เมื่อฉันเป็นรูมาตอยส์ ตอนที่ 2


สรุปขอลำดับเหตุการณ์นับแต่พบว่าเป็นโรครูมาตอยส์ตั้งแต่ปี 2543 ดังนี้

ปี 2543 พบอาการของโรคเริ่มเข้ารับการรักษา (หมอนัดอาทิตย์ละครั้ง)

ปี 2544 พบว่าโรคเริ่มกำเริบมากขึ้นได้เข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง (หมอนัดเดือนละ 2 ครั้ง)

ปี 2545 อาการเริ่มดีขึ้น พยายามหาเหตุด้วยตนเองอาจเป็นเพราะ ปี 2544 มีอาการเครียดมากๆในหลายๆเรื่องโดยเฉพาะเรื่องเงินเมื่อมีเงินมีค่าใช้จ่ายเพียงพอคลายความทุกข์ความเครียดก็น้อยลงไประดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่เสมอไปเพราะเวลามีอาการปวดให้เอาเงินมากองอยู่ตรงหน้าเป็นล้านก็ไม่สามารถทำให้เราหายปวดได้ สรุปว่าความเครียดเป็นเหตุให้ร่างกายเกิดอาการแปรปรวนโรคที่เป็นอยู่แล้วก็เหมือนจะเป็นมากขึ้น โรคที่ไม่เคยเป็นก็คิดว่าเป็นกลายเป็นคนวิตกจริต เมื่อคิดได้เช่นนั้นจึงหาวิธีขจัดความเครียด โดยใช้สื่อสารทาง network กับเพื่อนๆและบางครั้งเพื่อนก็ออกมารับไปสังสรรค์ข้างนอก(เป็นคนพิการในกลุ่ม) ในที่สุดจึงได้งานเพื่อนมาทำที่บ้าน เมื่อไม่เครียดทำให้จิตใจดีอารมณ์แจ่มใส ความเจ็บปวดก็ทุเลาได้ (หมอนัด เดือน ละ ครั้ง และลดจำนวนมาเป็นเดือนเว้นเดือน)

ปี 2546 - 2553 อาการดีขึ้นตามลำดับ จนหมอนัดเป็น สามเดือนครั้ง และลดปริมาณยาทานลง ระหว่างปีนี้ อาจารย์หมอท่านหนึ่งซึ่งเป็นหมอในแผนกโรคไขข้อแต่ไม่เคยรักษาเรามาก่อน เธอกำลังทำวิจัยเรื่องโรคไขข้อ และสนใจการรักษาดูแลตนเองของเรา และขอให้เราเป็น Case study ในงานวิจัยของเธอ จึงได้ตอบรับเพราะถือว่าเป็นวิทยาทาน ก็เป็นการตอบคำสอบถามและมีการตรวจวินิจฉัยติดตามสภาวะของโรค จนจบสิ้นภายใน สองปี เป็นโอกาสดีที่ทำให้ได้ประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับโรคนี้พอสมควร

ปี 2554 – ปัจจุบัน อาการเกือบเป็นปกติ หมอนัด 6 เดือนครั้ง งดยาทุกชนิด นอกจากไวตามินตามอายุผู้ป่วย และหมอก็ไม่ได้แจ้งว่าหายขาด เพียงแต่บอกว่าอาการสงบ ซึ่งเราก็คิดเอาเองว่ามันพร้อมจะกลับมาทุกเมื่อ ดังนั้นเราควรจะดูแลตนเองเพื่อไม่ให้เขากลับมาอีก

การดูแลรักษาตนเอง คือ 1. ต้องพบหมอตามนัดทุกครั้ง 2. ควรรักษาวินัยในการดูแลตนเอง เช่น การรับประทานอาหาร จากการหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้ (หมอไม่ได้ห้าม)ทำให้รู้ว่า การรับประทานอาหารเป็นสิ่งสำคัญ คือ โรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากกรดยูริคไปกัดตามข้อต่างๆของร่างกายจึงทำให้ปวด ตามภาษาเราๆที่ไม่ใช่หมอคิดจากความจริงก็คือเมื่อข้อถูกกรดกัดข้อทำให้ข้อเสื่อมจึงเกิดการปวดเมื่อไม่รักษาข้อก็จะผิดรูปไป ดังนั้นเราก็ต้องหาข้อมูลว่าพืชผักชนิดใดที่มีกรดยูริคสูง (เช่น ยอดผักต่างๆ ชะอม, หน่อไม้ แม้แต่สัตว์ปีก เป็นต้น) ควรหลีกเลี่ยง ก็เป็นตัวช่วยที่ทำให้อาการลดลงไปทีเดียว 3. พยายามคิดบวกไว้เสมอ ไม่เครียด มีสติ คิดแต่ว่าเมื่ออะไรมันจะเกิดก็ต้องเกิด ดังที่ว่าสติมาปัญญาเกิด คำๆนี้เมื่อก่อนเราไม่คิดว่าจะจริง แต่ได้สังเกตจากตัวเองทุกครั้งที่มีปัญหา เมื่อพยายามคิดๆหาทางแก้ๆเท่าไรก็ไม่สามารถทำได้ แต่เมื่อเรารู้สึกสงบคือไม่รู้จะไปทางไหนแล้วก็อยู่เฉยๆคิดว่าช่างมันอะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด แต่แล้วก็จริงไม่นานก็เห็นแสงสว่าง เราคิดเข้าข้างตัวเองอยู่เสมอและพยายามคิดย้อนหลังอยู่ตลอด (เมื่ออยู่คนเดียวและว่าง)ว่า เราไปทำอะไรไม่ดีไว้ที่ไหนบ้างเราจะได้คิดว่าเป็นเหตุจากตรงนั้น แต่เมื่อคิดว่าไม่มีจึงคิดว่าคงเป็นเมื่อชาติปางก่อน อย่ากระนั้นเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ชาตินี้เราก็ควรทำความดีและบุญกุศลไว้ก่อนก็แล้วกัน ข้อคิดนี้ เราจะบอกลูกเสมอว่า ปีใหม่ทุกครั้งนอกจากจะมีการอวยพรกันตามประเพณีแล้ว เราจะให้ลูกทบทวนว่า ตั้งแต่มกราคม ถึง ธันวาคม ที่ผ่านมาเราได้ทำอะไรไว้ไม่ดีบ้าง ถ้าจำได้ก็ให้ตั้งปณิธานว่าปีต่อไปเราจะไม่ทำ อะไรที่เราทำดีไว้ก็ให้ทำดียิ่งขึ้นไป เราจะไม่ต่อสู้มีการแพ้ชนะกับคนอื่นแต่เราจะต่อสู้ให้ชนะตนเองให้ได้

หมายเลขบันทึก: 572215เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2014 16:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กรกฎาคม 2014 16:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท