HR-LLB-TU-2556-TPC-ศาลสิทธิมนุษยชน


ศาลสิทธิมนุษยชน

[1] ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปเป็นองค์กรตุลาการขององค์การสภาแห่งยุโรป (Council of Europe) จัดตั้งขึ้นภายใต้อนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นมูลฐาน(ECHR) ซึ่งมีผลบังคับใช้ใน ค.ศ. 1959 (พ.ศ. 2502)ศาลนี้ตั้งอยู่ที่เมืองสตราสบูร์ก (Strasbourg) ประเทศฝรั่งเศส(อนึ่งมักมีผู้เข้าใจสับสนคำว่า “สภาแห่งยุโรป Council of Europe” กับคำว่า “European Council ที่เป็นองค์กรของสหภาพยุโรป (European Union) ซึ่งเป็นคนละองค์กร)

ศาลฯ มีหน้าที่ในการตีความข้อกฎหมายและพิจารณาคดีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนตามอนุสัญญา ECHR โดยอำนาจในการรับคำฟ้องจากรัฐ บุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่อยู่ในเขตอำนาจศาลว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐภาคีสมาชิก ECHR

เดิม คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนยุโรป (European Human Rights Commission) มีหน้าที่ในการไต่สวนมูลฟ้องและยื่นคำฟ้องต่อศาลแทนบุคคลต่อมาพิธีสารฉบับที่ 11 ซึ่งมีผลบังคับใช้ใน ค.ศ. 1998(พ.ศ. 2541)ได้ยุบคณะกรรมาธิการฯ ลง และให้อำนาจไต่สวนมูลฟ้องอยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลฯ

ศาลฯ ประกอบด้วยผู้พิพากษาเท่ากับจำนวนรัฐภาคีสมาชิกอนุสัญญา ECHR ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยที่ประชุมสมาชิกรัฐสภายุโรป (Parliamentary Assembly) ประเทศละหนึ่งคน ผู้พิพากษาจะปฏิบัติหน้าที่ตามความรู้ความสามารถของตนอย่างอิสระไม่ขึ้นอยู่กับรัฐ หรือสัญชาติ ในการดำเนินคดีจำนวนผู้พิพากษาขององค์คณะจะขึ้นอยู่กับประเภทของคดี เช่น ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมีผู้พิพากษาหนึ่งคน ในชั้นพิจารณาคดีจะมีจำนวนผู้พิพากษาในองค์คณะต่างกัน เช่น จำนวนสามคน เจ็ดคน หรือ สิบเจ็ดคน ขึ้นอยู่กับความยากง่ายและความสำคัญของคดีคำพิพากษาของศาลฯ ผูกพันรัฐภาคีให้ต้องปฏิบัติตามโดยรัฐจะต้องชดใช้ค่าเสียหายในกรณีที่พบว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่คำพิพากษาจะไม่มีผลลบล้างคำพิพากษาของศาลภายในรัฐภาคี และไม่มีผลเปลี่ยนแปลงกฎหมายของรัฐภาคี

คณะกรรมการรัฐมนตรี(Committee of Ministers) มีหน้าที่สอดส่องและบังคับให้รัฐปฏิบัติตามคำพิพากษา คำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปมีส่วนสำคัญในการสร้างบรรทัดฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศให้ชัดเจนขึ้น

ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปจัดตั้งขึ้น [2] เพื่อดูแลและตรวจสอบการปฏิบัติตามอนุสัญญาของประเทศสมาชิก ซึ่งอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า อนุสัญญาเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน (Convention for the Protection of Human Rights and Fundamental Freedoms) ซึ่งเป็นหนึ่งในอนุสัญญาที่สำคัญที่สุด ที่สภายุโรป (The Council of Europe) ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกของสภายุโรป ทั้ง 47 ประเทศได้เข้าเป็นภาคีและรับหลักการของอนุสัญญาฯ หลักสำคัญของอนุสัญญาสรุปได้ดังต่อไปนี้

-สิทธิในการดำรงชีวิต

-สิทธิในการที่จะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมทั้งในทางแพ่งและอาญา

-สิทธิที่จะได้รับการคำนึงถึงชีวิตส่วนตัวและครอบครัวของบุคคล

-เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

-เสรีภาพทางความคิด จิตสำนึกและศาสนา

-สิทธิในการที่จะได้รับการเยียวยาที่ดี

-สิทธิในการครอบครองทรัพย์สินอย่างสุขสงบ

-สิทธิในการเลือกตั้งและการรับเลือกตั้ง

นอกจากนี้ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปแล้ว ก็ยังมีศาลสิทธิมนุษยชนแห่งแอฟริกา (The African Court on Human and Peoples’ Rights) ซึ่ง [3] ก่อตั้งขึ้นตามพิธีสาร Protocol to the African Charter on Human and Peoples’ Rights on the Establishment of an African Court on Human and Peoples’ Rights ซึ่งประเทศสมาชิกองค์การ OAU ขณะนั้น ลงนามเมื่อเดือนมิถุนายน 1998 และมีผลบังคับใช้เมื่อ 25 มกราคม 2004 โดยมีประเทศที่ลงนามและให้สัตยาบันต่อพิธีสารแล้ว 24 ประเทศ ประเทศที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน 25 ประเทศ และประเทศที่ไม่ได้ลงนามในพิธีสาร 5 ประเทศ ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งแอฟริกาก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นกลไกการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและบุคคล (Human and Peoples’ Rights) ของประชาชนในแอฟริกา มีองค์คณะผู้พิพากษา 11 คน จากชาติสมาชิกสหภาพแอฟริกามีอำนาจหน้าที่พิจารณาไต่สวนคดีความและข้อพิพาทที่เกี่ยวกับปัญหาการปรับใช้ African Charter on Human and Peoples’ Rights

สำหรับการจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชนขึ้นนั้นจัดว่าเป็นศาลที่มุ่งเน้นการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนโดยหลัก โดยเฉพาะศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปเป็นองค์กรที่มุ่งเน้นการพิทักษ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกไม่ว่าจะอยู่ในรัฐภาคีของศาลหรือไม่ จึงเป็นอีกหนึ่งที่ที่มนุษยชาติสามารถร้องขอทวงคืนสิทธิอันพึงมีพึงได้ของตนคืนได้

อ้างอิง

[1] ห้องสมุด สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติHuman Rights Dictionary : ศัพท์สิทธิมนุษยชนhttp://library.nhrc.or.th/Dictionary/search_dic.php?Search=E&page=2

[2] ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (The European Court of Human Right - ECHR)http://www.l3nr.org/posts/535961

[3] สหภาพแอฟริกา : ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งแอฟริกา http://sameaf.mfa.go.th/th/organization/detail.php?ID=259

หมายเลขบันทึก: 568795เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2014 00:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2014 00:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท