อิทธิบาท ๔ นั้น หมายถึงอะไร ในความหมายของนักวิชาการ


 

อิทธิบาท ๔ ได้มีนักวิชาการหลายๆท่านได้ให้ความหมายของคำว่าอิทธิบาท ๔ ไว้น่าสนใจดังนี้จ้า

พระธรรมโกศาจารย์(ประยูร ธมฺมจิตฺโต) ได้กล่าวถึง อิทธิบาท แปลว่า บาทฐานแห่งความสำเร็จ หมายถึง สิ่งซึ่งมีคุณธรรม เครื่องให้ลุถึงความสำเร็จตามที่ตนประสงค์ ผู้หวังความสำเร็จในสิ่งใด ต้องทำตนให้สมบูรณ์ด้วยสิ่งที่เรียกว่า อิทธิบาท ซึ่งจำแนกไว้เป็น ๔ คือ[1]

๑) ฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น

๒) วิริยะ ความพากเพียรในสิ่งนั้น

๓) จิตตะ ความเอาใจใส่ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น

๔) วิมังสา ความหมั่นสอดส่องในเหตุผลของสิ่งนั้น

ธรรม ๔ อย่างนี้ ย่อมเนื่องกัน แต่ละอย่างๆ มีหน้าที่เฉพาะของตน

ฉันทะ คือความพอใจ ในฐานะเป็นสิ่งที่ ตนถือว่า ดีที่สุด ที่มนุษย์เรา ควรจะได้ข้อนี้เป็นกำลังใจ อันแรก ที่ทำให้เกิด คุณธรรม ข้อต่อไป ทุกข้อ

วิริยะ คือความพากเพียร หมายถึง การการะทำที่ติดต่อ ไม่ขาดตอน เป็นระยะยาว จนประสบ ความสำเร็จ คำนี้ มีความหมายของ ความกล้าหาญ เจืออยู่ด้วย ส่วนหนึ่ง

จิตตะ หมายถึงความไม่ทอดทิ้ง สิ่งนั้น ไปจากความรู้สึก ของตัว ทำสิ่งซึ่งเป็น วัตถุประสงค์ นั้นให้เด่นชัด อยู่ในใจเสมอ คำนี้ รวมความหมาย ของคำว่า สมาธิ อยู่ด้วยอย่างเต็มที่

วิมังสาหมายถึงความสอดส่องใน เหตุและผล แห่งความสำเร็จ เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ให้ลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไปตลอดเวลา คำนี้ รวมความหมาย ของคำว่า ปัญญา ไว้อย่างเต็มที่

พุทธทาสภิกขุ ได้อธิบายว่าอิทธิบาท ๔ แปลว่า ความสำเร็จ บาท แปลว่าฐาน เชิงรองดังนั้นอิทธิบาท ๔ จึงแปลว่ารากฐานแห่งความสําเร็จซึ่งมี ๔ อย่างคือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา[2]

พระราชปัญญากวี (สุบิน เขมิโย) ได้กล่าวถึงความหมายของอิทธิบาท ๔ ไว้ดังนี้อิทธิบาท ๔ คือ คุณธรรมเครื่องให้สําเร็จตามประสงค์หรือสิ่งประสงค์คนในโลกนี้ย่อมต้องการสิ่งที่ประสงค์แห่งชีวิตคนละหลายรูปแบบแต่สิ่งประสงค์ที่ต้องการตรงกันคือทรัพยสิน ๑ ทรัพย์สมบัติ ๑ ทรัพย์สินคือเงินตราสำหรับใช้จ่ายซื้อขายแลกเปลี่ยนอาหารเครื่องนุ่งห่มที่อยู่อาศัยยารักษาโรค[3]

ท่านเชื่อหรือไม่ ลองศึกษาเรียนรู้แล้วนำไปประยุกต์ใช้กันจ้า


[1]พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต), ทำอย่างไรจึงจะเรียนเก่ง, (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๕๑), หน้า ๓๙.

[2]พุทธทาสภิกขุ, การงานที่เป็นสุข, (กรุงเทพมหานคร: ธรรมสภา,๒๕๓๗), หน้า ๙.

[3]พระราชปัญญากวี (สุบิน เขมิโย), ประมวลบทพระธรรมเทศนา, (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์กรมศาสนา,๒๕๒๘), หน้า ๒๖๐.

หมายเลขบันทึก: 569428เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2014 15:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2014 15:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อิทธิบาทธรรม ๔ ประการ, ธรรมแห่งความสำเร็จ (อินทรวิเชียรฉันท์)

สองหัตถ์ประนมน้อม    นมะพร้อมพระบาลี
สรรเสริญะศาส์นศรี     พระมหามุนินทร์ทรง

นบธรรมะจรรโลง       นยะโยงประสงค์ชง
มวลมิตระยรรยง        คติธรรมประจำใจ

ธรรม์อิทธิบาทดล      ชุติผลวิมลใส
ใส่ไว้หทัยใคร           จะเจริญจรูญฝัน

เริ่มฉันทะขั้นต้น พละมนตร์หะแรกขวัญ
ทุกสิ่งสิพริ้งพลัน        เพราะริเริ่มประเดิมเรือง

สู้ทนและอุตส่าห์         วิริยาขยันเนือง
การงานจรัสเรือง        เฉพาะผู้มิทิ้งเพียร

จงจิตตะฝักใฝ่             วิเคราะห์ในวิธีเรียน
จดจ่อลิขิตเขียน           กลเม็ดสะเก็ดการย์

พร้อมพรั่งวิมังสา          ศิรพาวิชาชาญ
ปัญญาพิจารณ์งาน        และละเอียดละเมียดหมาย

ครบถ้วนกระบวนธรรม    ประจุล้ำประกายปลาย
เลิศเหตุวิเศษฉาย           ชรรินประทิ่นผล

ไร้นวม-ไร้รัก^^ 09 ตุลาคม 2012

http://www.klonthaiclub.com/index.php?topic=20863.msg178037#msg178037

อิทธิบาท 4


....หนทาง สู่ความ สำเร็จ
แนวเผด็จ เด็ดดาว หลากหลาย
ขอเสนอ แนวอ่าน สบายสบาย
ไม่ยาก เจียนตาย ดอกเธอ

ฉันทะ (ความพอใจ)
....เริ่มด้วย ชื่นชอบ เป็นหลัก
เพลิดเพลิน ขยันผลัก ฉุดเสมอ
การกิจ ที่ยาก นะเกลอ
เหมือนเจอ จับกล้วย ปลอกกิน

วิริยะ (ความเพียร)
....พานพบ พอใจ ในสิ่ง
ยากยิ่ง มิท้อ ฝันถวิล
หยาดเหงื่อ น้ำตา หลั่งริน
ไม่สิ้น เพียรทน ทำการ

จิตตะ (ความคิด)
....ให้ใจ กายเฝ้า ครุ่นคิด
มุ่งพิชิต เช้าค่ำ สืบสาร
ไถ่ถาม ค้นคว้า จดจาร
สำราญ ฝึกประลอง เชิงเชาว์

วิมังสา (ความไตร่ตรอง)
....สิ่งใด ได้รู้ เรียนลอง
ไตร่ตรอง อย่าง่าย เชื่อเขา
อาจอ้าง ผิดหลง มัวเมา
พิเคราะห์ ขัดเกลา จึ่งดี

ขอขอบคุณที่ได้เพิ่มกลอนเพราะๆค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท