HR-LLB-TU-2556-TPC-คนต่างด้าวในประเทศไทย


คนต่างด้าว ตามพระราชบัญญัติ สัญชาติ พ.ศ.2508มาตรา 4 บัญญัติว่า "คนต่างด้าว หมายถึง ผู้ซึ่งมิได้มีสัญชาติไทย"ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าคนต่างด้าว คือ ผู้ซึ่งมิได้มีสัญชาติไทยตามกฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติ โดยการจำแนกคนต่างด้าวในประเทศไทยนั้นอาจใช้หลักเกณฑ์ในการแบ่งได้หลายประการ อาทิการแบ่งโดยเกณฑ์ในการเข้าประเทศโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือแบ่งโดยเกณฑ์สิทธิอาศัยอยู่ เป็นต้น

การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนต่างด้าว

หากถามว่า กฎหมายของรัฐไทยคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนต่างด้าวหรือไม่ ?

คำตอบก็คือ คนต่างด้าวก็เป็นมนุษย์ ดังนั้น รัฐไทยก็ย่อมจะต้องคุ้มครองคนต่างด้าวอย่างแน่นอน และคุ้มครองในมาตรฐานเดียวกับที่คนสัญชาติไทยได้รับ เพราะความเป็นมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ขึ้นอยู่กับสัญชาติแต่อย่างใด และไม่ขึ้นอยู่กับความชอบด้วยกฎหมายของการเข้าเมือง

      ขอให้ตระหนักว่า รัฐไทยได้ยอมรับที่จะเคารพสิทธิมนุษยชนต่อประชาคมระหว่างประเทศมา ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๑/ค.ศ.๑๙๔๘ โดยการประกาศยอมรับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration on Human Rights) ซึ่งต่อมา รัฐไทยก็ยังยืนยันความเชื่อเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยการเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับและที่ชัดเจนที่สุดก็คือ การยอมรับที่จะเคารพในสิทธิในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ในหมวดทั่วไปของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจึงสรุปได้อย่างไม่ต้องสงสัยว่า รัฐไทยมีหน้าที่ต้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนต่างด้าวในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม การปรากฏตัวของบทบัญญัติแห่งกฎหมายไทยในเรื่องสิทธิมนุษยชนไม่ได้หมายความว่า คนต่างด้าวจะไม่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เหมือนกันกับในนานาอารยประเทศ ปัญหาประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชนก็เป็นปัญหาอย่างมากในประเทศไทย 

ากกรณีศึกษาครอบครัวหม่องภา ครอบครัวหม่องภาประกอบด้วยสมาชิก 4 คน คือ พ่อหม่อง แม่ภา น้องดวงตาและน้องจุลจักร บุคคลทั้งหมดเกิดในประเทศเมียนมาร์ ต่อมามีความไม่สงบในประเทศเมียนมาร์ จึงอพยพเข้ามาในประเทศไทยและทำงานในประเทศไทย โดยไม่มีเอกสารแสดงตน บุคคลทั้งสี่จึงเป็นครอบครัวข้ามชาติโดยแท้เมื่อเข้ามาในประเทศไทยจึงเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย

เมื่อไม่มีเอกสารแสดงตนจึงเป็นบุคคลไร้รัฐและไร้สัญชาติ เมื่อมาปรากฏตัวในประเทศไทย ประเทศไทยต้องรับรองสถานะบุคคลให้ตามข้อ 6 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน คือ ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับทุกแห่งหนว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย[1] ต่อมาครอบครัวหม่องภาได้ถูกบันทึกในทะเบียนประวัติตามกฎหมายไทย แสดงว่าประเทศไทยได้ขจัดความไร้รัฐให้กับครอบครัวหม่องภาแล้ว

ในส่วนของสัญชาติ ปรากฏว่าบุคคลทั้งสี่เกิดในประเทศเมียนมาร์ จึงไม่มีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทย ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องให้สัญชาติกับกับครอบครัวนี้ แต่ควรผลักดันให้พิสูจน์สัญชาติเพื่อที่จะได้มีสัญชาติหนึ่งตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 15 (1) ทุกคนมีสิทธิในสัญชาติหนึ่ง[2] ข้อเท็จจริงปรากฏต่อมาว่าพ่อหม่องและแม่ภาได้รับการรับรองสัญชาติเมียนมาร์ ปัญหาความไร้สัญชาติของพ่อหม่องและแม่ภาจึงสิ้นสุดลง

แต่ทางราชการเมียนมาร์ยังมิได้รับรองสัญชาติเมียนมาร์ให้กับน้องดวงตาและน้องจุลจักร เพราะกระบวนการพิสูจน์สัญชาติให้แก่แรงงานเมียนมาร์ยังไม่ครอบถึงผู้ติดตามแรงงาน แต่อย่างไรก็ตามน้องดวงตาและน้องจุลจักรมีสิทธิในสัญชาติเมียนมาร์ตามหลักดินแดนเพราะเกิดในประเทศเมียนมาร์และมีสิทธิในสัญชาติเมียนมาร์ตามหลักสายโลหิตเพราะบิดามารดาเป็นคนสัญชาติเมียนมาร์ น้องดวงตาได้รับการบันทึกใน ท.ร.38 ก.จึงไม่เป็นคนไร้รัฐแต่ปัญหาความไร้สัญชาติของน้องดวงตาและน้องจุลจักรยังคงมีอยู่

เมื่อครั้งครอบครัวหม่องภาเข้ามาในประเทศไทย บุคคลทั้งสี่เข้ามาโดยไม่มีเอกสารแสดงตนและมิได้มีสัญชาติไทย จึงเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย ต่อมาพ่อหม่องและแม่ภาไปขอรับใบอนุญาตทำงานทำงานตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว บุคคลทั้งสองจึงมีสิทธิอาศัยในประเทศไทยมีสิทธิย้ายชื่อจาก ท.ร.38/1 ไปยังทะเบียนบ้านประเภทคนมีสิทธิอาศัยชั่วคราว ท.ร.13 ได้

การที่น้องดวงตายังเป็นคนไร้สัญชาติ แต่น้องดวงตากำลังจะจบการศึกษาและทำงานในประเทศไทย จึงพิจารณาประเด็นสิทธิในการทำงานของคนต่างด้าว

แม้จะมีปฏิญญาฯและกติการะหว่างประเทศกำหนดให้สิทธิในการทำงานแก่มนุษย์ทุกคนแต่ก็มีกฎหมายภายในเป็นการจำกัดสิทธิในการทำงานของคนต่างด้าว แต่การจำกัดสิทธิดังกล่าวเป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อยและคุ้มครองคนสัญชาติไทยซึ่งเป็นเจ้าของประเทศให้มีงานทำ ส่วนมากจะเป็นการที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของไทยจึงสงวนไว้ให้คนสัญชาติไทยทำโดยเฉพาะ เมื่อการจำกัดสิทธิมีเหตุผลดังกล่าวนี้ การจำกัดสิทธิในการทำงานของคนต่างด้าวสำหรับงานบางประเภทก็ไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนต่างด้าว

อ้างอิง
http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t...1&s_id=422&d_id=421

http://www.m-society.go.th/article_attach/550/529....

http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/bo...

หมายเลขบันทึก: 568758เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 19:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 19:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท