รามายณะ ถึง รามเกียรติ์ ของไทย


คุณค่าทางการเมืองการปกครอง ๒ (สมัยรัตนโกสินทร์)


รายงานกลุ่ม ๒ ( วิชาแง่คิดและคุณค่าจากวรรณคดีไทย ภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๕๖)

บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ภาพสะท้อนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช 



รามเกียรติ์ เป็นวรรณคดีสำคัญเรื่องหนึ่งของไทย โดยมีต้นเค้าจากวรรณกรรมมุขปาฐะก่อนสมัยพุทธกาล ด้วยเหตุที่มีผู้ถามพุทธองค์ว่าการได้ฟังเรื่องรามายณะเป็นมงคลหรือไม่ และอื่นๆ ตามความเชื่อศาสนาพราหมณ์ในสมัยนั้น พุทธองค์จึงตรัสมงคลสูตร สามสิบแปดประการและเรื่องรามายณะอยู่ในชาดกเรื่องทศรถชาดก ซึ่งพระรามคือพระโพธิสัตว์ ในพระพุทธศาสนา ต่อมาในสมัย ๔๐๐-๕๐๐ ปีหลังพุทธกาลศาสนาพราหมณ์โบราณพัฒนาเป็นศาสนาฮินดู มีการแบ่งเทพเจ้าปรมาตมัน เป็นพระพรหม พระนารายณ์และพระศิวะ ที่เรียกว่าตรีมูรติ และพระรามได้กลายเป็นอวตารของพระนารายณ์ที่เรียกว่า รามาวตาร ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้มหาฤๅษีวาลมีกิชาวอินเดีย นำเรื่องรามายณะมาแต่งขึ้นเป็นภาษาสันสกฤตเรียกว่า มหากาพย์รามายณะหรือ วาลมีกิรามายณะ (หมายถึงรามายณะของฤาษีวาลมีกิ) ต่อมาจึงแพร่หลายมาสู่ขอม หรือเขมรโบราณเชื่อว่าน่าจะเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวไทยมาตั้งแต่สมัยนั้นเช่นกัน จากอิทธิพลของลัทธิพราหมณ์ฮินดู โดยแฝงไว้ซึ่งคติยกย่องพระมหากษัตริย์ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นอวตารของพระวิษณุ

สำหรับเรื่องรามเกียรติ์ ของไทยนั้น มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ทรงพระราชนิพนธ์สำหรับให้ละครหลวงเล่น ปัจจุบันมีอยู่ไม่ครบ ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๑ ได้ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเพื่อรวบรวมเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งมีมาแต่เดิมให้ครบถ้วน สมบูรณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ เพื่อให้ละครหลวงเล่น โดยได้ทรงเลือกมาเป็นตอน ๆ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ โดยใช้ฉบับของอินเดีย (รามายณะ) มาพระราชนิพนธ์ ใช้ชื่อว่า "บ่อเกิดรามเกียรติ์"

ก) จุดหมายแท้จริงในการแต่งเรื่องรามเกียรติ์ของ ร.๑
รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ (๒๕๕๒ )นำเสนอความคิดที่ว่า

วรรณคดีเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นการปรับวรรณคดีมุขปาฐะเป็นลายลักษณ์ที่สมบูรณ์เพราะต้นฉบับของบทละครเรื่องรามเกียรติ์ที่หลงเหลือมาจากสมัยอยุธยา นอกจากไม่ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ยังน่าจะเป็นตัวบทสำหรับการขับร้องเพื่อการแสดงมิใช่สำหรับอ่าน การรังสรรค์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรีอ้างว่าเพื่อ โดยอ้างบทสุดท้ายของเรื่องที่ว่า “ ริ ร่ำพร่ำประสงค์ สมโภช พระนา บูรณ์ บำเรอรมย์ให้ อ่านร้องรำเกษมฯ” ซึ่งมีที่มาจากเรื่องรามเกียรติ์ เล่มสุดท้ายหน้าสุดท้ายคือ

๐อันพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์
ทรงเพียรตามเรื่องนิยายไสย
ใช่จะเป็นแก่นสารสิ่งใด
ดั่งพระทัยสมโภชบูชา

ใครฟังอย่าได้ใหลหลง
จงปลงอนิจจังสังขาร์
ซึ่งอักษรกลอนกล่าวลำดับมา
โดยราชปรีชาก็บริบูรณ์

จบ...เรื่องราเมศมล้าง............อสุรพงศ์
บ.....พิตรธรรมิกทรง.............แต่งไว้
ริ......ร่ำพร่ำประสงค์..............สมโภช พระนา
บูรณ์..บำเรอรมย์ให้...............อ่านร้องรำเกษม

รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ (๒๕๕๒ ) กล่าวไว้พอสรุปได้ว่า

หมายความว่าเหตุที่ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องนี้ คือ

๑. เพื่อเฉลิมพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ตามราชประเพณี ที่ถือเอาความมั่นคงทางวัฒนธรรมเป็นความมั่นคงของแผ่นดิน
๒. เพื่อรวบรวมวรรณคดีอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมเของชาติไว้ไม่ให้สูญ
๓. เพื่อสร้างวรรณคดีสำหรับ “อ่านร้องรำเกษม” คือ ใช้เป็นมหรสพบันเทิงแก่ประชาชน

ข) รามเกียรติ์ของ ร.๑ กับความหมายทางการเมือง

วรรณกรรมในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีผู้ศึกษาวิจัยไว้ซึ่งส่วนใหญ่ได้ตั้งข้อสังเกตและสรุปไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงใช้วรรณกรรมในสมัยของพระองค์เป็นเครื่องมือหรือสื่ออย่างหนึ่งในการจัดระเบียบทางสังคม และส่งเสริมความมั่นคงทางการปกครองภายในประเทศ ผู้วิจัยแต่ละท่านมีผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้

๑.เป็นวรรณกรรมที่ส่งเสริมความมั่นคงภายในประเท

บำรุง สุวรรณรัตน์ ( ๒๕๒๐)
เรื่องวิเคราะห์การใช้วรรณกรรมเพื่อส่งเสริมความมั่นคงภายในประเทศในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ผลการศึกษาสรุปได้ว่า วรรณกรรมในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้แก่ บทละครรามเกียรติ์ อุณรุท ดาหลัง สามก๊ก ราชาธิราช และกฎหมายตราสามดวง มีส่วนส่งเสริมความมั่นคงภายในประเทศในด้านการทหาร ด้านการปกครอง และด้านศาสนา

๒.ภาพสะท้อนอัตบุคคลทางการเมือง

มณีปิ่น พรหมสุทธิรักษ์ (๒๕๒๕)
เรื่องศึกษาบทละครเรื่องรามเกียรติ์พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
มณีปิ่น พรหมสุทธิรักษ์ ตั้งข้อสังเกตว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระราชประสงค์หรือพระราชคตินิยมบางประการของพระองค์แทรกหรือแฝงอยู่ในบทละครเรื่องรามเกียรติ์ กล่าวคือ ทรงโปรดให้ราษฎรยอมรับว่าพระองค์มีศักดิ์และสิทธ์สมบูรณ์ที่จะปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ รวมทั้งราชวงศ์หรือเชื้อสายของพระองค์บริสุทธิ์ และให้คนทั่วไปยอมรับและยกย่องพระราชอนุชาของพระองค์ว่าเป็นผู้รอบคอบ นอกจากนี้ยังสรุปด้วยว่า “ บทละครเรื่องรามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ ๑เป็นภาพสะท้อนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ”

๓.คุณค่าด้านการเมืองและหลักรัฐศาสตร์สมัยรัชกาลที่ ๑

สุรพงษ์ โสธนะเสถียร (๒๕๒๖)
เรื่องศึกษารามเกียรติ์ฉบับพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ ในประเด็นความหมายของรามเกียรติ์ในทางการเมือง


สุรพงษ์ โสธนะเสถียร ศึกษารามเกียรติ์ฉบับพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ ในประเด็นความหมายของรามเกียรติ์ในทางการเมืองโดยตีความหรือการแปลความทางการเมือง ถึงสาระและพฤติกรรมของตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ การเปรียบเทียบเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ การเปรียบเทียบรามายณะฉบับวาลมิกิ และรามเกียรติ์สำนวนท้องถิ่นของไทยทั่วทุกภาค และการเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ปัจจุบัน
จากการศึกษาพบว่า เนื้อหาเรื่องรามเกียรติ์ฉบับพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ มีความแนบแน่นกับรัฐศาสตร์ใน ๓ ฐานะ ได้แก่ 


๓.๑ฐานะที่เป็นทฤษฎี (ปรัชญา) กล่าวคือ รามเกียรติ์ฉบับพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ แฝงด้วยสังกัปทางการเมืองที่สามารถให้ความคาดหวังและใช้อธิบายสังคมการเมืองเช่นเดียวกับปรัชญาการเมืองทั่วไป


๓.๒ฐานะที่เป็นการปฏิวัติ กล่าวคือ รามเกียรติ์รวมความคิดจากวรรณคดีเล่มอื่นในสมัยรัชกาลที่ ๑ การชำระเรื่องรามเกียรติ์จึงสร้างความชอบธรรมต่อการปกครองได้เช่นเดียวกับการชำระพงศาวดาร 


๓.๓ฐานะสื่อทางการเมือง กล่าวคือ รามเกียรติ์เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการถ่ายทอดความคิดให้กับสังคม รวมทั้งอาจใช้เพื่อกล่อมเกลาสังคมทางการเมืองด้วย

๔.การปกครองในระบบสมบูรณาญาสิทธิราช

พัชรินทร์ อนันต์ศิริวัฒน์ (๒๕๔๕)
เรื่องภาพสะท้อนทางการเมืองจากวรรณกรรมไทยตั้งแต่สมัย สุโขทัยถึงสิ้นสุดการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช
ผลการศึกษาสรุปได้ว่าภาพสะท้อนทางการเมืองจากวรรณกรรมในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชไว้ว่า วรรณกรรมในสมัยนี้ เช่น บทละครเรื่องรามเกียรติ์ สามก๊ก ราชาธิราช และไซ่ฮั่น ต่างเป็นวรรณกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงวิธีการหนึ่งในการต่อสู้ทางการเมืองของชนชั้นปกครองในสมัยนั้น เพราะเนื้อหาและแนวคิดของบทละครเรื่องรามเกียรติ์ สามก๊ก ราชาธิราช และไซ่ฮั่น มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบอบการเมืองการปกครองโดยตรง สามารถใช้เป็นข้อคิดและแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตนต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งเชื้อพระวงศ์และข้าราชบริพารในราชสำนักควรทราบ เพื่อจะได้นำไปปรับปรุงพติกรรมของตนเองให้ถูกต้องตามพระราชประสงค์

๕.วิวัฒนาการการเมืองไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์

สมบัติ จันทรวงศ์ (๒๕๔๗)
เรื่อง วิวัฒนาการของอุดมการณ์ชาติไทย สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ผลการศึกษาสรุปได้ว่าวรรณกรรมเรื่องต่างๆ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เช่น บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ไตรถูมิโลกวินิจฉัยกถา สังคีติยวงศ์ เป็นต้น และพระราชกำหนดใหม่ข้อต่างๆ ที่บัญญัติขึ้นในสมัยนั้นล้วนแต่สะท้อนให้เห็นถึงนัยต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงกำหนดอุดมการณ์ของสังคมไทยให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพเหตุการณ์และความเป็นจริงทางสังคมและการเมืองในยุคเริ่มต้นของราชวงศ์ใหม่ และในวรรณกรรมเรื่องต่างๆ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นเครื่องมือหรือสื่ออย่างหนึ่งในการจัดระเบียบทางสังคม และส่งเสริมความมั่นคงทางการปกครองภายในประเทศ

สรุปที่รัชกาลที่หนึ่งทรงว่า

๐อันพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์
ทรงเพียรตามเรื่องนิยายไสย
ใช่จะเป็นแก่นสารสิ่งใด
ดั่งพระทัยสมโภชบูชา

นั้นเป็นการกล่าวขึ้นเพื่อเอาใจพุทธศาสนจักรในสมัยนั้นที่มีนัยยะต่ออิทธิพลทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด (เพราะที่เปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินจากพระเจ้ากรุงธนฯ มาเป็นรัชกาลที่ ๑ ประเด็นทางศาสนาในสมัยนั้นก็มีส่วนมากที่สุด เพราะที่พระเจ้ากรุงธนฯ ทรงสึกสมเด็จพระสังฆราชในสมัยนั้นเพียงเพราะทรงกริ้วที่พระสงฆ์ไม่เคารพต่อกษัตริย์เช่นในเมืองจีน ซึ่งต่อมาได้กลับมาเป็นสมเด็จพระสังฆราชในสมัย ร.๑ ก็เป็นประจักษ์หลักฐานว่า ศาสนามีอิทธิพลต่อการเมืองไทยด้วยอย่างยิ่งยวด) ทำให้รัชกาลที่ ๑ แม้ว่าจะทรงใช้เรื่องรามเกียรติ์เพื่อสถาปนาความเชื่อลัทธิเทวราช ก็ยังไม่กล้าประกาศออกตัวมาตรงๆ แม้ในเรื่องรามเกียรติ์ของไทยก็มีบางตอนที่เรียกพระรามว่า ดังเช่นพระโพธิสัตว์ รามเกียรติ์จึงเป็นวรรณคดีไทยที่สะท้อนภาพลักษณ์ของลัทธิการปกครองแบบเทวราชที่แอบแฝงอยู่ความเชื่อเรื่องการปกครองแบบธรรมราช ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

หมายเหตุ

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงทราบว่า สมเด็จพระสังฆราช วัดบางหว้าใหญ่ ไม่เห็นด้วยกับการกราบไหว้ฆราวาสผู้ทรงคุณธรรมสูงกว่าก็พิโรธ มีพระบรมราชโองการ "ถอด" สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ออกจากตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชลงเป็นพระอนุจร หมายถึงว่าเป็นพระธรรมดา ไม่มียศถาบรรดาศักดิ์ใดๆ และไม่มีตำแหน่งใดๆ ในวัดด้วย จากนั้นจึงโปรดสถาปนา"พระโพธิวงศ์ (ชื่น)" เจ้าอาวาสวัดหงส์ ขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช แถมยังทรงลงพระอาญาเอากับอดีตสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) และคณะ โดยทรงโปรดให้นำตัวไปลงโทษที่วัดหงส์ โดย ๒วิธี คือ

๑.โบยหลังรูปละ ๕๐๐ที

๒.ขนอาจม (ขี้) ของพระสงฆ์วัดหงส์

ท่านประมาณว่าพระสงฆ์ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยในการกราบไหว้นั้นมีถึง ๕๐๐รูป ญาติโยมผู้เห็นใจในชะตากรรมต่างก็ร้องไห้ระงมเมือง บ้างถึงกับขออาสาเอาหลังรับไม้เรียวและขนอาจมแทนท่านก็มี

ส่วนที่ได้ดีนั้น นอกจากพระโพธิวงศ์แล้ว พระพุทธโฆษาจารย์ วัดระฆังโฆสิตาราม พระลูกวัดของสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ซึ่งหักหลังเจ้าอาวาสของตนเองนั้น ได้เลื่อนชั้นเป็น "สมเด็จพระวันรัต"

และประวัติศาสตร์ก็ระบุว่า นี่เป็นเหตุแห่งการตั้งข้อกล่าวหาต่อสมเด็จพระเจ้าตากสิน มหาบุรุษผู้กู้ชาติไทยว่า "ทรงมีพระสัญญาวิปลาศ"

และต่อมาก็ถูกสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกพิลึกมหึมา (เจ้าพระยาจักรี-ทองด้วง) และเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) สองพี่น้องทำการยึดอำนาจ ตั้งราชวงศ์จักรีขึ้นมาในปี พ.ศ.๒๓๒๕

เมื่อเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็น "พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก" ในวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕ แล้ว ก็ทรงโปรดให้ "ถอดยศ" สมเด็จพระสังฆราช (ชื่น) วัดหงส์ ลงเป็น พระธรรมธีรราชมหามุนี ทั้งนี้ทรงมีพระปรารภว่า "มีความรู้มาก เสียดายแต่ว่ามีสันดานสอพลอ" จากนั้นก็โปรดสถาปนาพระอาจารย์ศรี วัดระฆังโฆสิตาราม ขึ้นดำรงสมณฐานันดรศักดิ์ที่ "สมเด็จพระสังฆราช" อีกคำรบหนึ่ง จึงเป็นว่า พระสังฆราช (ศรี) วัดระฆัง ได้เป็นสังฆราชสองหน

พระพุทธาจารย์และพระพิมลธรรมนั้น ก็ทรงโปรดให้คืนครองสมณศักดิ์และตำแหน่งดังเดิมและโปรดให้กลับครองวัดเก่าที่เคยสถิต ทั้งยังทรงโปรดให้รื้อตำหนักของสมเด็จพระเจ้าตากสินไปสร้างเป็นกุฎิที่ประทับถวายสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ไว้ที่วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม) อีกด้วย โดยนัยยะว่าเป็นการขอขมาต่อสมเด็จพระสังฆราชศรีที่พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงลงโทษอย่างโหดร้าย

คณะสงฆ์ไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายนั้น แบ่งออกเป็น ๓ คณะนิกาย ได้แก่

คณะเหนือ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า คณะคามวาสีฝ่ายซ้าย มีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นเจ้าคณะ

คณะใต้ (คณะคามวาสีฝ่ายขวา) มีสมเด็จพระพุทธาจารย์ เป็นเจ้าคณะ

คณะอรัญวาสี (ต่อมาได้เป็นคณะกลาง) มีสมเด็จพระวันรัต เป็นเจ้าคณะ

ในสมัยโบราณสมเด็จพระสังฆราชนั้นจะมาจาก ๒ ตำแหน่งหลัก คือ

ก) สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นสมณศักดิ์เอกอุของพระสงฆ์ผู้คงแก่เรียนพระปริยัติธรรม หมายถึงว่าเก่งภาษาบาลี
ข) สมเด็จพระวันรัต ซึ่งชำนาญในทางวิปัสสนากรรมฐาน

พระสงฆ์ไทยสมัยโบราณที่จะได้ขึ้นครองตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชต้องมาจาก ๒ ตำแหน่งนี้เท่านั้น หมายถึงว่าถ้าพระภิกษุรูปใดได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดฯสถาปนาขึ้นเป็น "สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์" และหรือ "สมเด็จพระวันรัต" แล้ว ก็หมายถึงว่าต่อมาอาจจะได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชด้วยในอนาคต แต่ก็แล้วแต่ว่าพระเจ้าแผ่นดินจะทรงโปรดพระรูปใด (พระมหานรินทร์,๒๕๕๖:ออนไลน์)

หมายเลขบันทึก: 572883เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2014 18:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กรกฎาคม 2014 18:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท