​ปารีสชายรูปงามใจยักษ์ กับทศกัณฐ์


ปารีสชายรูปงามใจยักษ์ กับทศกัณฐ์

โดย ดร.วรเดช มีแสงรุทรกุล (เขียนไว้ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน ค.ศ. 2014)


ปารีส (Paris) เป็นโอรสของท้าวเพรียม ซึ่งท้าวเพรียมได้วิวาห์กับนางเฮกคิวบา (Hecuba) มีโอรส-ธิดารวมทั้งสิ้น 19 องค์

เมื่อครั้งปารีสจะเกิดนั้น มีคำทำนายว่าปารีสจะทำให้กรุงทรอยถึงแก่ความหายนะ จึงถูกสั่งให้ทาสคนหนึ่งเอาไปฆ่าทิ้งเสีย แต่ทาสผู้นั้นกลับเอาโอรสไปทิ้งแทน และคนเลี้ยงแกะก็เก็บเอาปารีสไปเลี้ยงดู ต่อมาเมื่อปารีสเติบโต ก็ได้อยู่กินกับนางอัปสรชื่อ อีโนนี (Oenone) มีบุตรชายคนหนึ่งชื่อ กอริทัส (Corythus) ความสงบสุขดำรงอยู่ได้ระยะหนึ่ง จนกระทั่ง

ในงานวิวาห์ของท้าวพีลูสกับนางอัปสรธีทิส ทั้งคู่เชิญเทพทุกองค์มาร่วมงาน แต่กลับไม่เชิญ อีริส (Eris) เทวีแห่งความแตกร้าว นางจึงส่งผลแอปเปิลแห่งความแตกร้าวเข้ามาในงาน แอปเปิลผลนั้นสลักว่า?แด่ผู้ที่งามที่สุด? เทวีทุกองค์ต่างก็ปรารถนาจะเป็นผู้ที่งามที่สุด แต่ไม่มีใครกล้าแย่งชิงแอปเปิ้ลนั้นกับเทวีที่ยิ่งใหญ่ 3 องค์ คือ เทวีอาเทน่า เทวีเฮรา และเทวีวีนัส ซึ่งทั้ง 3 องค์ต่างก็ไม่มีใครยอมกัน จึงขอร้องให้ซีอุสเป็นผู้ตัดสิน แต่ซีอุสก็ไม่กล้าตัดสิน เพราะอาเทน่าเป็นลูกสาวคนโปรด เฮร่าก็เป็นชายาที่น่ากลัวเกรง ส่วนวีนัสแม้จะเป็นเพียงลูกสะใภ้ แต่ก็เป็นมารดาของอีรอส (อีกชื่อของกามเทพ) หากไม่พอใจนางอาจใช้ให้อีรอสมากลั่นแกล้งพระองค์ได้ (ฮาเดสโดนมาแล้ว)

ซีอุสโยนกลองให้ปารีสตัดสิน เทวีทั้ง 3 ต่างก็ติดสินบนปารีส อาเทน่าจะให้ปารีสมีสติปัญญาอันเป็นเลิศเฮราจะให้พลังอำนาจเหนือข้าศึกทั้งปวง และวีนัส จะให้หญิงที่งามที่สุดในโลก ทายสิครับ ว่าใครชนะ... วีนัสครับ

ต่อมาปารีสได้ยินกิตติศัพท์ความงามของนางเฮเลนก็เกิดหลงใหล และนึกถึงคำมั่นสัญญาที่เทวีวีนัสให้ไว้แก่เขา ปารีสจึงคิดจะเดินทางไปกรุงทรอยเพื่อที่จะหาทางเข้าสู่เมืองสปาร์ตาที่นางเฮเลนอยู่ นางอัปสรอีโนนีนั้นรู้ความคิดของสามีดี จึงห้ามปรามและทำนายว่าหากปารีสทำเช่นนั้น ความหายนะจะเกิดแก่บ้านเมืองและตัวปารีสเอง ปารีสจะบาดเจ็บกลับมาขอร้องให้นางรักษา ซึ่งนางจะไม่ช่วย

การห้ามปรามไม่เป็นผล กอริทัสผู้เป็นลูกที่เข้าไปช่วยขัดขวางก็ถูกปารีสฆ่าตาย แล้วปารีสก็ทอดทิ้งนางออกเดินทางเข้าสู่ทรอย นางคาสซันดรา (Cassandra) พี่สาวคนหนึ่งของปารีส เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมในวิหารของเทพเจ้า นางมีความรู้ในด้านการดูลักษณะคน เมื่อเห็นปารีส นางก็รู้สึกผิดสังเกต จึงซักถามถึงความเป็นมา ก็รู้ว่าปารีสเป็นโอรสอีกองค์หนึ่งของท้าวเพรียม ท้าวเพรียมก็จัดงานเฉลิมฉลองต้อนรับปารีสกลับ โดยลืมไปสิ้นว่าที่ได้สั่งให้ฆ่าปารีสเมื่อครั้งยังเด็กนั้น เพราะอะไร

ต่อมาท้าวเพรียมให้ปารีสคุมกองเรือไปรับน้าสาวของตนที่ถูกจับเป็นเชลยคือนางฮีไซโอนีกลับ (หลังจากจ่ายค่าไถ่ตัว) ปารีสก็ถือโอกาสแวะเมืองสปาร์ตาแล้วลักพาตัวนางเฮเลนมายังทรอย เจ้าเมืองกรีกแทบทั้งหมดที่ติดคำสาบานเมื่อครั้งที่นางเฮเลนเลือกคู่ก็จึงยกกองทัพมาช่วยเพื่อชิงนางคืน

มีคำทำนายอีกอย่างหนึ่งว่ากรุงทรอยจะไม่มีวันแตกตราบเท่าที่ผู้รุกรานยังไม่มีธนู และลูกศรอาบพิษเลือดไฮดราของเฮอร์คิวลิส และฟีล็อกทีทิส (Philoctetes) ผู้ได้รับมรดกคันธนูและลูกศรจากเฮอร์คิวลิสก็มากับกองทัพนี้ด้วย แต่กลับถูกทอดทิ้งเสียกลางทาง เพราะในขณะที่แวะพักที่เกาะเลมนอสนั้นฟีล็อกทีทิสได้ถูกงูกัด แม้จะไม่ตายแต่บาดแผลก็อักเสบเน่าเหม็นมากเสียจนคนอื่นๆทนไม่ไหว จึงทิ้งฟีล็อกทีทิสไว้ที่เกาะแห่งนั้น

การต่อสู้ยืดเยื้อจนกระทั่งฝ่ายกรีกล่วงรู้ถึงคำทำนายข้อหนึ่งของกรุงทรอย เรื่องธนูพิษไฮดราของเฮอร์คิวลิส จึงส่งคนกลับไปตามหาฟิล็อกทีทิสที่ถูกทิ้งไว้มาร่วมรบด้วย ฟิล็อกทีทิสยิงธนูถูกปารีส ทำให้ปารีสต้องกลับไปหานางอัปสรอีโนนีภรรยาเก่าซึ่งมีความสามารถในการแก้พิษ เพื่อให้นางรักษา แต่นางไม่ช่วยและเฝ้าดูปารีสจนถึงแก่ความตาย แล้วนางก็ฆ่าตัวตายตาม

ถ้าเทียบกับทศกัณฐ์ ก็คือปารีส นางมณโฑคือนางอัปสรอีโนนี ภรรยาเก่าปารีส (รามายณะฉบับทองถิ่นของโอริสสา และมนฑุกศัพทัมของอันธประเทศ บอกว่านางมณโฑ เป็นนางอัปสรชื่อมธุมาก่อนแต่โดนสาป ให้เป็นกบ เมื่อพ้นสาปได้กลายเป็นชายาทศกัณฐ์) ซึ่งคอยห้ามทศกัณฐ์เรื่องนางสีดา แต่ทศกัณฐ์ไม่ฟัง และรามายณะบางฉบับในอินเดียบอกว่าหลังทศกัณฐ์ตายนางมณโฑไม่ได้เป็นชายาพิเภก แต่ทำพิธีสตี (กระโดดเข้ากองไฟตายตามสามี)

กอริทัส บุตรของปารีสพ่อใจยักษ์ ตายเพราะถูกพ่อตนฆ่า ก็ไม่ต่างกับอินทรชิตที่ต้องตายเพราะความมักมากในกามของทศกัณฐ์

ธนู และลูกศรอาบพิษเลือดไฮดราของเฮอร์คิวลิส เปรียบได้กับกล่องดวงใจทศกัณฐ์ และมนตร์วิเศษทีฤาษีอคัสตยะบอกให้พระรามอ่านพร้อมยิงศรฆ่าทศกัณฐ์ แล้วในขณะที่หนุมานทำลายกล่องดวงใจ จึงทำให้ทศกัณฐ์ตายได้

ด้วยความรักแล้ว นางอัปสรอีโนนี คงรักษาปารีสโดยไม่มีเงื่อนไข แต่ปารีสฆ่ากอริทัส ลูกรักของนาง นางอัปสรอีโนนี ในบทบาทของความเป็นแม่จึงไม่อาจอภัยให้ปารีสได้ แต่เมื่อปารีสตายนางจึงฆ่าตัวตายเพราะความรักที่มีต่อปารีส 



โฮเมอร์ มหากวีชาวกรีกแต่งเรื่องได้โหดน่าดู แต่ก็อาจจะเป็นเรื่องราวกิเลสและตัณหาอันหนีไม่พ้นของมนุษย์ที่มีมาแต่งสังคมกรีกโบราณโดยเฉพาะเรื่องชิงรักหักสวาทในสังคมชั้นสูงสมัยนั้น จึงทำให้เรื่องอีเลียดนี้เป็นมหากาพย์ของชาวโลกเคียงคู่กับรามายณะของอินเดียที่มีโครงเรื่องคล้ายคลึงกัน หรือส่งอิทธิพลถึงกันมากกว่า?

รูปล่างนางอัปสรอีโนนี กับปารีสสามีหนุ่มรูปงาม แต่ใจยักษ์

ที่มา http://www.geocities.ws/kyo_petrucci/etclegendtroy.html

หมายเลขบันทึก: 572884เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2014 18:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กรกฎาคม 2014 18:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท