ชิ​นกาลมาลีปรณ์ฉบับคำกลอนเรื่อง เรื่อง พระสิงหลปฎิมาหรือพระพุทธสิหิงค์(อาจารย์สุภัชชา พันเลิศพาณิชย์)


ชินกาลมาลีปรณ์ฉบับคำกลอนเรื่อง เรื่อง พระสิงหลปฎิมาหรือพระพุทธสิหิงค์(อาจารย์สุภัชชา พันเลิศพาณิชย์)

พระเจ้าสิงหลกษัตริย์เมืองลังกาอยากทอดพระเนตรรูปของพระพุทธถึงเสด็จไปมหาวิหารตรัสถามพระขีณาสพที่อยู่ในลังกาทวีป๒oพระองค์ว่าผู้เคยเห็นพระพุทธยังมีอยู่หรือไม่ด้วยอาณุภาพของพระขีณาสพราชาแห่งนาคได้แปลงเป็นคนแล้วเนรมิตรตนเป็นพระพุทธเพื่อให้พระเจ้าสิงหลคลายความสงสัยพระองค์จึงให้ช่างปั้นรูปพระพุทธนั้นไว้และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กษัตริย์ทุกพระองค์ของราชวงศ์สิงหลทรงสักการะกราบไหว้บูชากันตลอดมาในครั้งนั้นมีกษัตริย์นามว่าโรจราชปกครองเมืองสุโขทัยอยากเห็นมหาสมุทรได้ล่องใต้ไปตามลำน้ำน่านจนถึงสิริธรรมนครหรือนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน พระเจ้าสิริธรรมผู้ครองนครเสด็จออกมาต้อนรับแล้วทรงเล่าเรื่องราวให้พระเจ้าโรจราชฟังถึงความอัศจรรย์ของพระสิงหลปฎิมาที่ลังกาทวีปตามที่ได้ยินมา ทั้งสองกษัตริย์จึงตกลงใจส่งทูตไปเมืองลังกาทูลขอพระสิงหลปฎมาต่อเจ้าสิงหลและพระเจ้าสิงหลพระราชทานให้ราชทูตอัญเชิญพระสิงหลปฎิมาลงเรือกลับมา แต่เรือเจอพายุกระแทกหินในทะเล ส่วนพระสิงหลปฎิมาลอยอยู่บนกระดานแผ่นหนึ่งลอยได้ ๓วันจนมาถึงเมืองสิริธรรมนคร พระเจ้าสิริธรรมออกเรือและพบพระสิงหลปฎิมาประดิษฐานบนกระดานแผ่นนั้นพระองค์จึงนำมาสักการะบูชาและส่งสาส์นถึงพระเจ้าโรจราชว่าได้พระพุทธปฎิมาแล้ว พระเจ้าโรจราชจึงเดินทางไปเมืองสิริธรรมนครแล้วอัญเชิญพระสิงหลปฎิมา มาประดิษฐานที่เมืองสุโขทัยเพื่อกราบไหว้บูชา โปรดให้สร้างพระปรางค์องค์หนึ่งในเมืองสัชชาลัย ด้วยศิลา(แลง)และอิฐโบกปูนขาวหุ้มด้วยแผ่นทองแดงแน่นหนา ปิดทองซึ่งปัจจุบันคือพระศรีรัตนมหาธาตุหรือพระปรางค์เมืองเชลียงอำเภอศรีสัชชนาลัยจังหวัดสุโขทัยนั่นเอง ตั้งแต่นั้นมา ราชวงศ์พระเจ้าโรจราชหรือราชวงศ์พระร่วงก็กราบไหว้ต่อกันมาทุกพระองค์จนถึงสมัยพระธรรมราชาหรือพระเจ้าลิไทผู้ทรงศึกษาพระไตรปิกฎ ในสมัยนั้นเมืองชัยนาทตกเป็นของพระรามาธิบดี(พระเจ้าอู่ทอง)ผู้สร้างเมืองพระนครศรีอยุธยาพระธรรมราชาได้ทรงเครื่องบรรณาการเป็นอันมากไปถวายแก่พระรามาธิบดี(พระเจ้าอู่ทอง)และทูลขอเมืองชัยนาทคืนพอได้เมืองชัยนาทคืนแล้วก็ทรงแต่งตั้งพระกนิษฐาให้ครองเมืองสุโขทัย แต่งตั้งอำมาตย์ชื่อติปัญญา(พระยาญาณดิส)ไปครองเมืองกำแพงเพชร ส่วนพระเจ้าธรรมราชาอัญเชิญพระสิงหลปฎิมาไปปกครองเมืองชัยนาทครั้งเมื่อพระเจ้าธรรมราชาเมืองชัยนาทสิ้นพระชนม์อำมาตย์วัตติเดชเดินทางมาจากอโยชฌปุระ(อยุธยา)ยึดเมืองชัยนาทอัญเชิญพระสิงหลพุทธปฎิมาไปบูชาที่อโยชฌปุระ(อยุธยา)ทางด้านอำมาตย์ชื่อติปัญญา(พระยาญาณดิส)ผู้ครองเมืองกำแพงเพชรได้ส่งมารดาพระองค์ถวายแด่พระเจ้าอโยชฌปุระจนเป็นที่โปรดปรานนางได้ทูลขอพระพุทธรูปทองแดงธรรมดาแต่ได้นำเอาพระสิงหลปฎิมาส่งมาทางเรือเร็วให้ติปัญญา(พระยาญาณดิส)บุตรชายที่เมืองกำแพงเพชร

ฝ่ายเจ้ามหาพรหมผู้เป็นใหญ่เมืองเชียงราย ทราบความอัศจรรย์ของพระสิงหลปฎิมาอยากได้ไว้กราบไว้บูชาได้ทูลขอไพร่พลจากพระเจ้ากือนาพระเชษฐาพาทหาร๘oooo คนตามเสด็จจนใกล้ถึงเมืองกำแพงเพชรตรัสสั่งให้พักกองทัพแล้วส่งทูตไปเฝ้าพระเจ้าติปัญญาฝ่ายพระเจ้าติปัญญาก็ส่งสาสน์ไปยังพระเจ้าวัตติเดช (ขุ่นหลวงพระงั่ว) เจ้าเมืองอโยชฌปุระ(กรุงศรีอยุธยา)ทางด้าน พระเจ้ามหาพรหมได้ส่งอำมาตย์ทูตกับพระมหาสุคนธเถรพร้อมด้วยเครื่องบรรณาการเข้าพระนครแล้วได้ทำการปฎิสันถารด้วยถ้อยคำสุภาพไพเราะ พระมหาสุคนธเถรนั่งในเรือท่ามกลางที่มีกษัตริย์ทั้งสองนั่งขนาบข้าง และได้กล่าวคำเพื่อให้กษัตริย์ทั้งสองสามัคคีกันเพราะนี่เมืองกำแพงเพชร โน่นก็นครเชียงใหม่ ขอนครทั้งสองจงหมัดกันด้วยเชือก คือพระราชไมตรีกษัตริย์ทั้งสองได้สดับฟังดังนั้นก็น้อมรับโดยดี พระเจ้าติปัญญาทรงประทานเครื่องบรรณาการมีพญาช้าง เป็นต้นกำนัลแก่อุปราชของพระมหาพรหมส่วนพระเจ้ามหาพรหมพระราชทานม้า เป็นต้นกับเครื่องราชาภิเษกแก่พระเจ้าติปัญญาและพระเจ้าติปัญญาได้ทูลอนุญาตมอบพระสิงหลปฎิมาให้พระเจ้ามหาพรหมจากการใช้วาจาละมุนละม่อมของพระมหาสุคนธเถร

พระเจ้าพรหมทรงอัญเชิญพระสิงหลปฎิมาประดิษฐานในวิหารหลวง(วัดเจดีย์หลวงในเชียงใหม่) ในครั้งนั้น พระเจ้ากือนาพระเชษฐาทรงโปรดจะสร้างซุ้มจระนำขึ้นใหม่ให้เป็นที่ประดิษฐานพระสิงหลปฎิมา แต่เมื่อซุ้มจระนำยังทำไม่เสร็จ พระเจ้ามหาพรหมจึงได้อัญเชิญพระสิงหลปฎิมาไปเมืองเชียงรายโดยประสงค์เพื่อจะเอาไปทำแบบสร้างอีกองค์พระเจ้าพรหมได้อัญเชิญพระสิงหลปฎิมาไปเมืองเชียงแสนทรงกระทำ สวดเบิกที่เกาะดอนแท่น(เกาะหลวงในแม่น้ำโขง)ทรงถวายสักการเป็นอันมากแล้วได้อัญเชิญกลับมาเชียงรายและประดิษฐานไว้ในวิหารหลวง(วัดพระสิงห์)ในปัจจุบัน

พระเจ้าสิงหลกรุงลังกากังขานัก

ว่าพระอรหันต์จักเคยเห็นพระพุทธมีหรือไม่

นาคราชใช้ฤทธิ์สำแดงและแปลงกาย

เป็นพระพุทธน่าเลื่อมใสให้ได้ยล

พระเจ้าสิงหลให้ครูชั้นบรมอาจารย์

วาดแบบสร้างปั้นจนเห็นผล

สร้างพระปฎิมาเพื่อปวงชน

พระสิงหลตัวแทนพระพุทธจากนี้ไป

จะขอย้อนกล่าวเล่าถึงเมืองสยาม

กษัตริย์นามพระเจ้าโรจทรงฝันใฝ่

อยากเห็นมหาสมุทรเดินทางไป

ถึงจนได้สิธรรมนครตระการตา

พระเจ้าสิริธรรมทรงต้อนรับ

ถวายคำนับทักทายตามประสา

ทรงเล่าเรื่องพระสิงหลปฎิมา

สองกษัตริย์ส่งทูตเจรจาถวายความ

พระสิงหลมอบพระปฎิมาเอามาให้

ลงทะเลเดินทางไกลในเวหา

เรือแตกหล่นคว้างกลางนาวา

พระสิงหลปฎิมายังอยู่บนกระดาน

ตามสายธารพลิ้วไหวน้ำไหลล่อง

ฟองคลื่นท่องธาราผสมผสาน

พระสิงหลปฎิมาประดิษฐานอยู่บนกระดาน

สามวันผ่านถึงนครสิริธรรม

พระเจ้าสิริธรรมบูชาท่านว่าไว้

ส่งสาส์นให้พระเจ้าโรจผู้เลิศล้ำ

กษัตริย์ผู้แสวงแห่งพระธรรม

อัญเชิญพระปฎิมางดงามสู่สุโขทัย

กราบถวายสักการพุทธบูชา

ราชวงศ์พระร่วงศรัทธาทุกสมัย

ทั้งเชียงใหม่ กำแพงเพชร ชัยนาท ศรีชชนาลัย

พระสิงหลเคยประดิษฐานไว้ในนคร

กล่าวถึงเชียงรายสมัยพระเจ้าพรหม

ทรงระดมพลไพร่ในเมืองก่อน

แล้วเดินทางไปกำแพงเพชรพระนคร

พร้อมมหาสุคนธเถรผู้สั่งสอนติดตามมา

นั่งบนเรือสองกษัตริย์ตราธาราล่อง

ท่านทั้งสองผูกไมตรีกันเถิดหนา

นั่นก็กำแพงเพชรนี่เชียงใหม่ญาติกันมา

สองนครจงมัดตราด้วยเชือกราชไมตรี

สองกษัตริย์ตกลงกันตามนั้น

สมานฉันท์ถวายบรรณาการกันเต็มที่

ด้วยพระมหาสุคนธเถรช่างเจรจาด้วยถ้อยที

วัดเจดีย์หลวงจึงมีพระสิงหลปฎิมา

หมายเลขบันทึก: 570019เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2014 12:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2014 12:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท