ผู้ดูแลกับการรับมือด้านความสัมพันธ์ในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย (ฉบับแก้ไขปรับปรุง)


ผู้ดูแลกับการรับมือด้านความสัมพันธ์ในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย

โดย : นักสังคมสงเคราะห์ กุลนิษฐ์ ดำรงค์สกุล

ผู้ป่วยระยะสุดท้ายคืออะไร...

ภาควิชาการพยาบาลรากฐาน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ความหมายของผู้ป่วยระยะสุดท้าย ไว้ 3 ข้อ ได้แก่

1. ผู้ป่วยระยะสุดท้ายหมายถึง ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ได้รับการวินิจฉัยการเจ็บป่วยถึงขั้นสูญเสียชีวิต ภายใต้การรักษาด้วยยา การดูแลอย่างใกล้ชิด และพยากรณ์โรคว่าสามารถมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 6 เดือน หรือน้อยกว่า

2. ผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือผู้ที่หมดหวังหมายถึง ผู้ป่วยที่แพทย์ให้การวินิจฉัยว่า เป็นโรคที่ไม่สามารถจะรักษาให้หายได้ และไม่มีโอกาสที่จะใช้เวลาที่เหลือในชีวิตของตนให้เป็นประโยชน์แก่ตนเอง และผู้อื่นได้อีก

3. ผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรือผู้ป่วยใกล้ตายหมายถึง ผู้ป่วยที่หมดหวังจะหายจากโรค เป็นความเจ็บป่วยที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยวิธีการใดๆ อาการจะทรุดลงเรื่อยๆ และเสียชีวิตในที่สุด เช่น ผู้ป่วยสมองเสื่อมระยะสุดท้าย ภาวะหัวใจล้มเหลว มะเร็งระยะสุดท้าย เป็นต้น

(http://www.elearning.ns.mahidol.ac.th/Patients-wit... สืบค้นเมื่อวันที่ 16 ก.ค.2557)

จากคำว่า “อาการทรุดลงเรื่อยๆ” แสดงให้เห็นภาพอาการของโรคที่แย่ลงเรื่อยๆ จนกระทั่งเสียชีวิต มีหมายความอีกนัยหนึ่งคือ คนไข้จะค่อยๆช่วยเหลือตนเองได้น้อยลงเรื่อยๆจนกระทั่งตาย

ส่วนคำว่า “ไม่สามารถจะรักษาให้หายได้.. เจ็บป่วยถึงขั้นเสียชีวิต และอยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือน” สื่อให้เห็นถึงแนวทางการรักษาที่ไม่ได้เน้นการหายจากโรค แน่นอนว่าในเมื่อสังขารยังอยู่ แพทย์และผู้เกี่ยวข้องคงต้องให้การรักษาพยาบาลต่อไป แม้ว่าจะรักษาให้หายขาดไม่ได้ก็ตาม การให้การดูแลรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายจึงออกมาในรูปแบบของการให้การดูแลแบบประคับประคอง คือ ให้การรักษาตามอาการเพื่อลดความทุกข์ทรมานและอาการไม่สุขสบายของผู้ป่วย นั้นเอง

การดูแลแบบประคับประคองนี้ นอกจากทีมรักษาแล้ว ครอบครัวและผู้ดูแล จึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการให้การดูแลแบบประคับประคองกับผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยเฉพาะในบริบทสังคมไทย ผู้ดูแลส่วนมาก มักจะเป็นญาติสนิท และครอบครัวของผู้ป่วย ที่มักจะมีความผูกพันกับผู้ป่วย จนไม่สามารถทำใจรับกับปลายทางในระยะท้าย ซึ่งหมายถึงความตายของผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ ผู้ดูแลจึงมักจะมีความคาดหวังว่าผู้ป่วยจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ด้วยการบังคับ ขอร้องหรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อบำรุงบำเรอร่างกายของผู้ป่วย และพยายามอย่างยิ่งที่จะให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัวได้ครบถ้วนตามแผนการรักษาของแพทย์เจ้าของไข้ทุกประการ

อย่างไรก็ตาม ความเสื่อมลงของสังขารที่เกิดจากตัวโรค ทำให้ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดไม่สามารถตอบสนองความหวังดีของผู้ดูแลได้ ทำให้ผู้ดูแลเหล่านี้เกิดความผิดหวังในตัวผู้ป่วย นำไปสู่ปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งสองกลุ่มนี้อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ซึ่งปัญหาความสัมพันธ์ที่ว่านี้ส่งผลโดยตรงต่อความเครียด ความวิตกกังวล เกิดความกระทบกระเทือนต่อจิตใจของผู้ป่วย นำไปสู่อาการซึมเศร้า ทำให้ขาดกำลังใจในการรักษาอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายจึงทำให้การรักษาทางกายไม่ได้ผลอีกต่อไป เพราะปัจจัยทางจิตใจมีผลต่อผู้ป่วยมะเร็ง เช่น ความรู้สึกสิ้นหวัง หรือ อารมณ์เชิงลบที่ถูกเก็บกดไว้ ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับการขยายขนาดและแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง (พ.ญ.กฤตชญา ฤทธิ์ฤาชัย, http://www.cccthai.org/13.html)

นักสังคมสงเคราะห์ จึงมีคำแนะนำสำหรับผู้ดูแล และครอบครัวของผุ้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ที่กำลังประสบปัญหาที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น ดังนี้

1. ให้ผู้ดูแลพึงระลึกอยู่เสมอว่า แม้ผู้ป่วยจะเป็นคนที่เรารัก แต่ผู้ป่วยก็มีชีวิตเป็นของตนเอง ผู้ดูแลไม่ควรนำตัวเองไปเปรียบเทียบกับผู้ป่วยว่าถ้าเป็นเรา เราจะทำอย่างนั้น ถ้าเป็นเรา เราจะทำอย่างนี้

- ยกตัวอย่างปัญหาที่พบบ่อยที่สุดคือ เรื่องการประทานอาหาร ผู้ดูแลส่วนใหญ่มักจะพยายามให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่ดีที่สุด(ตามความคิดของผู้ดูแล) และให้ได้ปริมาณมากที่สุด แต่ด้วยตัวโรค ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถบริโภคอาหารได้ทีละมากๆ หรือมีภาวะเบื่ออาหาร ผลก็คือผู้ดูแลมักจะโมโหและน้อยใจที่หาของดีมาให้ แต่ผู้ป่วยไม่ยอมรับประทาน ส่วนผู้ป่วยก็อึดอัด แน่นท้อง เพราะต้องรับประทานอาหารมากเกินไป ทั้งที่ร่างกายรับไม่ไหว ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานมากขึ้น ทำให้เกิดการกระทบกระทั่ง พูดจาเหน็บแนมซึ่งกันและกัน ส่งผลให้ไม่สบายใจกันทั้งสองฝ่าย

2. จากตัวอย่างในข้อ 1. ผู้ดูแลจึงพึงระลึกอยู่เสมอว่า ผู้ป่วยระยะนี้มีพยาธิสภาพไม่เหมือนคนปกติ ดังนั้น การรับประทานอาหารก็ดี การขับถ่ายก็ดี หรือการเคลื่อนไหวร่างกายก็ดี ย่อมไม่เป็นไปตามปกติอย่างแน่นอน ดังนั้น เมื่อผู้ป่วยไม่สามารถปฏิบัติตัวได้ตามที่แพทย์สั่ง คำแนะนำก็คือ ให้ผู้ดูแลหยุดกิจกรรมดังกล่าวไว้ก่อน แล้วใช้วิธีต่อรองกับผู้ป่วย โดยการยืดเวลาออกไปอีกประมาณ 5-15 นาที แต่ไม่ให้เกิน 30 นาที เพราะจะทำให้การรับยาและกิจวัตรเพื่อการดูแลผู้ป่วย เกิดความคลาดเคลื่อนมากเกินไป

- ยกตัวอย่างในกรณีที่ผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องทำกายภาพบำบัดตามแพทย์สั่ง แต่ผู้ป่วยปฏิเสธ (ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม) ให้ผู้ดูแลทำการต่อรองกับผู้ป่วย โดยแบ่งเวลาออกเป็นช่วงๆ เริ่มต้นจากมากไปน้อย เช่น รออีก 10 นาที ค่อยเริ่มทำกายภาพ ฯ เมื่อครบกำหนด 10 นาทีแล้ว ให้เริ่มทำใหม่อีกครั้ง แต่หากผู้ป่วยยังไม่พร้อม ให้ต่อเวลาได้อีก 5 นาที แล้วค่อยให้ผู้ป่วยเริ่มทำกิจกรรมกายภาพ

3. ผู้ดูแล ควรให้รางวัลแก่ผู้ป่วยทุกครั้งที่ผู้ป่วยปฏิบัติได้ตามที่กำหนด เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกดี และมีภาพของรางวัลทุกครั้งที่จะทำกิจกรรมหรือกิจวัตรที่ผู้ดูแลจัดให้ เมื่อมีภาพที่ดี ก็จะรู้สึกอยากทำกิจกรรมดังกล่าว รางวัลที่จะมอบให้ผู้ป่วย ขึ้นอยู่กับอุปนิสัยส่วนตัวของผู้ป่วยและผู้ดูแล สามารถให้ได้ตั้งแต่ ขนมหวาน อาหารเผ็ด (ถ้าหมอไม่ห้าม) เรื่อยไปจนถึง คำชม และการกอด

4. ผู้ป่วยระยะสุดท้ายไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างเคย บางคนมีอาชีพ ฐานะ หน้าที่การงาน และตำแหน่งงานในระดับสูง การป่วยทำให้ผู้ป่วยสูญเสียสถานภาพและรู้สึกหมดอำนาจ ทำให้หงุดหงิด อารมณ์เสีย น้อยใจในโชคชะตา และมักจะใช้อารมณ์กับผู้ดูแลเสมอ เพราะเป็นคนที่อยู่ด้วยกันตลอดเวลา ส่งผลให้ผู้ดูแลรู้สึกหงุดหงิดตามไปด้วย เมื่อใดก็ตามที่ผู้ดูแลต้องพบกับการแสดงอารมณ์ทางลบของผู้ป่วย ให้ผู้ดูแลปฏิบัติ ดังนี้

4.1 ค่อยๆ หันหน้าออกจากผู้ป่วยช้าๆ โดยไม่ให้เป็นที่สังเกต

4.2 ทอดสายตามองไปไกลๆ มองไปยังจุดที่ไม่มีผู้ป่วยในลานสายตา

4.3 ค่อยๆ สูดลมหายใจเข้าลึกๆ แล้วผ่อนลมหายใจออกยาวๆ

4.4 นับ 1-10 ผู้ดูแลจะรู้สึกดีขึ้น หากยังไม่ดีขึ้นให้นับต่อไปเรื่อยๆ

4.5 พึงตระหนักว่า ผู้ดูแลต้องไม่ตอบโต้ผู้ป่วยด้วยความรุนแรงทั้งทางกาย วาจา จิตใจ และต้องไม่ทำการเมินเฉยต่อผู้ป่วย เพราะจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลง ท้ายที่สุดผู้ดูแลจะต้องทำงานหนักขึ้น

5. ในครอบครัวควรจัดหาผู้ดูแลสลับกัน อย่าให้ผู้ใดผู้หนึ่งต้องอยู่โยงดูแลผู้ป่วยตลอดทั้งวันทั้งคืนอยู่คนเดียว เพราะจะทำให้เกิดความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจได้

6. เมื่อผู้ดูแลมีเวลาว่างจากการดูแลผู้ป่วย ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้มีความพร้อมที่จะรับมือกับการดูแลผู้ป่วยต่อไป

ที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนั้น เป็นแนวปฏิบัติเบื้องต้นในเชิงสังคมสงเคราะห์การแพทย์ เพื่อลดปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและผู้ดูแล อันถือเป็นปัญหาทางสังคมโดยตรงที่ต้องได้รับการแก้ไขทันทีที่พบปัญหา วิธีการดังกล่าวเน้นที่ตัวผู้ดูแลเป็นหลัก เพราะถือว่ามีความพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจมากกว่าผู้ป่วย



หมายเลขบันทึก: 572648เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2014 12:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ธันวาคม 2016 10:48 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท