ศาลสิทธิมนุษยชน


    ปัจจุบันได้มีการแบ่งประเภทต่างๆของศาลเพื่อจำแนกไปตามรูปคดี เช่นศาลอาญาที่จะพิจารณาคดีอาญา หรือศาลปกครองก็จะพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ทางปกครอง เป็นต้น ในยุโรปนั้นก็มีศาลสิทธิมนุษยชนโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และสร้างเสริมความเป็นประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐในทวีปยุโรป

     ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (The European of Human Rights-ECtHR)[1] ตั้งอยู่ที่เมืองสตราส์บูร์ก ประเทศฝรั่งเศส ตามหลักการในอนุสัญญายุโรปว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน ปี 195เพื่อดูแลและตรวจสอบการปฏิบัติตามอนุสัญญาของประเทศสมาชิก ซึ่งอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า อนุสัญญาเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นหนึ่งในอนุสัญญาที่สำคัญที่สุด ที่สภายุโรป ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกของสภายุโรป ทั้ง 47 ประเทศได้เข้าเป็นภาคีและรับหลักการของอนุสัญญาฯ

     การนำคดีขึ้นสู่ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป จะสามารถทำได้โดยรัฐบาลคู่กรณีหรือบุคคลธรรมดาเพื่อฟ้องร้องรัฐบาลของรัฐภาคีทั้ง 47 ประเทศหากเกิดการละเมิดในสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ ทั้งนี้ คำพิพากษาของศาลมีผลผูกพันต่อรัฐคู่กรณีที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาล และแนวทางการพิจารณาคดียึดถือตามคำพิพากษาที่ได้พิพากษาไปแล้วเป็นหลัก

     ในการตัดสิน ศาลจะต้องทำการตัดสินด้วยการลงคะแนนเสียงข้างมากผู้พิพากษาใดมีส่วนร่วมในการพิจารณาคดีจะมีเอกสิทธิในการเพิ่มเติมความคิดเห็นของตนลงไปต่างหากจากคำพิพากษาหรือรวมกันก็ได้ รวมทั้งการแสดงความเห็นขัดแย้งหรือขัดแย้งเพียงเล็กน้อยลงไปด้วย

     แต่ถึงแม้ว่าคำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปจะ “ไม่มีผลเหนือศาลภายใน” หรือ “ไม่มีผลลบล้างคำพิพากษาของศาลภายใน” ก็ตาม แต่ผลกระทบของคำพิพากษาที่สำคัญที่สุดก็คือ ทำให้ประเทศสมาชิกได้ปรับกฎหมายภายในของตนให้สอดคล้องกับอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

     ซึ่งคำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปนั้น ได้เป็นที่ยอมรับว่ามีความชัดเจนแน่นอน และสามารถนำไปสู่การปฏิบัติตามได้ไม่เฉพาะเพียงแต่ในประเทศในภูมิภาคยุโรปเท่านั้น คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ(UN Human Rights Committee) ก็ได้นำแนวคำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปไปปรับใช้ในการพิจารณาถึงพันธกรณีของรัฐภาคีองค์การสหประชาชาติ ในกรณีที่มีการร้องเรียนโดยรัฐหรือเอกชนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนโดยรัฐใดรัฐหนึ่งหรือไม่ด้วย

     คดีที่น่าสนใจคือ คดี SW v United Kingdom; CR v United Kingdom (ค.ศ. 1995) ที่ผู้ร้องทั้งสองต้องคำพิพากษาในคดีข่มขืนกระทำชำเราและพยายามข่มขืนกระทำชำเราภรรยาของตนเองก่อนที่การสมรสจะสิ้นสุดลงตามกฎหมาย ผู้ร้องคัดค้านคำพิพากษาโดยอ้างว่าคำพิพากษานั้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามอนุสัญญาแห่งยุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ECHR) ข้อ 7 ที่กำหนดว่า “ห้ามมิให้พิพากษาลงโทษบุคคลใดในทางอาญาสำหรับการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำใดที่มิได้มีกฎหมายซึ่งใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิดทางอาญา ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายภายในประเทศหรือกฎหมายระหว่างประเทศ” ขึ้นอ้างว่า ขณะที่ผู้ร้องได้กระทำความผิด กฎหมายยังไม่ได้บัญญัติให้การข่มขืนกระทำชำเราภรรยาตนเองเป็นความผิดอาญา ดังนั้น ผู้ร้องจึงไม่ต้องรับผิด แต่ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปเห็นว่าบทบัญญัติตาม ข้อ 7 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเสรีภาพ และป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงควรตีความและนำไปใช้ในลักษณะเป็นมาตรการป้องกัน ซึ่งการกระทำของผู้ร้องเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างชัดเจน ดังนั้น ผู้ร้องไม่สามารถอ้างความไม่มีอยู่ของความผิดตามข้อ 7 เป็นประโยชน์แก่ตนเองเพื่อไม่ต้องรับการลงโทษ กรณีนี้จึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ร้องตามอนุสัญญาแห่งยุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ECHR) ข้อ 7


[1] นางสาว ณัชชมล แสนเรือง. “ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป VS เคท มิดเดิลตัน”. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.l3nr.org/posts/466240 (สืบค้นข้อมูลวันที่ 19 พฤษภาคม 2557)
หมายเลขบันทึก: 568702เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 14:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 14:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท