การเลือกตั้ง


การปกครองในระบอบประชาธิปไตย คือ การปกครองที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ แต่ในทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้ที่ประชาชนทุกคน จะทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองตนเองโดยตรง จึงต้องใช้ระบบตัวแทน โดยให้ประชาชนเลือกตั้งผู้แทนไปทำหน้าที่แทนตนเองแบบมีเงื่อนไขในระยะเวลาคราวละสี่ปี หากหากปฏิบัติหน้าที่ไม่ดีขาดประสิทธิภาพ ก็จะเลือกคนอื่นที่ดีกว่าในครั้งต่อไป

ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศการปกครองระบอบประชาธิปไตย ยึดหลักการสำคัญ ๖ ประการ

๑. หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน แลการมีส่วนร่วมในการปกครองของประชาชน หมายความว่า อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของปวงชน การปกครองต้องเป็นของประชาชน และเพื่อประชาชน

๒. หลักเสียงข้างมากแต่คุ้มครองเสียงข้างน้อย หมายความว่า การตัดสินใจนโยบายสำคัญ ยึดถือเสียงข้างมากของส่วนใหญ่เป็นหลัก แต่ทั้งนี้ก็เพื่อคุ้มครองสิทธิของเสียงข้างน้อย

๓. หลักการปกครองโดยกฎหมาย หมายความว่า ประชาชนทุกคนต้องอาศัยกฎหมายเป็นเครื่องมือในการคุ้มครอง โดยที่ทุกคนได้รัยความยุติธรรมภายใต้กฎหมายเดียวกัน

๔. หลักสิทธิและเสรีภาพ คือ ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ

๕. หลักความเท่าเทียมกัน ถือว่าประชาชนทุกคนมีความเท่าเทียมกันในทุกโอกาส ไมเลือกปฏิบัติ ไม่แบ่งแยกเพศ ผิว ศาสนา ขนชั้น เรียกว่าไม่ลำเอียงเลือกที่รักมักที่ชัง

๖. หลักเหตุผล คือการฟังเหตุผลของกันและกัน เคารพความคิดเห็นของผู้อื่น

รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศและการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนผ่านตัวแทน โดยให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทุกคนไว้ดังนี้

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ สาระสำคัญ คือ การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครอง และตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเพิ่มขึ้น ตลอกทั้งปรับปรุง โครงสร้างทางการเมืองให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้นทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนเป็นสำคัญ (คู่มือประชาชนสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, ๒๕๔๗,หน้า ๘)

รัฐธรรมนูญนอกจากจะคุ้มครองสิทธิของประชาชนโดยเท่าเทียมกันแล้ว ยังได้กำหนดหน้าที่ของประชาชนชาวไทยไว้หลายประการ ที่สำคัญ คือ

๑. หน้าที่พลเมือง กำหนดให้ประชาชนชาวไทยมีหน้าที่ปฏิบัติตนตามกฎหมายป้องกันประเทศ

๒. หน้าที่ตามกฎหมายเลือกตั้ง กำหนดให้ประชาชนชาวไทยทุกคนมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ถ้าใครไม่ไปเลือกตั้งโดยไม่แจ้งก็จะทำให้เสียสิทธิตามที่กฎหมายกำหนด สิทธิเลือกตั้งของประชาชนที่สำคัญกว่านั้น คือ การที่ประชาชนพึงตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองที่ประชาชนควรเป็นผู้กำหนด ถึงภาระความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมที่จะเลือกคนดีเพื่อไม่ให้ประเทศสูญเสียโอกาส ทั้งนี้ เพราะการเลือกตั้งเป็นวาระแห่งชาติและภาระทางการเมืองของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย

ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ที่พลเมืองของประเทศในฐานะที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยย่อมแสดงออกซึ่งการเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยดังกล่าวในการเลือกตั้งเพื่อจัดสรรตัวแทนของตนเข้าไปใช้อำนาจในการปกครองประเทศ ดังนั้นการเลือกตั้งจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

หลักการสำคัญของการเลือกตั้งมีดังนี้

๑. หลักความสุจริตและเที่ยงธรรม เพื่อป้องกันการโกงทุจริตในการเลือกตั้ง

๒. หลักการเลือกตั้งโดยอิสระเพื่อให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเลือกตั้งโดยไม่ถูกบังคับหรือจูงใจ

๓. หลักการลงคะแนนเสียงแบบลับเพื่อไม่ให้ผู้อื่นล่วงรู้ การตัดสินใจใช้สิทธิเลือกตั้ง

๔. หลักการเลือกตั้งอย่างแท้จริง เพื่อให้เป็นการแข่งขัน ไม่มีการฮั้วในการเลือกตั้ง เช่น การห้ามถอนการสมัคร เป็นต้น

๕. หลักการเลือกตั้งมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนตามวาระ เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสเลือกผู้บริหารใหม่ หรืออาจเลือกชุดเดิมถ้าประชาชนพอใจ

๖.หลักความเสมอภาคในการรับรองให้ประชาชนทุกคนไม่ว่าจะมีเพศ อายุ ศาสนา อาชีพใด ฯลฯ ย่อมมีสิทธิเลือกตั้งเท่ากันโดย ๑ เสียง เลือกผู้แทนได้ ๑ คน

๗. หลักความทั่วถึงเป็นการทั่วไป เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเลือกตั้งให้มากที่สุด

ในสังคมประชาธิปไตยการเลือกตั้งนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเพราะถือได้ว่าเป็นการแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในฐานะที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ และยังเป็นสิ่งกำหนดตัวบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่ทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติตามกรอบกติกาที่รัฐธรรมนูญของประเทศบัญญัติไว้ อย่างไรก็ตามบทบาทสำคัญของการเลือกตั้งที่ดีนั้นจะต้องมีอยู่อย่างน้อย ๓ ประการด้วยกันคือ

๑. ระบบการเลือกตั้งนั้นจะต้องสะท้อนความต้องการและผลปะโยชน์อันหลากหลายของประชาชน และกลุ่มผลประโยชน์ได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคมนั้นๆ

๒. ระบบการเลือกตั้งนั้นจะต้องสามารถหลอมรวมฝ่ายต่างๆ ให้เกิดการบูร-ณาการทางสังคมขึ้นมาได้ กล่าวคือสามารถเอื้อต่อการรวมตัวกันในหมู่ผู้ได้รับการเลือกตั้งให้เกิดฝ่ายเสียงข้างมากที่มีประสิทธิภาพในการเป็นรัฐบาล และเกิดฝ่ายเสียงข้างน้อยที่เป็นปึกแผ่นในการถ่วงดุลและตรวจสอบการทำงานของฝ่ายเสียงข้างมาก

๓. ระบบการเลือกตั้งนั้นจะต้องเอื้ออำนวยให้เกิดฝ่ายเสียงข้างมากที่มีขนาดพอเพียงและไม่มากจนเกินไป เพื่อเป็นหลักในประกันในการจัดตั้งรัฐบาลและบริหารประเทศตามเจตจำนงทางการเมืองของตน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีหลักประกันที่จะต้องมีฝ่ายเสียงข้างน้อย (ฝ่ายค้าน) ที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน โดยอย่างยิ่งในการตรวจสอบและถ่วงดุลฝ่ายรัฐบาล

ดังนั้น “การเลือกตั้ง” จึงถือเป็นเรื่องสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นวิธีการที่จะให้ได้มาซึ่งตัวแทนของประชาชนในของประชาชนในการทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร แต่การเลือกตั้งที่จะให้ได้มาซึ่งสภาผู้แทนราษฎรที่ดี และเป็นสถาบันที่เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริงนั้น จะต้องเป็นการเลือกตั้งที่มีความบริสุทธิ์ ยุติธรรม และโปร่งใสเท่านั้น ปราศจากการซื้อสิทธิขายเสียง แต่สภาพข้อเท็จจริงหาเป็นอย่างนั้นไม่ การเลือกตั้งแต่ละครั้ง การต่อสู้ทางการเมืองเป็นไปอย่างรุนแรง ใช้ยุทธวิธีต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ เพื่อให้ได้ซึ่งอำนาจรัฐ และปราศจากการคำนึงถึงความสมัครใจ ความตระหนักในหน้าที่ จิตสำนึกในการเมืองที่ดีของประชาชน ภาพการมีวัฒนธรรมแบบประชาธิปไตยถูกบิดเบือนไปแทบจะทั้งสิ้น และกลายเป็นประชาชนไปมีส่วนร่วมแบบถูกระดมหรือชักจูงให้ไปเลือก ถูกซื้อคะแนน ใช้เงินกันอย่างรุนแรงและกว้างขวาง มีสิ่งจูงใจ ผลประโยชน์ตอบแทน การพนัน เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต่างเป็นปัจจัยที่ส่งผลหรือสัมพันธ์กับการตัดสินใจใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งของประชาชนทั้งสิ้น ซึ่งบางครั้งก็เป็นไปด้วยความสมัครใจยอมรับเงื่อนไขหรือสิ่งแลกเปลี่ยน แต่บางครั้งก็เป็นไปด้วยความจำใจ หรือด้วยความไม่รู้

นอกจากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว คุณลักษณะของผู้สมัครรับเลือกตั้งในด้านความรู้ ความสามารถ ชื่อเสียง และการประกอบคุณงามความดี ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ต่อการตัดสินใจ อีกประการหนึ่งก็คือพรรคการเมืองที่สังกัดอยู่ เนื่องจากปัจจุบันต้องเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อด้วยพรรคการเมืองพรรคการเมืองเป็นผู้คัดเลือกผู้สมัคร กำหนดนโยบายและอุดมการณ์ทางการเมือง ซึ่งเปรียบเสมือนนโยบายของรัฐบาล หากได้รับการเลือกตั้งแล้วเป็นรัฐบาลก็จะนำนโยบายของพรรคไปเป็นนโยบายของรัฐบาล ผลงานของพรรค ชื่อเสียงและตัวผู้นำหรือ หัวหน้าพรรคก็มีส่วนในการที่จะส่งผลให้ผู้สมัครได้รับเลือกตั้ง เนื่องจากหัวหน้าพรรคการเมืองคือผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หัวคะแนนก็เป็นตัวแปรที่จะกระตุ้นให้ประชาชนไปลงคะแนน ความสำเร็จของผู้สมัครรับเลือกตั้งส่วนหนึ่งก็มาจากหัวคะแนน ในสังคมชนบทที่ประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจและความสนใจกิจกรรมทางการเมือง หัวคะแนนนับว่ามีบทบาทเป็นอย่างมาก

นอกจากคุณลักษณะของผู้สมัครและพรรคที่สังกัดแล้วก็ยังมีปัจจัยที่มีผลต่อผู้มีสิทธิในการเลือกลงคะแนนเสียงอยู่เหมือนกัน เช่น เพศ อายุ อาชีพ ระดับการศึกษา เป็นต้น ก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลเหมือนกัน เพราะมีเพศที่แตกต่างการลงคะแนนเสียงก็ต่างกันออกไป อาชีพที่แตกต่างก็มีผลทำให้ความคิดเห็นในการลงคะแนนเสียงเพื่อผลประโยชน์ก็ต่างกันออกไป ระดับการศึกษาเองก็เหมือนกันการศึกษาต่างกัน ระดับความรู้ความสามารถ ความคิดเห็นก็ต่างกันและปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือการได้รับข่าวสารทางการเมือง ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจมากที่สุด หากว่าได้รับฟังข่าวสารที่แตกต่างกันก็ส่งผลให้การเลือกลงคะแนนก็แตกต่างกันตามไปอีก หรือการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง คือการเข้าไปมีส่วนร่วมในการฟังคำปราศรัยหาเสียง หรือนโยบายของพรรคตนเอง ของบรรดาเหล่าผู้แทนราษฎรทั้งหลายที่ได้จัดขึ้นในแต่ละเขตของตน เมื่อได้รับรู้ข่าวสารหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมแบบนี้แล้วการที่จะตัดสินใจเลือกลงคะแนนเสียงก็จะแตกต่างกันไปตามความคิดเห็น หรือทัศนะหลักการของแต่ละคนที่มีความรู้ความเข้าใจในการเลือกลงคะแนนเลือกตั้งผู้แทนไปทำหน้าที่แทนตนเอง

แต่องค์ประกอบที่สำคัญที่จะทำให้การเลือกตั้งแต่ละครั้งนั้นเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรมมากน้อยเพียงใด ถ้าผู้เลือกตั้งไปเลือกตั้งไปเลือกตั้งด้วยเหตุจูงใจ ไม่มีความรู้ ความเข้าใจ ปราศจากข้อมูลข่าวสาร ผลการเลือกตั้งก็จะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปทางการเมือง ซึ่งการมีส่วนร่วม พฤติกรรรมการตัดสินใจ การใช้เหตุผล ความรู้ความเข้าใจ ปราศจากอคติ ความหวาดกลัว ผลประโยชน์ หรือไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลหรืออำนาจของผู้ใด ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยในการตัดสินใจลงคะแนนเลือกตั้งทั้งสิ้น 

หมายเลขบันทึก: 569167เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2014 22:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2014 22:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท