เมื่อฉันเป็นรูมาตอยส์ ตอนที่ 1


เรื่องโรคภัยไข้เจ็บที่เรื้อรัง

ในปี พ.ศ 2543 หลังออกจากงานบริษัทต่างชาติทั้งๆที่ยังมีความจำเป็นในเรื่องค่าใช้จ่ายแต่เราไม่แคร์เงินเขาเลยเพราะทนไม่ได้ที่จะให้ต่างชาติมาดูถูกคนไทย เมื่อออกมาแล้วเกิดความเดือดร้อนเรื่องเศรษฐกิจในครอบครัว ในขณะที่ลูกคนโตทำงานที่ ร.พ.ศิริราช แต่ไม่ต้องการรบกวนลูกจึงตัดสินใจไปช่วยพี่ชายทำธุรกิจผ้าม่านที่อเมริกา 6 เดือน ตั้งใจว่าจะไปชาร์ตแบตเตอรี่และหาเงินในขณะเดียวกันด้วย ก็ไม่ผิดหวังได้ทั้งเงินและสติกลับมาพอสมควร แต่หารู้ไม่ว่าได้โรคแถมมาหนึ่งโรค นั่นก็คือ “โรครูมาตอยส์” อาการเกิดขึ้นหลังจากกลับจากอเมริกาได้ 2สัปดาห์ เกิดความรู้สึกปวดข้อมือและเท้ามาก ตนเองเข้าใจว่าอาจเป็นเพราะเพิ่งกลับมาจากเมืองที่มีอากาศเย็น 1 เดือนผ่านไปอาการไม่ดีขึ้น จึงได้หารือกับลูกซึ่งก็ได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ที่เป็นรุ่นพี่ของลูกให้ไปพบอาจารย์ผู้มีความชำนาญทางโรคไขข้อที่ร.พ.ศิริราช จึงพบว่าเป็นโรค”รูมาตอยส์” ซึ่งไม่คิดมาก่อนว่าจะเกิดกับตนเอง เพราะเคยได้ยินแต่คนพูดกันว่าเป็นเกาส์บ้าง รูมาตอยส์ บ้าง อ้อ! มันเป็นเช่นนี้นี่เอง รูมาตอยส์เป็นโรคที่ทรมานมากเวลาเกิดอาการปวดตามข้อต่างๆของร่างกาย แต่การปวดไม่ได้ปวดตลอดเวลา จะปวดเป็นช่วงๆ วันๆจะประมาณ 5-6 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งจะทุกข์ทรมานจริง อาการของโรคนี้คือหลังตื่นนอนเช้าจะมีอาการบวมที่มือทั้งสองไม่สามารถกำมือได้ และจะเริ่มปวด พอสายหน่อยก็จะหายไป ในช่วงปีแรกของการรักษา หมอจะ dose ยาให้ต่อเนื่องด้วยค่ายาที่เม็ดละ 100 กว่าบาท (หมดกันพอดีรายได้จากอเมริกา) เราเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องจนเข้าปีที่สอง อาการปวดจะน้อยลงประมาณ 10% จะคลายเมื่อได้กินยา แต่ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไรเมื่อไม่กินยาจะปวดและบวมมากจนไม่สามารถเดินได้เลยแม้กระทั่งจะช่วยตัวเองเมื่อเข้าห้องน้ำ ณ เวลานั้นได้แต่นอนอยู่บนโซฟา นอนเฉยๆทำอะไรไม่ได้แม้เห็นพื้นบ้านสกปรกก็ไม่สามารถไปทำความสะอาดได้ เงินก็หาไม่ได้มีแต่จะเสียเงิน สงสารสามีและลูกที่ต้องมาดูแลเราอีก เวลาอยู่คนเดียวขณะที่ลูกและสามี ไปทำงาน ทำให้เกิดความคิดฟุ้งซ่าน แต่ก็พยายามตั้งสติโดยการฟังธรรมะบ้าง อ่านหนังสือเพื่อฆ่าเวลาไปวันๆ ดูแต่นาฬิกานับเวลากลับของลูก เมื่อเห็นเขากลับมาก็รู้สึกจิตใจดีขึ้น นี่ละกำลังใจยิ่งกว่ายาขนานเอก อาการเช่นนี้จะเป็นเกือบสองเดือนซึ่งมีแต่ความทุกข์มากทุกข์ทั้งกายและจิตใจ พยายามช่วยตัวเองทั้งๆที่เวลาปวดมันแสนสาหัสจริงๆ คิดแต่ว่าจะสู้กับมันอย่างไร ผู้ใหญ่บางท่านก็แนะนำให้เจริญสติๆ ก็ได้แต่สติแตกเจริญไม่ออก ในขณะเดียวกัน พี่สาวที่ช่วยดูแลคุณแม่เป็นมะเร็งขั้นสุดท้าย เมื่อไปเยี่ยมพี่สาว เราเองเสมือนคนพิการเดินขากระเพลกๆด้วยความเจ็บปวด สุดท้ายเมื่อพี่สาวเสียชีวิต ด้วยความเศร้าจึงเกิดความเครียดตามมาอีกหลายๆเรื่อง นี่แหละหนอคนที่เขาตัดสินใจฆ่าตัวตาย มันเป็นเช่นนี้นี่เอง เราพยายามคุมสติคิดอยู่ตลอดว่าถ้าเราทำเช่นนั้น ใครจะดูแลคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวเพียงสองคนเท่านี้ ลูกคนเล็กก็ยังเรียนไม่จบถ้าเราเป็นอะไรไปเขาจะทำอย่างไรเช่นเดียวกับเราเมื่อวัยเด็กยังเคยคิดเลยว่าถ้าเราขาดแม่เราจะทำอย่างไร จึงฮึดกลับไปที่ตั้งต้นที่ใจเพราะนึกถึงคำพูดของคุณพ่อที่พูดอยู่เสมอว่าใจคนเรานี่เป็นใหญ่ เป็นประธานของชีวิต ต้องสู้อย่างเดียวเท่านั้นที่จะชนะสิ่งอื่นใดทั้งปวง

ในที่สุดโชคยังเข้าข้าง เมื่อเพื่อนสิงคโปร์มาเยี่ยมรู้ถึงความจำเป็นของเรา จึงส่งงานที่สามารถทำที่บ้านได้โดยประสานงานให้กับบริษัทสิงคโปร์ที่ต้องการทำธุรกิจในประเทศ (ในเวลานั้นชาวสิงคโปร์กำลังบูมมาตั้งบริษัทในเมืองไทยมาก) ในขณะเดียวกันบริษัทที่เรา walkout ออกมาก่อนหน้านั้นก็ยังตามกลับไปทำอีก แต่เราไม่สามารถออกไปลุยได้เหมือนเดิมจึงทำเฉพาะงานของเพื่อนที่ส่งมาทำให้ได้เงินพอใช้จ่ายทำให้คลายทุกข์ไปส่วนหนึ่ง ในขณะเดียวกันยังไปพบหมอตามที่หมอนัดทุกครั้ง เมื่อขึ้นปีที่ 3 อาการเริ่มดีขึ้น ในการไปโรงพยาบาลทุกครั้งจะพบแต่ผู้ป่วยเดิมๆที่มาพบหมอ แต่ผู้ป่วยใหม่ก็เพิ่มขึ้นทุกครั้งที่มาหาหมอ สังเกตลักษณะอาการผู้ป่วยบางคนจะมีรูปมือหรือเท้าบิดไปแบบผิดปกติ เมื่อสอบถามดูจะรู้ว่าเธอมาหาหมอช้าไปหรือไม่ได้ติดตามการรักษาของหมอ

หมายเลขบันทึก: 572214เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2014 16:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กรกฎาคม 2014 16:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดีใจจังเลยค่ะ ที่แม่เอามาโพสต์ได้แล้ว ตั้งแต่กลับมาจากงานวันนั้นจนถึงวันนี้มีภาระกิจติดพันมาตลอดจนไม่ได้จัดการตามที่เสนอแม่ไว้เลยค่ะ ถามไปทางอ.จัน ผู้ดูแลระบบว่าไม่มีระบบเลขาฯช่วยโพสต์แล้ว ก็เลยยังไม่ได้ทำอะไรต่อ แต่ยังเอาโพยแม่พกพาไว้กับแฟ้มที่พกอยู่ตลอดเลยค่ะ ดีใจที่คนอื่นจะได้อ่าน ได้ประทับใจด้วยนะคะ

ขอบคุณคุณโอ๋มาก และขอแสดงความยินดีกับลูกชายด้วยนะค่ะ ไว้แม่จะพยายามไม่ห่างหายจาก GotoKnow

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท