เวียดนาม : ดินแดนแห่งหยดเลือดและหยาดน้ำตา


ตามกติกาของการเรียนรู้ใน Core Module ที่ผู้เรียนทุกคนต้องได้รับมอบหมายการบ้านให้ศึกษาเรื่องราวซึ่งเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่จะเดินทางไปเยือน ในการเดินทางสู่เวียดนาม ครูใหญ่ โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ มอบหมายให้นักเรียนโข่ง แบ่งกันอ่านหนังสือภาพเรื่อง Eye Witness Vietnam War คนละหนึ่งบท

ผู้เขียนได้รับผิดชอบในบทที่ว่าด้วย Village in Wartime หมู่บ้านของชาวเวียดนามสมัยสงคราม ซึ่งสะท้อนความไม่รู้อีโหน่อีเหน่ของชาวบ้านที่ทำมาหากินตามวิถีดั้งเดิมของตัวเอง เมื่อเกิดสงครามระหว่างทหารเวียดนามใต้ภายใต้เงาของอเมริกา กับ ทหารเวียดกง ทั้งสองฝ่ายต่างห้ำหั่นกันด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ และต่างคิดเอาเองว่าชาวบ้านตาดำ ๆ จะอยู่ฝั่งตรงข้าม สร้างความหวาดผวาและระแวงระวังอยู่ตลอดเวลา

การสังหารหมู่ที่หมู่บ้านมีลาย เป็นภาพที่ติดตราตรึงใจชาวโลกอยู่จนถึงทุกวันนี้ ภาพชาวบ้านผู้ปราศจากอาวุธในมือ ลูกเล็กเด็กแดงตลอดจนผู้เฒ่าล้วนถูกสังหารอย่างทารุณ นั่นคือเวียดนามจากการอ่านการบ้านของผู้เขียน

ครั้นเดินทางไปเยือนเวียดนามเริ่มจากตอนเหนือที่นครฮานอย รอยทางประวัติศาสตร์ที่ฉายภาพสงครามตั้งแต่ทะเลสาบคืนดาบ ซึ่งมีตำนานครั้งที่เวียดนามทำสงครามกับประเทศจีน กษัตริย์เวียดนามทำสงครามว่านานก็ไม่อาจเอาชนะได้ ทรงล่องเรือมาในทะเลสาบพบเต่านำดาบวิเศษมาให้ จนรบชนะจีน แล้วนำดาบมาคืน ณ ทะเลสาบคืนดาบ

สภาวะบ้านเมืองที่ผ่านยุคสมัยที่ต้องสู้รบ แจ่มชัดยิ่งขึ้นเมื่อได้ไปเยือนพิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์หลังจากคารวะศพของอดีตประธานาธิบดีโฮจิมินห์ บุรุษอันเป็นที่รักยิ่งของประชาชนชาวเวียดนาม เรื่องราวของลุงโฮจัดแสดงตั้งแต่วัยเยาว์จวบจนวัยชรา มีทั้งเป็นภาพถ่าย ข้าวของเครื่องใช้ ของขวัญจากบรรดาสหาย สื่อมัลติมีเดียต่าง ๆ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของลุงโฮอย่างสมบูรณ์

ร่องรอยแห่งการทำลายล้างจากสงครามบริเวณตอนกลางของประเทศที่เมืองเว้ ทำให้ผู้เขียนรู้สึกเสียดายแหล่งอารยธรรมที่หากยังคงอยู่คงงดงามวิจิตรเหลือเกิน เพราะแม้จะถูกทำลายไปมาก นครแห่งจักรพรรดิก็ยังโดดเด่น และสวยงามยิ่ง

เรื่องราวของสงครามถูกจัดแสดงอย่างเต็มรูปแบบในตอนใต้ โฮจิมินห์ ซิตี้ (ไซง่อน) ที่พิพิธภัณฑ์สงคราม ซึ่งจัดแสดงรถถัง รถหุ้มเกราะ เครื่องบินทิ้งระเบิดของจริง บริเวณโถงด้านล่างมีชาวเวียดนาม เหยื่อที่รอดชีวิตจากสงครามด้วยความพิกลพิการของร่างกาย ภายในตึกพิพิธภัณฑ์ มีนิทรรศการภาพถ่ายจัดเป็นห้อง ๆ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวความโหดร้ายของสงคราม หลายรูปภาพเป็นภาพที่ถูกเผยแพร่จนเป็นที่คุ้นตาของชาวโลก ในส่วนของคุกจำลองหลายรูปแบบ ส่วนที่เป็นคุกมืดที่ทั้งเล็กทั้งแคบและมืดสนิท ส่วนที่คุมขังลักษณะคล้ายเล้าหมูเล็ก ๆ แต่ล้อมรอบด้วยลวดหนาม เครื่องตัดหัว ตัดมือ ล้วนทำให้สลดหดหู่ และสยองหากจินตนาการว่าตัวเองเป็นผู้ถูกจองจำเมื่อครั้งสงคราม

ความคิดของผู้เขียนหลังเข้าชมทุกส่วนของพิพิธภัณฑ์สงคราม คือ อะไรที่ทำให้ทหารอเมริกันกระทำการโหดร้ายกับผู้คนเวียดนามได้มากมายขนาดนี้

วันถัดมา คณะของเราได้เดินทางไปเยือน “กู๋จี” ฐานทัพใหญ่ซึ่งอยู่ใต้ดินของกองกำลังเวียดกงที่ต่อต้านกองทัพอเมริกันสมัยสงครามเวียดนาม ผู้เขียนรู้สึกมหัศจรรย์กับความบากบั่นของจรยุทธ์ทั้งหลายที่สามารถขุดอุโมงค์ใต้ดินความยาวรวม 200 กิโลเมตร แถมภายในยังแบ่งเป็นห้องหับต่าง ๆ รวมทั้งมีทางหนีภัยที่เล็กและคดเคี้ยว การใช้ชีวิตอยู่ใต้ดินด้วยความอดทน และยากลำบาก ทำครัวก็ต้องไม่ให้มีควัน อากาศจะหายใจก็มีจำกัด แต่จรยุทธ์ทุกคนพร้อมที่จะร่วมใจต่อสู้ไปด้วยกัน

การจัดแสดงใน กู๋จี ส่วนที่ทำให้ผู้เขียนสะดุดใจ คือ บรรดาหลุมขวาก และกับดักรูปแบบต่าง ๆ ที่จรยุทธ์ทำไว้เพื่อต่อสู้กับทหารอเมริกัน หลุมที่ตกลงไปแล้วมีไม้แหลม ๆ ปักอยู่ หลุมแบบมีเหล็กเสียบทะลุสีข้าง บางหลุมเสียบสี่ทิศ แถมบนหัวด้วย รวมถึงกับดักแบบที่ติดไว้ที่ประตู หน้าต่าง ซึ่งแม้จะไม่ชื่นชมทหารอเมริกันมากนัก แต่หากเห็นสภาพที่พวกเขาจบชีวิตลงด้วยสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกเสียใจ

สงครามจึงมิใช่ความโหดร้ายที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกระทำได้แต่เพียงฝ่ายเดียว หากแต่ยังทำให้สามัญสำนึกในฐานะคนคนหนึ่งลดค่าลงไป จนสามารถทำลายล้างชีวิตของคนที่เรียกว่าฝ่ายตรงข้ามได้ คำสอนสำคัญประการหนึ่งที่คนรุ่นก่อนส่งผ่านมายังลูกหลานชาวเวียดนามในฐานะที่เป็นดินแดนแห่งหยดเลือดและหยาดน้ำตาจากสงคราม คือ การยกโทษและให้อภัยแก่ผู้กระทำการในสงคราม เพื่อสร้างสันติภาพที่แท้จริงให้เกิดขึ้น

----------------------------------------------------

จันทราภา จินดาทอง บันทึกเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2557 เพื่อกิจกรรมการเรียนรู้ CM01 คศน.4 ทบทวนเรื่องราวชีวิต พินิจความเป็นไปในสังคมโลก 21-29 มิถุนายน 2557

คำสำคัญ (Tags): #เวียดนาม#สงคราม
หมายเลขบันทึก: 573209เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2014 10:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2014 10:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท