เราจะออกแบบการทำงานคลินิกกฎหมายใน 4 รพ.ชายแดนตากกันอย่างไร ?: รพ.แม่ระมาด/อุ้มผาง/พบพระ/ท่าสองยาง


เราจะออกแบบการทำงานคลินิกกฎหมายใน 4 รพ.ชายแดนตากกันอย่างไร ?

: รพ.แม่ระมาด/อุ้มผาง/พบพระ/ท่าสองยาง

บันทึกโดย นางสาวศิวนุช สร้อยทอง นักกฎหมายประจำโรงพยาบาลแม่ระมาด

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2557

-------------------------------------------

๑. ความเป็นมาของงานเขียน

-------------------------------------------

งานเขียนนี้เป็นการเริ่มต้นทำ "บันทึกเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน"ในการออกแบบ "วิธีการทำงานคลินิกกฎหมายใน 4 รพ.ชายแดนตาก"โดยพัฒนามาจาก "แนวคิดของแผนงานคลินิกกฎหมายเพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่คนชายแดนที่มีปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมาย" ซึ่งอ.แหววได้รวบรวมความคิด/ความต้องการของ 4 ผอ.รพ.ชายแดนตาก[1] และพัฒนาขึ้นเป็นสรุปแนวคิด (concept note) ของงานคลินิกกฎหมายในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นแผนงานแรกที่ 4 ผอ.รพ.ต้องการให้เกิดขึ้น อ่านได้ที่นี่

ซึ่ง “คลินิกกฎหมายของ 4 รพ.ชายแดน”นี้ ประกอบด้วย

(1) คลินิกกฎหมายรพ.แม่ระมาด ซึ่งดูแลโดย คุณหมอจิ นายแพทย์จิรพงศ์ อุทัยศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่ระมาด

(2) คลินิกกฎหมายรพ.อุ้มผาง ซึ่งดูแลโดย คุณหมอตุ่ย นายแพทย์วรวิทย์ ตัณติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง

(3) คลินิกกฎหมายรพ.พบพระ ซึ่งดูแลโดย คุณหมอเต้ นายแพทย์ศักดิ์บัญชา ชัยมงคล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพบพระ และ (4) คลินิกกฎหมายรพ.ท่าสองยาง ซึ่งดูแลโดย คุณหมอหนึ่ง นายแพทย์ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าสองยาง

และมีนักกฎหมายซึ่งดูแลการการทำงานของ 4 คลินิก คือ (1) ปลาทอง นางสาวศิวนุช สร้อยทอง นักกฎหมายประจำโรงพยาบาลแม่ระมาด (2) เวช นายเวช ว่องไวพาณิชย์ นักกฎหมายประจำโรงพยาบาลอุ้มผาง และ (3) ชมพู่ นางสาววิกานดา พัติบูรณ์ นักกฎหมายโรงพยาบาลอุ้มผาง

-------------------------------------------

๒. ทำไมเราจึงมีคลินิกกฎหมายในโรงพยาบาล?

-------------------------------------------

เมื่อพูดถึงคำว่า “คลินิก” หลายคนก็มักจะนึกถึง “งานของโรงพยาบาล” ในทันทีเป็นปกติ และเมื่อพูดถึง “คลินิกกฎหมาย” หลายคนก็มักจะนึกไม่ออกว่าหน้าตาจะเป็นอย่างไร เพราะคุ้นเคยกับคำว่า กฎหมาย กับ “สำนักงานกฎหมาย-ทนายความ/ศาล/สำนักงานอัยการ/สถานีตำรวจ” เสียมากกว่า

งานนี้เกิดขึ้นเนื่องจาก 4 ผอ.รพ.ชายแดน ต้องการ “ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่คนชายแดนซึ่งมีปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย” และต้องการให้งานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเป็นงานซึ่งอยู่ในระบบงานของ 4 รพ.ชายแดนเอง ซึ่งกลไกหนึ่งในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ก็คือ คลินิกกฎหมาย และเพื่อให้งานนี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบงานตามปกติในโรงพยาบาล ดังนั้น เราจึงต้องมี “คลินิกกฎหมายในโรงพยาบาล” นั่นเอง อ่านแนวคิดเพิ่มเติมได้ที่นี่

-------------------------------------------

๓. คลินิกกฎหมายจะเป็นส่วนหนึ่งในโรงพยาบาลได้อย่างไร?

-------------------------------------------

เมื่อเราตระหนักแล้วว่าต้องมี “คลินิกกฎหมายในโรงพยาบาล” คำถามต่อมา คือ เราจะนำคลินิกกฎหมายเข้าไปตั้งอยู่ในระบบของโรงพยาบาลได้อย่างไร ?ซึ่งประเด็นนี้ผู้เขียนเองก็เห็นภาพยังไม่ชัดเจนเท่าใดนัก หารือ อ.แหวว อ.แหววก็บอกว่า “ฉันไม่ใช่ผอ.โรงพยาบาลจะไปรู้ได้อย่างไร? ไปหารือคุณหมอ ๆ ดูสิ”

ฟังได้ดังนั้นเมื่อในวันที่ 12 สิงหาคม 2557 ผู้เขียนก็ส่งข้อความหารือคุณหมอจิ และไม่ทันที่ผู้เขียนจะยกหูถึงคุณหมอ ๆ ระหว่างที่ทานก๋วยเตี๋ยวเรืออย่างเอร็ดอร่อย คุณหมอจิ ก็โทรมาอธิบายการเชื่อมประสานของคลินิกกฎหมาย-โรงพยาบาล-หน่วยงานภายนอก และได้ส่งข้อความมาอธิบายให้ผู้เขียนเห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนี้

คุณหมอจิ อธิบายว่า“การกระบวนการทำงานคลินิกกฎหมายนั้น จะเป็นการใช้กลไกที่มีอยู่เดิมในโรงพยาบาล และจะเกิดพัฒนากลการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล คือ การทำให้เกิดงานใหม่ (การแก้ปัญหาสถานะบุคคล) บนโครงสร้าง/ระบบงานที่มีอยู่เดิม (เครือข่ายบริการสุขภาพและการทำงานร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลกับที่ว่าการอำเภอ) บุคลากรของโครงการนี้ส่วนใหญ่จึงเป็นแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อสม. ฯลฯ และกลไกสำคัญคือ ระบบส่งต่อ

งานนี้จึงมุ่งพัฒนาศักยภาพบุคลากรและอาสาสมัคร ตั้งแต่ระดับพื้นที่คืออาสาสมัครในหมู่บ้าน/โรงเรียน บุคลากรในหน่วยบริการสาธารณสุขและในโรงพยาบาล ให้มีความรู้เรื่องการจัดการสถานะบุคคลในระดับต่างๆ และจัดให้มีระบบให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย/ผู้รักษาการตามกฎหมาย (Law Consultation) เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคณะทำงาน”

-------------------------------------------

๔. ระบบการทำงานของคลินิกกฎหมายในโรงพยาบาลจะเป็นอย่างไร?

-------------------------------------------

เมื่อคลินิกกฎหมายตั้งอยู่ในโรงพยาบาล และจำเป็นต้องสร้างระบบงานเชื่อมกับทั้งหน่วยงานภายในโรงพยาบาลและหน่วยงานภายนอก คุณหมอจิจึงได้อธิบายเพิ่มเติม และแนะนำให้ผู้เขียนวาด diagram ออกมาดังนี้

โดยมีคำอธิบายการทำงาน กล่าวคือ “การให้บริการคลินิกกฎหมายจะเป็นการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงการแก้ปัญหาสถานะบุคคลของผู้มีปัญหาสถานะบุคคล ทั้งในกรณีบุคคลนั้นเป็นผู้ป่วย/ผู้รับบริการของรพ. หรือเป็นราษฎรในพื้นที่ หรือเป็นราษฎรในอำเภอข้างเคียงที่ไม่มีคลินิกกฎหมาย โดยใช้ระบบส่งต่อทำนองเดียวกับที่การส่งต่อผู้ป่วยระหว่างสถานบริการสาธารณสุข ซึ่งเป็นระบบที่มีความชัดเจนมีการดำเนินการเป็นปกติประจำอยู่

คลินิกกฎหมายจะมีหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง รวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อส่งต่อให้กับอำเภอซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย

การเชื่อมโยงการทำงานเพื่อการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลระหว่างโรงพยาบาลกับอำเภอ เป็นไปตามระบบงานปกติ ซึ่งโดยทั่วไปหน่วยงานทั้งสองต่างมีภารกิจทำร่วมกัน สนับสนุนกันเป็นปกติอยู่แล้ว การทำงานในลักษณะนี้น่าจะถือว่าเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยราชการในพื้นที่

โดยสรุป การพัฒนาให้เกิด การทำให้เกิดงานใหม่บนโครงสร้าง/ระบบงานที่มีอยู่เดิม จึงเป็นเรื่องที่ไม่ได้ซับซ้อนเพราะมีความชัดเจนในระบบ ผู้ปฏิบัติมีความคุ้นชิน จึงเชื่อว่ากลไกนี้จะเกิดขึ้นได้จริงและมีความยั่งยืน”

-------------------------------------------

๕. ระบบการทำงานของคลินิกกฎหมายในโรงพยาบาลจะเป็นอย่างไร หากไม่มีนักกฎหมายประจำคลินิก?

-------------------------------------------

เมื่อได้แผนภาพการทำงานของระบบคลินิกกฎหมายประจำโรงพยาบาล ผู้เขียนก็ได้นำเผยแพร่ใน facebook และส่งข้อมูลให้คุณหมออีก 3 ท่านได้ทราบเพื่อขอความเห็น และเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2557 ในระหว่างที่กดส่งข้อมูลให้คุณหมอหนึ่ง นายแพทย์ธวัชชัย ผู้เขียนก็พลันนึกได้ว่า ระบบคลินิกกฎหมายที่ออกแบบมาข้างต้น เป็นระบบคลินิกกฎหมายสำหรับการมีนักกฎหมายประจำคลินิก “เอ๊ะ.. แล้วคลินิกกฎหมายที่ยังไม่มีนักกฎหมายนั่งประจำ ดังเช่น โรงพยาบาลพบพระ และโรงพยาบาลท่าสองยางล่ะ ควรมีระบบอย่างไร?”นึกได้ดังนั้น ผู้เขียนก็ส่งข้อความหารือคุณหมอจิเช่นเคย

คุณหมอจิก็ได้ตอบข้อหารือว่า “Flow chart ของรพ.ที่ไม่มีนักกม. (1) เปลี่ยนคลินิกกม.เป็นงานประกันสุขภาพ/สังคงคมสุขภาพ (2) มีคลินิกกม.รพ.อื่นคั่นอยู่ระหว่างรพ.ตัวเองกับหน่วยงานอื่น (3) ่ลูกศรลากจากงานประกันมาที่คลินิกกม.และมีลูกศรลากออกจากคลินิกกม.ไปหน่วยงานอื่น (4) ลูกศรที่ลากตรงไปที่หน่วยงานอื่นให้คงไว้ Flow นี้จะปฏิบัติได้เราต้องพัฒนารพ.นั้นให้สามารถดำเนินการได้ในระดับหนึ่งแล้ว”

ซึ่งผู้เขียนได้จัดทำแผนผังตามคำแนะนำ ดังนี้

-------------------------------------------

๖. บทสรุป

-------------------------------------------

ต่อจากนี้ ผู้เขียนและอีก 2 นักกฎหมายซึ่งทำหน้าที่เป็นนักกฎหมายของ 4 โรงพยาบาลชายแดน จะต้องลองนำแนวคิดและการออกแบบกระบวนการทำงานนี้หารือกับ 4 คุณหมอเพิ่มเติม และชวนคุณหมอ ๆ พัฒนา work process ในการทำงานร่วมกันที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ

รวมถึงการพัฒนาระบบ/ขั้นตอนการทำงานในอีก 5 แผนงาน ซึ่งอ.แหววได้ยกร่างสรุป concept note ไว้แล้ว กล่าวคือ

  • แผนงานที่สอง : งานพัฒนาศักยภาพบุคลากรและการสร้างเครือข่ายเพื่อการทำงานที่ยั่งยืน อ่านได้ที่นี่
  • แผนงานที่สาม : งานสร้างระบบให้คำปรึกษาทางกฎหมาย อ่านได้ที่นี่
  • แผนงานที่สี่ : งานการจัดทำสูตรสำเร็จ/ต้นแบบ/คู่มือเพื่อคลินิกกฎหมายประจำโรงพยาบาล อ่านได้ที่นี่
  • แผนงานที่ห้า : งานพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อการทำงานเกี่ยวกับคนที่มีปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย อ่านได้ที่นี่
  • แผนงานที่หก : งานจัดเวทีสาธารณะเพื่อส่งต่อข้อค้นพบในการปฏิรูปกฎหมายและนโยบายต่อฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อ่านได้ที่นี่

[1] ประกอบด้วย (1) คุณหมอจิ นายแพทย์จิรพงศ์ อุทัยศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่ระมาด (2) คุณหมอตุ่ย นายแพทย์วรวิทย์ ตัณติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง (3) คุณหมอเต้ นายแพทย์ศักดิ์บัญชา ชัยมงคล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพบพระ และ (4) คุณหมอหนึ่ง นายแพทย์ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าสองยาง

หมายเลขบันทึก: 574680เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2014 17:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 สิงหาคม 2014 18:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท