ผศ.ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
ผศ.ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์ อาจารย์ โทนี่ ปัญญโรจน์

ศิลปะการพูดว่าความในศาล


ศิลปะการพูดว่าความในศาล

โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก

www.drsuthichai.com

ผู้ที่เป็นทนายความ มักมีโอกาสได้ใช้คำพูดในการว่าความมากกว่าบุคคลโดยทั่วไป ซึ่งตัวกระผมเองได้ประกอบอาชีพทนายความก็ได้มีโอกาสได้ใช้คำพูดในการว่าความ

ศิลปะการพูดว่าความในศาล จึงต้องสมควรเรียนรู้ สำหรับผู้ที่ต้องการประกอบอาชีพทนายความหรือแม้แต่บุคคลโดยทั่วไป ก็ควรทำการศึกษาเพราะในชีวิตคนเราสักวันหนึ่งอาจจะต้องได้มีโอกาสเรียกตัวไปเป็นพยาน หรือ เป็นจำเลย เป็นโจทก์ ซึ่งก็ต้องใช้คำพูดในการตอบทนายความ

ทนายความ ที่จะการพูดว่าความในศาลได้ดีควรมีคุณสมบัติดังนี้

1.ต้องเป็นคนช่างถามช่างซัก เพราะทนายความจะต้องเป็นผู้ที่ ซักถาม ถามค้าน ถามติงและถามนำ พยานที่เบิกความต่อศาล

2.ต้องเป็นคนช่างเถียง ทนายความ ที่ว่าความเก่ง มักเป็นคนที่ชอบหาเหตุผลมาเถียงเพื่อต่อสู้กับฝ่ายตรงกันข้าม

3.ต้องมีไหวพริบปฏิภาณดี สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ เมื่อถูกศาลถาม หรือ เมื่อพยานตอบคำถามที่เป็นอันตรายและไม่เป็นประโยชน์กับฝ่ายของตนเอง ก็ยิ่งที่จะต้องรีบหาทางแก้ไข

4.ต้องมีความอดทน เพราะการพูดว่าความในศาลเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์ในการเรียนรู้ และต้องอาศัยการศึกษาค้นคว้าวิชากฎหมายและวิชาอื่นๆ เพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอ

การถามทนายความ ที่เก่งมักจะทำการบ้านมาเป็นอย่างดี กล่าวคือ เขาจะหัดตั้งคำถามไว้มากๆ อาจจะตั้งคำถามเตรียมไว้ซัก 100 คำถาม แต่อาจจะนำไปใช้จริงๆ สัก 30 คำถาม และเมื่ออยู่ในศาลเขาจะซักถามจนสุดความสามารถ แต่จะถามให้ได้ประโยชน์กับฝ่ายตนเองมากที่สุด คำถามไหนที่ทำให้ฝ่ายของตนเองเสียเปรียบก็จะไม่พยายามซักถาม อีกทั้งต้องมีการเตรียมการบ้านมาเป็นอย่างดี เขาจะเตรียมคำถามไว้ล่วงหน้า ว่าคำถามนี้จะถามอย่างไร กับใคร

การถาม ทนายความ ควรคำนึงถึงว่า จะถามเรื่องอะไรจะถามอย่างไร จะถามไปทำไม จะถามแล้วได้รับประโยชน์อะไรจากคำถามที่ถาม และควรคำนึงถึงลำดับในการถามว่าจะถามคำถามใดก่อน คำถามใดมาทีหลัง และควรถามความด้วยความมั่นใจ พูดอย่างชัดถ้อยชัดคำอีกทั้งควรเว้นวรรค หรือ เว้นระยะหยุดเพื่อให้ศาลได้ทำการบันทึกคำตอบของพยาน

เทคนิค ในการถาม อีกประการหนึ่งก็คือ โดยมากมักจะไม่ใช้ คำถามว่า “ ทำไม” เพราะอาจจะเกิดความผิดพลาดหรือเสียท่าได้ อันเนื่องมาจากพยานได้อธิบายข้อพร่องที่ทำให้ฝ่ายของตนเองเสียเปรียบ แต่ควรจะตั้งคำถามในลักษณะปลายปิด เช่น ใช่หรือไม่ ,มีคนอยู่ด้วยหรือไม่มีเลย , ใช่ไหมเป็นต้น

ตัวอย่างคำถาม

ถามพยานรู้จักกับจำเลยมาประมาณ 20 ปี ใช่ไหม

ตอบใช่

ถามพยานทราบไหมในวันจับกุมใครอยู่ในที่เกิดเหตุ

ตอบไม่ทราบ

ถามวงไพ่ที่เล่นกันในวันที่ถูกจับกุมเป็นไพ่ป๊อกหรือไพ่ไทย

ตอบไพ่ไทย

ถามพยานยืนอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 10 เมตร หรือ 20 เมตร

ตอบประมาณ 10 เมตร

ถามในวันเกิดเหตุจำเลยมากับเพื่อนผู้หญิงหรือเพื่อนผู้ชาย

ตอลเพื่อนผู้ชาย

การซักถามพยานในศาล โดยมากมักจะมีในศาลชั้นต้น ส่วนศาลอุทธรณ์และศาลฏีกา มักจะไม่มีการซักพยาน ถึงแม้กฎหมายจะเปิดช่องให้ซักถามได้แต่ก็ไม่ค่อยมีการซักถามกัน

สำหรับการซักถาม หม่อมหลวงสุพร อิศรเสนา ได้ให้ความหมาย และได้แบ่งการถามออกเป็น3 วิธี อีกทั้งได้เขียนไว้ว่าการถามแบบไหนใช้คำถามนำได้หรือไม่ได้(จากตำราว่าความซักถาม ถามค้านหน้าที่ 19-21)

1.การซักถาม(ถามชั้นแรก)

2.การถามค้าน

3.การถามติง

การซักถาม คือ การถามโดยคู่ความฝ่ายที่อ้างพยานนั้นเพื่อให้เบิกความตามประเด็นที่ผู้อ้างตั้งใจจะนำสืบเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน

ห้ามใช้คำถามนำ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 118 เว้นแต่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยินยอมหรือได้รับอนุญาตจากศาล(เหตุผลเพราะเป็นการเอาเปรียบคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง)

การถามนำ คือ คำถามซึ่งแนะแนวทางหรือชี้แนวทางให้พยานตอบตามที่ผู้ถามต้องการให้ตอบ

การถามค้าน คือ การถามของคู่ความฝ่ายตรงกันข้ามกับฝ่ายที่อ้างพยาน

ส่วนคำถามค้าน ใช้คำถามนำได้

การถามติง คือ การที่คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานถามพยานปากนั้นอีกครั้งหนึ่งภายหลังที่พยานนั้นถูกอีกฝ่ายหนึ่งถามค้านแล้ว

การถามติงนี้ จะใช้คำถามนำไม่ได้

สำหรับการถามนำนี้ กระผมขอยกตัวอย่างเพิ่มเติมให้เห็นเป็นรูปธรรม เช่น ถามว่า วันที่เกิดเหตุ คือวันที่ 20 มกราคม 2557 ใช่ไหม พยานก็ตอบว่าใช่ คำถามลักษณะนี้เป็นคำถามที่ชี้นำให้พยานตอบ เพราะพยานไม่ต้องใช้ความจำหรือความคิดอะไร

ทั้งนี้ ศิลปะการพูดว่าความในศาล ยังควรคำนึงถึงมรรยาทในการถาม เช่นควรใช้คำพูดที่มีความสุภาพเรียบร้อย ถามแต่ประเด็นที่สำคัญจะทำให้ศาลเกิดความเชื่อถือทนายผู้ซักถาม ไม่ควรขู่กรรโชกหรือใช้ภาษาที่หยาบคายดุดันกับพยาน

ท่านที่ต้องการศึกษาการพูดว่าความในศาลเพิ่มเติมท่านสามารถอ่านได้จากหนังสือตำราว่าความซักถามถามค้านของหม่อมหลวงสุพรอิศรเสนา , หนังสือวิชาว่าความและมรรยาททนายความของศาสตราจารย์มารุต บุนนาค ,คู่มือการเป็นทนายว่าความ ของอุทัย ศุภนิตย์ และ ซักความ พิสดาร ฉบับศิลปในการซักถามของรชฎเจริญฉ่ำ

หมายเลขบันทึก: 571816เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2014 11:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กรกฎาคม 2014 11:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท