรับการเดินทางไม่จำกัด ๒ วัน) รวมไปถึงพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ประมาณว่า มีหลายเคาเตอร์ เราก็จะใช้วิธีมองหน้าของเจ้าหน้าที่ว่าคนไหนดูใจดีก็เข้าไปหาคนนั้น จนได้ทั้งลดราคา และเข้าฟรีในหลายที่ ซึ่งต้องใช้ทั้งทักษะในการเจรจาต่อรองและการสังเกตอยู่เยอะพอสมควรเลยทีเดียวเราก็ได้มีโอกาสไปในที่ต่างๆที่สำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็นหอไอเฟล พิพิธภัณฑ์ลูฟ มหาวิหาร Sacre Coeur มหาวิหาร Notre Dame มหาวิหาร Pantheon ถนนชองเชลิเซ่ ประตูชัย สวนต่างๆ คองคอร์ด รวมไปถึงมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Sciences-Po หรือ Paris-Sorbonne เป็นต้น

หน้าพิพิธภัณฑ์ลูฟ

หน้าพิพิธภัณฑ์ลูฟ

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีส

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีส

          ปารีสเกือบจะสมบูรณ์แบบทุกอย่างดังในภาพฝันแล้ว ถ้าเราไม่เจอเหตุการณ์เลวร้ายเข้า ซึ่งมีเยอะมาก ตั้งแต่ลัก วิ่ง ชิง ปล้น และอื่นๆอีกมากมาย (มากันแบบครบประมวลกฎหมายอาญาเลยทีเดียว) ซึ่งคนพวกนี้มักจะมีทางในการหลอกลวงจนเราตายใจและเชื่อโดยสนิทใจ เป็นต้นว่า ที่วิหาร Sacre Coeur ความซวยมาเยือน เมื่อตรงบันไดทางขึ้น มีคนเอาสายสิญจน์มาผูกข้อมือ ประเด็น คือ เค้าบอกว่าให้ฟรี ไม่ต้องหนี ไม่ได้มาขอเงิน ตัวเค้าเองทำงานใน Sacre Coeur แถมโชว์เงินในกระเป๋าให้ดูด้วย พูดน่าเชื่อถือพอสมควร สักพักเค้าก็ผูกให้เสร็จพร้อมทั้งตัดขนาดตามข้อมือให้เราเรียบร้อย อยู่ๆก็มาขอค่าเรี่ยไร มีผู้หญิงฝรั่งคนหนึ่งเหมือนเดินเข้ามาช่วยเรา แต่กลับโดนผู้ชายที่ผูกสายสิญจน์ให้เราตบหน้า สักพักเรารู้ตัวเลยพยายามออกมา เค้ามาล้อมกันสามคน แล้วก็ยืนยันจะเอาให้ได้ สุดท้ายเค้าก็บอกว่า ควรทำเพื่อศาสนานะ เราบอกเราเป็นพุทธ แต่เค้าก็ไม่ยอม จนกระทั่ง เราบอกว่า เดินขึ้นไปจ่ายกับบาทหลวงด้วยกัน เค้าเลยปล่อย เป็นต้น

หน้า Sacre Coeur

หน้า Sacre Coeur

          (สามารถดูรูปภาพเฉพาะปารีสได้ที่ https://www.facebook.com/t.chatinakrob/media_set?set=a.10204060772177271.1073741830.1163355772&type=3)

๖.๒ อามสเตอร์ดัม

          อามสเตอร์ดัมนั้น เป็นเมืองสุดท้ายที่เราเดินทางไปก่อนกลับประเทศไทย ซึ่งฝันที่เราตั้งไว้ก็พังทลายอีกเช่นเคย เราค่อนข้างไม่พอใจกับเมืองนี้ ตั้งแต่เดินทางเข้ามา กลิ่นกัญชาก็อบอวลไปทั่วทั้งเมือง ซึ่งตอนแรกเราก็พอทนไหว แต่เดินไปเดินมาก็มืนหัว เพราะที่นี่ สามารถสูบกัญชาได้อย่างอิสระเพราะกฎหมายอนุญาต นอกจากนั้น เมืองนี้ยังเป็นเมืองที่ค่อนข้างขึ้นชื่อในเรื่องของการขายบริการทางเพศอีกด้วย เพราะสามารถทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งบอกได้เลยว่าเป็นเรื่องปกติมาก ย่านที่สำคัญเรียกว่า “Red Light District” ซึ่งเป็นบริเวณที่มองไปมีแต่ตู้กระจกเป็นร้อยๆตู้ได้ ซึ่งวิธีการของเขาคือ จะมีผู้หญิงนุ่งน้อยห่มน้อยมายืนในตู้กระจกที่มีไฟสีแดง และม่าน ๑ ผืน เท่านั้นเอง และหากใครถูกใจ ก็เข้าไปในตู้กระจกและม่านก็จะปิดลงเท่านั้นเอง

ย่าน Red Light District

ย่าน Red Light District

          ดังนั้น เราจึงพยายามหาด้านที่ดีๆของเมืองนี้บ้างก่อนเดินทางกลับ ยอมรับเลยว่า ช่วงนั้นเป็นช่วงที่หวาดเสียวมาก เนื่องจากสัปดาห์นั้นและก่อนหน้า มีเครื่องบินตกหลายลำมาก แต่อะไรดลใจเราไม่รู้ ทำให้เราค้นหาวัดไทยในอามสเตอร์ดัมซึ่งปรากฏว่า มีอยู่ที่เมือง Landsmeer ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ติดกับอามสเตอร์ดัม และเป็นเมืองที่มีวัดไทยตั้งอยู่ วัดดังกล่าวมีชื่อว่า “วัดพุทธวิหาร” เราก็ได้มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับประธานสงฆ์ กล่าวคือ พระมหาจำเริญ เขมวีโร จากวัดมหาธาตุ ซึ่งท่านได้ให้แง่คิดในประเด็นด้านระบบการศึกษาและระบบการเมืองของประเทศไทยว่าควรปรับปรุงไปในทิศทางใด และหลังจากนั้น ท่านได้พาเราขี่จักรยานรอบเมือง Lansmeer ซึ่งมีการทำปศุสัตว์และเกษตรกรรมเยอะมาก อีกทั้งบ้านแถบนี้ทุกหลังมีโครงสร้างที่เหมือนกันหมด (มีกฎหมายควบคุม) ซึ่งจัดวางเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงามมาก

วัดพุทธวิหารอามสเตอร์ดัม

วัดพุทธวิหารอามสเตอร์ดัม

————————————–

๗. บทส่งท้าย

————————————–

          สำหรับการเดินทางมาเรียน ณ สถาบันกฎหมายระหว่างประเทศแห่งกรุงเฮกนั้น หากถามว่าเป็นสถาบันที่ดีที่สุดในโลกหรือไม่นั้น คงตอบยาก แต่สามารถตอบได้ว่า เป็นสถาบันที่สอนทั้งความรู้ในห้องเรียนและความรู้นอกห้องเรียน ซึ่งเป็นความรู้ในชีวิตจริงที่ไม่อาจหาได้ง่ายๆ อยากแนะนำให้ผู้ที่มีความสนใจในด้านกฎหมายระหว่างประเทศไปเรียนที่นี่ โดยไม่ต้องกังวลไปเลยว่า ภาษาตัวเองจะได้หรือไม่ หรือจะได้แค่ไหน ถ้ามัวแต่มานั่งคิดว่ากล้าหรือไม่กล้า จะสมัครหรือไม่สมัครดี สุดท้ายอาจจะมาเสียใจในภายหลัง

          การเรียนที่นี่ จะช่วยเปิดโลกทัศน์ของผู้เรียนว่า ณ ตอนนี้ โลกเดินไปถึงไหนแล้ว สำหรับใครก็ตามที่คิดว่าตัวเองเก่ง ลองมาดูสักครั้ง แล้วจะรู้ว่า เหนือฟ้ายังมีจักรวาล ส่วนคนที่คิดว่าตัวเองไม่เก่ง ไม่พร้อม ทำไม่ได้ อยากให้เปลี่ยนมุมมองใหม่ เพราะคนที่นี่ ไม่มีใครดูถูกใครเลยจริงๆ (เท่าที่สัมผัสมาเอง) หลายๆครั้งเราพูดผิด เราพลาด แต่ไม่มีคนหัวเราะเยาะ มีแต่คนพยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการจะสื่อ อย่ากลัว

          สำหรับเราเอง เรายังคิดวางแผนที่จะกลับไปที่สถาบันนี้อีกครั้ง หรืออาจหลายครั้งในอนาคต เพื่อที่จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง และอาจจะลงสมัครสอบปริญญาเกียรติคุณนิติศาสตร์ (Diploma) ในอนาคต

          ท้ายที่สุดนี้ ต้องขอขอบคุณคุณพ่อ คุณแม่ และครอบครัวทุกคนที่ให้การสนับสนุน ตลอดจนครูบาอาจารย์ทุกท่านที่ให้คำแนะนำ คำปรึกษา เป็นผู้สอนทุกท่าน ทั้งในปัจจุบัน และย้อนหลังไปตั้งแต่ปริญญาตรี มัธยมศึกษา ฯลฯ (ขอไม่เอ่ยนาม เนื่องจากเกรงว่าจะไม่ครบ) รวมไปถึงความสำเร็จต่างๆ และความผิดพลาด ที่ทำให้เรามายืนอยู่ในวันนี้ได้ และไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เราสัญญาว่าจะพัฒนาตัวเองต่อไป ไม่จบอยู่แค่นี้แน่นอน (บันทึกฉบับนี้เป็นการเริ่มต้นอีกก้าวใหญ่ๆอีกหนึ่งก้าวในชีวิตของเราในฐานะนักกฎหมายระหว่างประเทศรุ่นใหม่) ขอบคุณครับ

          ทั้งนี้ หากใครยังมีข้อสงสัยประการใด สามารถสอบถามได้นะครับ ยินดีที่จะแบ่งปันประสบการณ์เพราะไม่สามารถเขียนทุกอย่าง ทุกแง่มุมลงในบันทึกฉบับนี้ได้ (สามารถรูปถ่ายเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/t.chatinakrob/media_set?set=a.10204024919880986.1073741829.1163355772&type=3)

ด้านหน้าอาคาร Peace Palace และที่เรียนของฉัน

ด้านหน้าอาคาร Peace Palace และที่เรียนของฉัน

หมายเลขบันทึก: 574740เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2014 01:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 สิงหาคม 2014 01:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท